ด้วยความตั้งใจอยากให้ประเทศไทยมีแบรนด์เสื้อกีฬาของคนไทย 61 ปีก่อนอดีตนักกีฬาบาสเกตบอลจึงชวนน้องๆ ร่วมสร้างธุรกิจผลิตเสื้อกีฬาจำหน่าย จากร้านห้องแถวเล็กๆ ในซอยวงเวียน 22 กระทั่งแบรนด์ “แกรนด์สปอร์ต” เติบใหญ่เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ผลิตชุดให้กับนักกีฬาทีมชาติไทยหลายประเภท รวมทั้งวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย
ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แฟนๆ ทีมนักตบลูกยางคงได้ลุ้นไปกับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในการแข่งขัน “วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2022” (Volleyball Nations League 2022: VNL 2022) ภาพนักกีฬาสวมเสื้อแขนกุดกระชับเข้ารูป สีดำ ขาว และแดง บนตัวเสื้อด้านหน้ามีลวดลายกราฟิกแสงสปอตไลท์ สื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่สว่างไสว เป็นแสงสปอตไลท์ที่ส่องมายังนักวอลเลย์บอลที่จะมาสร้างตำนานบทใหม่ อกซ้ายติดอาร์มธงชาติไทย ส่วนบนอกขวาพิมพ์โลโก้แกรนด์สปอร์ต ทั้งหมดนี้ออกแบบภายใต้แนวคิด A New Chapter Begins ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม รองประธานกรรมการอำนวยการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด บริษัทผู้ออกแบบชุดกีฬาให้กับทีมวอลเลย์บอลชุดนี้กล่าวว่า ช่วงแรกๆ ไม่ได้ทำเป็นธีมหรือคอลเล็กชั่น เพิ่งเริ่มในรุ่น “7 เซียน” เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายมายังทีมปัจจุบัน เขาจึงตั้งชื่อว่า A New Chapter Begins “เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้และเล่นกับรุ่น 7 เซียนไม่น้อยกว่า 5-6 ปี ถึงวันนี้เขาจะสร้างบทใหม่เขาเอง...ผลตอบรับดีมาก คนอินกับที่เรานำเสนอ- เริ่มจากเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า -
บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งในปี 2504 โดย “กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม” อดีตนักกีฬาบาสเกตบอลที่มีโอกาสไปแข่งขันกีฬาในต่างประเทศและพบว่านักกีฬาต้องซื้อชุดจากสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง นักกีฬาหนุ่มอยากเห็นประเทศไทย มีแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากล จึงชักชวนน้องๆ อีก 2 คนมาร่วมสานฝัน โดยเริ่มตั้งแต่ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี เรียนจบจึงเปิดร้านเป็นห้องแถวเล็กๆ ในซอยวงเวียน 22 กรกฎา สัมพันธวงศ์ รับตัดเย็บตามออร์เดอร์ ความที่เป็นนักกีฬาจึงมีเพื่อนฝูงและคนรู้จักมากมาย ลูกค้าช่วงแรกๆ คือ ทหารและพ่อค้าจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เล่นบาสเกตบอลในสมัยนั้น ต่อมาย้ายร้านมาตั้งที่ตึกแถวย่านประตูน้ำ โดยจำหน่ายเครื่องเขียนและเครื่องกีฬาด้วย ทำเลที่อยู่นานที่สุดคือ ร้านที่ตั้งอยู่ข้างๆ สนามศุภชลาศัย ก่อนจะมาลงหลักปักฐานสำนักงานใหญ่ที่หัวหมากในปัจจุบัน แกรนด์สปอร์ตเริ่มเป็นที่รู้จักในปี 2513 เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนเกมส์และนักกีฬาต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันซื้อชุดกลับไปด้วย ทำให้เป็นที่รู้จักในแวดวงกีฬาว่าสามารถตัดเย็บให้ได้ตามดีไซน์ที่ต้องการ ปี 2516 ส่งคนไปดูกระบวนการผลิตที่ไต้หวัน ซึ่งขณะนั้นเป็นแหล่งผลิตชุดกีฬารายใหญ่ของโลก และนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเปิดแผนกขายส่งในเวลาต่อมา เนื่องจากสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในแถบเอเชียและตะวันออกกลาง เช่น คูเวต กาตาร์ โอมาน- ตอกย้ำแบรนด์ไทย -
“แกรนด์สปอร์ต” เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อกีฬาและอุปกรณ์กีฬา และเป็นธุรกิจกงสีที่ “กิจ” ส่งต่อการบริหารมายังคนในครอบครัว ซึ่งมีน้องๆ อีก 2 คนคือ สุชาดา นิมากร และ ชัย นิมากร ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของรุ่น 2 คือ ทายาทของกิจและทายาทของ มณฑล นิมากร ในยุคแรกผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำตลาดคือ “สุชาดา” น้องสาวคนที่ 8 ส่วน “ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม” ผู้กุมบังเหียนคนปัจจุบัน เป็นรุ่น 2 ของครอบครัวแกรนด์สปอร์ตเขาเล่าว่า ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งร้านก็ใช้ชื่อแกรนด์สปอร์ต แต่ชุดกีฬายังไม่มีแบรนด์ ปี 2512 สุชาดาจึงติดแบรนด์แกรนด์สปอร์ตพร้อมป้ายว่า Made in Thailand ซึ่งสวนกระแสมาก ยุคนั้นต้อง Made in USA หรือ Made in Japan “ตอนทำตลาด แอ๊ด คาราบาว มีเพลงเมดอินไทยแลนด์พอดี...กระแสรักประเทศไทยเริ่มมา คุณสุชาดายังเข้าไปมีส่วนร่วมในฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นคณะกรรมการ และสร้างแบรนด์ขึ้นมา หาเทคโนโลยีใหม่ ไปดูงานต่างประเทศ งานพิมพ์ใหม่ๆ ก็ค่อยๆ โตและขยาย ทำเท่าที่ไหวในครอบครัว ตอนแรกรับสั่งตัดยังไม่มีสต๊อก เมื่อร้านค้าต่างจังหวัดมาซื้อ เราจึงทำสต๊อกและจ้างร้านค้าภายนอกผลิต” ปี 2565 “แกรนด์สปอร์ต” มีอายุ 61 ปี เติบโตมาในห้วงเวลาเดียวกับพัฒนาการของวงการกีฬาไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย และยังคงยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของธุรกิจกีฬา บริษัทผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์ กีฬาและฟิตเนส เฉพาะเสื้อผ้าชุดกีฬาจับตลาดทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มแมส กลาง และระดับบน รายได้คิดเป็นสัดส่วน 50%-30%-20% ตามลำดับ กลุ่มแมสคือ นักเรียน นักศึกษา สินค้าคือ เสื้อวอร์ม เสื้อกีฬาสี ระดับกลางคือ ประชาชน ส่วนระดับบนเป็นองค์กร สโมสรกีฬา และทีมชาติ กลุ่มที่ขายปลีกคือ ระดับกลาง ซึ่งยอดขายขึ้นกับการทำงานผลงานของทีมนั้นๆ ถ้าทีมกีฬามีผลงานแฟนคลับจะตามซื้อ ส่วนนักกีฬาทีมชาติชุดต่างๆ ถ้าผลงานดีและชุดสวยแฟนคลับจะซื้อเป็นของสะสม รูปแบบการจำหน่ายเน้นการขายส่งผ่านดีลเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กรที่สั่งตัดเฉพาะกิจ เช่น อบต. หรือ อบจ. จัดแข่งขันกีฬา โดยเพิ่งทำตลาดออนไลน์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่น่าพอใจ แม้จะเป็นเสื้อผ้ากีฬาแต่ก็มีการออกชุดตามฤดูกาลเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็นครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง ต้นปีเป็นเสื้อฟุตบอล กลางปีออกเสื้อโปโล ช่วงปิดเทอมเป็นเสื้อลำลอง การออกแบบคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ทีมดีไซเนอร์ ฝ่ายผลิต และผู้เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน โดยพิจารณาจากวัตถุดิบ เทคโนโลยี และเทรนด์สีของโลก ซึ่งรายการหลังนำมาประยุกต์ใช้ได้เพียงบางส่วนเพราะ “รสนิยม” ของผู้บริโภคไม่เหมือนกัน- ผู้สนับสนุนวงการกีฬา -
ถามถึงภาพรวมของธุรกิจ ธิติบอกว่า ตอบยากเพราะมีสินค้าใต้ดินจำนวนมาก มีแบรนด์ที่คนไม่รู้จักมากกว่า 30 แบรนด์ “ถ้าไปเดินร้านค้าต่างจังหวัดจะเห็นว่าเยอะ และเป็นตัวที่กินกลุ่มล่าง เราแค่แตะส่วนบนของกลุ่มนี้ เพื่อที่อย่างน้อยเรามีส่วนนิดหนึ่ง ถ้าเขามีงบฯ พอจะซื้อของเรา เราคุมข้างล่างไว้ ขายตรงกลางและข้างบน เราเน้นกลุ่มกลางเป็นหลัก...บางครั้งร้านค้าบอกให้ทำราคาลงมา แต่มันลงไม่ได้ต่ำกว่า 100 บาท ของเราถูกสุดคือ 140 บาท” “จุดเด่นของสินค้าคือ คุณภาพกับดีไซน์ ใช้ได้นานมาก อีกส่วนคือความสัมพันธ์กับดีลเลอร์ เนื่องจากเราเป็นเจ้าแรกๆ ผู้บริหารรุ่นก่อนหน้ารักษาฐานไว้ได้ดี เราเป็นเจ้าแรกที่ขายส่ง มีการทำ activity” ปัจจุบันแกรนด์สปอร์ตเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมัยที่ 5 ซึ่งจะหมดวาระปี 2567) โดยสนับสนุนการเงิน ชุดกีฬา ชุดแข่งขัน ชุดฝึกซ้อม ยูนิฟอร์ม ให้กับนักกีฬาทีมชาติและสตาฟในการแข่งขันต่างๆ ที่คณะกรรมการโอลิมปิคฯ เป็นผู้ส่ง เช่น โอลิมปิคเกมส์ เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ และสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคมยกน้ำหนัก สมาคมว่ายน้ำ สมาคมวอลเลย์บอล ซึ่งธิติบอกว่า ทำให้มีโอกาสพัฒนาเสื้อผ้าให้นักกีฬาทีมชาติ และนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาไว้ในสินค้าที่จำหน่ายทั่วไป รวมทั้งให้การสนับสนุนฟุตบอลทีมชาติเวียดนามตั้งแต่ปี 2558 และจะหมดสัญญาปี 2566 ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า การจะสนับสนุนสมาคมกีฬาหรือสโมสรใดๆ ต้องดูฐานแฟนคลับ และวิธีบริหารแฟนคลับด้วย เพราะมีผลต่อยอดขายที่จะซื้อไปใช้หรือสะสม แกรนด์สปอร์ตไม่ได้เป็นที่รู้จักเฉพาะในไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนามก็ให้ความนิยมไม่น้อย โดยช่วงแรกมีคนหิ้วไปขาย พอตลาดตอบรับมากขึ้นจึงติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย นอกจากชุดกีฬาแล้ว บริษัทยังได้สร้างแบรนด์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่วางจำหน่ายขณะนี้คือ XOLO เป็นเสื้อผ้าฟิตเนส เทรนนิ่ง และ VANESSE ชุดออกกำลังกายของผู้หญิง การระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อยอดขายพอสมควร แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว “ก่อนรัชกาลที่ 9 สวรรคต เราเคยทำแผนไว้หมดว่า อีก 5 ปี 10 ปี จะไปอาเซียน แต่หลังจากนั้นมาพับหมด ยิ่งเจอโควิดซ้ำอีก แผนที่มีอาจเป็นเป้าได้แต่ต้องซอยย่อยและปรับตัวให้เร็วขึ้น...2 ปีที่ผ่านมาวางแผนระยะยาวไม่ได้เลย ต้องดูสถานการณ์เป็นระยะ และเตรียมวัตถุดิบไว้ให้พร้อม มีออร์เดอร์มาก็รีบตัดเย็บ เราเป็นคนหาวัตถุดิบเอง ซื้อผ้าจากโรงงานในประเทศ โรงงานทอผ้าระดับโลกอยู่ในไทยหมด แบรนด์ Nike, Adidas ก็ใช้ผ้าจากในไทยเหมือนกัน” ธิติกล่าวในตอนท้าย ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และแกรนด์สปอร์ต อ่านเพิ่มเติม:- DIVYA GOKULNATH กับเส้นทางการเรียนรู้ BYJU’S ยักษ์ใหญ่ด้าน EDTECH
- 10 อันดับ “มหาเศรษฐีสิงคโปร์” ประจำปี 2022
- ‘ชุติมา-นันทนัช’ แห่ง ‘NICE TWO MEAT U’ เดินหน้าสู่ธุรกิจอาหารเมืองไทย
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine