‘ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล’ Shinkanzen Sushi จากซูชินักศึกษา สู่อาณาจักรอาหารพันล้าน - Forbes Thailand

‘ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล’ Shinkanzen Sushi จากซูชินักศึกษา สู่อาณาจักรอาหารพันล้าน

จากนักศึกษาสองคนที่เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่วัยเรียนด้วยการเปิดร้านซูชิคำละ 10 บาทในตลาดนัดและร้านใกล้มหาวิทยาลัย กิจการของพวกเขาขายดิบขายดีจนต้องขยายสู่ห้างสรรพสินค้าในแบรนด์ Shinkanzen Sushi ก่อนที่ไม่กี่ปีมานี้ หลังมีทุนใหญ่เข้ามาร่วมลงทุน บริษัทก็สร้างการเติบโตด้วยการขยายสู่แบรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะกระจายความเสี่ยง แต่อีกส่วนหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งบอกว่า “เพราะการทำธุรกิจเหมือนขึ้นหลังเสือ ถ้าอยู่เฉยๆ นิ่งๆ บริษัทจะไปต่อไม่ได้”


    “การทำธุรกิจเหมือนการขึ้นหลังเสือ บริษัทเราจะต้องเติบโตไปเรื่อยๆ เพราะว่าพนักงานต้องปรับเงินเดือนทุกปี ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย สักวันบริษัทจะไปต่อไม่ได้” ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านซูชิราคาย่อมเยาอย่าง Shinkanzen Sushi กล่าวกับ Forbes Thailand ในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ที่ร้าน Shinkanzen Sushi สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต หนึ่งในสาขาที่มีลูกค้าหมุนเวียนตลอดทั้งวัน ขณะที่ในร้าน นอกจากจะมีโซนปกติแล้ว ยังมีห้องที่ขายซูชิในรูปแบบโอมากาเสะด้วย

    ‘เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป’ เริ่มต้นธุรกิจเมื่อราว 10 ปีก่อน ขณะนั้นทั้งสองผู้ก่อตั้งยังเป็นเพียงนักศึกษา และเริ่มต้นด้วยการขายซูชิในตลาดนัด

    ทุกวันนี้บริษัทไม่ได้มีเพียงแค่ร้าน Shinkanzen Sushi แล้ว แต่กำลังกลายเป็นอาณาจักรอาหารพันล้าน ที่มีหลายแบรนด์อยู่ในเครือ ทั้งนักล่าหมูกระทะ, ร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นพรีเมียมอย่าง NAMA Japanese and Seafood Buffet และล่าสุดกับซื้อแฟรนไชส์ซูชิสายพานจากญี่ปุ่นอย่าง Katsu Midori เข้ามาเปิดในไทย


    ศุภณัฐ เล่าเส้นทางของเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ว่าเริ่มต้นตั้งแต่เขาและหุ้นส่วนอีกคนอย่าง ชนวีร์ หอมเตย เรียนอยู่คณะคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความที่คณะที่เรียนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ ทำให้มีเพื่อนๆ พี่ๆ เริ่มทำธุรกิจกันค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจเล็กๆ อย่างขายของออนไลน์ ไปจนถึงร้านอาหารก็มี

    “เราคุยกับหุ้นส่วนอีกคนนึงว่าเราอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง ตอนนั้นก็เริ่มต้นว่าจะทำร้านอาหาร พอมานึกว่าเราชอบกินอะไร อย่างผมชอบกินพวกอาหารญี่ปุ่น-ซูชิ ก็เลยมองว่า อาหารญี่ปุ่น-ซูชิแถว ม.ธรรมศาสตร์ ยังไม่มี ตอนนั้นก็มองหาคอนเซ็ปต์ที่จะแตกต่างจากคนอื่น จึงมองไปที่ซูชิที่ราคาคุ้มค่าแต่ยังใช้วัตถุดิบที่ดีอยู่ เพราะตอนนั้นถ้าอยากกินซูชิสักมื้อ มันจะค่อนข้างแพง”

    หลังจากจับคอนเซ็ปต์ซูชิราคาคุ้มค่าได้เสร็จ เขาและหุ้นส่วนไปลงเรียนทำซูชิที่มีราคาคอร์สละ 1,000 บาท เป็นคอร์สเล็กๆ ที่สอนตั้งแต่แล่ปลา, ปั้นข้าว, ทำซูชิโรล หลังเรียนเสร็จทั้งคู่ลงขันกันด้วยเงินลงทุนคนละ 100,000 บาท ลองเอาสูตรที่ได้มาไปขายตลาดนัด เก็บฟีดแบ็กอยู่ 3-4 เดือนแล้วเริ่มนำไปขายที่หน้าร้านที่พวกเขาเช่าไว้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับ ม.ธรรมศาสตร์ นั่นเอง

    “พอเราทำได้ประมาณ 1 ปี ก็เริ่มคุยกันว่า ลูกค้าให้การตอบรับดี เราลองขยายสาขาดีกว่า ตอนนั้นเราก็เริ่มขยายไปแถวมหาวิทยาลัยก่อน เพราะตอนแรกเรามองว่าทาร์เก็ตของเราจะเป็นเด็กมหาวิทยาลัย เริ่มจากที่ ม.กรุงเทพ ม.เกษตรศาสตร์

    "เราทำอยู่ประมาณ 2 ปี เรียนจบพอดี ก็เลยคุยกันว่าถ้าเราอยากทำธุรกิจนี้ต่อ มหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้เวิร์กทั้งหมด เพราะมหาวิทยาลัยจะมีซีซัน คือช่วงปิดเทอมที่เราจะไม่มียอดขายเลย ก็เลยมองว่าสิ่งที่ตอบโจทย์คือต้องไปในศูนย์การค้า เพราะศูนย์การค้ามีคนเดินทุกวัน ทั้งวันธรรมดาและเสาร์-อาทิตย์ เลยตัดสินใจเข้าสู่ศูนย์การค้ากัน"

    ศูนย์การค้าแห่งแรกที่เขาเริ่มไปเปิดร้านคือ ยูเนี่ยนมอลล์ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเห็นว่าการเปิดในห้างก็ไปได้ดี ทำให้หลังจากนั้นกลยุทธ์การขยายสาขาของ Shinkansen Sushi จึงเริ่มเข้าไปในห้างต่างๆ และบางห้างติดต่อมาหาแบรนด์เองด้วยซ้ำว่าอยากให้ไปเปิดที่ห้างของเขา


[ ทุนใหญ่ร่วมวง-แตกแบรนด์-สร้างการเติบโต ]

    หลักไมล์สำคัญของ Shinkansen Sushi เกิดขึ้นในปี 2565 โดยทุนใหญ่อย่าง CRG หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในเครือเซ็นทรัล ปิดดีลเข้าลงทุนในบริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด โดย CRG ถือหุ้น 51%

    “ตอนนั้นธุรกิจเริ่มเติบโตขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่เรายังไม่มีความรู้ในการจัดการธุรกิจในระดับที่ใหญ่ขนาดนั้น เราเลยมองหา Strategic Partner ที่จะช่วยให้เราขยายและเติบโตได้อย่างมั่นคง ตอนนั้นมีหลายเจ้ามาคุยกับเรา ทั้งกองทุนและพันธมิตรธุรกิจ แต่พอคุยกับ CRG เราคิดว่าค่อนข้างแมตช์กัน เพราะเขาเป็นธุรกิจอาหารเหมือนกัน และมีประสบการณ์ใน Chain Restaurant จึงตัดสินใจให้ CRG เข้ามาลงทุน”



    หลังมีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมทุน ทำให้นอกจาก ‘เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป’ เดินหน้าขยายสาขา Shinkanzen Sushi ต่อเนื่อง แต่ที่มากกว่านั้นคือการแตกแบรนด์ใหม่เพิ่มเติม โดยในปี 2566 บริษัทกระโดดเข้าสู่วงการร้านอาหารปิ้งย่างด้วยแบรนด์ ‘นักล่าหมูกระทะ’ ร้านหมูกระทะติดแอร์มีที่ดูดควัน เพราะอยากแก้ pain-point ของการกินหมูกระทะที่มักจะร้อน ควันเยอะ หัวเหม็น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจนปัจจุบันนักล่าหมูกระทะขยายไป 12 สาขาแล้ว

    ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2567 เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป เปิดตัว ‘NAMA Japanese and Seafood Buffet’ ร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นพรีเมียม เพราะต้องการนำเสนออาหารญี่ปุ่นวัตถุดิบดีๆ ที่อาจจะไม่สามารถขายในราคาที่ขายปกติใน Shinkanzen Sushi ได้ โดยปัจจุบันร้านนี้มี 1 สาขา อยู่ที่ชั้น 24 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

    ปิดท้ายในปีที่แล้วด้วยแบรนด์ล่าสุดอย่าง Katsu Midori Thailand ร้านซูชิสายพานที่บริษัทนำลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น เปิดให้บริการที่แรกที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากเติมเต็มร้านอาหารญี่ปุ่นในระดับพรีเมียมแมสที่บริษัทยังไม่มี นอกจากนี้ Katsu Midori ก็เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีคอนเซ็ปต์คล้ายกันกับ Shinkanzen Sushi คือใช้วัตถุดิบที่ดี ขายในราคาคุ้มค่า


    การขยายไปสู่แบรนด์ใหม่หรืออาหารประเภทอื่น ส่วนหนึ่งเลือกมาจากความชื่นชอบของผู้ร่วมก่อตั้ง แต่เหตุผลอีกหลายๆ ปัจจัยนั้นมาจากแนวคิดในการขยายธุรกิจรองรับการเติบโต

    “ตอนแรกเราเปิดแค่ Shinkanzen Sushi แบรนด์เดียว แต่เรามองว่าด้วยความที่ธุรกิจนี้ค่อนข้างมีสเกลใหญ่ พนักงานก็ค่อนข้างเยอะ เราจึงต้องกระจายความเสี่ยง”

    ศุภณัฐอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมองไปที่ธุรกิจอาหารที่เป็นเชน โดยส่วนใหญ่ในเครือจะมีหลายแบรนด์ หลายประเภทอาหาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการกระจายความเสี่ยง อีกส่วนหนึ่งคือการขยายไปหลายเซ็กเมนต์เพื่อจับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และเหตุผลสำคัญคือการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจไปต่อได้เรื่อยๆ ดังที่เขาบอกว่าการทำธุรกิจเหมือนขึ้นหลังเสือไปแล้ว

    “จริงๆ ด้วยธุรกิจมันเหมือนการขึ้นหลังเสือ หมายความว่าถ้าบริษัทเราจะต้องเติบโตไปเรื่อยๆ เพราะว่าทุกปี พนักงานจะต้องปรับเงินเดือน ทุกปีค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้น การที่เราเช่าที่ในห้างเขา ทุกปีค่าเช่าก็จะเพิ่มขึ้น หมายความว่าถ้าเราอยู่นิ่งๆ เฉยๆ สักวันนึงบริษัทเราจะไปต่อไม่ได้ เลยเป็นเหตุผลที่เราต้องขยับขยาย ทำยังไงก็ได้ให้เราเติบโตไปเรื่อยๆ และไปต่อเรื่อยๆ” ซีอีโอวัยย่าง 31 ปีย้ำ

    เขายังอธิบายให้เห็นภาพว่า เหมือนกับเราทำงานอยู่บริษัทหนึ่ง หากบริษัทไม่เติบโต เราก็จะอยู่ในตำแหน่งเดิมทั้งที่ทำงานมาแล้ว 10 ปี จะขยับขยายเลื่อนตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อมีคนลาออก แต่ถ้าบริษัทเติบโต เราก็มีโอกาสจะขยายไปตำแหน่งอื่นๆ ได้มากขึ้น

    “นั่นจึงทำให้เหมือนขึ้นหลังเสือ ถ้าทำอันนี้ มันก็ต้องโตไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะโตด้วยการขยายสาขา โตด้วยการแตกแบรนด์ การทำยังไงให้บริษัทมั่นคง ก็ต้องแตกแบรนด์เพื่อกระจายความเสี่ยง”


[ ‘คุณภาพดี-คุ้มค่า-มีครัวกลาง’ คือกุญแจความสำเร็จ ]

    ศุภณัฐบอกว่าความสำเร็จของเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป หลักๆ แล้วมาจากจุดยืนของบริษัทที่ตั้งเป้าว่าจะใช้วัตถุดิบคุณภาพดี และขายในราคาที่คุ้มค่า ทำให้ลูกค้ามั่นใจในแบรนด์ ดังนั้นเมื่อบริษัทเปิดแบรนด์ใหม่ ทำให้ลูกค้ามองว่าแบรนด์นี้ต้องคุ้มค่าแน่นอน

    “อีกอย่างคือเราเริ่มทำระบบกลางเพื่อควบคุมมาตรฐานต่างๆ ให้ได้ตามที่เรากำหนด มีทีมเทรนนิ่งที่คอยสอนงานพนักงาน และมี QC คอยตรวจสอบวัตถุดิบต่างๆ ที่จะเข้ามาขายที่ร้าน ทุกอย่างจะเข้าโครงการก่อน QC จะเช็กคุณภาพ แล้วจึงส่งไปที่หน้าร้าน” ศุภณัฐกล่าว ก่อนจะบอกอีกว่าบริษัทยังมีทีมออดิตที่คอยตรวจสอบมาตรฐานของหน้าร้านทุกเดือน ทั้งเรื่องบริการ ครัว ความสะอาดของร้าน บวกกับมีทีมงานที่ค่อนข้างพร้อม ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ

    เคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่งที่ศุภณัฐเล่าให้ฟังคือการมีครัวกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานในทุกๆ อย่าง อย่างเช่น การแล่ปลาแซลมอน ที่ครัวกลางจะแล่ปลามาเป็นฟิเลต์หรือแบบแผ่นมา พนักงานหน้าร้านมีหน้าที่หั่นตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เขาบอกว่าข้อดีข้อสำคัญของเรื่องนี้เลยคือสามารถลด Waste ลงไปได้เป็นจำนวนมาก


    “แต่ก่อนเราแล่ที่ร้าน Waste เราอาจจะเยอะมาก แต่พอเรามาแล่ที่ครัวกลาง เราสามารถคำนวณได้เลยว่าเราต้องการให้ยีลด์เป็นเท่าไหร่ สมมติยีลด์ได้เพิ่มแค่ 1% ของปลาแซลมอน ปีหนึ่งเราประหยัดไปได้ประมาณ 10 กว่าล้านเลย แค่ 1% เท่านั้น”

    ไม่ใช่เพียงแค่ลด Waste แต่บริษัทยังมีคอนเซ็ปต์ Zero Waste ด้วย คือทำยังไงก็ได้ให้ของทุกส่วนถูกนำไปใช้ หรือถ้าใช้ไม่ได้ก็จะขายออกไป ไม่มีของที่กลายเป็นของเหลือทิ้ง

    “อย่างปลาแซลมอน สิ่งที่ทิ้งอย่างเดียวก็คือก้างเล็กๆ ที่เหลือ ส่วนก้างใหญ่ๆ เราจะเอาไปขายทำอาหารสัตว์ เศษเนื้อเราก็ขูดออกมาหมด ซึ่งขูดออกมาแล้วก็พบว่าเยอะมากๆ เราก็มาคุยกันว่าจะเอาเนื้อตรงนี้ไปทำอะไร เลยลองทำเป็นเบอร์เกอร์ดู ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน พอลองทำสูตรก็ได้เป็นแฮมเบิร์กแซลมอนที่เป็นโปรดักต์ใหม่ ทำให้ Waste ของเราแทบไม่เหลือเลย”


[ แข่งขันเป็นเรื่องดี แต่ต้องปรับตัวตามเทรนด์ให้ทัน ]

    แม้ผลสำรวจจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ล่าสุดจะบอกว่าปี 2567 จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี แต่ถึงอย่างนั้น ที่ผ่านมาเรายังคงเห็นแบรนด์ใหม่ๆ เปิดกิจการในไทย หรือมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

    “อาหารญี่ปุ่นเป็นประเภทอาหารที่เปิดมากที่สุดในแต่ละปีอยู่แล้ว การแข่งขันก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าก็ดีนะ ทำให้ตลาดมันโตขึ้น พอตลาดโต ส่วนแบ่งตลาดก็เพิ่มขึ้น ถ้าถามว่าเราต้องทำยังไง เราก็ต้องปรับตัวตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามา พยายามปรับกันอยู่ตลอดเวลา”


    ศุภณัฐอธิบายให้เห็นภาพว่าในเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จะมีการปรับตัวตามเทรนด์เสมอ เช่น กรณีซูชิ ที่มีเทรนด์ Hand Roll เข้ามา พอเห็นก็เริ่มให้ทีม R&D คิดค้นเมนูต่างๆ เป็นเมนูใหม่ๆ ออกมาขาย ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเทรนด์อะไรมา บริษัทก็จะพยายามตามให้ทันตลอด ทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้ไม่ได้น่ากลัวสำหรับเขานัก

    “ถ้าถามผม ถ้าทำธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว ทุกครั้งที่เราเปิดแล้วมีคู่แข่งมาเปิดข้างๆ มันกลับทำให้ยอดขายเราไม่ตก หรือบางครั้งขายดีขึ้น ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร แต่ทุกแบรนด์เป็นแบบนี้หมดเลย เหมือนพอมีคู่แข่งมา ตลาดมันโตขึ้น คนก็มาเดินแถวนั้นมากขึ้น จากที่แถวนั้นคนเดินน้อย พอมีคู่แข่งอยู่กันเยอะๆ คนก็เดินเยอะขึ้น คนมีตัวเลือกมากขึ้น วันนี้กินร้านเรา พรุ่งนี้อาจจะไปกินร้านอื่น ก็วนไปวนมา เพราะฉะนั้นไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่ คนไทยเราชอบกินอาหารอยู่แล้ว”

    สำหรับปี 2568 นี้ เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยวางแผนเปิดตัวร้านอิซากายะในช่วงราวๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะอยู่โซน Outdoor ของร้าน NAMA Japanese and Seafood Buffet

    นอกจากนี้ยังวางแผนขยาย Shinkansen Sushi อีก 5 สาขา ซึ่งน่าจะไปในทำเลต่างจังหวัดมากขึ้นเพราะได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ส่วนนักล่าหมูกระทะจะขยายอีก 9 สาขา ยังคงเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ Katsu Midori วางเป้าขยายสาขาไว้ที่ 1-2 สาขา


[ ใครปรับตัวได้เก่งและเร็ว คนนั้นสำเร็จ ]

    ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ Forbes Thailand ถามเขาถึงทักษะที่เขาได้เรียนรู้ตลอดการทำธุรกิจมา 11 ปี และอยากแนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จ เขาแนะนำว่าเรื่องหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือคือการบริหาร Cash Flow หรือกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา บริษัทเขาไม่มีการเลย์ออฟพนักงานเลยเพราะบริหาร Cash Flow อย่างหนัก มีการกันเงินไว้ส่วนหนึ่ง มีการวางแผนว่าใช้ได้กี่เดือน

    แต่มากไปกว่านั้น ทักษะที่เขาแนะนำว่าควรต้องมีคือ ‘การปรับตัว’

    “ยุคนี้ที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ใครที่ปรับตัวได้เก่งและเร็ว จะไปต่อได้เรื่อยๆ และประสบความสำเร็จ”

    และหากอยากเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่วัยเรียนแบบเขา เขาก็แนะนำว่าให้ลงมือทำเลย

    “ต้องลงมือทำครับ อย่างของเราเอง ตอนที่เริ่มทำ เราเปิดร้านเล็กๆ เริ่มต้นด้วยเงินคนละแสน ลงมือทำเลย ยิ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมว่ามันไม่เครียดเลย เพราะเราไม่มีภาระหน้าที่ ไม่มีหนี้สิน ไม่มีอะไรเลย มันง่ายที่จะเริ่ม ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จ เราก็กลับมาใหม่ ไปหางานทำก็ได้


    “จุดเริ่มต้นคือต้องมองว่าเราชอบอะไร และอะไรที่เราถนัด เพราะถ้าทำสิ่งที่เราคิดว่าดี แต่เราไม่ชอบหรือไม่ถนัด พอทำไปสักพักจะเริ่มเบื่อ อาจทำได้ปีเดียวแล้วเลิก แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบและถนัด เราจะทำได้ดี ทำได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ ขยับขยายไป สักวันก็จะสำเร็จ”

    สิ่งที่สัมผัสได้อย่างหนึ่งในตัวเจ้าของกิจการที่เป็นคนรุ่นใหม่คนนี้ คือการเป็นคนสบายๆ เป็นกันเองกับพนักงาน ไม่คิดมาก และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตใจเขาแข็งแกร่งและไม่เคยท้อแม้ว่าจะมีอุปสรรค “ตั้งแต่ทำมา ผมไม่เคยท้อเลยครับ เพราะเป็นคนที่ปล่อยวาง ค่อนข้างชิลๆ สบายๆ จะไม่เก็บมาคิดหรือรู้สึกท้อ ใครปล่อยวางได้ยิ่งดีครับ”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รู้จัก ‘Erewhon’ สมูทตี้แก้วละ 800 บาทแต่ขายดี เพราะกลยุทธ์ชวน ‘คนดัง’ ทำเมนูใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine