การลงทุนปีนี้ "บอนด์" มีเสน่ห์ - Forbes Thailand

การลงทุนปีนี้ "บอนด์" มีเสน่ห์

ภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนวโน้มดอกเบี้ยปรับขึ้นช้า ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

ตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) ทั่วโลกอยู่ในภาวะที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลาย (Dovish) โดยจะคำนึงถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี้นี้เพียง 0-2 ครั้ง โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากผลของมาตรการลดภาษีนิติบุคคลเริ่มเบาบางลง

นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ มีรัฐบาลผสม 2 ฝ่าย (เดโมแครตและรีพับลิกัน) จะทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมาตรการการปรับลดภาษีชุดใหม่

ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศทั่วโลกต่างมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ (Re-Sychronisation) แต่รัฐบาลในแต่ละประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา และอดีตผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มโตช้า ดังนั้น ตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือที่ลงทุนได้ (Investment Grade) จะทำผลตอบแทนได้ดี ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงอ่อนค่า และมองว่าโลกอาจจะอยู่ในรอยต่อระหว่างช่วงเติบโตช้า กับช่วงเศรษฐกิจหดตัว ดังนั้นตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือไฮยีลด์บอนด์ (High Yield Bond) จึงน่าสนใจลงทุน

รัชดา ตั้งหะรัฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการเสนอขายกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ฟิกซ์ แมชชัวริตี้ 2Y1 (UFM2Y1) กองทุนนี้จะนำเสนอทางเลือกในการการกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ทั่วโลกในภาวะตลาดที่ผันผวนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และ 2563 ลงมาอยู่ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลง และเจอกับปัญหาที่ท้าทายการดำเนินนโยบายการเงินหลายด้าน การกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ทั่วโลกในภาวะตลาดที่ผันผวน เป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยนักลงทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ

 

ไฮยีลด์บอนด์

ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ให้นิยามไฮยีลด์ บอนด์ ไว้ว่า หมายถึงตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade คือ BBB - ซึ่งอาจเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะโฟกัสผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นภาคเอกชนมากกว่า

เมื่อไฮยีลด์บอนด์เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ก็อาจคิดว่าเป็นตราสารหนี้ที่น่ากลัวหรือไม่ ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นไฮยีลด์ มี 4 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 บริษัทสตาร์ทอัพ หรือบริษัทดาวรุ่ง ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ประวัติทางการเงินอาจมีไม่มากพอ เวลาไปขอกู้ยืมสถาบันการเงินก็อาจกู้ยาก ออกหุ้นกู้ก็จะพิจารณาลำบาก เพราะยังไม่เห็นความสำเร็จของกิจการได้ชัดเจนในระยะแรก และยังไม่มีประวัติทางการเงินที่มากพอจะวิเคราะห์ได้

ประเภทที่ 2 บริษัทที่ทำการเข้าซื้อหรือครอบงำกิจการอื่น ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง บางครั้งก็อาจใช้เงินกู้หรือ ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน นำเงินไปซื้อกิจการ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ หรืออาจไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีกำไรก็ได้เมื่อซื้อกิจการมาแล้ว

ประเภทที่ 3 บริษัทที่ใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการสูง เช่น บริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมัน ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงแต่มีโอกาสที่จะไม่พบแหล่งน้ำมันโดยเสียเงินลงทุนเปล่า ในขณะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนสูง

ประเภทที่ 4 บริษัทที่อาจเคยมีความน่าเชื่อถือสูง ได้ระดับ Investment Grade สูงมาก่อน แต่เนื่องจากผลการดำเนินงานระยะหลังอาจด้อยลงหรือมีงบการเงินไม่ดีเท่าไหร่ จึงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาต่ำกว่าระดับ Investment Grade

อย่างไรก็ดี ศรศักดิ์กล่าวว่า หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าระดับต่ำกว่า Investment Grade คือ Non-Investment Grade แปลเป็นไทยว่า ไม่น่าลงทุน ฟังชื่อแล้วไม่รื่นหู แต่บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทที่ใกล้ปิดกิจการหรือจะล้มละลาย เพียงแต่สถานะการเงินมีความสุ่มเสี่ยงหรือมีความเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ไม่ได้แปลว่า บริษัทเหล่านี้จะล้มหมดทุกแห่ง หากสามารถวิเคราะห์เจาะลึกได้ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือฟื้นตัวกลับมาได้ ก็สามารถตัดสินใจลงทุนในไฮยีลด์บอนด์ได้ ซึ่งไฮยีลด์บอนด์มักจะให้อัตราดอกเบี้ยหรือ Coupon Rate ที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป

 

ตราสารน่าสนใจ

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย (TMBAM Eastspring ) มองว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทน (Yield) สูงถึงระดับ 2.5-3.0% ต่อปี น่าสนใจ รวมถึงตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ในเอเชียและจีน ที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับสูงถึง 9% ต่อปี และยังมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) กว้างสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มองว่ามีความเสี่ยงในการปรับตัวลงไม่มากนัก

วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย คาดว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เอเชียยังมีความน่าสนใจ แต่ยังต้องจับตาเรื่องความผันผวนค่าเงินเอเชียในระยะสั้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ระยะยาว แต่ต้องติดตามผลกระทบจากภายนอกด้วยเช่นกัน

 

ส่องโอกาสการลงทุน

สำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ สามารถลงทุนได้โดยผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทย มีการออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ได้จัดกลุ่มกองทุนตราสารหนี้โลก (Global Bond) ปัจจุบันมีจำนวน 49 กองทุน (ข้อมูล วันที่ 16 มีนาคม 2562) ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.morningstarthailand.com

สำหรับตัวอย่างกองทุนตราสารหนี้โลก เช่น กองทุนเปิดทหารไทย Global Income (TMBGINCOME) เป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.ทหารไทย ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) คือ PIMCO GIS Income Fund ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ระดับโลก และมีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ทั้งในส่วนไฮยีลด์ และหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันจดจำนอง (MBS) ตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช้หลักประกันการจำนอง (ABS) เป็นต้น

ทั้งนี้กองทุนเปิดทหารไทย Global Income เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางจนถึงสูงโดยคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 5-6 % ต่อปี และควรมีระยะเวลาการถือครองตั้งแต่ 3 ปีเป็นต้นไป

 

ระวังความเสี่ยง

ตราสารหนี้ ไม่ว่าจะซื้อลงทุนเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็อาจจะขาดทุนได้ แต่ถ้าเทียบกับการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้น การลงทุนในตราสารหนี้ก็ถือว่าปลอดภัยกว่า

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า ตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือพันธบัตรรัฐบาล จะให้ผลตอบแทน 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ยรับตามที่กำหนดไว้ (Coupon) และกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหากขายได้ที่ราคาสูงกว่าราคาซื้อ แต่ถ้าขายได้ต่ำกว่าราคาซื้อก็จะขาดทุนในส่วนนี้

ทั้งนี้ราคาตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดไถ่ถอน หรือเรียกกันว่ายีลด์ ถ้ายีลด์ลงราคาจะขึ้น ถ้ายีลด์ขึ้นราคาจะลง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การคาดการเงินเฟ้อในอนาคต การคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือปริมาณความต้องการซื้อและขายตราสารหนี้ในตลาด

ถ้านักลงทุนถือตราสารหนี้ไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน จะสามารถได้เงินคืนตามมูลค่าหน้าตั๋วที่กำหนดไว้ (ส่วนใหญ่จะที่ 1,000 บาท) อย่างนี้ก็จะไม่ขาดทุน (ถ้านักลงทุนซื้อมาในราคาต่ำกว่าหรือเท่ากับหน้าตั๋ว) ดังนั้น ถ้านักลงทุนขายก่อนที่ตราสารหนี้จะครบกำหนดอายุไถ่ถอนก็มีโอกาสขาดทุนได้จากราคาซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าไม่อยากขาดทุนก็ต้องถือจนครบอายุไถ่ถอน ผลตอบแทนที่ได้ จะมาจากในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายตามที่กำหนดไว้เท่านั้น

    เรื่องโดย :
เจษฎา สุขทิศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลน.ฟินโนมีนา
รัชดา ตั้งหะรัฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)
ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน บลจ.บัวหลวง
วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย
                          อ่านเรื่องราวการลงทุนเพิ่มเติม
คลิกเพื่ออ่าน "บอนด์มีเสน่ห์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine