ธวัช มานะวงศ์ ติดสวิตช์พลิกเกม Smarthome - Forbes Thailand

ธวัช มานะวงศ์ ติดสวิตช์พลิกเกม Smarthome

เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทยที่สามารถผงาดเหนือวิกฤตด้วยการสร้างแต้มต่อเขย่าตลาดหม้อทอดไร้น้ำมันตอบดีมานด์ด้านสุขภาพและเทรนด์เชฟประจำบ้าน พร้อมชูคุณภาพผสมผสานดีไซน์ และบริการหลังการขายในราคาคุ้มค่าเป็นอาวุธเปิดทางสู่อาณาจักรพันล้าน


    กระแสความนิยมการใช้หม้อทอดไร้น้ำมันหรือหม้ออบลมร้อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะหลังประกาศมาตรการล็อกดาวน์และการปรับใช้นโยบายการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกให้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการทำอาหารรับประทานในบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถปรับตัวตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วมีความได้เปรียบในการช่วงชิงโอกาสแจ้งเกิดแบรนด์สร้างการเติบโต พร้อมขยายฐานความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วประเทศ

    “ช่วงโควิด-19 เราคิดว่าคนอยู่บ้านต้องการอะไร เราจึงวางแผนสต็อกสินค้าหม้อทอดไร้น้ำมันไว้จำนวนมาก และเพิ่มไลน์สินค้ากว่า 20 รุ่น เช่น เตาแม่เหล็กไฟฟ้า เตาปิ้งย่างอเนกประสงค์ที่ทำได้ทั้งสุกี้และบาร์บีคิว ซึ่งก็เป็นไปตามคาดหลังจากล็อกดาวน์แล้วมีลูกค้าเข้ามาซื้อจำนวนมากและเกิดอาชีพใหม่อย่างการสั่งอาหารมาส่ง การไลฟ์สดขายสินค้าออนไลน์ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภครับประทานอาหารในบ้านมากขึ้น ทำให้ Smarthome เวลานั้นสามารถสร้างยอดขายเติบโตก้าวกระโดดเป็นเท่าตัวถึงพันล้านบาท และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการพัฒนาสินค้าที่ตรงใจตอบโจทย์ลูกค้า”

    ธวัช มานะวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท สเต็ป ฟอร์เวิร์ด กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงพัฒนาการสำคัญทางธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2556 ซึ่งก่อตั้งร่วมกับ วิศรุต ทวีรุจจนะ (Managing Director) และ ณัฐพล รอดชุม (Managing Director) ด้วยความมุ่งมั่นเดียวกันในการนำเสนอสินค้าที่ดี มีคุณภาพ เน้นรูปลักษณ์สวยงาม ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้แบรนด์ Smarthome

    “ครอบครัวของผมเป็นพ่อค้า มีสวนลำไย โรงสี โรงโม่ที่เชียงใหม่ ซึ่งคุณพ่อจะสอนเรื่องการทำการค้าตั้งแต่เด็กและทำให้เราสนใจเรื่องธุรกิจจึงเลือกเรียนเกี่ยวกับการบริหาร และทำงานด้านจัดซื้อหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่กับ บริษัท นิยม-พานิช ประมาณ 2 ปีก็ย้ายไปอยู่ไฮเปอร์มาร์เก็ต Auchan (โอชอง) ของฝรั่งเศสที่เชียงใหม่ ซึ่งเราเข้าไปทำในส่วนสโตร์เกี่ยวกับกล้องถ่ายรูป ฟิล์ม และสินค้า IT ประมาณ 5 ปีตั้งแต่ยังมีแค่ที่ดินจนสามารถเปิดสโตร์ได้ก็ไปอยู่ฝั่งจัดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น AV ทีวี เครื่องเสียง AP กลุ่ม home appliance และ IT ทำประมาณ 2 ปีก็มี Casino Group ที่เป็นเจ้าของ Big C เวลานั้นซื้อกิจการ ทำให้เราต้องเข้ากรุงเทพฯ โดยปริยาย และทำงานจัดซื้อในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ Big C ประมาณ 7 ปีจนรู้สึกอิ่มตัวจึงเริ่มคิดเรื่องอนาคตและการเป็นเจ้าของธุรกิจ”

    ผู้ก่อตั้งวัย 53 ปี เล่าถึงการผสมผสานความรู้ในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยพายัพ และปริญญาโท สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยสั่งสมประสบการณ์ทำงานใน บริษัท นิยมพานิช ซึ่งเป็นดีลเลอร์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในภาคเหนือเป็นเวลา 2 ปี และบริษัทข้ามชาติจากฝรั่งเศส Auchan โดยเปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในภูมิภาคอาเซียนที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภายหลังกลุ่ม Casino เข้าซื้อกิจการและเปลี่ยนเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

    “ขณะนั้นอายุประมาณ 36 ปี เราเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อนโดยมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้เราดีลกับโรงงานเตาแก๊สในไทยขายที่ Big C ซึ่งขายได้เรื่อยๆ แต่เราต้องการขยายหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มความมั่นคงทางธุรกิจจึงออกมาทำอีกแบรนด์ โดยมีนายทุนใหม่ให้เราทำธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งเราสามารถใช้ประสบการณ์จัดซื้อ 10 กว่าปีและเซลส์ 2 ปีเดินทางติดต่อหาสินค้าจากจีนนำกลับมาเสนอขายที่ Big C, Lotus’s 

    โดยเราดูแลเฉพาะการซื้อขายเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจแบบมีนายทุน ทำให้เราตัดสินใจเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทใหม่กับเพื่อนคือ คุณวิศรุต และคุณณัฐพล ซึ่งชักชวนลงทุนธุรกิจตั้งแต่ศูนย์ โดยใช้บ้านผมเป็นออฟฟิศทำงานกัน 3 คน ผมหาสินค้า คุณวิศรุตบริหารจัดการเรื่องเงิน ส่วนคุณณัฐพลเป็นเซลส์ ซึ่งเราวางแผนสั่งของเดือนกันยายนเพื่อขายใน Big C เดือนตุลาคมที่เป็นช่วง high season เมื่อยอดขายเริ่มมาเราก็สร้างทีมและเช่าออฟฟิศเพิ่ม หลังโควิด-19 ยอดขายเราเติบโต 800-900 ล้านบาทก็ย้ายมาที่พระราม 2 เป็นปีที่ 3 โดยปิดยอดขายปีที่ผ่านมาได้ 1.4 พันล้านบาท”



ชูความคุ้มค่าตอบโจทย์ใช้งาน

    ความเชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและธุรกิจค้าปลีกเป็นเวลานาน ผสมผสานกับความรู้ความสามารถของผู้ร่วมก่อตั้งที่มีแนวคิดสร้างสรรค์จับมือผนึกกำลังกันขับเคลื่อนอาณาจักรให้เติบโตจากเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กประจำบ้านที่ใช้เทคโนโลยีน้อย เช่น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เริ่มต้นวางจำหน่ายในไฮเปอร์มาร์เก็ต และเพิ่มสินค้าใหม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลาก-หลายอย่างต่อเนื่อง

    “ช่วงเริ่มต้นเรานำเข้าชิ้นส่วนจากจีนและประกอบที่ไทยเสียภาษี 0% จนกระทั่ง 10 ปีที่แล้วมีการปรับภาษีใหม่ทำให้เราเปลี่ยนเป็นนำเข้าสินค้าที่ประกอบเสร็จแล้วเข้ามา เพราะแรงงานจีนมีความชำนาญและความรวดเร็วในการผลิต โดยเรามีพนักงาน QC ควบคุมคุณภาพที่จีนและตรวจสอบอีกครั้งก่อนส่งมาที่ไทย ซึ่งปัจจุบันเรามีสินค้ามากกว่า 100 SKU ตามคอนเซ็ปต์ที่เราต้องการให้มีสินค้า Smart-home อยู่ทุกมุมของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องครัว ห้องรับแขก ห้องนอน หรือนอกบ้าน โดยทั้งหมดใช้แบรนด์ Smarthome เพราะสามารถทำการตลาดสร้างแบรนด์ได้ดีกว่า ซึ่งเรายังคุมโทนใช้สีเขียวเป็นหลัก และดีไซน์ให้กล่องสินค้า แต่เปลี่ยนรูปสินค้าด้านหน้าเพื่อเวลาตั้งกองสินค้าในห้างจะดู impact กว่า”

    สำหรับในปัจจุบันบริษัทสามารถเพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลากหลายครอบคลุมการใช้งานในบ้าน เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน หม้ออบลมร้อน เตาอบไฟฟ้า เตาแม่เหล็กไฟฟ้า เตาปิ้งย่างบาร์บีคิวและหม้อสุกี้ หม้อหุงข้าว หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล กาต้มน้ำไฟฟ้า กระติกต้มน้ำ เครื่องปั่นอเนกประสงค์ หม้ออเนกประสงค์ กระทะไฟฟ้า เตาแก๊ส อุปกรณ์ทำอาหาร เครื่องบดสับอเนกประสงค์ เตารีดไอน้ำ เครื่องซักผ้า สินค้าเพื่อสุขภาพ เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น

    นอกจากนั้น ธวัชยังให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ได้แก่ ร้านค้าดีลเลอร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด เช่น Big C, Lotus’s, Makro, Power Buy, HomePro, CJ Express ช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee, TikTok Shop รวมถึงทีวีโฮมช็อปปิ้ง เช่น O Shopping เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

    “สินค้าที่ขายในไฮเปอร์มาร์เก็ตอาจจะต่างจากโมเดิร์นเทรดบ้าง เช่นเดียวกันออนไลน์จะไม่เหมือนของห้าง โดยจะเน้นนวัตกรรมและราคาไม่แพง ซึ่งสัดส่วนรายได้จากช่องทางต่างๆ แตกต่างกันตามสถานการณ์ อย่างช่วงโควิด-19 ออฟไลน์เราพยายามขายในแผนกอาหารสดของศูนย์การค้าและไลฟ์สดขายสินค้า ทำให้ออนไลน์เพิ่มเป็น 80% แต่ปัจจุบันช่องทางออนไลน์ Shopee, Lazada, TikTok และทีวีช็อปปิ้งก็ลดลงเหลือ 10% โดยส่วนตัวเราต้องการเพิ่มออนไลน์เป็น 20-25% ดีลเลอร์ 25-30% เพราะไม่ต้องการให้ธุรกิจอิงกับทางใดทางหนึ่งเกินไปจะทำให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งเรากำลังพัฒนาออนไลน์รับทีมไลฟ์สดเพิ่มใน TikTok ด้วยความหลากหลายของสินค้าที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่ม เราเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิสิทธิ์ สดแสงเทียน โบว์เบเกอรี่ SME ดาวรุ่งเซเว่นฯ

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine


Forbes Thailand ใช้คุ้กกี้บนเว็บไซต์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน ท่านตกลงใช้งานคุ้กกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์ต่อไปนโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายความการใช้คุกกี้