วิสิทธิ์ สดแสงเทียน โบว์เบเกอรี่ SME ดาวรุ่งเซเว่นฯ - Forbes Thailand

วิสิทธิ์ สดแสงเทียน โบว์เบเกอรี่ SME ดาวรุ่งเซเว่นฯ

ส่วนผสมที่ลงตัวของคู่สามีภรรยา ทำให้ร้านขนมปังเล็กๆ อย่าง “โบว์เบเกอรี่” เติบใหญ่เป็นธุรกิจหลายร้อยล้าน มีแบรนด์ของตนเองจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และเชนร้านกาแฟดังๆ อีกหลายแบรนด์


    ครอบครัวสดแสงเทียนโดย “โบว์” หรือ รุจา สดแสงเทียน เริ่มต้นทำเบเกอรี่ขายเมื่อปี 2542 โดยใช้เวลาว่างช่วงบ่ายหลังทำงานประจำเสร็จแล้ว เปิดเตาอบขนมด้วยใจรักโดยใช้สูตรของมารดา และเปิดร้านเล็กๆ ที่ตึกแถวของครอบครัวชื่อ “Bow Bakery House” (โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์) เนื่องจากทำเลไม่ดียอดขายจึงไม่มากนัก

    ถัดมาอีก 2-3 ปี วิสิทธิ์ สดแสงเทียน คู่ชีวิตซึ่งมีประสบการณ์เป็นเซลส์มานานร่วม 10 ปี ได้นำความเชี่ยวชาญของตนมาทำตลาดให้ใหญ่ขึ้น จากเดิมที่รอลูกค้ามาซื้อก็เปลี่ยนเป็นไปหาลูกค้าแทน โดยฝากขายตามร้านต่างๆ และพบว่าวิธีนี้มีปัญหาหลายอย่าง เช่น ลูกค้าไม่เอาใจใส่ช่วยขาย ของเหลือคืนจำนวนมาก “เราไม่ได้กำไรจากการส่งขนม บวกกับเริ่มมีเครดิตจึงเสนอลูกค้าว่าขอขายขาด แต่ให้เงื่อนไขดีขึ้น”

    ปี 2545 ส่งขนมให้กับ “บ้านใร่กาแฟ” ร้านกาแฟอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และขยายสู่ร้านกาแฟขนาดใหญ่ที่มีสาขา จำนวนมาก เช่น Coffee Boy, อินทนิล, Café Amazon, ร้านกาแฟคัดสรร (Kudsan) ใน 7-Eleven ฯลฯ

    แม้จะอยู่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ทว่ายอดขายของ Bow Bakery House กลับสวนกระแส มียอดขายเติบโตถึง 34% จากรายได้ 238,222,945 บาท เป็น 269,791,492 ล้านบาทในปีต่อมา ระหว่างปี 2564-2566 เติบโต 26%, 28% และ 10% ตามลำดับ

    โดยปี 2566 มีรายได้รวม 498,904,583 บาท ล่าสุดปี 2567 มีรายได้ 580 ล้านบาท กำไร 30 ล้าน



    “เราไม่เคยวางเป้าหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่ คิดง่ายๆ ว่าพอเริ่มทำขายได้หลักหมื่นก็อยากขายได้หลักแสน พอได้แสนก็อยากได้เดือนละล้าน อยากมีพนักงาน 100 คน พอมีแล้วก็ตั้งเป้า 300 คน เป็น step ไป อยากขายได้ 300 ล้าน 500 ล้าน ก็ achieve ไปเรื่อย” วิสิทธิ์ สดแสงเทียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จำกัด เล่าถึงพัฒนาการของบริษัท

    แม้ปัจจุบันกิจการมาไกลเกินความคาดหมาย แต่เขายังมุ่งมั่นที่จะขยายอาณาจักรเบเกอรี่ หวังเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้า



2 จุดเปลี่ยนสำคัญ

    นับจากที่วิสิทธิ์เข้ามาบริหารบริษัทเติบโตมาโดยตลอด และมีจุดเปลี่ยนสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนที่นำขนมวางจำหน่ายในร้าน Kudsan Bakery & Coffee ซึ่งเป็นเคาน์เตอร์กาแฟและขนมตั้งอยู่มุมหนึ่งของร้านสะดวกซื้อ การวางขายในร้าน Kudsan ทำให้บริษัทมีแนวทางพัฒนาสินค้าเพื่อให้ได้ตามคุณภาพของโรงงาน ตรงตามความต้องการของคู่ค้า ตลอดจนทราบถึงกฎเกณฑ์เงื่อนไขในการนำเสนอขนมใหม่ๆ ให้คู่ค้า

    จุดเปลี่ยนที่ 2 คือ การนำสินค้าจำหน่ายใน 7-Eleven จากเดิมจัดส่งสินค้าให้กับ Kudsan 2,000-3,000 สาขา เป็นจัดส่งให้ 7-Eleven ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 15,000 สาขา โดยปี 2563 เริ่มต้นจากการส่งขนมบันหมูหยอง ไส้กรอก และชีส, เค้กฝอยทองลาวา, ครัฟฟิน และตามมาด้วยครัวซองต์ดับเบิ้ลช็อกโกแลต ดับเบิ้ลไวต์ช็อกโกแลต และดับเบิ้ลสตรอเบอร์รี่


    บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ เช่น กลุ่มเค้ก, คุ้กกี้, พัฟ, พาย, ครัวซองต์, แซนด์วิช, ขนมปัง, เมอแร็งก์ เป็นต้น มีสินค้ารวมมากกว่า 500 รายการ ผลิตให้กับร้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งแบรนด์ของบริษัทเองและรับจ้างผลิต คู่ค้า เช่น Starbucks, 7-Eleven, Café Amazon, Kudsan, Bellinee’s, BEARHOUSE, Paul & Kate, Mikka

    ทั้งนี้ วันหนึ่งๆ บริษัทผลิตขนมประมาณ 300 รายการ แต่ที่ผลิตจำนวนมากมี 70-80 รายการ จุดเด่นที่ทำให้เบเกอรี่ของบริษัทครองใจลูกค้ามาอย่างยาวนานคือ

    1. ขั้นตอนการผลิตมีความเป็น “โฮมเมดกึ่งอุตสาหกรรม” เขาอธิบายว่า ในกระบวนการทำ เช่น การตีส่วนผสมต่างๆ จะใช้แรงงานคน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทต้องมีพนักงานถึง 550 คน

    “เราทำแบบกึ่ง homemade ใช้คนเยอะ ความจริงด้วยยอดขายขนาดนี้ถ้าเราใช้เครื่องจักรคนหายไปครึ่งหนึ่งได้เลย...เราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรใหญ่ เพราะเชื่อว่าขนมที่ทำจากมือ จากใจคน มีความอร่อยกว่า แต่พอ run ด้วยระบบโรงงานต้องเอาระบบอุตสาหกรรม เช่น ใช้เครื่องจักรมาช่วยบ้าง เป็นระบบสายพานไม่เกี่ยวข้องกับรสชาติ ไม่งั้นไม่ทันการผลิตแบบอุตสาหกรรม”


    2. การออกสินค้าใหม่ สินค้าต้องรสชาติดี หน้าตาน่าซื้อ ราคาเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อเรื่อยๆ

    “ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้กับทุกคู่ค้ามากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง มีการออกขนมใหม่ตลอดเวลา หากสังเกตขนมที่วางขายในเซเว่นฯ บางตัวจู่ๆ หายไป สมมติชอบช็อกโกแลตครัวซองต์ ถ้าขายดีต้องพัฒนาสินค้าขึ้นมาอาจทำช็อกโกแลตให้เข้มข้นขึ้น

    อีกตัวคือสินค้าใหม่ที่เดือนหนึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 10 รายการ...การออกสินค้าใหม่อยู่ในหัวใจของโรงงาน ถ้าเราไม่ตามลูกค้า ไม่ตาม trend สินค้าที่ขายมันจะ drop ลงเรื่อยๆ ในวงการอาหารเราต้องสร้าง new S-curve ใหม่เรื่อยๆ ถึงจะทำให้เติบโตได้ตลอด”

    นอกจากตลาดในประเทศแล้ว บริษัทยังผลิตบราวนี่อบกรอบแบรนด์ Brownie House เพื่อส่งออกจีนผ่าน บริษัท โบว์ไพศาล จำกัด


ภาพอนาคต

    แผนงาน 3 ปีต่อจากนี้เขาวางไว้ว่ามีการเติบโตปีละ 10% ในส่วนของเบเกอรี่ที่จำหน่ายแก่คู่ค้าและประเมินว่า 1. อาจต้องสร้างโรงงานใหม่ภายใน 2 ปีนี้ เนื่องจากโรงงานปัจจุบันผลิตสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง ค่อนข้างเต็มกำลังการผลิตแล้ว

    “2. ทำธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเบเกอรี่ เราสะสมองค์ความรู้ด้านขนมอร่อยๆ ไว้เยอะ หากวันหนึ่งเราเปิดร้าน retail จะทำได้ดี ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมงาน เตรียมขนม เพื่อให้แตกต่างจากร้านอื่นๆ ที่อยู่ในตลาด”

    3. ขยายตลาดบราวนี่กรอบในจีน รวมทั้งจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ Bow Bakery House



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ รีไซเคิลฮับสิ่งทอแห่ง SE Asia

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine