เป็นการยากที่จะบอกว่าใครไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะดูเหมือนว่า ภาวะการแพร่ระบาดที่รุนแรงแทบทุกประเทศทั่วโลกส่งผลกระทบต่อผู้คน เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมากมาย ถึงแม้ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ผลกระทบเหล่านั้นยังคงมีพลังอย่างต่อเนื่อง
เดือนแห่งผู้หญิง สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ และในโอกาสที่ Forbes Thailand นำเสนอธีมเนื้อหาฉบับเดือนสิงหาคมเกี่ยวกับ Power Woman ทีมงานจึงรวบรวมรายงานพิเศษชิ้นนี้ที่ว่าด้วยเรื่อง “สถานการณ์ผู้หญิงทั่วโลกเกี่ยวกับภาระความเสี่ยง และผลกระทบจากโควิด-19” มานำเสนอเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งรวบรวมมาจากบทความของ UN Global Compact ที่ตั้งหัวข้อไว้ในเรื่อง “ภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนและเคารพสิทธิสตรีและเด็กผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไร” ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึง "บทบาท หน้าที่ ภารกิจ และภาระของผู้หญิงท่ามกลางสถานการณ์โควิด" ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างไร พวกเธอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ท่ามกลางภาวะที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเกือบ 4 ล้านรายจากผู้ติดเชื้อกว่า 180 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน ปี 2564) รายงานฉบับดังกล่าวขึ้นต้นการนำเสนอด้วยคำถามที่ว่า “รู้หรือไม่ ผู้หญิงเสี่ยงในการทำงานแค่ไหน ในภาวะวิกฤตโควิด-19 และภาคธุรกิจจะสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง” ในเมื่อผลกระทบจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสตรีอย่างหนัก ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานโดยได้ค่าแรงต่ำขาดความปลอดภัย และทำงานนอกระบบมากกว่าผู้ชาย อีกทั้งผู้หญิงส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขและงานที่ต้องอยู่แนวหน้าของการต่อสู้กับโควิด-19 ต้องเสี่ยงทั้งสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเอง เช่นเดียวกับครอบครัวของพวกเธอ เมื่อพูดถึงความเสมอภาคทางเพศเราไม่สามารถละเลยเรื่องนี้ได้ และมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศทั่วทุกมุมโลกจะเพิ่มขึ้น และจะทำให้ความคืบหน้าในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านความเสมอภาคทางเพศถดถอยลง เราทุกคนได้รับผลกระทบ แต่วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงโดยตรง ซึ่งมักจะทำงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด โดย 70% ของบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงชีวิตเป็นผู้หญิงและ 60% ของการจ้างงานของผู้หญิงนั้นอยู่นอกระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีความคุ้มครองจากการเลิกจ้างและการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมเพียงเล็กน้อยและมีข้อจำกัด นอกจากนี้ ยังพบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศชายและหญิงอยู่ที่ 16% ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ อีกทั้งผลจากการปิดประเทศและการกักตัวทำให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 25% ทำให้ผู้ที่ประสบภัยนั้นไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองได้ในช่วงการกักตัว ทั้งนี้ผู้หญิงโดยปกติแล้วทำงานด้านการดูแลซึ่งไม่ได้ค่าจ้างหนักกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า ในขณะที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส เด็กกว่า 850 ล้านคนทั่วโลกหันมาเรียนที่บ้านแทน ซึ่งภาระหน้าที่เพิ่มเติมต่างๆ นั้นก็ตกเป็นของผู้หญิงเป็นหลัก ดังนั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ จึงต้องคำนึงถึงผู้หญิง และเด็กผู้หญิงก่อนในระหว่างและหลังจากวิกฤตนี้ หลักการสร้างพลังให้ผู้หญิงจะช่วยให้ธุรกิจมีความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน ในตลาด ในชุมชน และสามารถเป็นแนวทางให้บริษัทต่างๆ รับรู้และตอบสนองต่อผลกระทบที่มีต่อสตรีในช่วงโควิด-19 โดยแนวปฏิบัติที่บริษัทสามารถทำได้มีดังนี้ มั่นใจในบทบาทของสตรี รวมถึงสิทธิในการวางแผนและการตัดสินใจ การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ทีมที่มีความหลากหลายทางเพศจะทำให้การตัดสินใจในการทำงานได้ดีขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น ในยุคของโควิด-19 บริษัทควรนำแนวทางนี้ไปใช้กับหน่วยงานเฉพาะกิจและทีมที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 เป้าหมายความเสมอภาคทางเพศจะสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการกำหนดและบรรลุเป้าหมายขององค์กร ภายใต้บทบาทและความเป็นผู้นำของสตรีในช่วงวิกฤต สนับสนุนงานของผู้ปกครองเด็ก และการคำนึงถึงงานด้านการดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่ตกเป็นภาระของสตรี ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดบริษัทควรเสนอวิถีการทำงานที่ยืดหยุ่นสนับสนุนตัวเลือกการดูแลเด็กที่ปลอดภัยและเหมาะสม รวมถึงการลาป่วยและลาคลอดที่ได้รับค่าจ้างของผู้หญิง สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้มุมมองเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเปลี่ยนไป มันแสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้นำ การตัดสินใจ การทำงานบ้าน การดูแลและการสอนเด็กๆ ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งผู้ชายและผู้หญิงในการอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว การช่วยแก้ไขผลที่ตามมาของการอยู่บ้าน รวมถึงการรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว โดยบริษัทสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานโดยตรงในการให้บริการที่จำเป็น เช่น โทรสายด่วนแจ้งความรุนแรงในครอบครัว การดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมถึงการดูแลสุขภาพก่อนและหลังคลอดของสตรี สนับสนุนสตรีทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน คู่ค้าของบริษัท และกลุ่มที่ธุรกิจของคุณดำเนินการอยู่ กรณีนี้หมายถึงการทำให้มั่นใจว่าคู่ค้าบริษัทที่ต้องพึ่งพาแรงงานผู้หญิงนั้นได้รับค่าจ้างและการสนับสนุนที่เหมาะสมเท่าที่เป็นไปได้ และอาจรวมถึงการผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง พร้อมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ หรือตัวช่วยบริการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้ไม่ประสบปัญหาการล้มละลาย ทั้งนี้ยังเป็นการช่วยสร้างสัมพันธ์ในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูในอนาคต การร่วมมือกันของภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และความพยายามในการสนับสนุนเรื่องการฟื้นฟู โดยหลักปฏิบัติสากลได้เน้นว่า ความรับผิดชอบในการเคารพและการสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงไม่ได้สิ้นสุดแค่ภายในบริษัทเท่านั้น แต่ควรเน้นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้เสีย และพยายามในการที่จะผลักดันให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมมากที่สุด การเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวได้ให้คำแนะนำในการปิดช่องว่างความไม่เสมอภาคทางเพศในระบบเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ความเป็นไปได้ที่บริษัทจำนวนมากจะนำนโยบายและแนวทางปฏิบัตินี้ไปใช้ให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน และทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิงในเรื่องความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัวมากขึ้นประสบการณ์นี้จะช่วยผลักดันกระบวนการสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศมากยิ่งขึ้น มันจะเป็นกุญแจสำคัญในการรวบรวมข้อมูล โดยแยกตามเพศ อายุ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อติดตามผลกระทบของความพยายามทั้งหมดที่เกิดขึ้น อ้างอิงที่มา: COVID-19: How Business Can Support Women in Times of Crisis อ่านเพิ่มเติม:- วัลลภา ไตรโสรัส เต็มที่ทุกบทบาทของนายหญิงแห่ง “AWC”
- FORBES 400 มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่มั่งคั่งที่สุด ประจำปี 2021
- นักบริหารผู้รักการอ่าน: ระเฑียร ศรีมงคล แนะนำหนังสือ 5 เล่มประจำปี 2564
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine