สัมผัสศิลปะบนผืนผ้าที่ชวนให้หลงใหล ผ่านบทบาทของ "ธันยลักษณ์ พรหมมณี" - Forbes Thailand

สัมผัสศิลปะบนผืนผ้าที่ชวนให้หลงใหล ผ่านบทบาทของ "ธันยลักษณ์ พรหมมณี"

    สัมผัสศิลปะบนผืนผ้าที่ชวนให้หลงใหล ผ่านบทบาทของ "ธันยลักษณ์ พรหมมณี" ผู้หญิงเก่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นฑูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย และที่ปรึกษากรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับการอุทิศตนเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่อัตลักษณ์ความงดงามผ้าไทยในระดับสากล ด้วยใจรักในศิลปะผืนผ้าไทย มรดกที่ล้ำค่าของชาติ

    "ผ้าไหมไทยเป็นหนึ่งในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าของไทย สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละภูมิภาค จึงได้รับการเชิดชูในฐานะสิ่งทอที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความงดงาม มีลวดลายและสีสันความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ โดยแต่ละพื้นที่มีรูปแบบการทอผ้าต่างกัน เช่น ผ้ามัดหมี่จากอีสาน ผ้าซิ่นจากภาคเหนือ และงานทอผ้าไหมไทยนั้นไม่ใช่เพียงแค่งานฝีมือ เพราะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ การทอผ้าต้องมีความประณีตในการทอและย้อมสีวัสดุธรรมชาติ เมื่อนำผ้าไหมผืนไปตัดเป็นชุดพร้อมใส่ ก็ยิ่งส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพราะผ้าไทยเป็นการสืบสานภูมิปัญญาที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจในผ้าไทยความงดงามที่มีเอกลักษณ์"

    นอกจากนี้ ธันยลักษณ์ยังเผยถึงเสน่ห์ความงดงามของ "ผ้าชาวไทยภูเขา" กับความสง่างามที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ผ่านการสร้างสรรค์ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของตนเอง ผ้าบางผืนมีการซ่อนกรรมวิธีของการทอเอาไว้ในลวดลายที่งดงาม ดังเช่นผ้าเสน่ห์ผ้าชาวไทยภูเขาผืนงามเสื้อที่ธันยลักษณ์ใส่ครั้งนี้


ธันยลักษณ์ พรหมมณี" ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย และที่ปรึกษากรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ถอดรหัสอัตลักษณ์ไหมไทย สู่การสร้างภาพลักษณ์ร่วมสมัย

    ในการทำหน้าที่ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย ธันยลักษณ์ได้สร้างสรรค์การสื่อสารเกี่ยวกับผ้าไหมไทยอย่างมีศิลปะ ทั้งการปรากฏตัวในชุดผ้าไหมที่สง่างามในนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ชั้นนำของไทย ตลอดจนการได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อาทิ การจัดนิทรรศการอัตลักษณ์ไหมไทยในประเทศจีน การไปจัดแสดงนิทรรศการที่เชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมไทยกับผ้าไทย ในงาน International Biennale of Applied Arts สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

    การเข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่น 11 และหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมาภิบาล รุ่น 1 สถาบันพระปกเกล้า ได้เรียนรู้จากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลากหลายสาขา ได้ศึกษาเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ ซึ่งได้ช่วยต่อยอดแนวคิดพัฒนาด้านการสร้างความเป็นพลเมืองที่มีวัฒนธรรม ตลอดจนการเข้าเฝ้าถวายพระพร "โป๊ป" สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งศาสนจักร โรมันคาทอลิก และร่วมเผยแพร่ความงดงามของผ้าไหมไทยด้วยการนำผ้าไหมยกดอกเชิิงหัวท้ายที่มีชื่อลายผ้าว่า "แสนวิสิฐ" เป็นผืนผ้าสีขาว เปรียบเสมือนแสงแห่งสันติิสุข ผลงานสร้างสรรค์จากฝีมือของผู้ต้องขังหญิงโทษเด็ดขาด ในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่ใช้เวลาในการทอเกือบ 2 เดือนจนได้ผ้าผืนงามวิจิตร

    การสร้างกลยุทธ์ "Soft Heart Smart Power" ด้วยการใช้ความอ่อนโยนร่วมกับพลังแห่งการสร้างสรรค์เชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ส่งเสริมความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของผ้าไทย สร้างการสื่อสารส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมและสร้างความประทับใจเชื่อมโยงกับการเล่าเรื่องราว (Storytelling) เกี่ยวกับผ้าไทยที่ลึกซึ้งและสัมผัสหัวใจผู้ฟัง อย่างประวัติความเป็นมาของการทอผ้าไหมไทย วัฒนธรรมที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น หรือการทำงานของช่างทอผ้าในชุมชน ทำให้มีความสัมพันธ์ในระดับที่ลึกกว่าแค่การเป็นสินค้า กลายเป็นตัวแทนของความรักในศิลปะและภูมิปัญญาเชิงคุณค่าทางจิตใจ


​"ธันยลักษณ์ พรหมมณี" ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย และที่ปรึกษากรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

​ขับเคลื่อนไหมไทย: ภารกิจทูตอัตลักษณ์ไหมไทย

    การทำงานของนักการทูตในด้านอัตลักษณ์ไหมไทย มีพลังแห่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาวงการผ้าไทย และมีความรักผ้าไทยอย่างใจจริง ตลอดเวลาของการทำงานที่ผ่านมา มีหลายมิติ ต้องเผชิญกับตัวแปรที่หลากหลาย สร้างความท้าทายให้ธันยลักษณ์ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ธันยลักษณ์มีความเห็นว่าผ้าไหมไทย สามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับคุณค่าเชิงวัฒนธรรม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงศิลปะและการออกแบบร่วมสมัย เพราะผ้าไหมไทยมีศักยภาพในตัวเองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องประดับ เพราะความโดดเด่นด้านลวดลาย สีสัน และคุณภาพของผ้าไหม โดยเฉพาะแฟชั่นเสื้อผ้าระดับโอต์กูตูร์ (Haute Couture) รวมถึงการออกแบบเครื่องประดับจากผ้าไหม เช่น สร้อยคอ กำไล หรือแหวนที่ผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค ที่ชื่นชอบสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

​    นอกจากนี้ ผ้าไหมไทย สามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เช่น อุตสาหกรรมการตกแต่งภายในและการออกแบบบ้าน (Interior Design) อุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอาง (Beauty & Cosmetics) อุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลร่างกาย (Wellness & Spa) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) อุตสาหกรรมของขวัญและของที่ระลึก (Gift & Souvenir Industry) ไหมทางการแพทย์ (Medical Silk) เนื่องจากไหมมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ เช่นความแข็งแรงยืดหยุ่น จึงมีการนำไปใช้ในหลายๆ ด้านของการแพทย์

    รวมถึง การส่งเสริมสร้างความรู้กลุ่มนักศึกษาและเยาวชน ถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อเทรนด์และกระแสสังคม การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ธันยลักษณ์กล่าวว่าได้รับเชิญให้ไปบรรยายแก่นักศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนไปประกอบอาชีพเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นักวางแผนและจัดซื้อสินค้าแฟชั่น นักออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ เธอจะนำประสบการณ์ห้องเรียนระดับโลกด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอบน Fashion Week จากปารีสและมิลานไปถ่ายทอด และความรู้ในการเรียนจากสถาบันแฟชั่นและการออกแบบ Istituto Marangoni ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความรู้


​"ธันยลักษณ์ พรหมมณี" ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย และที่ปรึกษากรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พลิกโฉมเศรษฐกิจผ้าไหมไทย: มรดกอันล้ำค่า บนเวทีระดับโลก

    เป้าหมายในการพัฒนายกระดับการผลิตผ้าไหมกับทิศทางเศรษฐกิจระดับโลก ธันยลักษณ์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผ้าไหมในแง่ที่น่าสนใจว่า ผ้าไหมเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความต้องการในตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยกล่าวว่า "ผ้าไหมยังคงมีการเติบโตในทิศทางที่ดี เนื่องจากได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจากผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง"

    ดังนั้น ธันยลักษณ์จึงมองว่า การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมูลค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของผ้าไหมไทย เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของผ้าไหม ด้วยแนวคิดที่สร้างสรรค์จะช่วยให้เกิดความสนใจและการรับรู้ในระดับสากล การเชื่อมโยงผ้าไหมกับการท่องเที่ยวและกิจกรรมวัฒนธรรม การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนนำไปสู่การส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาผ้าไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยแต่ละกลุ่มล้วนมีบทบาทและความชำนาญที่โดดเด่น ส่งผลให้การผลิตผ้าไทยนั้นไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม หากยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับชุมชน ทำให้สามารถรักษาภูมิปัญญาและศิลปะการทอผ้า พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแนวทางที่ยั่งยืน ส่งเสริมการตลาดผ้าไหมไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

    "วงการผ้าไหมไทยต้องการความร่วมมือร่วมใจ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชนผู้ผลิต นักออกแบบผู้สนับสนุนในภาคอุตสาหกรรม และประชาชนชาวไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งและเผยความเป็นมรดกอันล้ำค่าของผ้าไทยสู่เวทีระดับโลก"


ภาพ: พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์