LGT ชี้ Wealth Planning ช่วยครอบครัวไทยเตรียมพร้อมทายาท และส่งไม้ต่อธุรกิจและทรัพย์สินสู่รุ่นหลังได้ราบรื่น มั่นคงและยั่งยืน
การวางแผนความมั่งคั่ง หรือ Wealth Planning เริ่มมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น และเป็นที่สนใจในกลุ่มธุรกิจครอบครัวตระกูลไทย เนื่องจากธุรกิจของหลายตระกูลได้เริ่มมีการส่งต่อสู่รุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 มากขึ้น นอกจากนี้ถึงแม้การเวลาที่เปลี่ยนไป หลายธุรกิจครอบครัวของคนไทยยังคงดำเนินในรูปแบบ ‘กงสี’ หรือธุรกิจที่เป็นกิจการของตระกูลที่แบ่งผลประโยชน์และมีทรัพย์กองกลางที่ใช้ร่วมกันในตระกูล ซึ่งกงสีมักเกิดปัญหาเมื่อกิจการและจำนวนสมาชิกครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ยังไม่มีระบบการกำกับดูแลครอบครัวที่ชัดเจนมารองรับ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้หลายครอบครัวเริ่มตระหนักถึงการวางแผนความมั่งคั่ง และกลับมาสนใจในหัวข้อนี้เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เข้ามาท้าทายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาโดย Deloitte บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการในปี 2020 พบว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยกว่าครึ่งยังถูกบริหารโดยสมาชิกครอบครัว และในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้ทำการเปลี่ยนผ่านสู่รุ่นถัดไปได้อย่างสำเร็จ โดยการศึกษายังพบปัญหาของธุรกิจครอบครัวไทย ได้แก่ การขาดค่านิยมร่วมกัน การขาดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจร่วมกัน และการขาดข้อตกลงในการรับมรดก
Ping Ping Lim (Head of Family Advisory and Wealth Planning, LGT Private Bank Asia Pacific) กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการไพรเวทแบงค์และการจัดการสินทรัพย์จากประเทศลิกเตนสไตน์ กล่าวว่า Wealth Planning คือ การวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นระบบ และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
“หลายครอบครัวเริ่มต้นการวางแผนความมั่งคั่งโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการบริหารความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนและการวางแผนมรดก แต่หลายครอบครัวที่ประกอบกิจการธุรกิจ อาจมีเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่เพียงบริหารทรัพย์สินไว้ดูแลครอบครัวและส่งต่อทายาท หากแต่ยังรวมถึงการดูแลองค์รวมของธุรกิจและพนักงานที่ร่วมทำงานกันมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจครอบครัวยังเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย หากเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่แค่ครอบครัวเจ้าของที่จะได้รับผลกระทบ แต่พนักงานและครอบครัว รวมถึงสังคมโดยรวมก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นเจ้าของธุรกิจครอบครัวรุ่นปัจจุบันควรเริ่มแบ่งปัน ความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ให้กับรุ่นต่อไปที่อาจจะมาพร้อมกับแนวคิดและกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒนาและรักษาธุรกิจครอบครัว รวมถึงความยั่งยืนของธุรกิจไทยไว้ได้ ในสภาวะโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และนวัตกรรมที่นับวันจะมีมากขึ้น” คุณ Ping Ping กล่าว
ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน แอลจีที ซึ่งก่อตั้งมาแล้วกว่า 100 ปี สามารถช่วยวิเคราะห์โครงสร้างการกำกับดูแลครอบครัวหรือธรรมาภิบาลครอบครัว (Family Governance) และร่วมวางกรอบการทำงานให้แก่สมาชิก โดยคำนึงถึงค่านิยมของครอบครัว เป้าหมายทางธุรกิจที่ร่วมทำกันมา และรู้วิธีรับมือกับความท้าทายในการรักษาความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น
ธรรมาภิบาล และการกำกับดูแลครอบครัว (Family Governance)
ธรรมาภิบาลครอบครัว คือ ระบบและหลักการที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ทั้งสามของกิจการครอบครัว อันได้แก่ ครอบครัว ความเป็นเจ้าของ และทรัพย์สิน ทั้งในแง่การกำหนดคุณค่า บทบาทความรับผิดชอบ หน้าที่และสิทธิของสมาชิก การจัดระเบียบครอบครัว และข้อกำหนดในการสืบทอดกิจการและมรดก ที่ครอบครัวพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ธุรกิจและความมั่งคั่งสืบต่อได้อย่างยั่งยืน ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ครอบครัวขนาดใหญ่อาจพิจารณาเพิ่ม ได้แก่ การจัดโครงสร้างบริษัท การกำหนดว่าสมาชิกในครอบครัวคนใดจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ใครควรอยู่ในคณะกรรมการบริหาร กลยุทธ์การลงทุนของครอบครัวและธุรกิจ วิธีการจัดแยกทรัพย์สินส่วนบุคคลและของบริษัทครอบครัว และการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก เป็นต้น
นอกจากนั้นหลายครอบครัวยังเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการครอบครัวที่ เน้นพึ่งบุคคลมากกว่าระบบ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การกำหนดบทบาทของทุกคนในครอบครัว การกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการส่งมอบธุรกิจของครอบครัวให้กับทายาท การป้องกันข้อพิพาทเรื่องการสืบทอดมรดกอย่างเป็นระบบ และการจัดทำธรรมาภิบาลครอบครัวที่เป็นรูปธรรมในช่วงที่สมาชิกยังปรองดอง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนความมั่งคั่ง
กระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างสมาชิก
“ตามประเพณีของคนเอเชีย เรามักจะเชื่อว่า สมาชิกครอบครัวสามารถอยู่ภายใต้ข้อตกลงและธรรมเนียมปฏิบัติของรุ่นก่อนๆ ได้ ถึงแม้ไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร” แต่กาลเวลาและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว เราจึงแนะนำทุกๆ ครอบครัวให้ประยุกต์กฎและธรรมเนียมครอบครัวจากรุ่นก่อนที่ไม่ได้มีการเขียนไว้ ให้เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ส่งเสริมค่านิยมร่วมกันและสร้างความต่อเนื่องในหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นสองสิ่งที่เราทราบดีว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจครอบครัวในเอเชีย
กระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นหัวใจสำคัญควบคู่กับการนำธรรมาภิบาลครอบครัวมาใช้ ดังนั้นครอบครัวขนาดใหญ่ได้สร้างแพลตฟอร์มเฉพาะเพื่อให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยและตัดสินใจด้วยความโปร่งใส และส่งเสริมให้มีการสนทนาภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะความทับซ้อนระหว่างธุรกิจและครอบครัว มักทำให้เกิดปัญหาและยากต่อการตัดสินใจ
ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย หลายธุรกิจครอบครัวได้เริ่มจัดทำธรรมนูญและกฎธรรมาภิบาลครอบครัวไว้แล้ว แต่ไม่ได้สร้างแพลตฟอร์มในการสื่อสารระหว่างสมาชิกครอบครัว แอลจีที จะทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อวางกฎเกณฑ์และโครงสร้างให้เป็นทางการ หรือในหลายกรณีเรามีส่วนร่วมในการจัด Family Workshop ให้สมาชิกได้เข้าใจถึงความสำคัญ รวมถึงให้ข้อคิดในการจัดทำระเบียบและธรรมาภิบาลสำหรับครอบครัวที่อยู่ในช่วงเริ่มศึกษา นอกจากนี้ แอลจีทียังมีบริการวางแผนความมั่งคั่งอื่นๆ อาทิเช่น การลงทุนเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Impact Investment) การลงทุนเพื่อการกุศล (Philanthropy Investment) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการจัดสรรสินทรัพย์อย่างรับผิดชอบต่อสังคมและการกุศลในระยะยาวอีกด้วย Ping Ping กล่าว
หลายธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จในการส่งต่อและเป็นแรงบันดาลใจที่ดี
ในช่วงเริ่มต้นหลายครอบครัวต้องการแรงบันดาลใจ ข้อคิดหรือประสบการณ์จากครอบครัวอื่นที่ได้นำหลักการนี้มาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จในการส่งต่อความมั่งคั่งและค่านิยมครอบครัวให้กับคนรุ่นต่อไป โดยที่ราชวงศ์แห่งลิกเทนสไตน์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างครอบครัวผู้ประกอบธุรกิจที่มีบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ และด้านการกุศล มาเป็นเวลา 900 ปี ซึ่งแน่นอนว่าธรรมาภิบาลครอบครัวและการส่งเสริมค่านิยมร่วมกัน เป็นสิ่งที่ราชวงศ์แห่งลิกเทนสไตน์ได้นำมาใช้อย่างยาวนานตลอดหลายศตวรรษ และประสบความสำเร็จในการทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านยุคสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองมานานกว่า 26 รุ่น ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า หากมีการจัดการอย่างดี ธุรกิจครอบครัวสามารถอยู่รอดได้เกินรุ่นที่สี่แน่นอน”
“คนจีนมีคำกล่าวโบราณที่ว่า คุณรวยมาก ถ้าคุณหลงทางอยู่กลางป่าแล้วสามารถหาใครสักคนมาชี้ทางออกให้คุณได้ คุณจะยากจนมากหากคุณยืนอยู่กลางถนนใหญ่แต่ไม่มีใครตอบคำถามของคุณ สุภาษิตนี้ยังใช้ได้ในปัจจุบัน เพราะมันบอกคุณว่า ทำไมครอบครัวจึงแสวงหาคำตอบจากบทเรียนของอีกครอบครัวหนึ่ง เพราะถ้าคุณสามารถหาใครซักคนที่สามารถชี้ทางให้คุณได้ แสดงว่าคุณอยู่ในที่ที่ดีแล้ว หากคุณกำลังค้นหามันด้วยตัวเอง แสดงว่าคุณอยู่ในจุดที่ต้องการทางออก” Ping Ping กล่าวเสริม
เตรียมทายาทส่งไม้ต่อธุรกิจและทรัพย์สิน
เอกภพ เมฆกัลจาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นเราจะเริ่มเห็นผู้ประกอบการไทยส่งต่อทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัวสู่รุ่นถัดไปมากขึ้นเรื่อยๆ ใน 3-5 ปีข้างหน้า
แต่สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวไทยกำลังเผชิญอีกเรื่อง คือการสร้างทายาทที่จะมาสืบทอด และพร้อมที่จะขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวต่อไปให้มีความเป็นมืออาชีพ การลงทุนในการศึกษาและทุนการเงินของสมาชิก รวมถึงการให้สมาชิกมีส่วนร่วมรับฟัง อภิปรายเรื่องสำคัญในธุรกิจและครอบครัวแต่เนิ่น รวมถึงการวางแผนอาชีพและรับรู้บทบาทในธุรกิจที่ชัดเจน จึงเป็นอีกหัวข้อที่สำคัญในการวางแผนส่งต่อธุรกิจ และเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรในครอบครัวที่มีความสามารถ ให้กลับมาทำงานในบริษัทครอบครัวอีกด้วย
“ครอบครัวคนไทย เมื่อพูดถึงเรื่อง Wealth Management มักจะคิดถึงเรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่หลายคนลืมเรื่อง Wealth Planning ที่เป็นการสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงให้กับธุรกิจและทรัพย์สิน Wealth Planning ถือเป็นจุดแข็งของแอลจีที ด้วยความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญจากประสบการณ์ ของครอบครัวผู้ถือหุ้นแอลจีที ที่ได้นำธรรมาภิบาลครอบครัว และการวางแผนความมั่งคั่งมาปฏิบัติใช้ในหลายศตวรรษ ย่อมจะมีประโยชน์และข้อคิด ต่อการส่งต่อธุรกิจและทรัพย์สินสู่รุ่นถัดไปของหลายๆ ครอบครัวไทย ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น เติบโต และยั่งยืน” เอกภพ กล่าว
TAGGED ON