เวลาที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น คุณมองเห็นอะไร บางคนมองเห็นปัญหาและหาทางป้องกัน หลายคนมองเห็นการเริ่มต้นสร้างสิ่งที่แตกต่างออกไปเพื่อช่วยสังคมบนโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น จากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ มองเห็นการเริ่มต้นในการสร้างถึง 3 สิ่งคือ สังคมคุณภาพ ธุรกิจคุณภาพ และโลกที่น่าอยู่กว่าเดิม
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ จากอาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กลับมาเข้าสานต่อธุรกิจครอบครัวจากบิดา ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการ เสนาฯ สู่จุดเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรเมื่อได้รับข่าวว่าหลายหมู่บ้านที่เสนาฯ ได้พัฒนาจมอยู่ใต้น้ำและมีลูกบ้านติดอยู่ในโครงการต่างๆ “น้ำท่วมใหญ่ปี 44 หลายหมู่บ้านของเสนาฯ ได้รับผลกระทบหนัก ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือจะคิดถึงก้าวต่อไปในหัวตลอดเวลาว่าหลังน้ำลดเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทุกคนคงกลับไปใช้ชีวิตปกติแบบเดิม ส่วนเรากลับไปทำธุรกิจเหมือนเดิม แค่นี้เองหรือ ทั้งที่มันคือวิกฤตใหญ่ของโลก” ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ Deputy Chief Executive Officer บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเล่าถึงจุดเปลี่ยนโครงการหมู่บ้านจัดสรรของเสนาฯ ที่ก่อร่างเป็น “บ้านเสนาโซลาร์” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่กับการเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นคลี่คลาย ผศ.ดร.เกษรา ได้เริ่มต้นศึกษาและค้นคว้าเพื่อหาพลังงานทดแทนมาใช้ในบ้านทุกหลังที่อยู่ภายใต้การดูแลของเสนาฯ และความร่วมมือของทีมงานในยุคที่พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาเป็นเรื่องใหม่และยังไม่เป็นที่นิยม “ถ้าเราสามารถมีพลังงานบริสุทธิ์ใช้เองในทุกบ้านโดยไม่เบียดเบียนหรือเป็นภาระให้โลกใบนี้ จากบ้านหลังหนึ่ง เพิ่มเป็นสองหลัง ขยายไปสู่ทั้งหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้าน และทั่วประเทศ นั่นน่าจะเป็นการดี”จากแนวคิดสู่โมเดลธุรกิจและการบริการ 360 องศา
ภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ไม่มีวันสูญสิ้นพลังงาน ผศ.ดร.เกษรา ชี้ให้เห็นถึงการฝ่าฟันและเรียนรู้อย่างหนักทั้งในฐานะผู้สร้าง ผู้ขาย และผู้ให้บริการ ที่ต้องให้ความรู้กับผู้ซื้ออย่างละเอียดให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญ รวมถึงข้อดีของบ้านเสนาโซลาร์ ภายหลังตระเวนศึกษาและดูงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินทางหาแนวคิดจากต่างประเทศเนื่องจากราว 10 ปีที่ผ่านมาการใช้งานโซลาร์บนหลังคาภายในประเทศยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และเมื่อถอดแนวคิดสู่โมเดลธุรกิจได้สำเร็จ คำถามที่เจอบ่อยที่สุดคือ “ราคาสูงกว่าบ้านราคาปกติหรือไม่” และเป็นคำถามที่เจอมาตั้งแต่การทำตลาดในช่วงแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน “หลักคิดของเราโซลาร์ต้องไม่ทำให้ราคาบ้านพุ่ง” ผศ.ดร.เกษรา กล่าวย้ำ ดังนั้นโจทย์จึงมาตกหนักอยู่กับทีมสร้างในการคัดสรรวัสดุอย่างไร จัดสรรตรงไหนให้พอเหมาะ ได้มาตรฐานของเสนาฯ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ส่วนโจทย์ยากของการทำหลังคาโซลาร์ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรคือ “ความต้องการที่แตกต่าง” ผศ.ดร.เกษรา กล่าวเปรียบเทียบกับการทำโซลาร์บนห้างสรรพสินค้าหรือบนโรงงานมีค่าการใช้งานไฟฟ้าค่อนข้างเสถียร เวลาคุยธุรกิจเราเจรจาแค่กับเจ้าของคนเดียวทุกอย่างจบง่าย แต่พฤติกรรมการใช้ไฟของคนในหมู่บ้านไม่มีความเสถียร บางหลังไม่มีคนอยู่กลางวัน บางหลังมีผู้สูงอายุอยู่ทุกวันเป็นความต้องการที่หลากหลายและเราไม่สามารถเลือกติดได้เฉพาะบางหลัง ดังนั้นเราต้องคำนวณทุกอย่างให้เพียงพอกับขนาดโครงการและขนาดบ้าน “ครั้งหนึ่งทีมเซลล์เคยรวมตัวมาหาว่าไม่เอาโซลาร์ได้ไหมเพราะมันขายยาก เนื่องจากเราบังคับให้เซลล์ทุกคนมาทำความเข้าใจในเรื่องโซลาร์เพราะเขาคือหน้าด่านที่จะต้องอธิบายและตอบได้ทุกคำถามเกี่ยวข้อง แต่เราก็ยังยืนยันว่าต้องสู้ เพราะมองเห็นว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน” นอกจากความแตกต่างในเรื่องหลังคาโซลาร์แล้วนั้น ค่านิยมสำคัญของเสนาฯ คือ การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือ Consumer Concentrate โดยมีเป้าหมายเพื่อการดูแลลูกบ้านเมื่อตัดสินใจซื้อโครงการของเสนาฯ ไปแล้วแบบ 360 องศา “การขายบ้านแบบปกติ คือขายจบควรแยกย้าย เพราะถ้ากลับมาเจอกันอีกเท่ากับว่าเสนาฯ กำลังลงทุนเพิ่ม จริงอยู่เมื่อโอนบ้านเสร็จ โลกเราจบลง แต่โลกของลูกค้ากำลังเริ่มต้น จึงมาคิดว่าถ้าเราจะเป็นนักพัฒนาที่แตกต่างและกล้ายืดหยัดกับลูกค้า ให้พวกเขากล้าซื้อของใหญ่กับคนที่มั่นใจว่าจะอยู่กับเขาไปนานๆ จะต้องเป็นอย่างไร เราไม่มีทางขายคอนโดฯ ให้กับเด็กอายุ 28 และให้เขาอยู่ไปจนเกษียณ เราเลยไปซื้อบริษัทโบรกเกอร์และเอาทั้งหมดไปอยู่แอพพลิเคชัน และแอพพลิเคชันยังทำงานในการเชื่อมต่อรายงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว ทั้งนี้การทำงานผ่านแอพพลิเคชัน “SENA 360 Service” ที่เป็นศูนย์รวมบริการต่างๆ ที่เชื่อมต่อการให้บริการของนิติบุคคล Victory Property management เชื่อมการแจ้งซ่อมแบบออนไลน์ผ่าน SENA WeCare และบริหารช่องทางการฝากซื้อ ขาย ฝาก เช่า บริการครบวงจรแบบมืออาชีพโดยทีมขาย Acute Realtyพลังงานสะอาดสู่โซลาร์ภาคประชาชน
ธุรกิจพลังงงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งเทรนด์สำคัญด้านพลังงานสะอาดมีส่วนในการช่วยอนุรักษ์โลกและการทดแทนพลังงานจากธรรมชาติดั้งเดิมอย่างถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดลงไป ภาครัฐเองมีการสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อย่างโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สนับสนุนให้บ้านเรือนทั่วไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง แล้วนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้มาขายให้กับการไฟฟ้าฯ โดยมีการกำหนดกำลังในการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ต่อครัวเรือน มีสัญญารับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 10 ปี และยื่นขอสิทธิ์ในฐานะตัวแทนลูกบ้านจำนวน 164 ครัวเรือน รวม 164 หลังคา คิดเป็นจำนวน 394.40 กิโลวัตต์ ปัจจุบันเสนาฯ ติดตั้งโซลาร์ให้กับบ้านในโครงการรวม 400 หลัง ประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ ภายใต้การดำเนินงานติดตั้ง บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด โซลาร์บนหลังคาของเสนาฯ คือการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาในทุกหลังจำนวน 2 กิโลวัตต์ และสามารถติดตั้งได้สูงสุดถึง 8 กิโลวัตต์ เพื่อเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงาน สำหรับกระบวนการทำงานเมื่อแผงโซลาร์เซลล์ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ทำการส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องแปลงไฟจากกระแสตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับก่อนจ่ายไปยังส่วนต่างๆ ภายในบ้าน หากเกิดปัญหาฟ้าปิด ฝนตก หรือความเข้มของแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ ระบบสลับกลับมาใช้ไฟฟ้าแบบปกติโดยอัตโนมัติ ซึ่งการใช้ไฟจากการผลิตของโซลาร์ช่วยให้ลูกบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าปกติเฉลี่ย 30 % “อย่างแรกคือผู้ซื้อต้องสัมผัสคือราคาไม่ได้สูงเกินไป เขาไม่เสียอะไร มีแต่ได้ ได้ดูแลโลก ได้ประหยัดค่าไฟ ได้รายได้เสริมจากการขายไฟคืนให้กับทางรัฐบาล เมื่อเขาไม่เสีย หน้าที่ของเราคือทำให้เขาประทับใจและทำให้เขารู้ว่ามันดีอย่างไร ซึ่งการจะรู้ว่าดีอย่างไรขึ้นอยู่กับภูมิความรู้ของแต่ละคน และการสื่อสารออกไปซึ่งมั่นใจว่าเซลล์ทำได้ดีแน่นอน” ผศ.ดร.เกษรา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่ลูกบ้านทุกคนมองเห็นหรือสัมผัสได้ ณ ตอนนี้ คงไม่สามารถตอบแทนเรื่องความคุ้มค่าออกมาได้ อีกอย่างความคุ้มค่าของแต่ละคนแตกต่างกัน หากถามกลับว่ากำไรหรือเปล่า ตอนนี้ยังไม่รู้ และถ้าถามว่าคุ้มค่าร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม คงไม่แน่ๆ แต่เรายังคงอยากทำเพราะได้ช่วยดูแลโลกใบนี้ เป็นการผสานสิ่งที่รักเข้ากับการทำธุรกิจ และอีกส่วนมันเกิดจากความบ้าคลั่งของเราด้วยเพราะนี่คือสิ่งใหม่มากในวงการธุรกิจ “ถ้าเรานิยามคำว่าคุ้มค่าผ่านเม็ดเงินเราคงไม่คุ้ม แต่ถ้าเป็นความคุ้มผ่านการได้ดูแลโลกแบบยาวๆ ดิฉันว่ามันคุ้มมาก” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร https://www.facebook.com/ForbesThailandMagazine/videos/520174495198580/ไม่พลาดบทความธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงิน ติดได้ที่แฟนเพจ facebook Forbes Thailand Magazine