จากปริมาณความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่มองเห็นประโยชน์ระยะยาวจากการผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง ผนวกกับโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยน ผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนราคาที่ต่ำลงจนสามารถทำการแข่งขันได้
ฎายิน เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท กระเบื้องหลังคาซีแพค จำกัด ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เผยถึงภาพรวมของธุรกิจในกลุ่มหลังคาที่เขาดูแล ที่แบ่งกลุ่มธุรกิจหลังคาออก 2 ส่วน คือ กลุ่มอาคารพักอาศัยและอาคารที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยยังคงเป็นสัดส่วนหลักราว 90 เปอร์เซ็นต์ และมีนวัตกรรมด้านหลังคาโซลาร์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เตรียมเจาะลูกค้าหลังคาในกลุ่มตลาดพรีเมียม “กลุ่มลูกค้าของเราที่มีอย่างกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยแยกย่อยได้เป็นบ้านระดับไฮเอนด์ ทาว์นโฮม คอนโดฯ อะพาร์ตเมนต์ ทั้งนี้ทาว์นโฮมและบ้านเก่าที่ต้องการปรับปรุงเราก็พยายามเจาะในส่วนหลังคาด้วยเหมือนกัน อีกส่วนคือกลุ่มอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น โรงงานหรือคอมมูนิตี้มอลล์” ฎายิน เกียรติกวานกุล กล่าว “3-5 ปีที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มโรงงานและกลุ่มที่มีพื้นที่บนหลังคาได้นำประโยชน์เทคโนโลยีจากโซลาร์มาใช้เพื่อลดต้นทุนด้านไฟฟ้าต่างๆ บริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนไปแล้ว ราว 5-7 ปีก็ได้คืนทุน โดยอายุการใช้งานของระบบการเปลี่ยนแปลงพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ราว 20-25 ปี” ขณะที่ตลาดหลังคาโซลาร์สำหรับภาคครัวเรือน 2-3 ปีที่ผ่านมาเทรนด์หลังคาโซลาร์เติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามคุณภาพและราคาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้บริโภคเองมีความรู้และศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ในการสร้างกระแสไฟผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ “โลกร้อนขึ้น บ้านร้อนกว่าเดิม ทำให้คนที่อยู่ในบ้านช่วงหน้าร้อนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดวันโซลาร์จึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยในการประหยัดได้มากกว่าเดิม ปัจจัยต่างๆ ด้านราคาที่ลดถูกลงไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ ตัวแปลงไฟ และความตระหนักกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการกระตุ้นให้ใช้พลังงานสะอาดทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกถึงความคุ้มค่าที่จะลงทุนมากขึ้น” ฎายิน กล่าวเสริมมุงหลังคาด้วยประสบการณ์
จากประสบการณ์ธุรกิจโครงสร้างหลังคากว่า 21 ปี ของ ฎายิน และ ความชำนาญของทีมงานกับประสบการณ์ด้านโครงสร้างหลังคาคือจุดแข็งในการรุกตลาดหลังคาโซลาร์ของ SCG เป็นการพัฒนาจากการเรียนรู้จากประสบการณ์อันเลวร้ายของลูกค้าซึ่งนำมาสู่ปัญหาต่างๆ ที่คาดไม่ถึง “เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสภาพหลังคาจะเหมาะกับการทำโซลาร์ได้” ฎายิน กล่าวชวนคิดและเสริมถึงข้อได้เปรียบของ SCG ที่อยู่กับธุรกิจหลังคาบ้านมานาน การตรวจสอบก่อนติดตั้งแผงโซลาร์ว่าหลังคาบ้านมีความแข็งแรงต้องซ่อมแซมในจุดไหนบ้างมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้แผงโซลาร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและอยู่ได้ครบอายุการใช้งาน “หลายเรื่องที่ตลาดยังไม่รู้คือการติดตั้งโซลาร์แต่ละครั้งมีความวุ่นวายค่อนข้างมาก ต้องขออนุญาตจากโครงสร้างตัวอาคารเพื่อให้มั่นใจได้ว่าน้ำหนักของหลังคารับแผงโซลาร์ได้ ไม่มีปัญหาแอ่นหรือรั่ว อีกเรื่องคือการขอติดตั้งผนังไฟกับการไฟฟ้าเพราะช่วงที่คนไม่อยู่ ไฟก็จะวิ่งตลอดมีลักษณะเหมือนน้ำ ดังนั้นอาจมีการย้อนกลับ ถ้ามีช่างจากหน่วยงานไฟฟ้ามาซ่อมอาจย้อนกลับไปที่เขาและส่งผลถึงชีวิตได้ ดังนั้นอินเวอเตอร์เราต้องขออนุญาตกับการไฟฟ้า” ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของ SCG อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนสนามซ้อมให้กับทีมงานได้พัฒนาบริการและการซ่อมบำรุงต่างๆ และพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อเตรียมรุกตลาดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศในปีหน้าที่จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ระยอง ชลบุรี ในย่านที่มีผู้อยู่อาศัยและมีปริมาณการใช้ไฟมาก โดยตั้งเป้าใช้ช่องทางการจำหน่ายของ SCG ในการขายและการให้คำแนะนำเรื่องโซลาร์เซลล์กับลูกค้าได้อย่างละเอียด “กรุงเทพและปริมณฑล เปรียบเสมือนสนามทดลองที่สำคัญทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาได้พบเจอ Pain Point ต่างๆ และนำไปปรับปรุงแก้ไข เราได้เรียนรู้ว่าลูกค้าไม่ได้คิดเหมือนเราจากเดิมที่คิดว่าลูกค้าซื้อเพราะอยากลงทุน แต่จริงๆ แล้วลูกค้ามาซื้อเพราะบ้านร้อนหรืออยากซื้อเพราะให้คนอยู่บ้านสบายเปิดเครื่องปรับอากาศได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย” สำหรับเป้าหมายการเติบโตทั้งด้านรายได้และลูกค้า ปีนี้ เขาตั้งเป้าหมายในกลุ่มหลังคาโซลาร์ไว้ที่ 50 ล้านบาท ที่ผ่านมากลุ่มบ้านเก่าเป็นสัดส่วนหลักเนื่องจากบ้านจัดสรรหรือบ้านเก่าเริ่มมีอายุถึงรอบที่ต้องปรับปรุงพอดีซึ่งตลาดบ้านเก่าถือเป็นตลาดใหญ่และท้าทายเนื่องจากต้องสู้กับทัศนคติของผู้บริโภค “ความท้าทายของกลุ่มบ้านเก่าเพราะคิดว่าการติดตั้งโซลาร์เป็นเรื่องใหญ่เราต้องให้ความรู้ว่าไม่ยากใช้เวลาไม่นานและสามารถอยู่ในบ้านใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องลางานเป็นเดือนมาดูบ้าน แค่ 3-5 วัน ช่างก็ติดตั้งเสร็จแล้วและต่อให้ช่างเข้าไปติดตั้งทีมของ เอสซีจีเป็นผู้ควบคุมงานโดยใช้เทคโนโลยีมาตรวจสอบซึ่งสามารถดูทุกอย่างผ่านแอพพลิเคชันได้ทั้งหมด”เปิดรับแนวคิดสู่นวัตกรรมและบริการตอบโจทย์
นอกจากการบริการติดตั้งและการบำรุงรักษา ฎายิน มีความพยายามนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องอย่างต้นปีที่ผ่านมาได้ออกแบบแผงโซลาร์ให้เป็นชิ้นเดียวกับแผ่นกระเบื้องเพื่อให้สถาปนิกนำไปใช้และแก้โจทย์เรื่องความสวยงามบนหลังคา รวมทั้งการจับมือระหว่างภายในองค์กรเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาโครงสร้างหลังคาที่มีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น ด้านพาร์ทเนอร์ภายนอก SCG ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้อง IoT Device และร่วมกันพัฒนาบริการและแอพพลิเคชัน อาทิ แอพพลิเคชันที่บอกจำนวนการผลิตไฟฟ้าเป็นค่าง่ายๆ เช่น จำนวนเงินที่ประหยัดทั้งยังเชื่อมต่อเรื่องการพยากรณ์อากาศเพื่อคำนวณจำนวนไฟฟ้าที่ควรจะได้รับ บริการที่เป็นดิจิทัลหลายๆ อย่างที่นำมาใช้ ถูกพัฒนาผ่านนายช่างตัวจริงเพื่อให้การทำงานแม่นยำและรวดเร็ว อาทิ การใช้โดรนบินสำรวจที่ปัจจุบันแค่โหลดไฟล์เข้าคอมพิวเตอร์ก็วิเคราะห์ทุกจุดได้เสร็จภายในวันเดียว ทั้งยังสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายเองก่อนตัดสินใจปรับปรุงหลังคาหรือติดตั้งโซลาร์ “พวกเรามองว่าการติดตั้งโซลาร์คืออีกหนึ่งวิธีในการพัฒนาการอยู่อาศัยคือการทำให้บ้านอยู่สบายมากขึ้นกว่าเดิมเพราะ 50 เปอร์เซ็นต์ความร้อนของบ้านมาจากหลังคา ถ้าเราจัดการตรงนี้ได้ มันจะทำให้คุณอยู่ได้อย่างเย็นขึ้นและประหยัดพลังงานขึ้น ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานของโซลูชันที่หลากหลาย ทำงานเร็ว” ฎายิน กล่าว สำหรับกลุ่มอาคารที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย SCG เติบโตตามประสบการณ์จากการบริการกลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่ค่าไฟหลักแสนบาทจนไปถึงหลักล้านบาทในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพราะพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์คือโซลูชั่นสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตของเหล่าผู้ประกอบการ “เราไปถึงจุดที่ปรึกษาด้านพลังงาน ให้คำแนะนำว่าควรบริหารจัดการพลังงานอย่างไรต้องปรับพฤติกรรมอะไรเพื่อจัดการเรื่องการบริหารการใช้ไฟลบข้อผิดพลาดจากมนุษย์ ด้วยการใช้ระบบ IoT และระบบ Control บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องติดโซลาร์ทั้งผืนหลังคาเพราะมันไม่โดนแดดแต่พื้นที่ตรงนั้นเราแก้ไขด้วยการติดฉนวนกันความร้อนแทนเพื่อลดความร้อนที่จะเข้ามาในโรงงานเป็นการประหยัดไฟไปในตัว เรียกว่าทำทีเดียวได้ครบทุกด้าน” นอกจากการสร้างโซลาร์เซลบนหลังคาอาคารแล้วนั้น ฎายินยังเผยถึงโครงการพิเศษอย่างการติดตั้งโซลาร์บนเรือ ที่ต้องใช้แผงโซลาร์ที่มีน้ำหนักเบาเพื่อป้องกันการแตกหักจากการโคลงของเรือ ทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีอีกแบบที่ทนสภาวะนี้ รวมถึงการจัดเตรียม storage เก็บไฟฟ้า “จากเดิมที่เขาต้องเอาน้ำมันดีเซลมาปั่นไฟ ทำให้ชีวิตเขาจะเริ่มหลัง 6 โมงเย็นที่จะเปิดทีวี เปิดพัดลม ใช้ตู้เย็น หรือกระทั่งหุงข้าวดังนั้นเราเลยพยายามหาโซลูชันว่าอะไรจะทำให้เขาใช้ไฟได้ 24 ชั่วโมง ตอนนี้ก็ติดไปมากกว่า 70 ลำ” ในฐานะหนึ่งในผู้รุกธุรกิจด้านหลังคาและหลังคาโซลาร์ เขากล่าวย้ำถึงความสำคัญในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านหลังคาให้ผู้อยู่อาศัยเข้าใจว่ากระบวนการติดตั้งโซลาร์ไม่ได้เป็นเรื่องยากหรือซับซ้อน ซึ่งความเข้าใจของทีมงานที่มีต่อผลิตภัณฑ์คือสิ่งสำคัญ สำหรับในแง่การทำงานเขาเปิดกว้างให้กับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือภายในองค์กรหรือภายนอก ฎายินมักจะบอกทีมงานเสมอว่า ถ้าทำอะไรเหมือนเดิมเหมือนปีที่แล้วจะมีโอกาสอะไรที่ดีเกิดขึ้น ยิ่งในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กุญแจที่ไขความสำเร็จคือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การปรับแนวทางการทำงานในเหมาะสมกับสถานการณ์ “ความฝันของผมคืออยากให้ทีมงานทำงานกันอย่างใกล้ชิดกว่าเดิม สามารถนำเสนอความคิดใหม่ๆ บริการใหม่ๆ กับลูกค้าของเราหรือพวกเรากันเอง ทีมงานในกลุ่มโซลาร์มีเพียง 6 คน แต่เราออกแบบวิธีการทำงานแบบสตาร์ทอัพได้ลองผิดถูกและพัฒนาผลิตใหม่ สนุกไปงานที่ทำไปด้วยกัน เติบโตไปด้วยกัน” “สุดท้ายของการทำงานคือผมอยากเห็นลูกน้องทำงานอย่างมีความสุข และลูกค้ามีความสุขกับการใช้ชีวิต” ฎายิน เกียรติกวานกุล ทิ้งท้าย ภาพ: กิตติเดช เจริญพร, SCG- อ่านเพิ่มเติม: เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ สร้างบ้านเสนาโซลาร์เพื่อความยั่งยืน
ไม่พลาดบทความธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงิน ติดได้ที่แฟนเพจ facebook Forbes Thailand Magazine