จากการแก้ pain point ให้ตัวเองที่สะพายกระเป๋าแฟชั่นแล้วปวดไหล่ สู่แบรนด์กระเป๋าเพื่อสุขภาพ Hadara Healthy Bag ที่นอกจากน้ำหนักเบา สบายไหล่ มีช่องเก็บของเยอะตอบโจทย์การใช้งานจริงแล้ว ยังมีความสวยงามและตัดเย็บอย่างประณีต ครองใจสาวๆ ยุคใหม่ พาให้แบรนด์เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมียอดขายทะลุ 100 ล้านบาท และกำลังเตรียมขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศโดยปักหมุดจุดเริ่มต้นที่ญี่ปุ่น
“การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง” น่าจะเป็นความฝันของใครหลายคนในยุคนี้ เช่นเดียวกับ นก - ธนัญญา เหล่าศิลปเจริญ และ นิ้ง - ธนาพร เธียรนุกุล สองสาวพี่น้องผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮาโกะ สโตร์ จำกัด เจ้าของ Hadara Healthy Bag กระเป๋าเพื่อสุขภาพที่หลังก่อตั้งมาเกือบ 10 ปี ก็สามารถสร้างยอดขายทะลุ 100 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่กว่าจะมาเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งได้อย่างทุกวันนี้ พวกเธอต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่าง เคยลองผิดลองถูกมาหลายครั้งกว่าจะเจอธุรกิจที่ใช่ ไปจนถึงต้องค้นหาแนวทางการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ
แรกทีเดียว นก - ธนัญญา และ นิ้ง - ธนาพร เรียนจบด้านบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยใจรักในการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้พวกเธอหันหลังให้กับเส้นทางมนุษย์เงินเดือน และเริ่มต้นทำธุรกิจ พวกเธอทำธุรกิจตู้เสื้อผ้าและอุปกรณ์จัดเก็บก่อน แต่ขายไม่ดีนัก ต่อมาก็ได้ลองหยิบจับธุรกิจอีกหลายอย่าง ซึ่งสองผู้บริหารสาวยอมรับว่าตอนนั้นพวกเธอยังอายุน้อย ขายของไม่เป็น และการทำแบรนด์ Hadara ก็คือเงินก้อนสุดท้ายแล้ว ถ้าผลออกมาไม่ดีอีกก็จะปิดบริษัททิ้งแล้วไปสมัครงานดีกว่า
“ล็อตแรกสั่งทำมาแสนกว่าบาทสองแสน มีอยู่แค่นั้นแหละ ก็ลงไป ถ่ายภาพกันเอง ลงขาย ปรากฏว่ามันมีคนจองเข้ามา มันไม่มีโอกาสได้ปิดบริษัท” ธนัญญาในวัย 36 ปีย้อนรำลึกความหลังวันที่เริ่มต้นทำแบรนด์ Hadara ด้วยเสียงหัวเราะ

สองสาวเล่าว่าก่อนหน้านี้พวกเธอก็เคยทำกระเป๋าแฟชั่นมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สั่งมา 200 ใบ ขายได้แค่ 2 ใบ ตรงข้ามกับตอนที่ทำกระเป๋าเพื่อสุขภาพแบรนด์ Hadara ที่เรียกได้ว่า ‘ปัง’ ในชั่วข้ามคืน เพราะลงขายเพียงคืนเดียวตื่นมาก็พบยอดสั่งซื้อเข้ามามากมาย จนพวกเธอทั้งดีใจและแปลกใจไปพร้อมๆ กัน
แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ Hadara คว้าใจลูกค้าได้จนกลายเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและเติบโตจนมียอดขายหลักร้อยล้านบาทในปัจจุบัน?
จากตู้สู่กระเป๋า แก้ pain point ตอบโจทย์การใช้งาน
“ด้วยคอนเซ็ปต์มันอาจจะ unique มากในตอนนั้น อะไรคือกระเป๋าเพื่อสุขภาพ” ธนาพรวัย 34 ปีกล่าว “มันก็เลยตอบโจทย์ pain point จริงๆ เพราะตอนนั้นไม่มีแบรนด์ไหนพูดถึงเรื่องนี้เลย”
ไอเดียการทำกระเป๋าเพื่อสุขภาพมีที่มาจากประสบการณ์ตรงของธนัญญาและธนาพร สมัยที่พวกเธอไปศึกษาต่อปริญญาโทที่อังกฤษ โดยธนัญญาเลือกศึกษาต่อด้านการตลาด (Marketing) ที่ University of Bath ส่วนธนาพรเลือกศึกษาด้านกลยุทธ์การตลาด (Strategic Marketing) ที่ Imperial College London ซึ่งเวลาว่างจากการเรียน พวกเธอก็จะออกเดินทางท่องเที่ยว
“พอตอนกลับมาถึงโรมแรมตอนเย็น เราสังเกตว่าทำไมเราถึงปวดไหล่?” ธนัญญาเล่า “เราเห็นว่าไหล่ของเรามันเป็นรอยแดง ก็เลยมาดู พบว่ากระเป๋าของเรามันเป็นกระเป๋าแฟชั่น แล้วเวลาที่เราเดินทางเราก็จะต้องพกหลายอย่างใช่ไหมคะ? อย่างแบตสำรอง พาสปอร์ต เงินสด โน่นนี่นั่น เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันมากองรวมกันที่ก้นกระเป๋า มันเลยกลายมาเป็น pain point เพราะ ณ ตอนนั้นยังไม่มีกระเป๋าที่น้ำหนักเบา สายสะพายนุ่มๆ ทำให้เราสะพายได้ทั้งวัน และยังไม่มีกระเป๋าที่มีช่องจัดเก็บที่เป็นระบบ”
ต่อมา ธนาพรมีปัญหาบริเวณกล้ามเนื้อไหล่ เมื่อไปพบแพทย์และทำกายภาพบำบัดก็ได้เจอคนที่ปวดไหล่แบบเดียวกัน รวมถึงคนที่เป็น Office Syndrome โดยเธอพบว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนอายุมาก แต่เป็นคนทำงานอายุน้อยวัยยี่สิบกว่าๆ เท่านั้น ซึ่งอาการเหล่านี้หากไม่รีบรักษาและปรับพฤติกรรมก็อาจพัฒนาไปเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
“คุณหมอก็จะแนะนำว่า อย่าแบกของหนักนะ อย่าใช้กระเป๋าที่มันกดทับกล้ามเนื้อไหล่ เพราะว่าเราใช้คอและหลังมาทั้งวันแล้ว ตอนนั้นก็เลยคิดว่าพวกกระเป๋าสายโซ่ กระเป๋าแฟชั่นที่มันหนักๆ ก็คงใช้ไม่ได้แล้ว แต่พอจะไปหากระเป๋าที่เบาๆ ก็กลายเป็นมีแต่ถุงย่ามกับถุงผ้า ทำไมมันไม่มีจุดลงตัวเลย?” ธนาพรกล่าว “เลยคิดว่ามันน่าจะดีนะถ้ามีกระเป๋าที่น้ำหนักเบา สายสะพายสบาย แล้วก็ช่องเยอะ จนกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์แบรนด์เรา”
pain point และความต้องการนี้เองที่ถูกนำมาตั้งเป็นโจทย์ให้พวกเธอค้นหาหนทางเพื่อแก้ปัญหา จนกลายมาเป็นกระเป๋าเพื่อสุขภาพแบรนด์ Hadara ส่วนประสบการณ์การทำธุรกิจต่างๆ ที่ผ่านมาก็เป็นบทเรียนให้พวกเธอเรียนรู้และนำมาต่อยอด

ธนัญญาเผยว่าพวกเธอได้มีการนำอินไซต์ที่ได้เมื่อครั้งทำธุรกิจตู้เสื้อผ้าและอุปกรณ์จัดเก็บมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกระเป๋าเพื่อสุขภาพ โดยเธอสังเกตว่าลูกค้าที่ซื้อตู้เสื้อผ้ามักจะซื้อกล่องขนาดต่างๆ ไปด้วยเพื่อนำไปแบ่งเก็บเสื้อผ้าประเภทต่างๆ
“เราก็แบบ อ๋อ มันมีไอเดียแบบนั้นเหรอ ในกระเป๋ามันก็น่าจะเหมือนกัน อันใหญ่ใส่พาวเวอร์แบงค์ อันเล็กใส่ลิปสติก” ธนัญญาอธิบาย “เรามองเห็นตรงนั้น ว่าเขามีพฤติกรรมการจัดเก็บแบบนั้น เราก็เลยยกมาใส่ในกระเป๋า”
เมื่อนำไอเดียทั้งหมดมาประกอบกัน จึงได้เป็นกระเป๋าที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งรุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 2558 นั้น พวกเธอสั่งทำตามความต้องการของตัวเอง ในส่วนของการขาย การโปรโมต และการทำการตลาด ล้วนเป็นฝีมือของพวกเธอ เช่นเดียวกับชื่อแบรนด์ Hadara (ฮาดารา) ที่บรรจงเลือกสรรคำจากภาษาฮีบรู มีความหมายว่า ‘สิ่งสวยงาม’ เพราะพวกเธอต้องการให้กระเป๋าเพื่อสุขภาพเหล่านี้เป็นเพื่อนคู่ใจสาวๆ ที่ไปไหนมาไหนด้วยกันได้ และไม่ทำให้ปวดไหล่ อีกทั้งยังเป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย มีความเป็นสากล
เมื่อเสียงตอบรับดี จึงมีการขยายทีมเพื่อพัฒนาแบบกระเป๋าที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น และผลิตกระเป๋ารุ่นต่างๆ ออกมา ทั้งกระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าเป้ และกระเป๋าใบเล็ก ปัจจุบันกระเป๋า Hadara มีน้ำหนักเริ่มต้นที่ 100 - 300 กรัม ส่วนรุ่นที่มีขนาดใหญ่น้ำหนักจะอยู่ที่ราว 500 - 700 กรัมเท่านั้น สายสะพายจะมีการบุด้วยวัสดุที่นุ่มสบายบ่า และมีช่องเก็บของเยอะทำให้สามารถจัดเก็บสิ่งของต่างๆ ได้อย่างเป็นระเบียบ สามารถหยิบใช้ได้ง่าย อีกทั้งดีไซน์ยังสวยงาม มีหลากหลายแบบให้เลือกตามความต้องการของแต่ละคน
ลูกค้าของ Hadara ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองวัยทำงานที่ต้องการลุคมืออาชีพโดยเฉพาะข้าราชการและพนักงานออฟฟิศ รวมไปถึงคนรักการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ต้องการกระเป๋าเบาๆ แต่จุของได้เยอะ ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือต้องการกระเป๋าที่ใช้งานได้จริง มีความสบาย ไม่ใช่แค่สวยงาม
“ลูกค้าของเรามองข้ามว่ากระเป๋าแบรนด์นี้ให้ภาพลักษณ์เขายังไง แต่มองว่ากระเป๋าแบรนด์นี้มีคุณค่ากับตัวเขายังไง เขาเลยมาใช้ของเรา เพราะมันทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง” ธนัญญาเผยด้วยความภาคภูมิใจ “หลายๆ คนมาใช้ของเราแล้ว เขาบอกว่าไปใช้แบรนด์อื่นแทบไม่ได้เลย เราเปิดแบรนด์มาเกือบ 10 ปี ลูกค้าหลายคนอยู่กับเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ และเขาบอกว่าเขาไม่ไปใช้แบรนด์อื่นเลย เพราะว่าเขาใช้แล้วรู้สึกว่ามันไม่เหมือน value ที่เราให้เขา”

แข็งแกร่งด้วยคอนเซ็ปต์ เตรียมบุกตลาดญี่ปุ่น
หัวใจหลักของ Hadara คือผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์เติบโตจึงเป็นการผลิตกระเป๋าที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นทางแบรนด์จึงมักเก็บข้อมูลจากฟีดแบ็กของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ นำมาวิเคราะห์เป็นอินไซต์เพื่อวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำการตลาด
กระเป๋าอาจฟังดูเป็นสินค้าที่พบได้ทั่วไป แต่ธนัญญาและธนาพรวางโพสิชั่นแบรนด์ไว้ที่ตลาดแบบนิช (Niche) เพราะกระเป๋า Hadara มีความเฉพาะทาง อาจมีแบรนด์ที่ทำกระเป๋าน้ำหนักเบา แต่ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่คุณสมบัติตรงกับ Hadara ครบ 3 ข้อ ได้แก่ น้ำหนักเบา สายสะพายนุ่ม และช่องเก็บของเยอะ ทำให้พวกเธอไม่มีคู่แข่งโดยตรง
“ถ้าเป็นกระเป๋าทั่วไปเขาก็จะเน้นแฟชั่น ความสวยงามเป็นหลัก กระเป๋าเป็นเหมือนเครื่องประดับ ใช้ตามคนดัง เน้นเสริมภาพลักษณ์ให้ตัวเอง แต่กระเป๋า Hadara จะเน้นที่คุณค่าทางจิตใจมากกว่า คือเราใช้เพื่อตัวเราเอง” ธนาพรบรรยายถึงคอนเซ็ปต์ของ Hadara ซึ่งเป็นหนึ่งใน Key Success หลักของแบรนด์ “ที่เราโตมาได้เพราะคนใช้เราแล้วติดใจ ด้วยกระเป๋าที่มันเป็นกระเป๋าจริงๆ คอนเซ็ปต์ของเราชัดมากว่าทุกรุ่นจะเบา กระเป๋าแบรนด์อื่นๆ ก็มีใบหนึ่งที่เบาเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ทุกรุ่นที่เขาผลิตออกมา แต่เราเน้นเลยว่าทุกใบของเรามันต้องไม่เป็นภาระให้กับบ่า ถ้าเขาคิดถึงกระเป๋าที่เบาสบายบ่า เขาต้องนึกถึงเรา”
ธนาพรเล่าเสริมว่า Hadara เคยโดนลอกเลียนแบบเช่นเดียวกับแบรนด์กระเป๋าอื่นๆ แต่สุดท้ายตัวผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ไม่สามารถทำออกมาเหมือน 100% ด้วยกระเป๋า Hadara มีรายละเอียดสูง ถึงขนาดทางแบรนด์เคยถกเถียงกับซัพพลายเออร์ว่าเรื่องการทำช่องเก็บของเยอะ ทำให้ตัดเย็บยาก ใช้เวลานาน และไม่มีแบรนด์ไหนเขาทำกัน แต่พวกเธอก็ยืนกรานหนักแน่นว่าจะต้องการแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายก็นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะลูกค้าชื่นชอบ ทั้งซื้อซ้ำและบอกต่อ
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลประกอบการบริษัท ฮาโกะ สโตร์ จำกัด ไว้ดังนี้
- ปี 2565 รายได้รวม 82,930,128.16 บาท กำไรสุทธิ 6,957,477.83 บาท
- ปี 2566 รายได้รวม 108,409,430.73 บาท กำไรสุทธิ 4,303,746.59 บาท
- ปี 2567 รายได้รวม 137,147,592.93 บาท กำไรสุทธิ 6,864,975.72 บาท
ในส่วนของการขาย จุดเริ่มต้นของ Hadara มาจากการขายออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันทางแบรนด์ก็ยังคงเน้นช่องทางดังกล่าวเป็นหลัก อาทิ เฟซบุ๊ก Line Shopee และ Lazada โดยยอดขายจากช่องทางเหล่านี้คิดเป็น 80% ของยอดขายทั้งหมด ส่วนอีก 20% มาจากช่องทางออฟไลน์ซึ่งก็คือหน้าร้าน 4 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลพระราม 2 และแฟชั่นไอส์แลนด์ ทางแบรนด์ยังไม่มีแผนเปิดสาขาเพิ่มในเร็วๆ นี้ เพราะมองว่าหลายห้างกำลังอยู่ในช่วงรีโนเวต รวมถึงสองผู้บริหารสาวก็กำลังมองหาโลเกชั่นในการเปิด flagship store ใหญ่
สำหรับในระยะสั้นพวกเธอจะมุ่งเน้นไปยังการสร้างการเติบโตของยอดขายซึ่งวางไว้ที่ 30% ต่อปี ส่วนระยะยาวในอีก 5 ปีข้างหน้า พวกเธอตั้งเป้ายอดขายแตะหลัก 1,000 ล้านบาท ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของผลิตภัณฑ์และทีมงาน โดยมีกุญแจสำคัญคือการขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศผ่านการออกงานจัดแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเริ่มต้นจากประเทศในเอเชียที่มีลักษณะประชากรคล้ายไทย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จากนั้นจึงจะข้ามไปยังยุโรป
ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Hadara ได้ไปร่วมงาน Fashion World Tokyo 2025 ที่นครโตเกียว ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าด้านแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 550 รายจาก 20 ประเทศ นับเป็นโอกาสให้กระเป๋าเพื่อสุขภาพแบรนด์ไทยได้อวดโฉมบนเวทีโลกอย่างเป็นทางการ ทั้งยังได้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพึงพอใจ และมีบริษัทต่างชาติติดต่อขอเป็นตัวแทนเพื่อการจัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศเข้ามามากมาย

ธนัญญาเผยว่า “เรารู้ว่าคอนเซ็ปต์เราจะต้องถูกใจคนญี่ปุ่นแน่นอน เราเลยติดต่อกับกรมการค้าระหว่างประเทศเพื่อที่จะไปออกบูธ ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก มีลูกค้าคนญี่ปุ่นขอเป็น exclusive distributor ให้กับเรา แต่เนื่องจากมีคนติดต่อในลักษณะนี้เข้ามาค่อนข้างเยอะ อยากเอาของเราไปจำหน่าย เราก็ต้องคัดโปรไฟล์ว่าคนไหนที่มี business plan และมีศักยภาพที่จะพาเราไปโตได้จริงๆ แล้วเราค่อยเลือกคนนั้น”
ตอนนี้ทางแบรนด์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจับมือร่วมงานกับใคร แต่วางแผนจับตลาดญี่ปุ่นเป็นที่แรก ด้วยเล็งเห็นว่ากระเป๋า Hadara เข้ากับไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์การใช้งานของชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ ทว่ายังไม่มีผลิตภัณฑ์แบบนี้ในประเทศมาก่อน
งานเหมือนเกม และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
แน่นอนว่าการเติบโตย่อมมาพร้อมกับภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพวกเธอมีการแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ธนัญญาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (CMO) ส่วนธนาพรดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) และพี่ชายอีกคนที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) แต่ละคนจะมีอำนาจเด็ดขาดในขอบเขตการทำงานของตัวเอง ทั้งนี้หากต้องมีการตัดสินใจครั้งใหญ่และความคิดเห็นไม่ตรงกัน จะใช้วิธีการออกเสียง 2 ใน 3 และทุกคนจะยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาโดยไร้ข้อโต้แย้ง
ในส่วนของการบริหารคน พวกเธอให้ความสำคัญกับการลองผิดลองถูก และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น นำเสนอไอเดีย ตลอดจนลองลงมือทำ
“ถ้าพนักงานลองแล้วผิด จะไม่ว่าเขาเลยนะคะ ถ้าเขาไม่ลอง อันนั้นน่ะเราค่อยว่าเขาว่าทำไมไม่ลอง” ธนัญญากล่าว “สมมติว่าถ้าผิดแล้วก็ต้องเรียนรู้ให้เร็ว รู้ว่าทำไมเราถึงผิด แล้วเราจะแก้ปัญหานี้แล้วไปต่อยังไง”
สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานนั้น ธนัญญามองการทำงานเหมือนการเล่นเกม “จริงๆ เป็นคนไม่ชอบเล่นเกม เพราะไม่ชอบความพ่ายแพ้ แต่รู้สึกว่างานมันเหมือนเกม เวลาเล่นเกมแล้วชนะ เราดีใจใช่ไหม แต่ถ้าทำงานชนะเราได้เงิน เวลาเจอด่านยากๆ ก็รู้สึกว่าสนุกดี แต่ช่วงไหนที่เกมง่ายไป ขายดีจะรู้สึกไร้พลังชีวิตมาก ไม่รู้จะทำอะไร”
ความท้าทายและปัญหาต่างๆ จึงดูจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเธอ ถึงขนาดว่าเคยมีช่วงที่กระเป๋าขายดีมากจนเธอเบื่อเพราะไม่มีอะไรทำ นอกจากนี้ ยามว่างเธอก็มักลุกมาทดลองทำสิ่งใหม่เสมอ โดยแม้แบรนด์กระเป๋าเพื่อสุขภาพจะประสบความสำเร็จด้วยดี เธอและน้องสาวยังเคยลองขายสินค้าประเภทอื่นๆ อีกมากมาย บางอย่างก็ต้องล้มเลิกไป แต่บางอย่างก็มีเสียงตอบรับที่ดี เช่น รองเท้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งกลายมาเป็นไลน์สินค้ารองของ Hadara
ความกระตือรือร้นในการทำงานอันล้นเหลือพาให้นึกสงสัยว่าพวกเธอคิดเห็นอย่างไรกับการมี Work-Life Balance ที่คนทำงานหลายคนแสวงหา ซึ่งธนัญญาตอบในทันทีเลยว่า เธอไม่เชื่อ

“ตอนที่เรียนจบใหม่ๆ คิดว่าชีวิตต้องมี Work-Life Balance นะคะ แต่พอได้มาทำธุรกิจของตัวเอง รู้สึกว่ามันไม่มี” ธนัญญามองว่าชีวิตกับงานก็เป็นสิ่งที่ยากจะแยกออกจากกัน ยิ่งเธอไม่ชอบอยู่เฉยๆ ถ้าว่างแล้วจะเบื่อ จึงต้องหาความท้าทายให้ตัวเองตลอดเวลา “มันเหมือนเราเล่นเกม เราไม่ได้มองว่ามันเป็นงาน มันเป็นอะไรให้เราทำไปเรื่อยๆ ฆ่าเวลามากกว่า”
ส่วนธนาพรอธิบายว่า พนักงานคนอื่นๆ อาจเลิกงานเมื่อถึงเวลา แต่สำหรับผู้บริหารยังคงมีสิ่งต่างๆ ให้ต้องจัดการแม้เลยเวลางานไปแล้วก็ตาม ยิ่งหากมีเรื่องปัญหาด่วนให้ต้องแก้ไข เธอก็ต้องลงมือทันที “ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจมันจะแยกยากค่ะ มันมีอะไรต้องเคลียร์ เราก็ต้องทำ ถ้าสถานการณ์มันแย่ เราก็ต้องรีบทำ”
อย่างไรก็ตาม สองสาวบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องกดดันอย่างที่หลายคนคิด เพราะพวกเธอสนุกกับการทำงาน และพวกเธอยังมีเวลากับครอบครัว แค่บางครั้งบางคราวยามว่าง ในหัวก็จะคิดเรื่องงานขึ้นมาโดยอัตโนมัติ อาจมีปิ๊งไอเดียขึ้นมานอกเวลางาน จนงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
อัตลักษณ์และการลงมือทำ กุญแจสู่ความสำเร็จ
ก่อนจบการสัมภาษณ์ สองสาวฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากทำธุรกิจของตัวเองไว้ 2 ข้อ โดยข้อแรกคือการมีอัตลักษณ์ของตัวเอง พร้อมยกตัวอย่างการที่พวกเธอเคยทำแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตอนนั้นยังคิดน้อยไป ขายตามกระแส โดยเป็นการนำกระเป๋าแฟชั่นมาปั๊มแบรนด์ขาย ทำให้ขาดตัวตนที่ชัดเจน ตรงข้ามกับตอนที่มาทำแบรนด์ Hadara
ดังเช่นที่กล่าวไปแล้วว่า Hadara มีคอนเซ็ปต์หนักแน่นในฐานะกระเป๋าเพื่อสุขภาพ น้ำหนักเบา สายสะพายสบายบ่า และช่องเก็บของเยอะ ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวตนที่ชัดเจนแล้ว ฟังก์ชันของกระเป๋ายังสามารถแก้ pain point ให้ลูกค้าได้จริง อันนำมาสู่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
“สินค้าที่ทำแล้วจะขายได้ มันต้องช่วยให้ชีวิตลูกค้าของเราดีขึ้น ถ้าเราทำมาแล้วมันไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เขาก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของเราก็ได้” ธนัญญากล่าว
ส่วนอีกข้อพวกเธอชี้ถึงสิ่งที่ดูเรียบง่าย แต่ผู้คนมากมายกลับพลาดไปโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ‘การลงมือทำ’ หลายคนมีไอเดีย แต่ไม่ได้เริ่มต้นเสียทีเพราะมัวแต่วางแพลนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไอเดียและแพลนทั้งหมดจะไม่มีทางเป็นจริงขึ้นมาเลยหากไม่ได้ลงมือทำ คำแนะนำของพวกเธอจึงเป็นการวางแพลนแต่พอดี และอย่ารั้งรอที่จะลงมือทำ
“เราสามารถแพลนไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ลงมือทำเลย” ธนาพรเผยมุมมองความคิดเห็นของเธอ
ธนัญญายกประสบการณ์ของเธอและน้องสาวมาเป็นตัวอย่าง และเน้นว่า “ต้องลองไปเรื่อยๆ ค่ะ ลองไปเลย มันก็มีลองแล้ว fail แต่ขอแค่มันติดมาสักอันหนึ่ง ไปไกลเลย ทุกวันนี้ลองทำโน่นนี่นั่น เจ๊งไหม? เจ๊งค่ะ แต่เราถือว่าเราลอง พอเราทำอะไรออกมาแล้วมันเจ๊ง มันจะทำให้เราช้าไปปีหนึ่งบ้าง มีอะไรตะกุกตะกักบ้าง แต่มันทำให้เราโฟกัสได้ดีขึ้นว่าเราจะไปทางไหนที่ถูกต้อง”
สุดท้าย สองสาวฝากถึงเหล่าผู้มีความฝันจะทำธุรกิจของตัวเองไว้สั้นๆ
“ต้องลองค่ะ ไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้ากลัวก็ไม่ได้ทำ”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ Hadara Healthy Bag
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รยา วรรณภิญโญ GENTLEWOMAN แฟชั่นไทยพันล้าน ที่ใช้ทีมเวิร์คและดาต้าดีไซน์ความสำเร็จ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine