สิงคโปร์ดินแดนที่เปรียบดังสรวงสรรค์ทางการเงิน แม้ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเข้ากระทบดินแดนแห่งนี้ยังคงดึงดูดผู้มั่งคั่งเสมอมา
ชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อยังคงเดินทางเข้าประเทศและเป็นตัวเร่งให้ราคาขายและเช่าของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาที่สิงคโปร์ได้ยกเลิกมาตรการเข้าประเทศที่เข้มงวดอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งให้ราคาของโรงแรมและที่พักปรับตัวสูงตามลำดับ แม้ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะเป็นไปในเชิงบวก แต่วิกฤตเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ของวงการเทคโนโลยีทั่วโลกทำให้มูลค่าความมั่งคั่งของ 50 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดมากกว่าหนึ่งในห้าลดลง ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ประจำปี 2022 ลดลงจากการจัดอันดับในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ10 อันดับแรกของ 50 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ จากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2022 มีดังนี้
อันดับ 1 Li Xiting อายุ 71 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 1.56 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: เครื่องมือทางการแพทย์ Li เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Shenzhen Mindray Bio-Medical Electronics ซัพพลายเออร์เครื่องมือทางการแพทย์ บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1991 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Shenzhen สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทได้บริจาคอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีมูลค่าถึง 4.6 ล้านเหรียญให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างหนัก เช่น เมือง Wuhan สาธารณรัฐประชาชนจีนและบริเวณทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี อันดับ 2 พี่น้องตระกูล Ng มูลค่าทรัพย์สิน: 1.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มบริษัท Far East Organization เป็นผู้ถือครองที่ดินและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของสองพี่น้อง Robert และ Philip กลุ่มบริษัทถูกก่อตั้งโดยบิดาของทั้งสอง Ng Teng Fong หรือที่รู้จักกันในนาม “บิดาแห่งถนน Orchard” หลังจากที่เขาได้ย้ายถิ่นฐานจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังสิงคโปร์ในปี 1934 Robert Ng พี่ชายคนโตและลูกชายของเขา Daryl Ng ทำหน้าที่ดูแล Sino Group บริษัทในเครือซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง ในขณะที่ Philip เป็นผู้ดูแลกิจการของบริษัทในฝั่งสิงคโปร์ ในเดือนตุลาคม ปี 2019 สองพี่น้องทำการเปิดตัวโรงแรม Fullerton ที่เมือง Sydney ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีจำนวนห้องทั้งหมด 416 ห้องและเป็นอาคารโบราณสถานอายุ 147 ปี ที่เคยถูกให้บริการเป็นตึกไปรษณีย์มาก่อน อันดับ 3 Goh Cheng Liang อายุ 95 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: สีทาบ้าน Goh Cheng Liang สร้างความมั่งคั่งมาจากการลงทุนในกลุ่มบริษัท Nippon Paint Holdings ผู้ผลิตสีทาบ้านรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก Goh เริ่มลงมือผลิตสีในโรงงานเล็กๆ ที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกับกลุ่มบริษัท Nippon Paint ของญี่ปุ่นในปี 1962 Goh ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หลังจากที่ Hup Jin ลูกชายของเขาผู้ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการของ Nippon Paint ได้ซื้อหุ้นบริษัทในปี 2021 จำนวน 1.2 หมื่นล้านเหรียญ ปัจจุบัน บริษัท Nippon Paint ได้เข้าร่วมกับ University of Tokyo เพื่อทำวิจัยในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโควิด-19 อันดับ 4 Eduardo Saverin อายุ 40 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: Venture Capital, แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Facebook) Eduardo Saverin ร่วมก่อตั้ง Facebook พร้อมกันกับ Mark Zuckerberg ในสมัยที่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย Harvard University ในปี 2004 แม้ปัจจุปัน Saverin จะได้ผันตัวมาเป็น Venture Capitalist อย่างเต็มตัว เขายังคงได้รับส่วนแบ่งหุ้นจาก Facebook ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้สำคัญที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่เขา ในปี 2016 Saverin ได้ก่อตั้งบริษัท B Capital ซึ่งประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนหรือ Venture Capital ร่วมกับ Raj Ganguly ผู้เคยร่วมก่อตั้งบริษัท BCG และ Bain Capital ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา B Capital สามารถระดมทุนจำนวน 250 ล้านเหรียญสำหรับการลงทุนในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มกิจการ Saverin เกิดที่ประเทศบราซิลและย้ายมาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ได้สละสัญชาติอเมริกันในปี 2012 เป็นเวลาก่อน Facebook ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์และเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่คนทั่วไป อันดับ 5 Kwek Leng Beng และครอบครัว อายุ 81 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: อสังหาริมทรัพย์ Kwek Leng Beng เป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัท Hong Leong Group ที่ก่อตั้งโดยบิดาของเขาในปี 1941 และ City Developments บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของสิงคโปร์ ซึ่งมีลูกชายของเขา Sherman Kwek นั่งเป็นซีอีโอตั้งแต่ปี 2018 หลังบริษัทขาดทุนในปีก่อน City Developments ทำกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกของ 2022 ได้ถึง 800 ล้านเหรียญ เนื่องมาจากการขายโรงแรม Millennium Hilton ที่เมือง Seoul สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในราคา 934 ล้านเหรียญในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อันดับ 6 Zhang Yong และ Shu Ping มูลค่าทรัพย์สิน: 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: ร้านอาหาร Zhang Yong เป็นประธานกรรมการบริษัท Haidilao ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ชาบูหม้อไฟ ซึ่งได้กลายเป็นบริษัทมหาชนในปี 2018 โดยมี Shu Ping ภรรยาของเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ในปี 2021 บริษัท Haidilao สร้างรายได้ถึง 6.4 พันล้านเหรียญ จากร้านอาหาร 1,400 สาขา โดยสัดส่วนใหญ่มาจากตลาดในประเทศจีน, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ นอกจากนี้ บริษัทได้มีแผนในการนำเหล่าบริษัทลูกในต่างประเทศเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง ตอนเริ่มทำธุรกิจ Zhang ไม่มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนในการเตรียมชาบูหม้อไฟ แต่เขาได้บริหารกิจการด้วยเงินลงทุนของเหล่าหุ้นส่วนที่เป็นเพื่อนใกล้ชิดจนกระทั่งบริษัทเติบโต ร้านอาหาร Haidilao ขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจในบริการลูกค้า หนึ่งในบริการดังกล่าวรวมถึงการทำเล็บฟรีให้แก่ลูกค้าที่รอเข้าคิว อันดับ 7 Leo Koguan อายุ 67 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: ผู้ให้บริการด้าน IT Leo Koguan เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท SHI International บริษัทให้บริการด้าน IT ซึ่งมียอดขายถึง 1.23 หมื่นล้านเหรียญและลูกค้ามากกว่า 20,000 ราย อย่าง Boeing บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานและยุทโธปกรณ์รวมถึง AT&T บริษัทด้านโทรคมนาคมข้ามชาติจากสหรัฐฯ Koguan และภรรยาเก่าของเขา Thai Lee เริ่มก่อตั้งบริษัทด้วยการเป็นผู้แทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ในปี 1989 โดยใช้เงินลงทุนไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ ปัจจุบัน เขาปล่อยให้บริษัทอยู่ในการบริหารของ Lee ผู้ซึ่งได้กลายเป็นซีอีโอของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ Koguan เกิดที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาได้สำเร็จการศึกษาปริญญาโทที่ Columbia University และปริญญาทางด้านกฎหมายจาก New York Law School เขาเป็นพลเมืองชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์และเป็นแฟนคลับตัวยงของ Elun Musk ในปัจจุบัน Tesla เป็นบริษัทที่เขาถือหุ้นเยอะที่สุด อันดับ 8 ตระกูล Khoo มูลค่าทรัพย์สิน: 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: ธนาคาร ตระกูล Khoo เป็นทายาทของนายธนาคาร Khoo Teck Puat ผู้ได้ลงทุนในธนาคาร Standard Chartered เมื่อปี 1986 การขายหุ้นที่ตระกูลถือใน Standard Chartered จำนวน 4 พันล้านเหรียญในปี 2006 นับเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของทรัพย์สินตระกูล นอกจากนี้ ตระกูล Khoo ยังเป็นผู้บริหารเครือบริษัท Goodwood Group เจ้าของโรงแรม Goodwood Park Hotel อันเก่าแก่ของสิงคโปร์ โดยเครือบริษัทมี Mavis Khoo-Oei (ในภาพ) นั่งเป็นประธานกรรมการ ทางด้านการกุศล ตระกูล Khoo มี Khoo Foundation มูลนิธิที่ได้สนับสนุนให้เงินทุนสมทบแก่โรงพยาบาล Khoo Teck Puat ที่สิงคโปร์ ซึ่งได้เปิดให้บริการในปี 2010 อันดับ 9 Wee Cho Yaw อายุ 93 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: ธนาคาร Wee Cho Yaw เป็นประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของธนาคาร United Overseas Bank (UOB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามของสิงคโปร์จากการประเมินทรัพย์สินทั้งหมด Wee Khiang Cheng บิดาของเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคาร UOB ในปี 1935 โดยแรกเริ่มใช้ชื่อ United Chinese Bank หลังจากที่ Wee ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการของธนาคารในปี 2013 เขาได้เกษียณในฐานะกรรมการบริษัทในเดือนเมษายน ปี 2018 หลังจากครองตำแหน่งดังกล่าวมาถึง 60 ปี ในเดือนมกราคม ปี 2022 UOB ได้ตกลงซื้อธุรกิจ Consumer Banking จาก Citibank ในตลาดประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทยและเวียดนาม ในมูลค่า 3.6 พันล้านเหรียญ อันดับ 10 พี่น้องตระกูล Kwee มูลค่าทรัพย์สิน: 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจ: อสังหาริมทรัพย์ พี่น้องสี่คนจากตระกูล Kwee เป็นผู้บริหารกลุ่มบริษัท Pontiac Land Group ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมและอาคารออฟฟิศระดับลักชัวรีทั่วเกาะสิงคโปร์ ในปี 2017 พวกเขาได้เข้าซื้อกลุ่มบริษัท Cappella Hotel Group จาก Horst Schulze ล่าสุด Pontiac Land ซึ่งมี Kwee Liong Tek (ในภาพ) เป็นประธานกรรมการ ได้ลงทุนเงินจำนวน 400 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างรีสอร์ทที่ Maldives นอกจากนี้ พี่น้องตระกูล Kwee ยังได้ถือหุ้นในอาคารลักชัวรีที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส Jean Nouvel โดยอาคารตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art ที่มหานคร New York สหรัฐอเมริกา Pontiac Land Group ถูกก่อตั้งโดย Henry Kwee บิดาของสี่พี่น้อง ผู้ค้าวัตถุดิบสิ่งทอและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ทำการอพยพมาประเทศสิงคโปร์ในปี 1958 การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้น ที่ได้รับมาจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง รวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวในหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 19 สิงหาคม ส่วนทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น Photo Credit: forbes.com, pixabay.com (ภาพเปิด) แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ Singapore’s 50 Richest 2022: Buffeted By Global Headwinds And A Tech Rout, Collective Wealth Drops By A Fifth เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม:ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine