เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือให้ work from home และหน่วยงานส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เพราะจำนวนผู้โดยสารลดลงและ “Grab ประเทศไทย” คือหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจหลักของแกร็บประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การรับส่งผู้โดยสาร (Transport), การส่งอาหารและพัสดุ (Food and Parcel Delivery) และธุรกิจด้านการเงิน (Grab Financial Group) มีพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและคนขับรถโดยรวม 400,000 กว่าราย
จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ แกร็บประเทศไทย เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 แม้บริษัทจะได้รับอานิสงส์ทางบวกจากยอดผู้ใช้บริการ food delivery ที่เพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของธุรกิจการเดินทางถือว่าได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่ต้นปี 2563 เพราะนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการเดินทางลดลงกระทั่งถึงปัจจุบัน
จากจุดนี้จึงได้บทเรียนว่าควรมีแผนสำรองที่ดีเตรียมไว้ นอกจากแผน A แล้ว ยังต้องมีแผน B, C, D ด้วย เช่น คนขับรถแท็กซี่สามารถปรับมาให้บริการรับส่งอาหาร ซึ่งคนขับเลือกได้เลยว่าจะรับส่งคนหรือส่งอาหารช่วงเวลาใดก็ได้
โดยโมเดลของ แกร็บ เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่าง demand กับ supply เข้าด้วยกัน demand คือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการสั่งอาหารหรือเดินทาง supply คือพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและคนขับด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้เราต้องสร้างความมั่นใจให้กลุ่มคนใน ecosystem ทั้งสองด้านให้มีความเชื่อมั่น ได้รับความสะดวกสบายและมีรายได้ต่อเนื่อง
“ปัจจุบันคนไม่ได้เดินทางเข้ามาทำงานในย่านธุรกิจ กลยุทธ์ของเราคือ การทำให้มีร้านอาหารที่ support ความต้องการของคนที่อยู่นอกพื้นที่ตัวเมืองมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้คนขับกระจายตัวไปในพื้นที่ที่มี demand จากผู้บริโภคสูง เพื่อให้มีโอกาสได้งานมากขึ้น แม้ food delivery จะเป็นเทรนด์ที่เติบโตขึ้นมาในช่วงนี้ แต่ไม่สามารถชดเชยการนั่งรับประทานในร้านสัดส่วนของ food delivery ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับธุรกิจอาหารโดยรวมทั้งระบบ”
โดยบริษัทได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนที่อยู่ใน ecosystem ของแกร็บ ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหาร คนขับรถ และผู้ใช้บริการ ดังนี้
ด้านพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร ปรับเวลาการพิจารณาอนุมัติให้เปิดหน้าร้านบนแกร็บเร็วขึ้น จากเดิม 3 สัปดาห์ ปรับเหลือเพียง 7-10 วัน ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้ร้านคงอยู่ได้และมีรายได้เข้ามาเร็วขึ้นในเดือนกรกฎาคมยังออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนให้ร้านอาหารอีก 4 มาตรการ
หนึ่งในนั้นคือ การเปิดให้ร้านอาหารที่ไม่เคยจำหน่ายอาหารผ่านแอปพลิเคชันแกร็บใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และยะลา สามารถสมัครเข้าเป็นพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร โดยยกเว้นค่าคอมมิชชันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับร้านที่สมัครเข้ามาระหว่างวันที่ 1-30 กรกฎาคม ปี 2564
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ GrabAcademy ที่ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยจัดคอร์สองค์ความรู้ที่จำเป็นให้พาร์ตเนอร์เข้ามาเรียนได้ฟรี ในฝั่งของลูกค้าผู้ใช้แกร็บที่มีเป็นหลักล้านรายยังมีการกระตุ้นสร้างดีมานด์ผ่านโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ เช่น แคมเปญอุดหนุนร้านค้าคนไทย
ที่มีการแจกโค้ดส่วนลดให้กับลูกค้าที่สั่งอาหารในร้านค้าเล็กๆ ของคนไทย เพื่อสร้างดีมานด์ให้หมุนเวียนในระบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมช่วยโปรโมตร้านอาหารขนาดเล็กทั่วประเทศในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อและแอปพลิเคชันของบริษัท
ด้านพาร์ตเนอร์คนขับ ซึ่งเป็น front liner แกร็บได้ร่วมกับผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาด เช่น เดทตอล หรือไลฟ์บอย โดยแจกผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์และเจลล้างมือให้สำหรับผู้ใช้บริการ บริษัทส่งเสริมให้ชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (GrabPay หรือ GrabPay Wallet) โดยนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อส่งเสริมการชำระเงินแบบไร้เงินสด (cashless)
เดือนเมษายน ปี 2563 ได้ออกธุรกิจใหม่ เช่น บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ GrabMart เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ซึ่งเดิมมีแค่กลุ่มของสดก็เพิ่มหมวดหมู่อื่นๆ เช่น กลุ่มสินค้าบิวตี้ อุปกรณ์สำนักงาน นับตั้งแต่เปิด GrabMart มาปีเศษ มียอดใช้บริการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
หากสถานการณ์ยืดเยื้ออีกเป็นปี แกร็บประเทศไทย มีแผนรองรับอย่างไรบ้าง จันต์สุดาตอบว่า ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ แต่มีแผน 6 เดือนสำหรับครึ่งปีหลังของปี 2564 ประกอบด้วย
1. สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร เช่น GrabMart มีฟีเจอร์ตลาดสดคนไทย (Thai Fresh Market) ที่ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการกระจายผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวประมงในหลากหลายพื้นที่ เพื่อระบายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ล่าสุดแกร็บเพิ่งปล่อยแคมเปญ “GrabMart สดมงลง” เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารที่สดส่งตรงจากฟาร์มของเกษตรกรทั่วไทย
2. บริษัทมองว่าการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่ม stakeholder ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เข้าใจ insight ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น และจะสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจใน business model มากขึ้น
3. มุ่งมั่นที่จะให้คนไทยมีความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการขายผ่านการส่งเสริมความรู้ใน GrabAcademy ซึ่งพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและคนขับของบริษัทสามารถเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ได้
4. การเติบโตอย่างยั่งยืน ใน GrabFood มีฟีเจอร์ไม่เอาช้อนส้อมพลาสติกด้วย และพบว่าผู้สั่งอาหารกว่า 80% เลือกที่จะไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแกร็บออกแคมเปญ Carbon-neutral ride เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารบริจาค 1 บาทสำหรับผู้ใช้บริการ GrabBike และ 2 บาทสำหรับผู้ใช้บริการ GrabCar หรือ JustGrab เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปให้องค์กรการกุศลปลูกป่า
ในตอนท้ายจันต์สุดากล่าวถึงบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เราจึงควรมีแผนสำรองรองรับ ไม่ใช่มีแค่แผนเดียว แต่ต้องมีแผน A, B, C, D และในแง่ธุรกิจการออกนโยบายใดๆ ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบและคิดเผื่อคนที่อยู่ใน ecosystem ของแกร็บด้วย เพื่อให้ไปด้วยกัน ไปได้ไกล”
ภาพ: แกร็บ ประเทศไทยคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine