ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม A New Chapter Begins ที่ “แกรนด์สปอร์ต” - Forbes Thailand

ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม A New Chapter Begins ที่ “แกรนด์สปอร์ต”

ด้วยความตั้งใจอยากให้ประเทศไทยมีแบรนด์เสื้อกีฬาของคนไทย 61 ปีก่อนอดีตนักกีฬาบาสเกตบอลจึงชวนน้องๆ ร่วมสร้างธุรกิจผลิตเสื้อกีฬาจำหน่าย จากร้านห้องแถวเล็กๆ ในซอยวงเวียน 22 กระทั่งแบรนด์ “แกรนด์สปอร์ต” เติบใหญ่เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ผลิตชุดให้กับนักกีฬาทีมชาติไทยหลายประเภท รวมทั้งวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย

ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แฟนๆ ทีมนักตบลูกยางคงได้ลุ้นไปกับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในการแข่งขัน “วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2022” (Volleyball Nations League 2022: VNL 2022) ภาพนักกีฬาสวมเสื้อแขนกุดกระชับเข้ารูป สีดำ ขาว และแดง บนตัวเสื้อด้านหน้ามีลวดลายกราฟิกแสงสปอตไลท์ สื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่สว่างไสว เป็นแสงสปอตไลท์ที่ส่องมายังนักวอลเลย์บอลที่จะมาสร้างตำนานบทใหม่ อกซ้ายติดอาร์มธงชาติไทย ส่วนบนอกขวาพิมพ์โลโก้แกรนด์สปอร์ต ทั้งหมดนี้ออกแบบภายใต้แนวคิด A New Chapter Begins ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม รองประธานกรรมการอำนวยการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด บริษัทผู้ออกแบบชุดกีฬาให้กับทีมวอลเลย์บอลชุดนี้กล่าวว่า ช่วงแรกๆ ไม่ได้ทำเป็นธีมหรือคอลเล็กชั่น เพิ่งเริ่มในรุ่น “7 เซียน” เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายมายังทีมปัจจุบัน เขาจึงตั้งชื่อว่า A New Chapter Begins “เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้และเล่นกับรุ่น 7 เซียนไม่น้อยกว่า 5-6 ปี ถึงวันนี้เขาจะสร้างบทใหม่เขาเอง...ผลตอบรับดีมาก คนอินกับที่เรานำเสนอ  

- เริ่มจากเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า -

บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งในปี 2504 โดย “กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม” อดีตนักกีฬาบาสเกตบอลที่มีโอกาสไปแข่งขันกีฬาในต่างประเทศและพบว่านักกีฬาต้องซื้อชุดจากสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง นักกีฬาหนุ่มอยากเห็นประเทศไทย มีแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากล จึงชักชวนน้องๆ อีก 2 คนมาร่วมสานฝัน โดยเริ่มตั้งแต่ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี เรียนจบจึงเปิดร้านเป็นห้องแถวเล็กๆ ในซอยวงเวียน 22 กรกฎา สัมพันธวงศ์ รับตัดเย็บตามออร์เดอร์ ความที่เป็นนักกีฬาจึงมีเพื่อนฝูงและคนรู้จักมากมาย ลูกค้าช่วงแรกๆ คือ ทหารและพ่อค้าจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เล่นบาสเกตบอลในสมัยนั้น ต่อมาย้ายร้านมาตั้งที่ตึกแถวย่านประตูน้ำ โดยจำหน่ายเครื่องเขียนและเครื่องกีฬาด้วย ทำเลที่อยู่นานที่สุดคือ ร้านที่ตั้งอยู่ข้างๆ สนามศุภชลาศัย ก่อนจะมาลงหลักปักฐานสำนักงานใหญ่ที่หัวหมากในปัจจุบัน แกรนด์สปอร์ตเริ่มเป็นที่รู้จักในปี 2513 เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนเกมส์และนักกีฬาต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันซื้อชุดกลับไปด้วย ทำให้เป็นที่รู้จักในแวดวงกีฬาว่าสามารถตัดเย็บให้ได้ตามดีไซน์ที่ต้องการ ปี 2516 ส่งคนไปดูกระบวนการผลิตที่ไต้หวัน ซึ่งขณะนั้นเป็นแหล่งผลิตชุดกีฬารายใหญ่ของโลก และนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเปิดแผนกขายส่งในเวลาต่อมา เนื่องจากสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในแถบเอเชียและตะวันออกกลาง เช่น คูเวต กาตาร์ โอมาน
ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม รองประธานกรรมการอำนวยการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด

- ตอกย้ำแบรนด์ไทย -

“แกรนด์สปอร์ต” เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อกีฬาและอุปกรณ์กีฬา และเป็นธุรกิจกงสีที่ “กิจ” ส่งต่อการบริหารมายังคนในครอบครัว ซึ่งมีน้องๆ อีก 2 คนคือ สุชาดา นิมากร และ ชัย นิมากร ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของรุ่น 2 คือ ทายาทของกิจและทายาทของ มณฑล นิมากร ในยุคแรกผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำตลาดคือ “สุชาดา” น้องสาวคนที่ 8 ส่วน “ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม” ผู้กุมบังเหียนคนปัจจุบัน เป็นรุ่น 2 ของครอบครัวแกรนด์สปอร์ตเขาเล่าว่า ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งร้านก็ใช้ชื่อแกรนด์สปอร์ต แต่ชุดกีฬายังไม่มีแบรนด์ ปี 2512 สุชาดาจึงติดแบรนด์แกรนด์สปอร์ตพร้อมป้ายว่า Made in Thailand ซึ่งสวนกระแสมาก ยุคนั้นต้อง Made in USA หรือ Made in Japan “ตอนทำตลาด แอ๊ด คาราบาว มีเพลงเมดอินไทยแลนด์พอดี...กระแสรักประเทศไทยเริ่มมา คุณสุชาดายังเข้าไปมีส่วนร่วมในฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นคณะกรรมการ และสร้างแบรนด์ขึ้นมา หาเทคโนโลยีใหม่ ไปดูงานต่างประเทศ งานพิมพ์ใหม่ๆ ก็ค่อยๆ โตและขยาย ทำเท่าที่ไหวในครอบครัว ตอนแรกรับสั่งตัดยังไม่มีสต๊อก เมื่อร้านค้าต่างจังหวัดมาซื้อ เราจึงทำสต๊อกและจ้างร้านค้าภายนอกผลิต” แกรนด์สปอร์ต ปี 2565 “แกรนด์สปอร์ต” มีอายุ 61 ปี เติบโตมาในห้วงเวลาเดียวกับพัฒนาการของวงการกีฬาไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย และยังคงยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของธุรกิจกีฬา บริษัทผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์ กีฬาและฟิตเนส เฉพาะเสื้อผ้าชุดกีฬาจับตลาดทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มแมส กลาง และระดับบน รายได้คิดเป็นสัดส่วน 50%-30%-20% ตามลำดับ กลุ่มแมสคือ นักเรียน นักศึกษา สินค้าคือ เสื้อวอร์ม เสื้อกีฬาสี ระดับกลางคือ ประชาชน ส่วนระดับบนเป็นองค์กร สโมสรกีฬา และทีมชาติ กลุ่มที่ขายปลีกคือ ระดับกลาง ซึ่งยอดขายขึ้นกับการทำงานผลงานของทีมนั้นๆ ถ้าทีมกีฬามีผลงานแฟนคลับจะตามซื้อ ส่วนนักกีฬาทีมชาติชุดต่างๆ ถ้าผลงานดีและชุดสวยแฟนคลับจะซื้อเป็นของสะสม แกรนด์สปอร์ต รูปแบบการจำหน่ายเน้นการขายส่งผ่านดีลเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กรที่สั่งตัดเฉพาะกิจ เช่น อบต. หรือ อบจ. จัดแข่งขันกีฬา โดยเพิ่งทำตลาดออนไลน์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่น่าพอใจ แม้จะเป็นเสื้อผ้ากีฬาแต่ก็มีการออกชุดตามฤดูกาลเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็นครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง ต้นปีเป็นเสื้อฟุตบอล กลางปีออกเสื้อโปโล ช่วงปิดเทอมเป็นเสื้อลำลอง การออกแบบคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ทีมดีไซเนอร์ ฝ่ายผลิต และผู้เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน โดยพิจารณาจากวัตถุดิบ เทคโนโลยี และเทรนด์สีของโลก ซึ่งรายการหลังนำมาประยุกต์ใช้ได้เพียงบางส่วนเพราะ “รสนิยม” ของผู้บริโภคไม่เหมือนกัน  

- ผู้สนับสนุนวงการกีฬา -

ถามถึงภาพรวมของธุรกิจ ธิติบอกว่า ตอบยากเพราะมีสินค้าใต้ดินจำนวนมาก มีแบรนด์ที่คนไม่รู้จักมากกว่า 30 แบรนด์ “ถ้าไปเดินร้านค้าต่างจังหวัดจะเห็นว่าเยอะ และเป็นตัวที่กินกลุ่มล่าง เราแค่แตะส่วนบนของกลุ่มนี้ เพื่อที่อย่างน้อยเรามีส่วนนิดหนึ่ง ถ้าเขามีงบฯ พอจะซื้อของเรา เราคุมข้างล่างไว้ ขายตรงกลางและข้างบน เราเน้นกลุ่มกลางเป็นหลัก...บางครั้งร้านค้าบอกให้ทำราคาลงมา แต่มันลงไม่ได้ต่ำกว่า 100 บาท ของเราถูกสุดคือ 140 บาท” “จุดเด่นของสินค้าคือ คุณภาพกับดีไซน์ ใช้ได้นานมาก อีกส่วนคือความสัมพันธ์กับดีลเลอร์ เนื่องจากเราเป็นเจ้าแรกๆ ผู้บริหารรุ่นก่อนหน้ารักษาฐานไว้ได้ดี เราเป็นเจ้าแรกที่ขายส่ง มีการทำ activity” ปัจจุบันแกรนด์สปอร์ตเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมัยที่ 5 ซึ่งจะหมดวาระปี 2567) โดยสนับสนุนการเงิน ชุดกีฬา ชุดแข่งขัน ชุดฝึกซ้อม ยูนิฟอร์ม ให้กับนักกีฬาทีมชาติและสตาฟในการแข่งขันต่างๆ ที่คณะกรรมการโอลิมปิคฯ เป็นผู้ส่ง เช่น โอลิมปิคเกมส์ เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ และสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคมยกน้ำหนัก สมาคมว่ายน้ำ สมาคมวอลเลย์บอล ซึ่งธิติบอกว่า ทำให้มีโอกาสพัฒนาเสื้อผ้าให้นักกีฬาทีมชาติ และนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาไว้ในสินค้าที่จำหน่ายทั่วไป รวมทั้งให้การสนับสนุนฟุตบอลทีมชาติเวียดนามตั้งแต่ปี 2558 และจะหมดสัญญาปี 2566 แกรนด์สปอร์ต ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า การจะสนับสนุนสมาคมกีฬาหรือสโมสรใดๆ ต้องดูฐานแฟนคลับ และวิธีบริหารแฟนคลับด้วย เพราะมีผลต่อยอดขายที่จะซื้อไปใช้หรือสะสม แกรนด์สปอร์ตไม่ได้เป็นที่รู้จักเฉพาะในไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนามก็ให้ความนิยมไม่น้อย โดยช่วงแรกมีคนหิ้วไปขาย พอตลาดตอบรับมากขึ้นจึงติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย นอกจากชุดกีฬาแล้ว บริษัทยังได้สร้างแบรนด์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่วางจำหน่ายขณะนี้คือ XOLO เป็นเสื้อผ้าฟิตเนส เทรนนิ่ง และ VANESSE ชุดออกกำลังกายของผู้หญิง การระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อยอดขายพอสมควร แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว “ก่อนรัชกาลที่ 9 สวรรคต เราเคยทำแผนไว้หมดว่า อีก 5 ปี 10 ปี จะไปอาเซียน แต่หลังจากนั้นมาพับหมด ยิ่งเจอโควิดซ้ำอีก แผนที่มีอาจเป็นเป้าได้แต่ต้องซอยย่อยและปรับตัวให้เร็วขึ้น...2 ปีที่ผ่านมาวางแผนระยะยาวไม่ได้เลย ต้องดูสถานการณ์เป็นระยะ และเตรียมวัตถุดิบไว้ให้พร้อม มีออร์เดอร์มาก็รีบตัดเย็บ เราเป็นคนหาวัตถุดิบเอง ซื้อผ้าจากโรงงานในประเทศ โรงงานทอผ้าระดับโลกอยู่ในไทยหมด แบรนด์ Nike, Adidas ก็ใช้ผ้าจากในไทยเหมือนกัน” ธิติกล่าวในตอนท้าย   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และแกรนด์สปอร์ต อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine