ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์ Gen 4 เสริมทัพ ‘โป๊ยเซียน’ ยาดมพันล้าน - Forbes Thailand

ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์ Gen 4 เสริมทัพ ‘โป๊ยเซียน’ ยาดมพันล้าน

หนึ่งในยาดมขวัญใจคนไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 88 ปีอย่าง ‘โป๊ยเซียน’ วันนี้เริ่มมีเจเนอเรชั่นที่ 4 "ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์" เข้ามาสานต่อกิจการ บนความตั้งใจของเขาที่อยากทำให้โป๊ยเซียนเข้าถึงทุกคนได้ พร้อมๆ กับสืบทอดธรรมนูญที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นอย่าง "การซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค"


    แม้ในตลาดยาดมของไทยจะมีผู้เล่นหลายราย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เก่าในตำนาน หรือแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาบุกตลาด แต่แบรนด์ที่คนไทยต้องนึกถึงเป็นรายแรกๆ น่าจะมี ‘โป๊ยเซียน’ อยู่ด้วยแน่ๆ กับสโลแกนคุ้นหูที่ใครๆ ก็จำได้ “ใช้ดม ใช้ทา ในหลอดเดียวกัน”

    ยาดมโป๊ยเซียนก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2479 เริ่มต้นจากการเป็นร้านขายยาสมุนไพรของชาวจีนแต้จิ๋วในย่านเยาวราช เน้นขายยาแผนโบราณประเภทต่างๆ กระทั่งวันนี้โป๊ยเซียนมีอายุ 88 ปีแล้ว และถึงคราวที่จะเริ่มมีคนรุ่นใหม่อย่างเจเนอเรชั่นที่ 4 เข้ามาร่วมบริหาร

    “ถ้าจะพูดว่าง่าย ไม่จริงนะครับ แต่ก็อย่าเรียกว่ายาก เป็นความกังวลมากกว่า ความท้าทายข้อแรกเลยคือเรื่องคุณภาพสินค้าของเราต้องซื่อสัตย์กับผู้บริโภค ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าที่เคยมีมาให้มีได้อย่างเดิม และดียิ่งขึ้น” ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์ หรือ ต้นคูน ทายาทวัย 30 ปี กล่าวกับ Forbes Thailand ถึงความท้าทายที่ต้องเริ่มเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว ในออฟฟิศย่านบางนา และเป็นที่ตั้งของโรงงานของบริษัท โกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ จำกัด ด้วย


เส้นทางที่ชอบ และเส้นทางที่ต้องรับผิดชอบ

    ดร.ณัฐพงศ์ เริ่มเข้ามาทำงานในโป๊ยเซียน หรือ บริษัท โกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ จำกัด ตั้งแต่ปลายปี 2565 ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการ และที่ปรึกษาฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของบริษัท แต่ถึงอย่างนั้นถ้าย้อนดูเส้นทางที่ผ่านมาของเขา ก็อาจจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจโดยตรงเท่าไหร่นัก

    โดยตั้งแต่การศึกษา ดร.ณัฐพงศ์ คว้าปริญญาตรีมาได้ถึง 3 ใบ คือ

    -ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์ท่องเที่ยว สาขาโทภาษาไทย เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

    -เภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    -ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง

    เขายังเรียนคว้าปริญญาโท นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (M.Com.Arts) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช รวมถึงปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

    พูดได้ว่าการศึกษาของเขาค่อนข้างเน้นไปในสาขาวิชาภาษา ประวัติศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาเขายังทำงานเป็นทั้งติวเตอร์และวิทยากรพิเศษวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งเป็นวิทยากรด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และยังผ่านงานพิธีกรและผู้ดำเนินรายการมาด้วย


    “ผมว่าชีวิตคนมีหลายแง่มุม และไม่มีใครสามารถที่จะได้ทําหรือได้รับในทุกสิ่งที่เราต้องการ เป็นเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้”

    ดร.ณัฐพงศ์ อธิบายว่า หน้าที่ที่รู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นต้องทำอะไร ทำให้การวางแผนการเรียนของเขาเริ่มตั้งแต่สมัยมัธยม เขาเลือกเข้าเรียนคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อนำความรู้มาใช้ในกิจการของครอบครัว

    แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ละทิ้งในสิ่งที่เป็นความสนใจและความถนัดอย่างภาษา สังคม และวัฒนธรรม ทำให้เขาเลือกเรียนควบคู่ไปทั้งสองฝั่ง คือฝั่งที่เป็นความรู้ที่เหมาะสมกับการทำงานในกิจการ และฝั่งที่เป็นความรักความสนใจ ซึ่งที่บ้านก็เข้าใจและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

    “อย่างที่บอกว่าเราชอบทางด้านภาษา ดังนั้นช่วงที่เรียนเภสัชฯ เราก็ต้องใช้ความพยายาม เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ว่าเราเรียนแบบที่เรามีโฟกัส คือเรารู้ว่าความรู้ตรงไหนเป็นความรู้ที่จะเอาไปใช้ เราก็โฟกัสเป็นพิเศษ ขณะที่ส่วนไหนที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องโรงงานยาโดยตรง เราก็อาจจะเอาแค่มาตรฐาน”

    งานแรกในโป๊ยเซียนของ ดร.ณัฐพงศ์ หลังจากจบเภสัชฯ นั้นเริ่มขึ้นในปี 2561 ในตำแหน่งรักษาการของผู้จัดการฝ่ายผลิต ระหว่างนั้นมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมา พร้อมๆ กับที่บริษัทต้องปรับปรุงโรงงานยาให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ของ GMP PIC/S หรือมาตรฐานหลักเกณฑ์การผลิตที่ดี ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล เขาจึงได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานกับทีม ปรับปรุงกระบวนการทำงานและสถานที่ จนโรงงานของโกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ ผ่านการประเมินในที่สุด


ผสานความรู้จากสิ่งที่รัก เข้ากับกิจการครอบครัว

    ดร.ณัฐพงศ์บอกว่า ความฝันของเขาคือ ‘ความสุข’ ซึ่งความสุขของเขาเกิดขึ้นจากการที่ได้ใช้ความรู้และทรัพยากรในด้านต่างๆ ของตนไปทำในสิ่งที่ดีและมีความหมายกับสังคม

    และแน่นอนว่าความสุขเหล่านั้นของเขาเกิดขึ้นแล้ว ทั้งจากการเป็นวิทยากรด้านประวัติศาสตร์ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น และจากพาร์ทของการทำงานในกิจการของโป๊ยเซียน ผ่านโครงการสนับสนุนและพัฒนาพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ในไทยในแง่ของการจัดเก้าอี้ไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว

    “ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ท่องเที่ยว และทำงานสายนี้ เราเห็นข้อจำกัดว่าคนอยากเที่ยวโบราณสถานนะ แต่ว่าโบราณสถานมักจะใหญ่ และไม่มีที่ให้นั่ง ปี 2566 ที่ผ่านมาเราเลยทำเก้าอี้ที่เราออกแบบลายเฉพาะสำหรับแต่ละอุทยานประวัติศาสตร์ แต่ละโบราณสถาน ให้กับอุทยานประวัติศาสตร์ 9 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะขยายเพิ่มเติม”

    นอกจากนั้น ในปีนี้โป๊ยเซียนริเริ่มโครงการ Upcycling พลาสติกเหลือใช้ที่รวบรวมจากที่ต่างๆ นำมาบดอัดและทำเป็นก้อนอิฐสำหรับการบูรณะโบราณสถาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดจุดแล้วว่าก้อนอิฐเหล่านี้จะนำไปปูเป็นพื้นให้กับลานหน้าวิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะได้เห็นในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 นี้

    การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจาก ดร.ณัฐพงศ์ เข้ามา ยังรวมไปถึงการเห็นโป๊ยเซียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคมมากขึ้นหลังจากโควิดคลี่คลาย และหลังจากที่กฎหมายควบคุมเปลี่ยนไป

    กล่าวคือ แต่เดิมนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทถือเป็นยาแผนโบราณ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้มีข้อจำกัดในด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการทำกิจกรรมต่างๆ แต่หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้เปลี่ยนให้มาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ซึ่งมีรายละเอียดการควบคุมที่แตกต่างไปจากเดิม และเป็นโอกาสที่เป็นจะทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น


    กฎหมายที่เปลี่ยนทำให้โป๊ยเซียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากมาย คือนอกจากการโครงการทำเก้าอี้ให้อุทยานประวัติศาสตร์ในไทย และ Upcycling ขยะพลาสติกเป็นอิฐบล็อกสำหรับการบูรณะโบราณสถานแล้ว ดร.ณัฐพงศ์ ยังพาโป๊ยเซียนไปมีส่วนร่วมในประเพณีไทย รวมถึงประเด็นในสังคมไทยด้วย

    ไม่ว่าจะเป็น งานสงกรานต์ที่สยามสแควร์ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งโป๊ยเซียนได้เข้าไปสนับสนุนทำสไลเดอร์ขนาดยักษ์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี

    และล่าสุดในเดือนแห่งความหลากหลาย โป๊ยเซียนยังดึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางการได้ยิน อาสาสมัคร ผู้ดูแล และกลุ่มสร้างสีสันนับ 100 ชีวิต มาร่วมวงขบวนพาเหรด Bangkok Pride Festival 2024 สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ LGBTQIAN+ ในกลุ่มคนพิการด้วย

    นอกจากนี้ เขายังเตรียมพาโป๊ยเซียนไปร่วมสนับสนุนงานประเพณีอื่นๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็น งานบุญบั้งไฟ งานผีตาโขน เทศกาลเข้าพรรษา รวมถึงเทศกาลลอยกระทงในช่วงปลายปีด้วย

    “ถามว่าสิ่งที่ผมสนใจ สิ่งที่เป็นความรักของเรา เอามาผสมผสานได้อย่างไรบ้าง นี่คือวิธีการหนึ่ง เรามองว่าจริงๆ แล้วศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงเทศกาลต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความหมาย เป็นคุณค่าของสังคม และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เสน่ห์ของเมืองไทยตรงนี้ยังคงอยู่ และได้รับการพัฒนาไปเรื่อยๆ”


สินค้าถูกใจทั้งไทย-เทศ บนหลักที่ว่า “ซื่อสัตย์กับผู้บริโภค”

    มองดูเข้ามาในธุรกิจของบริษัท โกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ จำกัด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายรายการด้วยกัน คือ ยาดมโป๊ยเซียน ใช้ดม ใช้ทา ในหลอดเดียวกัน, พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน 3 ขนาด คือ พิมเสนน้ำแบบใส่ขวดแก้ว 3 ซีซี พิมเสนน้ำแบบโรลออนขนาด 5 ซีซี และพิมเสนน้ำใส่สำลีขนาด 8 ซีซี และยาดมหลอดสีแดงตรา ‘พีเป๊กซ์’

    นอกจากนี้ยังมียาดมตรา Pax ซึ่งรูปทรงจะคล้ายกับยาดมตราโป๊ยเซียน แต่เป็นสินค้าสำหรับการส่งออกเท่านั้น

    โดยปัจจุบันโกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ มียอดขายส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ซึ่งมีทั้งลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในไทยและซื้อกลับไปเป็นของฝาก จากกระแสที่ไอดอลต่างชาติหลายคนหยิบจับยาดมโป๊ยเซียนลงโซเชียลจนเกิดเป็นกระแส ส่งผลให้โป๊ยเซียนได้รับความนิยมในกลุ่มต่างชาติมากขึ้น

    นอกจากนี้ บริษัทยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย โดยมีคู่ค้าที่ขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าอย่างเป็นทางการแล้วใน 12 ประเทศ และยังมีประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีคู่ค้าอย่างเป็นทางการ แต่มีการส่งสินค้าไปขายด้วย ซึ่งแม้ยอดขายจากต่างประเทศจะไม่ได้มีสัดส่วนมากนัก แต่ก็มีการเติบโตทุกปี

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานผลประกอบการของบริษัท โกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ จำกัด ไว้ดังนี้

    -ปี 2564 รายได้ 751.27 ล้านบาท กำไร 284.22 ล้านบาท

    -ปี 2565 รายได้ 967.26 ล้านบาท กำไร 378.76 ล้านบาท

    -ปี 2566 รายได้ 1,087.53 ล้านบาท กำไร 509.77 ล้านบาท

    การเข้ามาทำงานในธุรกิจของครอบครัวที่ดำเนินกิจการมาแล้วมากกว่า 80 ปี แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ดร.ณัฐพงศ์บอกว่า เมื่อบริษัทเติบโต ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตในแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักร มาตรฐานการผลิต หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งโจทย์ใหญ่คือการควบคุมคุณภาพ ทำอย่างไรถึงจะสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าที่เคยมีมาให้มีได้อย่างเดิมและดียิ่งขึ้น

    “ตรงนี้คือสิ่งที่เรา Concern ที่สุดเป็นอันดับแรก เพราะเราถือว่าความผิดเพี้ยนไม่ใช่ทางเลือกของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เรายอมรับได้ เราจะไม่ประนีประนอมต่อความผิดพลาดที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะผมมองว่านั่นคือการที่เราไม่ซื่อสัตย์กับผู้บริโภค

    “โป๊ยเซียนไม่มีทางโตมาได้ถึงปีนี้ปีที่ 88 ถ้าเราไม่ได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากผู้บริโภค เพราะฉะนั้นนี่คือหน้าที่ของเรา คือพันธกิจของเราที่จะต้องเคารพต่อผู้บริโภคทุกคน ไม่ว่าเขาจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่หลังบ้านเรารู้ เราต้องทําให้ดีที่สุด”


    วิธีคิดของ ดร.ณัฐพงศ์ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และซื่อสัตย์กับผู้บริโภคนั้น เป็นสิ่งที่เขาได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัว โดยเฉพาะคุณย่าที่เขาสนิทเป็นพิเศษ

    “สิ่งที่คุณย่าเน้นมากคือเรื่องของความซื่อสัตย์ การเคารพ และการให้เกียรติทุกคน ไม่ใช่แค่กับลูกค้าที่ซื้อสินค้า แต่รวมถึงพนักงานของเราด้วย เพราะว่าไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน มีกําลังทรัพยากรแค่ไหน ถ้าไม่มีพนักงานที่เป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนทุกๆ ส่วน ก็ไม่มีทางที่คุณจะทําอะไรได้ทั้งสิ้น นี่เป็นสิ่งที่คุณย่าวางมาตรฐานและปลูกฝังเรา”


คำว่า "สมุนไพรไทย" ต้องศักดิ์สิทธิ์เหมือนอาหารไทย

    ณ ปัจจุบันที่โกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่มีรายได้หลักพันล้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันในตลาดยาดมของไทยดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น มีผู้เล่นมากหน้าหลายตามากขึ้น แต่ ดร.ณัฐพงศ์ มองว่าในอีกมุมหนึ่งก็เท่ากับว่าตลาดนี้โตขึ้น และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยก็ได้ยกระดับมาตรฐานไปด้วย

    “อีกมุมหนึ่งของการแข่งขัน มันคือการทำงานร่วมกันของทุกยี่ห้อ และนำมาซึ่งการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง แม้จะมีความท้าทายมากขึ้น แต่ก็มีประโยชน์ที่ทั้งสังคมจะได้รับ ส่วนเราก็ยังคงรักษามาตรฐานของเรา”

    ดร.ณัฐพงศ์ ยังบอกอีกว่าแม้การแข่งขันจะรุนแรง แต่สิ่งที่โกลด์ มิ้นท์ โปรดักส์ สามารถทำได้ คือการดูแลองค์กร ดูแลสุขภาพภายในของบริษัทให้ดี เพราะเชื่อว่าสินค้าที่ดี จะออกไปจากองค์กรที่สุขภาพภายในไม่ดีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารคน ความทันสมัยของเทคโนโลยี การจัดการในด้านต่างๆ

    “พอกลับไปที่จุดเดิมว่าเราอยากจะผลิตสินค้าที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค ดังนั้น เราจะต้องพยายามทําให้ทุกๆ กระบวนการของเราเป็นกระบวนการที่ดี” ดร.ณัฐพงศ์ย้ำ

    เขายังกล่าวถึงเป้าหมาย 3 ปีต่อจากนี้ของเขาในฐานะกรรมการและที่ปรึกษาฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของบริษัท นอกเหนือจากแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดไปต่างประเทศเพิ่มเติม พัฒนาในด้านกำลังการผลิต ก็คือการเพิ่มการสื่อสารของบริษัทในช่องทางใหม่ๆ และทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยไม่มีเงื่อนไข

    ส่วนฝันไกลๆ ของเขาคือการอยากเห็นคำว่า Thai Herbal Product ศักดิ์สิทธิ์พอๆ กับคำว่า Thai Food

    “เวลาเราเห็นร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางร้าน เจ้าของไม่ใช่คนไทยด้วยซ้ำ แต่เอาคำว่า Thai Food ไปใช้ มุมหนึ่งอาจจะหงุดหงิดนิดหน่อย แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนว่าคำว่าไทยมันศักดิ์สิทธิ์ มันมีความน่าเชื่อถือบางอย่าง มีภาพจำบางอย่างที่สำคัญ

    “ผมอยากให้คําว่า Thai Herbal Product หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ศักดิ์สิทธิ์ได้เหมือนคําว่าอาหารไทย และโป๊ยเซียนอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราได้ประโยชน์อย่างเดียว แต่แปลว่าสังคมซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชน สินค้าระดับอำเภอ ระดับตำบล ก็ได้ประโยชน์ด้วย แล้วนี่จะเป็นโอกาสของสังคมไทยอีกมากมายมหาศาล” ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ฤทธิ์ คิ้วคชา’ ทายาทซาฟารีเวิลด์ เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ธีมพาร์ค 5,000 ไร่ในจีน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine