วรฉัตร ลักขณาโรจน์ ก้าวใหม่ของ Grab - Forbes Thailand

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ ก้าวใหม่ของ Grab

แอปพลิเคชันสีเขียวเรียกรถแท็กซี่สัญชาติสิงคโปร์ ที่มีบทบาทต่อพฤติกรรมผู้บริโภคไทยเป็นอย่างยิ่ง ก่อนโควิดมีรายได้หลักมาจากบริการเรียกรถ ช่วงโควิดธุรกิจจัดส่งอาหารกลายมาเป็นอันดับ 1 ปัจจุบันกลุ่มให้บริการเรียกรถกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ส่วนบริการสินเชื่อได้รับความสนใจจากพาร์ตเนอร์ กระทั่งกลายเป็นลูกค้า top 3 ของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า


    เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือแกร็บ ประเทศไทย ฉายภาพความสำเร็จปี 2565 ว่าบริษัททำได้อย่างไร ทั้งที่ขาดทุนมาตลอด 9 ปี ทั้งยังประกาศว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรแล้ว

    “แกร็บ” (Grab) บริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตแอปพลิเคชั่น ให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2555 ให้บริการกว่า 500 เมือง ใน 8 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทยซึ่งจดทะเบียนบริษัทปี 2556 โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า เป็นสื่อกลางจัดหารถยนต์ รถแท็กซี่ จัดส่งพัสดุ อาหารและเครื่องดื่ม ตลาดกลางเงินอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 8 ประเทศ มากกว่า 30 ล้านราย


ธุรกิจ 4 กลุ่ม

    แอปดังกล่าวให้บริการ 4 ด้านคือ 1.การเดินทาง (Mobility) ประกอบด้วย แกร็บ ไบค์, แกร็บ คาร์ 2.Delivery มีทั้งจัดส่งอาหาร, ของใช้ในครัวเรือนและพัสดุ 3.บริการทางการเงิน (Financial Service) ธุรกิจกลุ่มนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการในประเทศไทยปี 2562 มีบริการประกอบด้วย การชำระเงิน การให้สินเชื่อคนขับ/ร้านอาหาร และประกัน 4.บริการสำหรับองค์กร (Enterprise) ธุรกิจใหม่เพิ่งเริ่มในไทยปีที่ผ่านมา เป็นการให้บริการรถยนต์แก่บริษัทแบบ B2B และโฆษณา

    ข้อมูลจาก Bain & Compay, Google และ Temasek ระบุถึงบริการเรียกรถรับส่งปี 2563 ว่ามีมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงเหลือ 3.7 พันล้านเหรียญในปี 2564 ก่อนจะกลับมาเติบโต 43% ในปี 2565 และประเมินว่าปี 2568 มูลค่าธุรกิจบริการเรียกรถรับส่งจะเพิ่มเป็น 14 พันล้านเหรียญ

    ส่วนตลาด Food Delivery ระหว่างปี 2563-2565 มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีมูลค่า 9 พันล้านเหรียญ ปี 2564 เพิ่มเป็น 15 พันล้านเหรียญ เติบโต 65% ปี 2565 มีมูลค่า 17 พันล้านเหรียญ เติบโตขึ้น 14% และคาดการณ์ว่าปี 2568 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 24 พันล้านเหรียญหรือเติบโตจากปี 2565 อีกประมาณ 13%

    ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Momentum Works ซึ่งเป็นบริษัททำวิจัยระบุว่าปี 2565 ตลาด Food Delivery ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขนาด 16.3 พันล้านเหรียญ โดย Grab เป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคนี้ และรั้งอันดับ 1 ใน 6 ประเทศ โดยมีมาร์เก็ตแชร์ในอินโดนีเซีย 49%, ฟิลิปปินส์ 60%, เวียดนาม 45%, มาเลเซีย 60% และสิงคโปร์ 59%

    ส่วนประเทศไทย GrabFood มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 เช่นกัน ด้วยส่วนแบ่งตลาด 51% รองลงมาคือ LINEMAN 24%, foodpanda 16%, โดยตลาด Food Delivery ในประเทศไทยมีมูลค่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดใหญ่สุดคืออินโดนีเซีย 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ด้วยมูลค่า 2.5, 2.4, 2.2 และ 1.1 พันล้านเหรียญตามลำดับ

    วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่สำนักงานใหญ่ ระหว่างให้สัมภาษณ์หรือในคราวที่แถลงข่าว เขามักใช้สรรพนามเรียกสื่อมวลชนว่า “พี่” ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล

    ก่อนหน้านี้เขาทำงานธนาคารมากว่า 17 ปี และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำดิจิทัลแบงก์กิ้งในประเทศไทย วรฉัตรมาร่วมงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2562 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย โดยเป็นผู้พัฒนาและนำเสนอบริการทางการเงิน

    อีก 2 ปีต่อมารับบทบาทเพิ่มเติมในฐานะกรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันพันธกิจ GrabForGood ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งรับผิดชอบงานด้านการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยรับผิดชอบการบริหารธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางขององค์กร การพัฒนาและต่อยอดธุรกิจต่างๆ


สร้างระบบสมาชิก เพิ่มยอดซื้อ

    ในจำนวนบริการทั้ง 4 กลุ่มๆ ที่มีขนาดใหญ่สุดคือเดลิเวอรี่ แต่มาร์จินน้อยเพราะการแข่งขันสูง รองลงมาคือการเดินทาง ซึ่งมีมาร์จินสูงกว่ากลุ่มแรก 4-5 เท่า วรฉัตรกล่าวว่าช่วงโควิดธุรกิจเดลิเวอรีมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

    สำหรับปีที่ผ่านมาปริมาณการขายรวมบริการจัดส่งเติบโต 15% โดยปี 2565 เทียบกับปี 2562 ยอดการสั่งซื้อ แกร็บฟู้ดต่อครั้งมีขนาดเพิ่มขึ้น 18% ส่วนแกร็บมาร์ทปี 2565 เทียบกับปี 2563 ยอดการสั่งซื้อต่อครั้ง มีขนาดเพิ่มขึ้น 28% ปี 2565 ตลาดต่างจังหวัดของแกรบฟู้ด เติบโตกว่ากรุงเทพฯ 3 เท่า


    “ลูกค้าสั่งเพิ่มมากขึ้นต่อ order สั่งเพิ่มมากขึ้น 18% มาจากความพยายามที่เราผลักดัน การที่ลูกค้าสั่งเพิ่มขึ้นทำให้การขาดทุนต่อ order ลดลง...ที่น่าสนใจคือแกรบมาร์ต ยอดสั่งต่อครั้งสูงขึ้น 23% โดยบริษัทเข้าไปเสริม micro SMEs ให้ร้านค้ามาอยู่บน platform เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย”

    “GrabThumbsup” เป็นการรวบรวมร้านอาหารที่มีความอร่อย ได้รับความนิยม และแนะนำไว้บนเมนูของแอป ปัจจุบันมีมากกว่า 9,000 ร้าน
“ส่วนบริการ Mobility ปี 2022 เทียบกับปี 2021 นักท่องเที่ยวเรียกรถแกร็บโต 1.5 เท่า เมื่อดูข้อมูลนักท่องเที่ยวไตรมาส 4 ปีที่แล้วเทียบกับปี 2019 ตัวเลขการใช้งานกลับมาสูงกว่าก่อนโควิด ช่องก่อนโควิดบริการเรียกรถใหญ่กว่าส่งอาหาร บริการอาหารใหญ่กว่าช่วงโควิด...

    เราเป็น tech company ใช้ข้อมูลเห็นเทรนด์นักท่องเที่ยวกลับมาทุกวัน...ตั้งแต่ไตรมาสสองปีที่ผ่านมา เรากลับไปในพื้นที่จังหวัดและเมืองใหญ่ๆ เช่น ชลบุรี พัทยา ขอนแก่น เชียงใหม่ โคราช ดูว่าคนขับรถเพียงพอไหมและรับสมัครคนขับใหม่ เปิดบริการใหม่ ทำโครงการกับจังหวัดภูเก็ตให้เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว”


สร้างวงจรแห่งความสุข

    ทั้งนี้ ทุกประเทศมีบริการหลักๆ เหมือนกัน ยกเว้นสิงคโปร์ ที่ไม่มีบริการแกรบไบค์ บางประเทศมีบริการเช่ารถ แต่ไทยไม่มี ขณะที่กลุ่มบริการด้านการเงินในไทยเป็นสัดส่วนที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นด้านกฏหมายมากกว่า

    “Financial Services เป็นกลุ่มใหญ่แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักภายนอก ให้บริการร้านค้าและคนขับของเราเอง เรามีระบบชำระเงินใหญ่สุด ให้คนขับเป็นแบบ real time ชำระเงินให้ร้านค้า เราพัฒนาเอง...บริษัทให้ micro สินเชื่อ เป็นหนึ่งในรายใหญ่ที่สุดของไทย 

    บริการนี้เริ่มมา 3 ปีครึ่ง ปีแรกทดลองทำกับแบงก์แล้วไม่เวิร์ก ร้านเล็กๆ หรือคนขับ ใช้ระบบแบบแบงก์ ยังไงก็ไม่ผ่าน ระบบผ่อนรายเดือน ไม่ตรงกับเขา แต่สิ่งที่เราทำ เราใช้ data ทำสินเชื่อให้ตรงกับความสามารถของคนนั้น จ่ายคืนเป็นแบบรายวัน ช่วงแรกทำเพื่อช่วยปลดหนี้ ตอนนี้ให้สินเชื่อร้านอาหารเพื่อต่อเติมกิจการ”

    ลูกค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือผู้ขับรถ และเจ้าของร้านอาหาร เขาไม่ระบุชัดเจนว่ามีผู้ใช้บริการเท่าไร บอกเพียงว่าโดยรวมมีผู้ใช้บริการหลักแสนแอคเคานต์ “ตอนเริ่มทำเราไม่ได้มองว่าจะ generate profit แต่มองว่าระบบการเงินเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่น ไม่ว่าทำธุรกิจอะไรหากน้ำมันหล่อลื่นไม่ดี ระบบไม่ไหล ยิ่งทำ platform เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก 

    ผู้บริโภคต้องจ่ายสะดวก คนขับ ร้านอาหารต้องได้รับเงินเร็ว เราเริ่มต้น build payment ก่อน...มาวางเรื่องของพื้นฐานระบบชำระเงิน สมัยก่อนต้นทุนการชำระเงินแพงมาก ผมค่อยมาทำให้ scale ใหญ่ขึ้น ต้นทุนลดลงมาเหลือไม่ถึง 1/3 ของต้นทุนเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว” บริการที่น่าสนใจคือการให้บริการสินเชื่อสำหรับไรเดอร์ ที่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


    “เราเห็นภาพว่าคนขับมีปัญหาหนี้นอกระบบเยอะ เขาใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานแต่ส่วนใหญ่ไม่มีเงินซื้อยี่ห้อที่เหมาะสม ต้องซื้อเงินผ่อนและจ่ายดอกเบี้ยแพง เราทำโปรดักต์แรกคือผ่อนโทรศัพท์ศูนย์เปอร์เซนต์ ผ่อนเป็นรายวันเฉลี่ย 3-6 เดือน ผ่อนรายวัน ซัมซุงเป็น partner ที่ดี เอาโทรศัพท์ที่ตกรุ่นไม่นาน ให้ margin มา และเราให้คนขับผ่อนจ่าย แบรนด์ใหญ่ได้ขายของ big lot ส่วนคนขับได้โทรศัพท์คุณภาพดี”

    ปัจจุบันโครงการผ่อนโทรศัพท์มือถือดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 และได้รับความสนใจจากไรเดอร์ จึงขยายมายังเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี ตู้เย็น ไอแพด คอมพิวเตอร์


โฟกัสธุรกิจใหม่

    กลุ่มสุดท้าย Enterprise Service เป็นธุรกิจใหม่ให้บริการแบบ B2B ซึ่งวรฉัตรมั่นใจว่าจะเป็นตัวที่สร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจ 2 ประเภทคือ 1.Grab for business บริการเรียกรถและบริการอาหารสำหรับองค์กร 2.โฆษณา

    “โฆษณา” เป็นอีกธุรกิจที่บริษัทมองเห็นโอกาสจาก big data ที่มีในมือ บริษัทที่ต้องการทำโฆษณาสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง จากฐานข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าแกร็บ โดยโฆษณานั้นๆ จะแอพโพรชถึงลูกค้า อีกประเภทคือให้ร้านอาหารขนาดเล็ก ซื้อแบนเนอร์หรือคีย์เวิร์ดบนแอป

    “ธุรกิจใหม่เราจะ focus เต็มที่ โดยเฉพาะแอดฯ...สมมติผมขายข้าวแกงปักษ์ใต้ ถ้าซื้อไว้ เวลา (ลูกค้า) กดหาก็เจออยู่ข้างบน ในระบบ eco system...เราเริ่มเห็นร้านเล็กๆ promote แข่งกับแบรนด์ระดับโลก คนรุ่นใหม่ที่กลับไปอยู่บ้านเข้าใจวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เช่น ไก่ย่างแบรนด์ระดับโลกกับ local ถ้า promote ดี คนอาจอยากกินแบรนด์ local...เราอยาก empower micro entrepreneur, SMEs เครื่องมือนี้ทำให้ร้านอาหารรายเล็กๆ สามารถเข้ามาอยู่ในสายตาผู้บริโภคได้” ผู้บริหารหนุ่มกล่าวในตอนท้าย

    ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ แกร็บ ประเทศไทย ดำเนินการในปีนี้ และมั่นใจว่าจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้เงินของนักลงทุนมาทำการตลาดเหมือนที่ผ่านมา


ภาพ: Grab



อ่านเพิ่มเติม: สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ ปลดล็อกพลังงานด้วย Solar D


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine