จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ รีไซเคิลฮับสิ่งทอแห่ง SE Asia - Forbes Thailand

จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ รีไซเคิลฮับสิ่งทอแห่ง SE Asia

ทายาทรุ่น 3 ที่เดิมพันครั้งใหญ่ หวังพลิกธุรกิจของครอบครัวให้เติบโตอย่างมั่นคงบนเส้นทางสายใหม่ของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายเป็นฮับด้านรีไซเคิลสิ่งทอของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2571


    การเดินทางของ บจ. เอสซี แกรนด์ เริ่มต้นในปี 2508 โดยรุ่นแรกทำธุรกิจรับซื้อเศษผ้า เศษด้ายจากอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้วแพ็กส่งขายต่างประเทศ ต่อมารุ่น 2 พบว่า ต่างประเทศสามารถนำมาผลิตเป็นเส้นด้ายใหม่ได้ จึงเปิดโรงงานทำเส้นด้าย 2 สีคือ ครีมกับขาว ซึ่งนำไปใช้ในไม้ม็อบถูพื้น สายสิญจน์ และอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของรุ่น 3 ซึ่งเข้ามารับผิดชอบเต็มตัวปี 2563 ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด บริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจ ทั้งยังเป็นขาลงของอุตสาหกรรมสิ่งทอ 

    “มี 2 ทางคือ รอปิดหรือจะลงทุนและทำอะไรบางอย่าง ที่บ้านไม่เคยใช้ OD ธนาคารเลย เราบอกขอโอกาสได้ไหม คือขอลงทุนต่อ แต่หลักๆ เขามองจากประสบการณ์ว่าเราทำ SUPERCAT สร้างแบรนด์ได้ บริษัทมีกำไร...ผมว่ามันพิสูจน์จากผลลัพธ์ที่ผ่านมา เขากล้าที่จะเสี่ยงกับเรา worst case คือ อาจเสียที่ดินบางส่วน เรามีสินทรัพย์อยู่และลงทุนเพิ่มเยอะ 

    “อยากให้ธุรกิจที่คุณยายสร้างมายังไปต่อได้ เราเห็นมาตั้งแต่เด็กและเห็นช่องว่างในธุรกิจว่ามันน่าจะไปได้ เห็นช่องทางที่มีอนาคต...มีผู้ใหญ่ถามว่าจะพิสูจน์ตนเองทำไม ทำไมเอาที่ดินบางส่วนมากู้ยืมแบงก์ในการลงทุนๆ ค่อนข้างสูง ทำไมไม่ปล่อยบางส่วนแล้วไปทำอย่างอื่นเหนื่อยน้อยกว่า อันนี้เสี่ยงสูงเพราะทำในสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ ที่อยากเป็น regional hub ใน Southeast Asia สร้างแบรนด์ผ้า ผมตอบง่ายๆ คือ อยากทำ รู้สึกว่ามีคุณค่าในชีวิต” จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND กล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาดูแลกิจการของครอบครัวทั้งที่ขณะนั้นทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว 


สร้างแบรนด์ผ้ารีไซเคิล

    ผู้บริหารวัย 37 ปี ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่ชั้น 3 ของอาคาร Circular ย่านสยามสแควร์ โดยชั้นล่างเป็นช็อปจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ MANGO MOJITO ชั้น 2 เป็นช็อปจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์ CIRCULAR ส่วนชั้น 3 ใช้สำหรับประชุมกับคู่ค้า โดยฝั่งซ้ายขวาของห้องมีราวแขวนเสื้อแจ็กเกต สูท เชิ้ต โปโล และเสื้อแบรนด์ต่างๆ ที่บริษัทร่วมคอลลาบอเรชั่นด้วย เพื่อให้ลูกค้าเห็นเป็นไอเดียว่าผ้ารีไซเคิลแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไร นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแบบไหนได้บ้าง ด้านในสุดเป็นม้วนผ้าพับหลากสีสัน ส่วนเก้าอี้นั่งบุด้วยผ้ารีไซเคิลที่บริษัทนำผ่านกระบวนการและพัฒนาขึ้นมาเป็นผ้าผืนใหม่ เมื่อลองสัมผัสแล้วรู้สึกไม่แตกต่างจากเสื้อผ้าทั่วไปเลย 

    จุดเด่นของ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด และบริษัทในกลุ่มคือ เป็นผู้ให้บริการสิ่งทอรีไซเคิลครบวงจร ออกแบบพัฒนาและผลิตงานสิ่งทอทุกชนิด โดยเฉพาะผ้ารีไซเคิล 100% ไม่ผ่านการฟอกย้อม ผลิตจากเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ รวมถึงเสื้อผ้าเก่าเหลือใช้นำมารีไซเคิลเป็นผ้าใหม่ และร่วมกับบริษัทอื่นๆ ทำ Project Closed Loop โดยการนำ เสื้อผ้า ยูนิฟอร์มเก่ามารีไซเคิล และผลิตกลับไปเป็นเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า 

    บริษัทในกลุ่มอีก 2 แห่งคือ บริษัท เซอร์คูลาร์ อินดัสทรี้ จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นจากผ้ารีไซเคิลแบรนด์ CIRCULAR และ บริษัท อุตสาหกรรมคลองสวนการฝ้าย จำกัด ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทำความสะอาดแบรนด์ SUPERCAT เช่น ไม้ม็อบถูพื้น

    หากแบ่งตามผลิตภัณฑ์และบริการประกอบด้วย 1. ผ้าแบรนด์ SC GRAND จำหน่ายแบบ B2B 2. เสื้อผ้าแฟชั่นผลิตจากผ้ารีไซเคิลชื่อ CIRCULAR จำหน่ายแบบ B2C  3. รับจ้างผลิต (OEM) ตัวอย่างเช่น บมจ. การบินไทย นำชุดเก่าของพนักงานซึ่งไม่ใช้แล้วส่งให้บริษัทรีไซเคิลและนำมาตัดเย็บเป็นชุดใหม่ หรือพัฒนาผ้าพิเศษให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่น ผลิตผ้าให้กับผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์แบรนด์โยธกา รวมทั้งร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ จัดทำคอลเล็กชั่นพิเศษขึ้นมา

    ปลายปี 2567 ได้ร่วมกับ บริษัท แมกซ์ โซลูชัน เซอร์วิส จำกัด บริษัทในเครือ PTG และเสื้อยืดแบรนด์ยืดเปล่าออกแบบคอลเล็กชั่นรักษ์โลกชื่อ ReWear ReCare ประกอบด้วยเสื้อยืดและหมวก EcoTech Timeless เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย โดยใช้ผ้ารีไซเคิลจาก SC GRAND และ “ยืดเปล่า” เป็นผู้ออกแบบ   

    “SC GRAND collab กับหลายแบรนด์, CIRCULAR ก็ collab กับหลาย corporate ทำให้คนเห็นว่าเราสามารถสร้างแบรนด์ได้จริง คนยอมรับ ยอดขายเริ่มเติบโต เราพูดเสมอว่าจะขาดทุน 5 ปีเพราะเอาเงินไปลงทุน แต่หลังจากนั้นเริ่มกำไร”

    ตอนที่เข้ามารับงานปี 2563 จิรโรจน์วางโรดแมป 5 ปี โดยตั้งเป้าว่าจะเป็น sustainable textile และ recycle hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    “ช่วงที่ผ่านมาพยายามปั้นแบรนด์ผ้าและแบรนด์เสื้อผ้า เราเริ่มสร้างแบรนด์ปี 2564 ปี 2565 เริ่มขายโปรเจกต์ผ้า สร้างแบรนด์ CIRCULAR ยอดขายเริ่มมาปี 2566 ปี 2567 มียอดขายต่อเนื่อง พูดได้ว่า 5 ปีที่ผ่านมาเหมือนสร้างรากฐาน มีจิ๊กซอว์ตัวอย่าง คาดว่าปี 2568 จะ scale ได้ และปี 2571 จะมีภาพชัด เอา waste ลาว พม่า เวียดนาม มาทำ new textile”



    เป้าหมายระยะยาวคือ การเป็นแบรนด์ระดับโลก และอุตสาหกรรมสิ่งทอทุกประเภท ทั้งการทอผ้า ปั่นด้าย ตัดเย็บ แฟชั่นแบรนด์ สปอร์ตแบรนด์ ล้วนเกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งมีบทบาทเป็นซัพพลายเชนในการนำขยะจากสิ่งทอหรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว  มารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายและทอเป็นผ้าผืนใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผ้าแต่ละประเภท ไม่ว่าลูกค้าต้องการจะผลิตหมวก เสื้อเชิ้ตเสื้อยืด เสื้อโปโล กางเกง ถุงเท้า กระเป๋า หรือสินค้าประเภทใด บริษัทสามารถจัดหาผ้ารีไซเคิลให้ได้ 

    ประเทศไทยมีขยะจากสิ่งทอเดือนละไม่เกิน 5,000 ตัน โดยเสื้อผ้าที่จำหน่ายในไทย 50% นำเข้าจากต่างประเทศที่มาตั้งแวร์เฮาส์ หรือจำหน่ายผ่านช็อปออนไลน์

    “Waste ในเวียดนามมี 300,000 ตัน ต่อปี 300,000 คูณ 1,000 กิโลกรัมจะได้สัดส่วนเสื้อผ้า waste ในกัมพูชา 100,000 ตันต่อปี เวลามีตัวเลขพวกนี้คุณรู้เลยว่าจุดแข็งประเทศไทยมีอะไรบ้างในเ Southeast Asia คู่แข่งหลักคือเวียดนาม มีปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ตัดเย็บ ค่อนข้างครบ ส่วนในเมียนมา ลาว กัมพูชา มีแค่ตัดเย็บ ส่วนประเทศไทยมี supply chain ครบ และผลิตให้กับ Nike, Adidas, Patagonia ทำให้แบรนด์ในห้าง ทำเสื้อหนาวให้ยุโรป” 

    ก่อนปี 2563 บริษัทผลิตสินค้าแบบแมส โดยผลิตเส้นด้ายผ้าทอต่างจังหวัด เส้นด้ายม็อบถูพื้น รวมทั้งสายสิญจน์ ทำสินค้าไม่กี่ SKU ทว่าเพื่อให้บริษัทเติบโตตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ เขาจึงปรับโฉมครั้งใหญ่ โดยลงทุนเครื่องจักร นวัตกรรม สร้างแบรนด์ ทำการตลาด และพัฒนาบุคลากร เรียกได้ว่าตั้งแต่เปิดบริษัทมาไม่เคยมีการลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากขนาดนี้

    “การจะให้คนรุ่นเก่ายอมปรับตัวเปลี่ยนจากสิ่งที่เคยทำมา 37 ปี ให้คนรุ่นใหม่ทำงานกับเรา convince ให้องค์กรใหญ่ๆ ทำงานกับเรา ค่อนข้างจุกจิกเหมือนกัน...เรามีประสบการณ์แค่เส้นด้ายม็อบถูพื้นกับเส้นด้ายผ้าทอต่างจังหวัด ไม่เคยทอผ้า เพิ่งมาทำผ้ารุ่นผม เพิ่งมาลงทุนเครื่องทอปี 2564 ช่วงแรก develop เส้นด้ายที่เหมาะสำหรับทอก่อน จะทำเป็นเส้นด้ายทอผ้าต้องปรับเครื่องจักร ทำ R&D...เราเอาเศษด้ายจากสีดิบมา recycle ใหม่และย้อมสี อย่าง (เสื้อ) ที่ผมใส่เป็นเส้นด้ายมีสีอยู่แล้ว เป็นผ้าไม่ได้ฟอกย้อม”

    เสื้อผ้าที่ผู้บริหารหนุ่มใส่ในชีวิตประจำวัน 80% ตัดเย็บจากผ้าที่บริษัทพัฒนาขึ้นมา รวมทั้งซื้อจากแบรนด์อื่นๆ ที่ทำโปรเจกต์ หรือร่วมกับบริษัทผลิตคอลเล็กชั่นใหม่ออกมา


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สัมผัสศิลปะบนผืนผ้าที่ชวนให้หลงใหล ผ่านบทบาทของ "ธันยลักษณ์ พรหมมณี"

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ในรูปแบบ e-magazine