ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างศาสตร์แห่งการบริหารงาน บรรจบกับศิลปะการใช้ชีวิตที่สามารถผสานสุนทรีย์ในทุกความเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางการเงินของเอ็มดีหญิงคนใหม่ LH BANK พร้อมรับโจทย์ขับเคลื่อนธนาคารสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ธนาคารที่มีจุดเริ่มจากแนวคิดของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศ ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกสถาบันการเงินให้กับผู้บริโภค บนความร่วมมือระหว่าง บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2548 ได้รับการจับตาหลังประกาศเสริมทัพความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้วยการผนึกกำลังกับ CTBC Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของไต้หวันและมีสินทรัพย์กว่า 4 ล้านล้านบาท เพื่อนำความรู้และความเชี่ยวชาญเสริมศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับการให้บริการในระดับสากล
นับจากดีลความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ ธนาคารอายุกว่า 14 ปียังสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรและประกาศเปลี่ยนผู้นำทัพคนใหม่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดย ศศิธร พงศธร ซึ่งครบวาระการทำงาน ยังคงดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ CTBC เป็น Strategic Partner ทำหน้าที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ภาพรวมของกลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้เกิดการบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ในปัจจุบันยิ่งเล็ก ยิ่งได้เปรียบ เพราะมีความคล่องตัวสูงมาก หลายธนาคารพยายามมองภาพตัวเองเทียบกับบริษัทสตาร์ทอัพ เพราะคิดแล้วทำทันที รวดเร็ว ไม่เหมือนองค์กรใหญ่ กว่าจะวางแผนหรือปฏิบัติ โอกาสอาจจะผ่านไป เรามองว่าแบงก์เล็กมีความได้เปรียบกว่า และภาพของเราชัดเจนเรื่องคุณภาพ ซึ่งเราน่าจะสามารถนำประสบการณ์ทั้งส่วนบริษัทเอกชนและธนาคารในประเทศหรือต่างชาติช่วยให้ที่นี่เติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นในเวลาอันสั้น” ชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH BANK เริ่มต้นเล่าถึงการตัดสินใจรับภารกิจกุมบังเหียนธนาคารจากค่ายอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และพันธมิตร
ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมตลอดเส้นทางการเงินและธนาคารทำให้เอ็มดีป้ายแดงวัย 55 ปีมั่นใจในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย นับตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษาปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ทำให้ชมภูนุชได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง
ส่วนเส้นทางการทำงานด้านการเงินและธนาคารของชมภูนุชเริ่มในปี 2544 จากผู้อำนวยการ Citi Shared Service ของธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. เป็นเวลากว่า 8 ปี จึงร่วมงานกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ร่วม 10 ปีในตำแหน่งสำคัญ ตั้งแต่หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริการส่วนกลาง หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคล หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสาขา และประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี พร้อมผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ เช่น Profitable Leadership, Think Forward Simulation Workshop, 7 Habit of Highly Effective People และ Lead to Lead the Change เป็นต้น
“การทำให้องค์กรแข็งแรงได้ คนต้องแข็งแรงก่อน ในช่วงนั้น HR ยังไม่ค่อยแข็งแรง เราต้องไปสร้างแพลตฟอร์มและบริหารคนให้เขา รวมถึงเริ่มโครงการเปิดโอกาสให้พนักงานเลือกทำงานในยูนิตใหม่ได้ ทำให้เขารู้สึกว่ามีทางเลือก ซึ่งเราก็สามารถลดการลาออกของพนักงานลงได้ โดยทางฝ่ายบริหารมองว่าต้องเป็นผู้ที่รู้จักคนจริงๆ เพื่อให้สามารถบริหารคนจำนวนมาก เราจึงได้รับหน้าที่ให้ดูแลธุรกิจสาขาประมาณ 600 สาขา และพนักงานประมาณ 5,000 คนให้รู้สึกมีคุณค่าในการทำงาน”
สานต่อภารกิจแบงก์คุณภาพ
ภายใต้ประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมรอบด้าน ชมภูนุชพร้อมร่วมเสริมทัพความแข็งแกร่งสร้างการเติบโตและสานต่อพันธกิจของธนาคาร โดยมุ่งเน้นการปรับกระบวนการให้บริการของสาขาสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ (Professional Financial Advisors) เพื่อรุกบริการ wealth management อย่างเต็มที่ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการ ด้วยระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Banking) ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วในยุคดิจิทัล
นอกจากนั้น ธนาคารยังได้เปิดให้บริการรับชำระเงินจาก e-wallet ผ่าน QR code และบริการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ CTBC Bank พันธมิตรจากไต้หวันที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทรดไฟแนนซ์และเครือข่ายสาขา 111 สาขาทั่วโลกครอบคลุมกว่า 14 ประเทศ สามารถอำนวยความสะดวกและผลิตภัณฑ์หลากหลายครบวงจร รองรับธุรกิจนำเข้าและส่งออกของไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ภาพลักษณ์ของธนาคารยังคงมุ่งเน้น mark symbolic of CHANGE ภายใต้คอนเซปท์ “We Are Family” เราคือครอบครัวเดียวกัน พร้อมยกระดับการให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ รวมทั้งการปรับพื้นที่บางสาขาให้มี Private Zone, Private Room เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวสำหรับลูกค้า โดยทีมที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคลที่เป็นมืออาชีพควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบ Wealth Management System เพื่อช่วยในการจัดพอร์ต (Asset Allocation) ให้สอดคล้องกับคาแรกเตอร์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละเจเนอเรชั่น เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ธนาคารยังเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่านตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) โดยให้ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นตัวแทนรับทำธุรกรรมเพื่อให้บริการทางการเงินพื้นฐานแก่ลูกค้าของธนาคารผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ โดยให้บริการรับฝากเงินสดทั้งบัญชีออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน รวมถึงบริการถอนเงินสดและชำระบิลค่าสินเชื่อผ่านบัญชีธนาคารได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถใช้บริการได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 11,000 สาขาทั่วประเทศ
“แผนการดำเนินงานที่วางไว้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องที่ต้องการเพิ่มเนื่องจากเราเป็นแบงก์เล็ก เวลามองภาพแบงก์ใหญ่ เหมือนเราอยากทำทุกเรื่อง พนักงานต้องทำหลายอย่างเป็น multi-task ซึ่งมีข้อดีที่ได้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ขาดโฟกัส โดยเราต้องปรับตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าในการทำงานของเขา และคุณค่าในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดี รวมถึงเรื่องความรวดเร็ว ซึ่งเราควรใช้ความได้เปรียบของการเป็นแบงก์เล็ก speed ตัวเอง”
ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2561 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 6.06 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 2.57 พันล้านบาท สินทรัพย์รวม 2.39 แสนล้านบาท โดยมีเงินรับฝาก ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมจำนวน 1.91 แสนล้านบาท รวมถึงเงินให้สินเชื่อประมาณ 1.62 แสนล้านบาท นำโดยกลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ 76% รายย่อย 13% และกลุ่มเอสเอ็มอี 11% ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.93% และสินเชื่อที่ค้างชำระตั้งแต่ 30-90 วัน (Delinquency) เพียง 0.99% ของสินเชื่อรวม สะท้อนถึงการควบคุมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนรวมและเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20% และ 17.1% ตามลำดับ
“สถิติที่ผ่านมาสะท้อนถึงการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องให้เครดิตพี่ศศิธรที่ก่อร่างสร้างแบรนด์ตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว จากสินทรัพย์ 8 พันล้านถึง 2 แสนล้านบาท โดยเรายังคงมุ่งให้ LH BANK เติบโตอย่างมีคุณภาพ และต้องการเน้นความชัดเจนเรื่องทิศทางของธนาคาร ซึ่งแผนในปีนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วคงต่อยอดให้เติบโตเป็นไปตามแผนที่วางไว้ไม่ยาก ส่วนปีหน้าคงต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่อยู่เฉยๆ แล้วจะไปต่อได้ และ culture เป็นเรื่องสำคัญมาก เราคงต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทันสมัยเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ภายใต้ core value ของธนาคารเป็นจุดตั้งต้น”
อ่านเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติม ภาพ: กิตติเดช เจริญพร, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์คลิกอ่านฉบับเต็ม “ชมภูนุช ปฐมพร ถิดสมการนำทัพ LH BANK” ต้องปรับเมื่อโลกการค้าเปลี่ยน” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine