กลุ่มทิสโก้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืนรับความท้าทายรอบด้าน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพสินเชื่อ และยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม ครอบคลุมบริการเสริมความมั่งคั่งระยะยาวและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ตลอดช่วงชีวิต
บทพิสูจน์ความมุ่งมั่นการขับเคลื่อนธุรกิจบนความยั่งยืนของกลุ่มทิสโก้ สะท้อนชัดจากระยะเวลาการดำเนินงานยาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2512
โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนด้วยการริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2518
ขณะเดียวกันยังได้รับการยกสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และเปิดให้บริการธนาคารในปี 2548 โดยปรับโครงสร้างการถือหุ้นในรูปแบบโฮลดิ้งและจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนในปี 2552 เพื่อให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย ภายใต้การกุมบังเหียนของ ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO

ศักดิ์ชัยเล่าถึงเส้นทางการทำงานกับทิสโก้ตลอดช่วงเวลากว่า 32 ปี หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (โยธา) (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับทุน Fujitsu Asian Scholarship เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา University of Hawaii, Manoa ในหลักสูตร Executive MBA (International Business)
เขาเริ่มงานในตำแหน่ง Executive Trainee ประมาณ 10 เดือน จึงได้รับมอบหมายให้ดูแล บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของทิสโก้ ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายแรกๆ ของไทย ทำให้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างครบวงจร
ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ บริษัท ไทยคอมเมอร์เชียล ออโต้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ITOCHU Corp. กลุ่มทิสโก้ และยนตรกิจ โดยยังเป็นผู้นำโปรเจกต์การเข้าซื้อธุรกิจ retail banking ของธนาคาร Standard Chartered และกิจการของ GMAC และ Primus Leasing ทำให้ได้ธุรกิจ Captive Finance ของ Ford และ Mazda
รวมถึงเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลทางด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งได้ร่วมพัฒนาบุคลากร (HR development) ผสานการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (HR management) เพื่อเดินหน้าเป้าหมายการพัฒนาองค์กร (organization development) ทำให้เวลานั้นบริษัทได้รับรางวัล Best Employer in Thailand และ Best Employer in Asia
นอกจากนั้น ศักดิ์ชัยยังแสดงฝีมือสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องจนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเรื่อยมา โดยนั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ในปี 2553 และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ปี 2559 ควบคู่กับกรรมการอำนวยการ (COO) บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในปี 2560 จนกระทั่งนั่งเก้าอี้สูงสุดในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2564

“โจทย์หลักเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการเติบโตและตั้งใจเป็น product solution ตอบโจทย์ลูกค้า ช่วง 5 ปีที่แล้วเราเน้นการขยายธุรกิจสมหวัง เงินสั่งได้ การปรับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่ผลตอบแทนสูงแต่อาจจะจัดการความเสี่ยงไม่ดี และการเสนอโซลูชันครบวงจร customer focus การเป็นกลุ่มการเงินมากกว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
“ซึ่งที่ผ่านมาเราพอใจกับ business result และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะทำให้ชัดเจนขึ้นโดยตกผลึกเป็น Success TISCO หล่อหลอมทีมงานให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันและความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร ซึ่งไม่ใช่แค่พนักงานแต่เป็นพาร์ตเนอร์ของบริษัท โดยเรามีการกำหนดเรื่องเงินปันผล เปอร์เซ็นต์กำไร โบนัสชัดเจน ซึ่งผลตอบแทนดีไซน์เป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ดูแลพนักงานแบบพี่น้องให้อยู่ยาวและเกษียณสุข”
ศักดิ์ชัยย้ำความสำคัญในการหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร “Success TISCO” ให้มีความขัดเจนมากยิ่งขึ้นประกอบด้วย Good Corporate Governance Culture การรักษาจรรยาบรรณในการทำธุรกิจและธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร Risk Management Culture การบริหารจัดการความเสี่ยง Customer Focus Culture การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึง Culture of Innovation การสร้างนวัตกรรมด้วยการตั้งแผนกงานด้านพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม ซึ่งในช่วงโควิด-19 สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าจำนวน 200,000 รายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน
เปิดยุทธศาสตร์ Sustainable Focus
ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจจากปัจจัยกระทบรอบด้านศักดิ์ชัยสามารถใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งการบริหารธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและการบริหารทรัพยากรบุคคลสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Focus) โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายภายใต้หลักการที่ยึดมั่น 3P ประกอบด้วย Passion ความมุ่งมั่น Professional ความเชี่ยวชาญมืออาชีพ และ Planet ตอบโจทย์ความต้องการของโลก
ดังนั้น กลยุทธ์ของบริษัทที่วางไว้ในปีนี้จึงมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70% ของสินเชื่อรวม โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของสาขาด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ
ควบคู่กับการดูแลคุณภาพทางเครดิตและให้ความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดกรองลูกค้า พร้อมขยายบริการสินเชื่อบ้านและที่ดินแลกเงินไปยังสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้บริการเฉพาะสาขาธนาคาร

ส่วนธุรกิจสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ (corporate banking) จะมุ่งเน้นเติบโตในกลุ่มที่ทิสโก้มีความชำนาญ รวมถึงขยายไปยังกลุ่มธุรกิจกระแสใหม่ (S-curve) ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่นเดียวกับธุรกิจสินเชื่อธุรกิจ SME จะขยายวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (floor plan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า พร้อมมองหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ
“Cycle จากนี้เป็นช่วงธุรกิจโตต่ำ หนี้เยอะ สูงวัย ถ้าเราเร่งการเติบโตด้านสินเชื่ออาจจะมีความเสี่ยงมาก ทำให้เราต้องเลือกเซกเมนต์ที่เราถนัด เช่น ESG เรื่องสินเชื่อเป็น green financing รถ EV เราก็สนับสนุน หรือแบรนด์จีนที่ต้องการหาพาร์ตเนอร์ในไทยไม่เฉพาะสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังมี insurance solution การทำให้อู่เข้ากับดีลเลอร์ของเขา เพื่อสร้างความมั่นใจในอะไหล่คุณภาพเดียวกับเจ้าของแบรนด์
“ส่วนหนี้สูงเราต้องปลดหนี้ให้ลูกค้าทั้งหมดด้วยมาตรการที่เข้าร่วมในโครงการคุณสู้ เราช่วย ขณะที่สังคมผู้สูงวัยเราพยายามดีไซน์โซลูชันทางการเงินที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งเงินฝาก การออม การลงทุน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ โดยยึดสโลแกนการทำธุรกิจสร้างคุณค่าและพัฒนาสังคมเป็นโบเดลธุรกิจที่ยั่งยืน”
ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้ายกระดับการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) วางโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร ให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล (data analytics) ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เข้าใจพฤติกรรมและโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงสร้างนวัตกรรมที่จะยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตรงจุด สะดวก เข้าใจง่ายและครบวงจร

นอกจากนั้น กลุ่มทิสโก้ยังให้ความสำคัญกับการเดินหน้าภารกิจ Culture of Innovation ด้วยการพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเงิน การลงทุนและก้าวทันเทคโนโลยี เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมศักยภาพการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น
“เราต้องการให้ภาพของเราเป็นกลุ่มการเงินที่มีความแข็งแกร่ง และสถาบันการเงินที่ลูกค้าไว้ใจให้เรานำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างแท้จริงด้วยการเติบโตอย่างมั่นคงทุกปี และผู้ถือหุ้นได้รับปันผลสม่ำเสมอ ซึ่งเราต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงานที่ทำงานกับเราให้มีความสุขทุกวัน และดูแลตัวเองได้ต่อเนื่องหลังเกษียณอายุ
“ส่วนสังคมเราต้องเป็นบริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาลที่ดี ช่วยเหลือประเทศ โดยอาจจะผ่านการสนับสนุนมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ประชาชน ทุนวิจัยทางการแพทย์ กิจกรรม CSR ต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารู้ว่า stakeholder ต้องการอะไร และเราสามารถเติมเต็มได้ก็ไปด้วยกันได้ดี รวมถึงการทำธุรกิจที่สร้างคุณค่า พัฒนาสังคมจะทำให้ทิสโก้เป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธวัช มานะวงศ์ ติดสวิตช์พลิกเกม Smarthome