ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. เผยสถิติอสังหาฯภาคใต้ปี 2559 ยังดูดซับซัพพลายเดิม โอนกรรมสิทธิ์ลดลง ชะลอเปิดตัวใหม่ ด้านสต๊อกเหลือขายคอนโดฯภูเก็ต-สงขลาลดลงจากปี’58 ธอส.ประเมินผู้ประกอบการรอจังหวะลงทุน แนะพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับพื้นที่
วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC เปิดเผยข้อมูลจาก
การสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ในช่วงปี 2559 พบว่า โดยภาพรวมภาคใต้มีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงทั้งในแง่จำนวนยูนิตและมูลค่า ยกเว้นจังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้
- จังหวัดภูเก็ต มีการโอนกรรมสิทธิ์ 6,333 ยูนิต ลดลง 17.8% คิดเป็นมูลค่า 17,858 ล้านบาท ลดลง 12.1%
- จังหวัดสงขลา มีการโอนกรรมสิทธิ์ 5,958 ยูนิต ลดลง 8.9% คิดเป็นมูลค่า 9,494 ล้านบาท ลดลง 4.2%
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการโอนกรรมสิทธิ์ 3,768 ยูนิต ลดลง 19.5% คิดเป็นมูลค่า 7,355 ล้านบาท ลดลง 16.4%
- จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการโอนกรรมสิทธิ์ 3,011 ยูนิต เพิ่มขึ้น 64.9% คิดเป็นมูลค่า 4,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.0%
ทั้งนี้ วิชัยกล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการเติบโตสูงเกิดจากการเติบโตฐานต่ำ ต่างจากจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ตและสงขลาที่เป็นตลาดใหญ่ของภาคใต้ ในภาพรวมแล้วการโอนอสังหาฯภาคใต้หดตัวลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงินซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศในปีที่ผ่านมา ทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลงแม้จะมีความต้องการบ้านอยู่ก็ตาม
ด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ยังไม่สูงมาก พิจารณาจากสถิติการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินของภาคใต้ทั้งหมดปี 2559 มี 1,110 หน่วย ซึ่งลดลง 74% จากปี’58 ขณะที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแนวราบปี’59 มี 28,150 หน่วย ลดลง 9% จากปี’58
อย่างไรก็ตาม การออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแนวสูงปี’59 ปรับขึ้นเป็น 5,343 หน่วย เพิ่มขึ้น 17% แต่ยังต่ำกว่าในช่วงปี’55-56 ที่อสังหาฯภาคใต้เติบโตสูงทำให้มีการขออนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมประมาณปีละ 8,000-8,500 หน่วย
สต๊อกคอนโดฯภูเก็ต-สงขลาลดลง
ข้อมูลจาก REIC ยังเสนอสถิติโครงการระหว่างขายและจำนวนหน่วยเหลือขายรวมทั้งที่อยู่ระหว่างสร้างและก่อสร้างเสร็จของภาคใต้ปี 2559 ดังนี้
1.จังหวัดภูเก็ต
- มีโครงการระหว่างขายทั้งหมด 155 โครงการ รวม 30,365 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 13,246 หน่วย และคอนโดฯ 16,311 หน่วย
- เหลือขายทั้งหมด 6,094 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 2,984 หน่วย คิดเป็น 22.5% ของจำนวนหน่วยระหว่างขาย และคอนโดฯ 3,110 หน่วย คิดเป็น 19% ทั้งนี้ หน่วยคอนโดฯเหลือขายลดลงจากเมื่อเดือนต.ค. 2558 ที่มี 4,300 หน่วย
- อัตราดูดซับเฉลี่ย 6.6% ต่อเดือน
2.จังหวัดสงขลา
- มีโครงการระหว่างขายทั้งหมด 161 โครงการ รวม 14,227 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 9,367 หน่วย และคอนโดฯ 4,860 หน่วย
- เหลือขายทั้งหมด 4,046 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 3,217 หน่วย คิดเป็น 34.3% และคอนโดฯ 829 หน่วย คิดเป็น 17% ทั้งนี้ หน่วยคอนโดฯเหลือขายลดลงจากเมื่อเดือนต.ค. 2558 ที่มี 1,100 หน่วย
- อัตราดูดซับเฉลี่ย 4.5% ต่อเดือน
3.จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- มีโครงการระหว่างขายทั้งหมด 95 โครงการ รวม 7,567 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 5,845 หน่วย และคอนโดฯ 1,722 หน่วย
- เหลือขายทั้งหมด 2,308 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 1,943 หน่วย คิดเป็น 33.2% และคอนโดฯ 365 หน่วย คิดเป็น 21.2%
- อัตราดูดซับเฉลี่ย 4.9% ต่อเดือน
4.จังหวัดนครศรีธรรมราช
- มีโครงการระหว่างขายทั้งหมด 39 โครงการ รวม 4,934 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 4,549 หน่วย และคอนโดฯ 385 หน่วย
- เหลือขายทั้งหมด 1,325 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 1,085 หน่วย คิดเป็น 23.9% และคอนโดฯ 240 หน่วย คิดเป็น 62.3%
- อัตราดูดซับเฉลี่ย 5.0% ต่อเดือน
ซึ่งวิชัยกล่าวว่า
ภาพรวมอสังหาฯภาคใต้ยังขายได้ต่อเนื่อง จากอัตราการดูดซับในระดับเฉลี่ย 5% ต่อเดือน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เพราะปกติแล้วหากอยู่ในสภาพการณ์หดตัว อัตราดูดซับจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ต่อเดือน ดังนั้นถ้า
หากไม่มีซัพพลายใหม่เพิ่มขึ้น อัตราดูดซับในระดับเฉลี่ย 5% ต่อเดือนจะใช้เวลาในการขายซัพพลายเหลือขายประมาณไม่เกิน 20 เดือน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใหม่จะต้องศึกษาจังหวะที่ดี โดยดูจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว มีการลงทุนใหม่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ มีแนวโน้มการเติบโตของภาคท่องเที่ยว และราคาผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ซึ่งราคาพืชผลนั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯของชาวใต้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรลงทุนพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช การพัฒนาคอนโดฯอาจไม่เหมาะสมกับตลาดนี้ซึ่งผู้บริโภคต้องการโครงการแนวราบมากกว่า