เปลือกมังคุดที่เห็นอยู่เกลื่อนกลาด บวกความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจุดประกายให้นักวิจัยหนุ่มเบื้องหลัง APCO ศึกษาวิจัยแยกสารที่ออกฤทธิ์ทางยากระทั่งผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางหลากชนิดด้วยฝีมือคนไทย สร้างรายได้ปีละหลายร้อยล้านบาท
ระหว่างทำงานเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปี 2521 ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ทราบจาก “เขียว พัฒนจรินทร์” ว่าเปลือกมังคุดช่วยสมานแผลได้ ประกอบกับช่วงที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศพบว่า ในมังคุดมีสารเคมีที่น่าสนใจหลายอย่าง
จึงร่วมกับ ศ.ดร.ภญ. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร และ รศ.ดร.วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม ศึกษาวิจัยว่า เปลือกมังคุดมีสารอะไรที่ทำให้มีฤทธิ์เป็นยา จนสามารถสกัดสารกลุ่ม Xanthones กว่า 40 ชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
นักวิจัยตั้งชื่อสารชนิดนี้ว่า GM-1 และทดลองทำครีมทาแผลซึ่งได้ผลดี จึงทดลองต่อกระทั่งพบว่า มีประสิทธิภาพ 4 อย่างคือ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบได้ 3 เท่าของแอสไพริน ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าวิตามินอี และฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ ทว่าหากจะพัฒนาออกมาเป็นยาต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงนำมาเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในเครื่องสำอางแทนนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) (APCO) พลิกบทบาทจากนักวิจัยมาเป็นนักธุรกิจ โดยเริ่มลงทุนผลิตเครื่องสำอางที่รักษาสิวและประทินผิวจากมังคุดในชื่อแบรนด์ GARCINIA ปรากฏว่าเกือบไม่รอด เพราะเป็นสินค้าที่ “มาก่อนกาล” คนยังไม่คุ้นเคยกับเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ
ตัวที่มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ทางการเงินคือ ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนโดยใช้สารสกัดจาก “ส้มแขก” โดยร่วมกับบริษัทสัญชาติอเมริกันผลิตขึ้นในปี 2538 และนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ปี 2554 ก่อนย้ายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2561
APCO ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดมังคุดอย่างต่อเนื่อง โดยนำสารสกัด GM-1 มาเสริมฤทธิ์ร่วมกับงาดำ ถั่วเหลือง ฝรั่ง บัวบก ผลคือ ไม่เพียงลดการอักเสบแต่ยังช่วยปรับภูมิคุ้มกัน “ถ้าเม็ดเลือดขาวทำงานน้อยไป ภูมิคุ้มกันไม่มากพอ โอกาสติดเชื้อมีมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งก็มีมากขึ้น เราจึงพัฒนาสูตรจากสารสกัดเหล่านี้ให้ทำงานกับเม็ดเลือดขาว มีสูตรต่างๆ ที่ปรับภูมิคุ้มกันให้สมดุล เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย”
ต่อมาได้พัฒนาสูตรที่เพิ่มประสิทธิภาพเม็ดเลือดขาว โดยไปกระตุ้น killer T cell ซึ่งมีหน้าที่จัดการสิ่งแปลกปลอม จากรายงานประจำปี 2564 ระบุว่า บริษัทได้ยื่นขอจดสิทธิบัตร 2 รายการคือ ส่วนประกอบเพื่อควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และส่วนผสมพฤกษเคมีและเทคนิคการปรับภูมิสมดุลเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและการแพ้ภูมิตนเอง โดยหัวข้อหลังอยู่ระหว่างดำเนินการจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ สิงคโปร์ และมาเลเซีย
ปี 2564 บริษัทพัฒนาสูตรใหม่ชื่อ “นวัตกรรมวัฒนชีวา” ด้วยการผสมผสานความรู้วิทยาศาสตร์ของ telomere เข้ากับวิทยาการภูมิคุ้มกันล่าสุดในศตวรรษที่ 21 จนได้สูตรที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความยาวของ telomere ส่งผลให้มีการชะลอวัยและอายุยืนขึ้น
“สิ่งที่เราทำทุกอย่างต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ใช้วิทยาการล่าสุด เน้นประสิทธิภาพและความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่ทำมาตลอดเวลา”
เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ ศ.ดร.พิเชษฐ์ นักวิจัยเคมีอินทรีย์และฤทธิ์ชีวภาพของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติได้ศึกษาสารสกัดและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรกว่า 200 ชนิด และยังคงมุ่งมั่นกับการทำงานวิจัยเรื่องภูมิสมดุลอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบสำหรับวิจัยรวมๆ แล้วประมาณ 50-60 ล้านบาท
การระบาดของโควิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายลดลง แต่ยังคงมีกำไรสม่ำเสมอ ส่วนตลาดต่างประเทศที่เคยส่งออกก็ขาดจังหวะไป เช่น ปีที่ผ่านมาพันธมิตรจากจีนซื้อเป็นสูตรสำเร็จรูปมูลค่า 20-30 ล้านโดยนำไปตอกเม็ดเอง และคาดว่าปี 2565 จะมีรายได้จากส่วนนี้หลักร้อยล้านบาท แต่เนื่องจากจีนล็อกดาวน์ประเทศทำให้ชะลอลงไป
บริษัทจึงใช้เวลาช่วงนี้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์หลังโควิด ซึ่งมีสัญญาณว่ากิจการจะดีกว่าปีก่อน เพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศ โดยเพิ่มสัดส่วนการจัดจำหน่ายผ่าน BIM Healt Center ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงให้มากขึ้น ซึ่งสูตรที่ได้รับการตอบรับดีในปัจจุบันคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งและ HIV
รวมทั้งตั้งบริษัทใหม่อีก 2 แห่งเพื่อรุกตลาดด้านภูมิคุ้มกันบำบัด ประกอบด้วย บริษัท KILLER T CELL กลุ่มเป้าหมายคือ ลูกค้าหรือสถานดูแลสุขภาพที่ใช้นวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดหรือแพทย์ทางเลือก และบริษัท KILLER T CELL FOR PETS ดำาเนินธุรกิจนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น แมวและสุนัขที่ติดเชื้อรา แบคทีเรีย เอดส์ และไวรัส มีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศแล้ว และคาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะวางจำหน่ายที่ไต้หวันและสหรัฐฯ
เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์ ภาพ: APCO
อ่านเพิ่มเติม:- Rachel Drori จากอดีตผู้บริหารการตลาดหญิงแกร่งสู่ผู้ก่อตั้ง Daily Harvest มูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญฯ
- 20 มหาเศรษฐีสุดมั่งคั่งจากมรดกตกทอด
- ศักดา ศรีแสงนาม จัดทัพเตรียมรับ 100 ปี Chin Huay
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine