เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง MAGURO ธุรกิจของผองเพื่อน - Forbes Thailand

เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง MAGURO ธุรกิจของผองเพื่อน

เพื่อนสนิท 4 คนที่ต่างมีกิจการของตนเอง แต่มีความชอบที่เหมือนกันคือเป็นนักชิม เป็นที่มาของการทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยเงินลงทุน 5 ล้านบาท ผ่านมา 9 ปีปัจจุบันมีรายได้มากกว่า 700 ล้านบาท


    จากสาขาแรกในปี 2558 มีพนักงาน 10 คน ผ่านมา 9 ปี มีร้านอาหาร 3 แบรนด์รวม 21 สาขา และพนักงานกว่า 800 คน

    เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAGURO หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่มุมหนึ่งของร้าน HITORI SHABU สาขาย่านทองหล่อ แม้จะเป็นช่วงบ่ายของวันแต่ยังมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอยู่เป็นระยะ ทุกคนต่างรับประทานอาหารในหม้อชาบูของตนเองท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย



    “เราแบ่ง (ร้านอาหารญี่ปุ่น) เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็น mass ที่หาร้านทานได้ทั่วไปตามห้างใน quality ปานกลาง อีกแบบต้องหาร้านในเมือง เช่น ทองหล่อ เอกมัย ซึ่งเป็นพรีเมียมในราคาค่อนข้างสูง เราดูว่าทำไมราคาแตกต่างขนาดนั้นและหาข้อมูลพบว่า สามารถหาวัตถุดิบที่คุณภาพดีขายในราคาที่คนทั่วไปรายได้ปานกลางมาทานได้ ตอนนั้นมีผู้เล่นไม่เยอะ มองว่าวิธีแบบนี้ประกอบธุรกิจได้ยั่งยืน สาขาแรก Chic Republic บางนา เราคิดว่าการเข้าเมืองเจอร้านอาหารญี่ปุ่นหลาย segment หลาย category ตอนนั้นเป็น red ocean

    “คนที่อยากทานอาหารคุณภาพดีต้องมาทองหล่อ เอกมัย คิดว่าตั้งร้านในจุดที่คนมีกำลังซื้อ แวะสะดวก ที่จริงเป็นห้าง traffic ไม่เยอะ เรารับลูกค้าเอง เก็บ feedback จากลูกค้าเพื่อมาปรับปรุง และลูกค้าบอกปากต่อปาก ลูกค้าแถวนั้นมีกำลังซื้ออยู่แล้ว เราใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตติ้งที่มี สาขาแรกประสบความสำเร็จเกินคาด” เอกฤกษ์เล่าถึงที่มาของการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเขาและเพื่อนอีก 3 คนคือ ชัชรัสย์ ศรีอรุณ, รณกาจ ชินสำราญ และ จักรกฤติ สายสมบูรณ์ ไม่มีใครเคยทำธุรกิจด้านนี้มาก่อนเลย


เจาะตลาดพรีเมียมแมส

    แบรนด์ MAGURO เริ่มต้นจากการเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วย “ซูชิที่เต็มอิ่มทุกสัมผัส” (Sensual Sushi) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากการใช้กลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่จับใจกลุ่มเป้าหมาย และเป็นแบรนด์แรกๆ ในวงการที่ใช้กลยุทธ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ในช่วงเวลานั้นเกิดปรากฏการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ว่าเป็น “ร้านซูชิคิวยาว”

    หลังประสบความสำเร็จในสาขาแรก บริษัทได้พัฒนาสูตรอาหาร การบริการ การสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง และเปิดสาขาเพิ่มอีก 3 แห่งในปี 2559 โดยเน้นทำเลย่านที่พักอาศัยในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นนอก เช่น ราชพฤกษ์ แจ้งวัฒนะ และทยอยเปิดสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี


    นับจากเปิดร้านในปี 2558 เอกฤกษ์บอกว่า กราฟรายได้ของบริษัทเป็น “ขาขึ้น” มาโดยตลอด กระทั่งเกิดการระบาดของโควิดในช่วงปี 2563-2564 ทำให้ลูกค้าไม่สามารถนั่งรับประทานในร้านได้ หรือต้องปิดหน้าร้านตามมาตรการของภาครัฐ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นวิกฤตแต่ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

    แม้ว่ายอดขายจะลดลงแต่บริษัทยังสามารถทำกำไรได้ ไม่มีการเลย์ออฟพนักงาน และทำให้ทีมผู้บริหารทั้ง 4 รายมีเวลาพัฒนาเมนูใหม่ๆ ทบทวนจุดแข็ง ทำให้บริษัทพัฒนาแบรนด์ที่ 2 และ 3 คือ SSAMTHING TOGETHER และ HITORI SHABU และเปิดร้านปลายปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ รวมทั้งปรับแนวทางการให้บริการให้สอดคล้องกับสภาวะ new normal ด้วย

    กลยุทธ์คือ 1. ส่งเสริมการขายและการตลาดผ่านสื่อออนไลน์และเดลิเวอรี่พาร์ตเนอร์ 2. ทำ delivery channel เองในชื่อ MAGURO GO 3. ออกแบบแพ็กเกจจิ้งใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการจำหน่ายทางเดลิเวอรี่

    “ต้องปรับตัวเร็ว เราปรับเมนูให้เหมาะกับ delivery ทำเมนูกึ่งๆ อาหารไทย นโยบายของเราไม่มีการ layoff แต่ปรับเปลี่ยนเวลาทำงานบ้าง พนักงานที่ไม่เข้าร้านก็ให้ช่วยส่งอาหาร...ประสบการณ์ของลูกค้า 90% อยู่ที่ร้าน ช่วงโควิดการที่ร้านเปิดๆ ปิดๆ เราก็ปรับเมนูอาหารเป็นรูปแบบให้เหมาะกับการทานที่บ้าน ซึ่งยอดขายก็ไต่จาก delivery ด้วย เราใช้ทุกวิธีซึ่งยากและท้าทายพอสมควร ช่วงนั้นเราทำได้ดีที่สุด ปิดตัวเลขเป็นกำไรเกือบ 2 digit”

    ปี 2563 บริษัทเปิดตัวระบบสั่งอาหารแบบจัดส่งถึงบ้าน รวมทั้งปรับเมนู รูปแบบอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์เหมือนกับนั่งรับประทานภายในร้าน และเปิดตัวแบรนด์ใหม่ SSAMTHING TOGETHER ปิ้งย่างเกาหลีในรูปแบบเดลิเวอรี่ ด้วยคอนเซ็ปต์การรับประทานปิ้งย่างแบบเกาหลีคู่กับการดูซีรี่ส์เกาหลีในช่วงล็อกดาวน์และ work from home

    ปี 2564 บริษัทฉลองการเข้าสู่ปีที่ 6 ด้วยการเปิดสาขาแฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ใจกลางศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกับการรีแบรนดิ้ง ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูพรีเมียมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น


    ทั้งนี้ระหว่างปี 2563-2565 บริษัทมีรายได้รวม 382.49 ล้านบาท, 387.61 ล้านบาท และ 665.85 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 และ 2566 มีรายได้ 452.89 และ 768.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.74% สาเหตุจากการเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 7 แห่งตั้งแต่หลังไตรมาส 3/2565 เป็นต้นมา โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจร้านอาหาร

    ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทเปิดสาขาใหม่ 5 แห่ง ประกอบด้วย MAGURO 1 สาขา, SSAMTHING TOGETHER 1 สาขา, HITORI SHABU 3 สาขา และอย่างน้อยอีก 2 สาขาในปี 2567




ตั้งเป้าโต 20-30%

    จากร้านอาหารญี่ปุ่นสาขาแรกในปี 2558 ต้นปี 2567 มีร้านสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทุกแบรนด์ 25 แห่ง ประกอบด้วยร้านอาหาร MAGURO 13 แห่ง, SSAMTHING TOGETHER 6 แห่ง และ HITORI SHABU 6 แห่ง

    นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ในรูปแบบของ event catering และ office lunchbox และบริการจัดส่งอาหารโดยตรงภายใต้ชื่อ MAGURO GO ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการอาหารญี่ปุ่นเดลิเวอรี่

    เนื่องจากแต่ละแบรนด์มีลักษณะเฉพาะตัวและกลุ่มเป้าหมายต่างกัน บริษัทจึงให้ความสำคัญกับโลเกชั่นเป็นอย่างมาก เช่น ลูกค้าของ MAGURO กับ HITORI SHABU เป็นกลุ่มใกล้เคียงกันจึงเลือกทำเลที่มีลูกค้าพักอาศัยหรือทำงานในละแวกนั้น ส่วน SSAMTHING TOGETHER เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ร้านอาหารจึงตั้งอยู่ในย่านสถานศึกษา เช่น สามย่านมิตรทาวน์

    บริษัทยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา มีการคิดค้นเมนูใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเมนูเกินกว่าครึ่งจะไม่เหมือนกับร้านอื่นๆ และมีเมนูเสริมตามฤดูกาล ซึ่งในด้านเมนูอาหารจะมีหุ้นส่วนอีกรายเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

    “เราทำแบบนี้กับทุกแบรนด์ เฟ้นหาวัตถุดิบต่างๆ จากแหล่งที่บางคนไม่รู้จักเมืองนั้น หรือไม่รู้ว่าเมืองนี้มีวัตถุดิบที่ดีแบบนี้ เราเดินทางไปญี่ปุ่นปีละหลายครั้ง”

    ปี 2567 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ MAGURO เมื่อทีมผู้บริหารตัดสินใจว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายสาขาและปรับปรุงระบบปฏิบัติการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ตอนนี้มี 25 สาขา ปีนี้ announce ว่าจะเปิดร้าน MAGURO อีก 2 สาขา”

    โดยช่วง 3 ปีหลังจากนี้จะเน้นเปิดสาขาในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เนื่องจากมองว่ายังมีโอกาสอีกมาก รวมทั้งอาจขยายไปยังจังหวัดใหญ่ๆ บ้าง

    “ปีที่แล้วถึงปีนี้เราตั้งเป้าโต 30-40% เนื่องจากว่ามีร้านเพิ่งเปิดปลายปีที่แล้วไม่ได้รับรู้รายได้เต็มปี รายได้เข้ามาช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม แค่นั้นเราก็เติบโตมากพอประมาณอยู่แล้ว ตัวเลข 9 เดือนแรกของปีที่แล้วอยู่ที่ 766 ล้าน สำหรับรายได้ปีนี้ไปปีหน้ามองว่าเติบโต 20-30% เนื่องจากแต่ละแบรนด์ยังมีสาขาไม่เยอะ ยังมีที่ให้ไปอีก ถ้าเทียบจำนวนสาขากับยอดขาย ตั้งแต่ day 1 ที่เปิดสาขาแรก เราไม่ได้คิดว่าจะเติบโตได้ขนาดนี้ แต่พยายามเต็มที่เพื่อให้มันเกิดขึ้น



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ MAGURO



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘สุริยน ศรีอรทัยกุล’ รังสรรค์บิวตี้ เจมส์ ยกระดับอัญมณีไทยดังไกลทั่วโลก

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine