‘ฤทธิ์ คิ้วคชา’ ทายาทซาฟารีเวิลด์ เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากธีมพาร์ค 500 ไร่ในไทย สู่ธีมพาร์คใหม่ 5,000 ไร่ในจีน พร้อมเปิดใจ “วันนี้ซาฟารีเวิลด์ไม่ใช่แค่สวนสัตว์”
ย้อนไปเมื่อ 35 ปีก่อน การสร้าง ซาฟารีเวิลด์ สถานที่ท่องเที่ยวประเภทแอนิมอลธีมพาร์คและการแสดงโชว์ในพื้นที่ 500 ไร่ บนแผ่นดินผืนกว้างสุดลูกหูลูกตา ชานเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คดึงดูดการท่องเที่ยวของไทย ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้ซาฟารีเวิลด์แห่งนี้กลายเป็นแอนิมอลธีมพาร์คของเอกชนเพียงรายเดียวที่น่าจะเหลืออยู่บนโลกใบนี้
กว่า 30 ปีกับสึนามิลูกแล้วลูกเล่า จากวิกฤตการเงิน ภัยธรรมชาติ สงคราม การเมืองในระดับประเทศและต่างประเทศ และโรคระบาด ช่วยติดอาวุธ เสริมความแกร่งให้ซาฟารีเวิลด์อยู่มาได้ถึงวันนี้ และไม่ได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเท่านั้น แต่อยู่ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ ที่อยากจะให้ซาฟารีเวิลด์เข้าไปบริหารและออกแบบสร้างธีมพาร์ค เช่น จีน ตะวันออกกลาง และอื่นๆ
“มีภาครัฐและเอกชนกว่า 10 โครงการให้เราเข้าไปพัฒนาแอนิมอลธีมพาร์ค ด้วยความที่ทีมบริหารในครอบครัวของเราทุกคนสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ เราจึงตัดสินใจเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการจับมือกับรัฐบาลจีนพัฒนาและออกแบบธีมพาร์คในยูนนาน หลังจากได้พูดคุยกันเงียบๆ มากว่าทศวรรษ” ฤทธิ์ คิ้วคชา ลูกชายคนรองของ ‘ผิน คิ้วคชา’ ผู้ก่อตั้งซาฟารีเวิลด์ เล่าย้อนอดีต
บริษัท One Leading ถูกตั้งขึ้นโดยการจับมือระหว่างซาฟารีเวิลด์ และพาร์ทเนอร์สำคัญจากประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในยูนนาน
“Seven World” โครงการแอนิมอลธีมพาร์ค ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 5,000 ไร่ ไม่เพียงแค่มีขนาดใหญ่กว่าซาฟารีเวิลด์ในเมืองไทยถึง 10 เท่า แต่ยังอยู่ติดกับสโตนฟอเรสต์ (Stone Forest) แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ ของจีน เป็นสถานที่ขึ้นทะเบียน UNESCO World Heritage
“ผมบินไปวางศิลาฤกษ์เมื่อ 4 ปีก่อน นั่งเครื่องบินกลับมาถึงเมืองไทย ก็เกิดโควิดในจีนพอดี จำเป็นต้องหยุดไปชั่วคราว แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับมาปกติ เราก็คาดว่าธีมพาร์คแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี โดยโครงการของเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็กต์ด้านการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ มีทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้า” ฤทธิ์เล่า
“โลจิสติกส์ คือเหตุผลแรกๆ ที่ผมตัดสินใจเลือกที่ยูนนาน ก่อนที่ดิสนีย์แลนด์จะมาลงทุนในจีน เขาขอให้รัฐบาลจีนสร้างสถานีรถไฟฟ้าผ่านโครงการของเขา แต่โครงการของเรามีสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงตั้งอยู่หน้าโครงการอยู่แล้ว ทำให้การเดินทางไปไหนมาไหน ไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ สะดวกมาก” ฤทธิ์บอก
นอกจากนี้ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 5 ล้านคน แวะเวียนมาเที่ยวที่สโตนฟอเรสต์ ซึ่งมีประตูติดกับธีมพาร์คที่เขากำลังจะสร้าง นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าไต ซึ่งมีความเป็นอยู่คล้ายๆ กับคนไทยอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย ขณะเดียวกันอากาศที่ยูนนานอบอุ่น ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ถูกขนานนามว่า “นครแห่งฤดูใบไม้ผลิ” จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะสร้างสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ
“ธีมพาร์คครีเอเตอร์ หรือ ธีมพาร์คดีไซเนอร์ จะเป็นบทบาทใหม่ของครอบครัวคิ้วคชา เราคิดไว้แล้วว่า เมื่อเรามีประสบการณ์มากพอ เราจะเริ่มขยายมารับบริหาร รับสร้างธีมพาร์ค แต่การพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ถ้าเราจะขยายเพียงลำพังคนเดียว คงไม่มีกำลังพอ เพราะธุรกิจนี้นอกจากจะบริหารยากแล้ว ยังทำกำไรยากด้วย เราจึงต้องเลือกวิธีพาร์ทเนอร์ชิป ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ใครๆ ก็ทำในยุคนี้” ฤทธิ์กล่าว
เขาเสริมว่า ความสำเร็จของซาฟารีเวิลด์วันนี้ ไม่ได้วัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมพาร์คในแต่ละปี แต่ยังการันตีด้วยรางวัลต่างๆ ที่ได้รับอีกมากมาย อาทิ รางวัลด้านการบริหารจัดการองค์กรยอดเยี่ยม ประเภทโกลด์ จากงาน The European Awards for Best Practices ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
นอกจากนี้ยังได้ International Star for Quality Award in the Platinum ในฐานะที่บริษัทมีการดำเนินงานที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นผู้นำตลอดเวลา รวมทั้งรางวัล The International Quality Summit Award ประเภท Gold Category จาก Business Initiative Directions (B.ID.) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่ามีการบริหารที่มีมาตรฐาน ได้รับคำชื่นชมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับรางวัลนี้
ด้วยรางวัลและการเป็นแอนนิมอลธีมพาร์คของเอกชน ที่อยู่ในตลาดมากว่า 35 ปี พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถที่จะบริหารธุรกิจให้ยั่งยืนได้ในระยะยาว และถูกเลือกจากพาร์ทเนอร์ไม่เพียงเฉพาะที่ประเทศจีนเท่านั้น
“สวนสนุกในโลกมีจำนวนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่อย่าง Disney หรือ Universal แต่พาร์คแต่ละพาร์คที่สร้างขึ้น จะเหมือนๆ กัน ไม่ค่อยมีของใหม่ เป็นการลงทุนแบบมหาศาล ต่างจากเราที่สามารถสร้างสวนสนุกโดยใช้งบลงทุนอาจจะเพียง 1 ใน 10 แต่สามารถสร้างรายได้พอๆ กัน
“และในแต่ละที่ที่เราไป เราตั้งใจจะสร้างให้ Unique คือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่เป็นการยกซาฟารีเวิลด์ กรุงเทพฯ ไปเปิดที่จีน แบบนั้นเราไม่ทำ” ฤทธิ์ย้ำ และบอกว่าเขาพร้อมแล้วที่จะออกไปสร้างอาณาจักรแห่งความสุขในต่างประเทศ แอนิมอลธีมพาร์คของเอกชนล้มหายตายจากไปเยอะ แต่ซาฟารีเวิลด์อยู่มาได้ถึง 35 ปี ได้ลองผิดลองถูกจึงรู้ว่าจะทำอย่างไรให้มีกำไรและสำเร็จ
“หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของซาฟารีเวิลด์ ธุรกิจไปได้ดี 2 ปี ขาดทุน 2 ปี ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะธุรกิจท่องเที่ยวประเภทธีมพาร์ค ค่อนข้างอ่อนไหว ไม่ว่าอะไรเกิดที่ไหน เราโดนกระทบเป็นคนแรก แต่ที่อยู่มาถึง 35 ปี เพราะซาฟารีเวิลด์ปรับตัว เราไม่เน้นสร้างผลกำไรสูงในระยะสั้น เรามองระยะยาว เพราะเป้าหมายสำคัญของพวกเรารุ่นสองจะต้องรักษาซาฟารีเวิลด์ไว้ให้ได้อีก 35 ปี” ฤทธิ์บอกด้วยสายตาตั้งมั่น
ธุรกิจใน ‘ภูเก็ต’ ยังเจอโจทย์หิน
โดยเฉลี่ยซาฟารีเวิลด์จะพัฒนาโครงการใหม่ 1 แห่งในทุกๆ 10 ปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 5-7 พันล้านบาท โครงการล่าสุดคือ คาร์นิวัลเมจิก จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของซาฟารีเวิลด์ตั้งแต่ก่อตั้งมา ใช้งบประมาณ 6,500 ล้านบาท บริษัทใช้เวลาฝึกพนักงานอยู่ 3 ปี ทุ่มงบประชาสัมพันธ์โครงการนี้ไปเยอะมาก และตั้งใจจะเปิดบริการในเดือนเมษายนปี 2020 เพราะคิดว่าโควิดจะจบเร็ว แต่เหตุการณ์ไม่เป็นตามที่คาด
“เราพยายามรักษาพนักงานไว้จนวินาทีสุดท้าย เพราะสกิลของพนักงานที่นี่ ไม่มีใครทำแทนใครได้ เหมือนธุรกิจอื่นๆ แต่พอมันยืดเยื้อเราก็เลยเจ็บหนัก จนถึงวันนี้ธุรกิจในภูเก็ตยังขาดทุนอยู่ 2,000 ล้าน ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะทั้งภูเก็ตแฟนตาซี และคาร์นิวัลเมจิก คงยังเปิดบริการได้แห่งละ 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น” ฤทธิ์ระลึกอดีต
เขาบอกอีกว่า ตอนนี้ภูเก็ตยังไม่ได้กลับมา 100 เปอร์เซ็นต์เท่ากับปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ภูเก็ตก็ยังมีความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง ทั้งจำนวนไฟลต์ที่จะเข้ามา การจราจร และสิ่งที่จะจัดการอีกอย่างก็คือการกำกับดูแลระบบแท็กซี่ การเดินหน้าพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และจำนวนบุคลากรในภาคบริการที่ขาดแคลนอย่างมาก เรื่องฟรีวีซ่าจีนที่รัฐบาลประกาศใช้ นับเป็นก้าวสำคัญ และอยากให้สนับสนุนเรื่องวีซ่าฟรีสำหรับอินเดียด้วย เพราะประชากร 2 ประเทศนี้มีมากที่สุดในโลก และชอบมาเที่ยวเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม การพุ่งเป้าของรัฐบาลมาแก้ปัญหาที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่มาถูกทาง เพราะเมืองหลักโดยเฉพาะภูเก็ตควรเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ
"ผมเชื่อว่าคนที่ไม่ได้ไปเที่ยวไหนมา 3 ปีเต็ม หากเขามีโอกาสกลับมาเที่ยวอีก คนเหล่านี้จะกลับมาเที่ยวเมืองหลักอย่างแน่นอน ดูตัวอย่างจากปารีส ฮาวาย โตเกียว ในวันนี้เมืองเหล่านี้คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับ กทม.” ฤทธิ์กล่าว
ในความโชคร้ายที่ต้องเผชิญกับโควิด ซาฟารีเวิลด์ถือว่าก็ยังมีความโชคดี เพราะการระบาดของโควิด ทำให้ซาฟารีเวิลด์ได้มีโอกาสคิดอะไรใหม่ๆ หากใครได้มาเที่ยวที่ซาฟารีเวิลด์ กรุงเทพฯ วันนี้จะได้เห็นภาพจำใหม่ๆ มีคนทำงาน วัยรุ่นหนุ่มสาวเข้ามาเที่ยวที่นี่มากขึ้น ไม่ใช่เพราะแค่อยากจะมาดูสัตว์ แต่ต้องการกลับคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมประสบการณ์ที่บอกต่อทางโซเชียลมีเดียได้
หลังจากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์เพราะโรคระบาด ซาฟารีเวิลด์ก็หันมาพึ่งพาคนไทยมากขึ้น ด้วยการปรับลดราคาสมาชิกรายปีจาก 2,880 บาท เหลือเพียง 999 บาทต่อปี ทำให้ลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนคนในเวลาไม่นาน
ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มกิจกรรมอีกกว่า 40 อย่าง เช่น เปิด Open Air Studio กลางป่า ให้ลูกค้าเลือกถ่ายรูปกับสัตว์บางชนิดได้ นี่คือ One and Only experience นอกจากนี้ยังเปิดโซนฟีดดิ้ง บางจุดทางพาร์คมีจุดให้คนลงไปเลี้ยงฮิปโปด้วยมือตัวเอง หรือเข้าไปอยู่ในกรงเพื่อป้อนอาหารเสือได้ ให้อาหารนก ได้นั่งกินกาแฟถ่ายรูปกับลิงอุรังอุตัง ให้อาหารอูฐ ลูกค้าเลี้ยงนกด้วยไอศกรีมที่ทำจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ในอนาคตจะเปิดสอนให้ลูกค้าทำไอศกรีมเองเพื่อเลี้ยงนก เพิ่มกิจกรรม Edutainment
ด้วยหวังว่า ‘ประสบการณ์’ จะทำให้ลูกค้ากลับมาเที่ยวที่นี่ได้อีกเรื่อยๆ เพราะการเดินทางสะดวก สามารถขับรถเพียงแค่ 20 นาทีจากสนามบินสุวรรณภูมิ และขณะนี้มี BTS สายสีชมพูวิ่งบริการถึงรามอินทรา และที่นี่ก็เป็นทางผ่านไปเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา พระนครศรีอยุธยาด้วย
“ปัจจุบันเรายกเลิกใช้คำว่า Zoo แต่เปลี่ยนมาใช้คำว่า Animal Theme Park แทน เราคือ Real Animal Theme Park คนมาแล้วก็อยากกลับมาอีก ประสบการณ์แบบนี้ไม่ต้องไปถึงแอฟริกา นักท่องเที่ยวอาจจะต้องใช้เวลาไปทริปที่แอฟริกาถึง 10 วัน เพื่อจะดูสัตว์ใกล้ๆ ถ้าโชคดีคุณอาจจะได้เจอฝูงยีราฟ หรือสัตว์อื่น ทีละเยอะๆ แต่บางทีก็อาจจะไม่เจอเลย หรือแม้จะเห็น แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปยืนใกล้ๆ ได้” ฤทธิ์บอก
ทั้งนี้ ปัจจุบันซาฟารีเวิลด์มีสัตว์ถึง 50,000 ตัว จาก 300 สปีชีส์
นอกจากประสบการณ์อินเตอร์แอคทีฟแล้ว บริษัทยังยกระดับคุณภาพเรื่องของที่ระลึกให้ดีขึ้น ปรับโซนอาหารและเครื่องดื่มใหม่ มีร้านอาหารทั้งหมด 4 ธีม ได้แก่ ไทเกอร์เบอร์เกอร์ แอนิมอลคาเฟ่ ซาวาน่าภัตตาคาร และภัตตาคารธีมดอกไม้ ‘Blossom’ ซึ่งในอดีตซาฟารีเวิลด์เปิดบริการทุกวัน แต่หลังจากโควิด บริษัทได้ปิดบริการในวันจันทร์หนึ่งวัน เพื่อการจัดการพาร์คที่ดีขึ้น
“การทำธีมพาร์คของเรา มีความท้าทายมาก เพราะเราต้องดูแลทั้งสิ่งปลูกสร้างและสิ่งมีชีวิต เราต้องดูแลไม่ให้สัตว์อยู่กันแออัดเกินไป ถ้าแน่นก็มีพื้นที่รองรับอีก 10,000 ไร่ที่ปราจีนบุรี ซึ่งตอนนี้เป็นพื้นที่ปิด เลี้ยงยีราฟ ม้าลาย และสัตว์อื่นๆ อยู่หลายร้อยตัว และก็เป็นที่เพาะพันธุ์สัตว์ด้วย เราต้องดูแลและผสมพันธุ์เองเพื่อทดแทนในระยะยาว สมัยนี้สัตว์ไม่ได้หาซื้อกันได้ง่ายๆ เรามีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นั่นเพื่อดูแลสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง” ฤทธิ์กล่าว
ทายาทซาฟารีเวิลด์บอกอีกว่า การทำแอนิมอลธีมพาร์ค หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสัตว์ป่า ต้องเจอแรงกดดันจากกลุ่ม Animal Rights มาก
“เราเจอเรื่องนี้มา 30 กว่าปีแล้ว เรามั่นใจและพิสูจน์ได้ว่าเราเลี้ยงสัตว์อย่างดี พนักงานทุกคนเลี้ยงสัตว์ด้วยใจ ดูแลสัตว์ใกล้ชิดยิ่งกว่าลูกหลานของตัวเอง มีสัตวแพทย์ตลอด 24 ชม. มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศที่มีประสบการณ์สูงอยู่กับเรามานาน” ฤทธิ์บอก
เขายกตัวอย่างการแสดงอุรังอุตังชกมวยว่า ภาพที่ออกไปดูเหมือนว่าสัตว์จะชกจริง แต่ที่จริงเป็นเพียงการแสดง และสัตว์ไม่ได้เครียด สะท้อนจากการขยายพันธุ์ของอุรังอุตังมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีอุรังอุตังคู่แฝดเกิดเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี
ส่วนวอลรัส บางคนบอกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ในเมืองหนาว แต่เรามั่นใจที่จะนำมาเลี้ยง ไม่ใช่แค่อยู่ได้ แต่อยู่ดี และล่าสุดได้คลอดลูกในซาฟารีเวิลด์ ถือเป็นลูกวอลรัสตัวแรกของอาเซียน และแห่งที่ 2 ของโลกที่เพาะพันธุ์ได้ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่าสัตว์อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูอย่างดี ไม่มีภาวะเครียด ทำให้อัตราการขยายพันธุ์ของสัตว์ในซาฟารีเวิลด์สูงกว่าในธรรมชาติ
“การที่ซาฟารีเวิลด์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสัตว์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศ ทุกคนรู้จัก เราย่อมอยู่ในสายตาของทุกคน ทุกวันนี้ไม่มีอะไรที่เป็นความลับ ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ กว่า 30 ปีของการก่อตั้ง หน่วยงานทั้งในและนอกประเทศมากันหมดแล้ว ตรวจแล้วตรวจอีกก็ไม่เคยเจออะไรที่ไม่โอเค ทุกครั้งที่มาตรวจก็ผ่านและชมว่าเราดูแลสัตว์เป็นอย่างดี ครั้งก่อนผมพาเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจ เดินไปดูการเลี้ยงอุรังอุตังของเรา พอดีเดินผ่านผลไม้ที่ใช้เลี้ยง ผมก็ยื่นแอปเปิลให้เขากิน เพราะเราใช้ผลไม้คุณภาพเดียวกับที่คนทาน เลี้ยงสัตว์ของเรา สุดท้ายเขากลับไปก็ไม่ได้ยินอะไรจากเขาอีก ก็คงพอใจ ไม่มีอะไรให้ติ” ฤทธิ์บอก
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของลูกค้าคนไทยในซาฟารีเวิลด์เพิ่มเป็น 25% จากไม่ถึง 10% ในช่วงก่อนโควิด และที่เหลือเป็นต่างชาติจากอินเดีย ตะวันออกกลาง จีน และเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น
“แม้ธุรกิจในภูเก็ตยังสาหัส แต่ธุรกิจของซาฟารีเวิลด์ในกรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมา เป็นปีเรคคอร์ดอีกครั้ง ทั้งยอดขายและกำไร จากการลดต้นทุนให้ต่ำลง การจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะไม่ยอมกลับไปอยู่จุดเดิมอีก” ฤทธิ์พูดด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าที่แฝงความแน่วแน่พร้อมก้าวข้ามทุกความท้าทาย เพื่อไปต่ออีก 35 ปี
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดใจเจน 2 ‘ฟู้ดแลนด์’ เตรียมลุยแฟรนไชส์ในภาคใต้ หลังถอนตัวภาคอีสาน มิ.ย.นี้
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine