ธิติ ตันติกุลานันท์ ขับเคลื่อนกสิกร สู่ “Next Step” - Forbes Thailand

ธิติ ตันติกุลานันท์ ขับเคลื่อนกสิกร สู่ “Next Step”

ฉากชีวิตการทำงานในอาชีพนักค้าเงินยาวนาน 27 ปีของ ธิติ ตันติกุลานันท์ ถูกย้อนฉายภาพในระหว่างอาหารจีนมื้อค่ำที่ร้านหงเปา สาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี หนึ่งในร้านอาหารโปรดของนายแบงก์หนุ่มใหญ่วัย 49 ปี ผู้มีชื่อเล่นจิม

เขาดูติดสไตล์ฝรั่งนิดๆ ตามประสาหนุ่มนักเรียนนอก และอดีตนักค้าเงินธนาคารต่างประเทศ 4 แห่ง ให้เกียรติเป็นแขกคอลัมน์ “Dine with the Boss” ด้วยหมวก 2 ใบที่สวมใส่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ธิติ ตันติกุลานันท์ บอกเราถึงที่มาที่ไปในการเข้าสู่วงการเทรดเงินตราต่างประเทศว่าเป็นอาชีพในฝันตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐอเมริกา

สมัยเด็กๆ ก็ชอบ...ไม่รู้จะเล่าดีหรือเปล่า ชอบเข้ากาสิโน ผมเข้ากาสิโนตั้งแต่อายุยังไม่ 21 เลย คือไม่ได้ชอบการพนันเพราะการพนัน แต่ชอบท้าทาย และชอบเรื่องความเสี่ยง เลยมาทำงานนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทำงานในวิชาชีพนี้มาระยะหนึ่ง ธิติได้เห็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเทรดเดอร์ในห้องค้าเงินกับนักเสี่ยงโชค โดยพบว่านักค้าเงินที่จะอยู่ได้ในระยะยาวคือคนที่สามารถอ่านความเสี่ยง หรือประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง และต้องรู้จักหยุดเมื่อถึงจุดที่ความเสี่ยงเทียบกับโอกาสผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่า

ธิติสั่งสมประสบการณ์ทำงานจากสถาบันการเงินต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, CITI Bank, JP Morgan และ HSBC เริ่มจากตำแหน่งเทรดเดอร์ไปจนถึงตำแหน่ง Vice President และ Head of Trading ดูแลการค้าเงิน ดอกเบี้ยและตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ก่อนเข้าร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยในปี 2549

ภายใต้หมวกผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน (ตำแหน่งเทียบเท่ารองกรรมการผู้จัดการอาวุโส) ธนาคารกสิกรไทย เขารับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงทางการเงินและให้บริการธุรกิจตลาดทุนด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ ทีมงานผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Corporate Sales) ทีมงานอนุพันธ์ทางการเงิน (Derivatives Sales) ทีมงานผลิตภัณฑ์นักลงทุน (Investor Sales) ทีมงานค้าธุรกิจตลาดทุน (Capital Market Trading) ทีมงานตลาดทุนธนกิจ (Debt Capital Market) และทีมงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน (Capital Market Research)

หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารต่างประเทศหลายรายถอนตัวออกจากตลาด และทำให้คนทำงานในสายการเงินหายากยิ่งขึ้น (PHOTO CREDIT: REUTERS/Yuriko Nakao)

ในขาธุรกิจค้าเงินนี้ ธิติเล่าว่าตลาดได้หดตัวลงหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ที่ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกออกกฎระเบียบเข้มงวดในการควบคุมสถาบันการเงิน เพื่อป้องกัน systematic risk ซึ่งทำให้หลายๆ ธนาคารโดยเฉพาะแบงก์ต่างชาติถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ในเอเชีย

หลังปี 2008 ที่ Lehman (Brothers) ล้ม มันก็เปลี่ยนไป แบงก์ต่างประเทศหลายแบงก์ถอนตัวไป คนในอุตสาหกรรมนี้เลยมีน้อยลงๆ วันนี้เรียกว่าน้อยลงมากเลยในการที่จะหาคนมีประสบการณ์ ธนาคารต่างประเทศในเมืองไทยต้องเอาคนมาจากฮ่องกงมาทำงาน เพราะหาคนไม่ได้ในเมืองไทย ของเราโชคดีเราเมนเทนคนได้

ในแง่ของวอลลุ่ม ที่ผ่านมาธุรกิจค้าเงินตราต่างประเทศยังโต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและภาคการนำเข้าส่งออกยังมีการขยายตัว แม้ปีนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณว่าธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเริ่มไม่เติบโตเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

 

ผู้นำตลาดหุ้นกู้

อย่างไรก็ตามในส่วนของธุรกิจหุ้นกู้ ตลาดมีการเติบโตถึง 4 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นกว่า 8 แสนล้านในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยธนาคารกสิกรไทยสามารถทำส่วนแบ่งการตลาดได้ 22% เป็นอันดับ 1

การออกหุ้นกู้มันชนะกันที่ว่ายูคิดว่ายูจะออกดอกเบี้ยให้กับ issuer ได้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นยูจะต้องอ่านตลาดว่าจะมีคนมาซื้อนะที่เรทเท่านี้…”

รายงานของ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเติบโตขึ้นทุกปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปี 2553 เป็น 79% ในปี 2561

ทำให้ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เริ่มมีขยับเข้ามามีขนาดใกล้เคียงกับช่องทางการระดมทุนหลัก 2 ช่องทางคือตลาดสินเชื่อและตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีขนาด 96% และ 101% ต่อจีดีพีตามลำดับ

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จาก 12% ต่อจีดีพีในปี 2552 เป็น 24% ในปัจจุบัน โดยมีมูลค่าการระดมทุนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3 ปีซ้อน ทะลุ 8.79 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา

จากรายงานของ ThaiBMA ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้นำในตลาดตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนในปี 2561 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 22.53% รองลงมาคือธนาคารกรุงเทพ 14.35% อย่างไรก็ตามตัวเลขรายงานล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ธนาคารกรุงเทพกลับมาเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาด 23.58% และกสิกรไทยไล่ตามติดด้วยส่วนแบ่ง 22.5%

แม่ทัพธุรกิจตลาดทุนกสิกรมองว่าตลาดหุ้นกู้ไทยน่าจะทำนิวไฮอีกในปีนี้ แม้ว่าตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ไม่มากนัก คือจาก 8.5 แสนล้านบาทเป็น 8.7 แสนล้านบาท

 

ฝ่ากระแสน่านน้ำสีแดงธุรกิจหลักทรัพย์

หมวกอีกใบหนึ่งที่ธิติสวมใส่ตั้งแต่ปี 2556 คือตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ธนาคารกสิกรไทยถือหุ้น 99%

เป็นอุตสาหกรรมที่เหนื่อย เพราะมีหลายแฟกเตอร์มาก...”

บอสบมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทยชี้ว่า การที่ค่าคอมมิชชั่นเทรดหุ้นลดลงเพราะการแข่งขันด้านราคา มีผลทำให้อุตสาหกรรมโบรกเกอร์มีแรงดึงดูดและรักษาคนเก่งๆ ไว้ได้น้อยลง ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันงานวิจัยสามารถถูกส่งต่อกันไปง่ายดาย ทำให้บล.บางรายไม่อยากลงทุนในงานวิจัยเพราะมองว่าลงทุนไปก็เหมือนทำให้คนอื่น

ตอนนี้เทรนด์หรือพฤติกรรมลูกค้าก็เปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งตอนที่ผมเข้ามาเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว 40% ตอนนี้ประมาณ 70% แล้ว เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ข้อมูลหาได้ง่ายมาก เมื่อก่อนจะหาเรโช หรืองบดุล กำไร รายได้ของบริษัทจะต้องมานั่งดาวน์โหลด Excel เดี๋ยวนี้ง่ายมาก

เพื่อรองรับเทรนด์ของนักลงทุนที่หันมานิยมการเทรดและหาข้อมูลเอง บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทยจึงได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ อาทิ KS Super Stock ซึ่งเป็นแอปฯ สำหรับลูกค้าทั่วไปสามารถใช้สแกนหาหุ้น ดูข้อมูลทั้งทางด้านพื้นฐานและทางด้านเทคนิค ดูข่าวสารและบทวิเคราะห์หลักทรัพย์

และ KS Stock Plus สำหรับลูกค้าที่มีการเทรดด้วยค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อปี ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยในการลงทุน รวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านการลงทุน โดยสามารถยิง push notification แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของหุ้นที่อยู่ในพอร์ตและหุ้นที่สนใจ และสรุปงบการเงินจากระบบอัตโนมัติ

ธิติมองว่าสเต็ปต่อไปจะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้เพื่อเป็นผู้ช่วยนักลงทุน

ในอนาคตก็จะมี AI เข้ามาช่วย โดยไม่ใช่ AI ในเชิงเทรด อาจจะเป็น AI ในเชิงให้ข้อมูลลูกค้า เหมือนเอา AI มาช่วยวิเคราะห์ และเราสามารถที่จะให้ข้อมูลลูกค้า เพื่อที่จะเจาะจงยิงข้อมูลเข้าไปให้ลูกค้า...”

ธิติเปิดเผยว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทยมีรายได้ลดลงประมาณ 9% และกำไรลดลงประมาณ 17% ส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจที่ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งมีฐานที่สูง อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของอุตสาหกรรมโดยรวมคือลดลง และปีนี้คาดว่าจะลดลงไปอีก เป็นปีที่ลำบากสำหรับอุตสาหกรรมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ จากสภาพเศรษฐกิจจนถึงมาตรการ LTV (มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย: Loan to Value) ที่อาจมีผลกระทบ

 

ภาพประกอบ: มังกร สรพล


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “ธิติ ตันติกุลานันท์ ขับเคลื่อนกสิกรสู่ "Next Step” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine