สุขวสา ภูชัชวนิชกุล ปักธง ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ 5,000 สาขา ในปี 2570 - Forbes Thailand

สุขวสา ภูชัชวนิชกุล ปักธง ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ 5,000 สาขา ในปี 2570

นักบัญชีสาวผู้ชอบความท้าทายและไม่หยุดตัวเองไว้กับงานหลังบ้าน หลังได้รับการโปรโมตเป็นผู้บริหารฝ่ายการเงินการบัญชี จึงอาสามาทำงานฝ่ายจัดซื้อ หาแนวทางลดรายจ่ายให้กับบริษัท เพียงปีแรกๆ ที่รับตำแหน่งสามารถลดคอสต์ได้ถึง 700 ล้านบาท ล่าสุดได้รับมอบหมายให้ดูแล บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เป้าหมายนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2569


    หลังพ้นรั้วมหาวิทยาลัย “สุขวสา ภูชัชวนิชกุล” ลูกพี่ลูกน้องของ “พิทักษ์ รัชกิจประการ” เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG) ในรุ่นบุกเบิก ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญๆ หลายครั้ง ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งที่บริษัทมีหนี้สิน 3.6 พันล้าน กระทั่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556


นักบัญชีแหวกขนบ

    บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 โดย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เป็นจังหวะที่สุขวสาเรียนจบปริญญาตรีสาขาบัญชี พ่วงเกียรตินิยมอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในปี 2532 พิพัฒน์จึงชวนให้มาทำงานด้วย โดยเป็นเสมียนทำบัญชีที่คลังน้ำมันชุมพร และทำงานฝ่ายบัญชีการเงินมาตลอด

    เมื่อ “พิทักษ์” รับตำแหน่งเป็นซีอีโอและต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เธอจึงเสนอตัวมาทำงานฝ่ายจัดซื้อซึ่งลักษณะงานเกี่ยวข้องกับฝ่ายก่อสร้าง ทำให้ต้องติดต่อประสานงานกับฝ่ายวิศวกรรม

    “ตอนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น ผอ.ฝ่ายบัญชีการเงิน และเปลี่ยนหน้าที่งานเป็นจัดซื้อ ปีถัดมาฝ่ายวิศวกรรมต้องการผู้บริหารก็เข้าไปดู อีกปีได้รับมอบหมายให้ดูงบฯ ของทั้งกรุ๊ป” สุขวสา ภูชัชวนิชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด (PUN) ไล่เรียงถึงเส้นทางการทำงานซึ่งมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งยังข้ามสายงานกันอีกด้วย


    “ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทใกล้ล้มละลาย มีหนี้ 3.6 พันล้าน เราดูบัญชีการเงินพบว่าการเงินวิกฤต แบงก์ไม่ปล่อยกู้ มี SCB แห่งเดียวที่ปล่อยกู้ เราวางแผนจัดหาวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีเงินขยายกิจการกระทั่งนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ พบว่าตัวเองสนุกกับการทำงานการเงิน แต่จะทำอย่างเดียวไม่ได้ และเห็นว่างานจัดซื้อมีลักษณะคล้ายๆ กัน ปีหนึ่งๆ มีการจัดซื้อมูลค่าประมาณ 2-3 พันล้าน volume สูงมาก

    “บอกคุณพิทักษ์ว่าถ้ามอบหมายให้ไปดูจะทำ cost saving ให้องค์กร โดยใช้ความรู้ความสามารถที่ผ่านมา และขอย้ายจากบัญชีการเงินเป็น ผอ. ฝ่ายจัดซื้อแทน ตอนนั้นสนุกมาก ปีแรกๆ ทำ cost saving 700 ล้าน เพราะบริษัทมีการก่อสร้างเยอะมาก เราปรับปรุงวิธีการทำงานเยอะมาก ออกแบบเพื่อลด waste วัสดุก่อสร้าง” ผู้บริหารสาวเล่าด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความสุขและมีแววตาเป็นประกายเมื่อได้ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น

    แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนจากวิธีแบบเดิมๆ ย่อมมีคนไม่เห็นด้วย เธอบอกว่าโชคดีที่เธอเป็นลูกหม้อ เข้าทำงานที่ PTG ตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษ ยังพอมีบารมีในบริษัท แม้ต้องปะทะกับคนบางกลุ่มแต่ก็ฝ่าฟันได้หมด พร้อมยกตัวอย่างการคิดนอกกรอบกรณีทำบัตรสมาชิกว่า หากสั่งผลิตในประเทศราคาใบละ 20 บาทเศษ

    “เราก็ sourcing ที่จีนว่าตกใบละเท่าไร ก็หาผู้เชี่ยวชาญเพราะต้องใช้ระบบ data ผลิตที่จีนใบละ 3-5 บาท แต่คนที่ทำเดิมไม่ต้องการเปลี่ยน เพราะเกรงว่าลูกค้าใช้บัตรไม่ได้ หากจัดซื้อจะเปลี่ยนต้องรับผิดชอบเอง ถามว่ารับผิดชอบยังไง เขาต้องการให้ QC 100% ทุกใบที่มาจากประเทศจีน เราก็เช็กทุกใบ ตั้งแต่นั้นมาก็เปลี่ยน เราซื้อปีละ 5 ล้านใบ ใบละ 25 เหลือ 3-5 บาท”

    ภารกิจล่าสุดที่ได้รับมอบหมายคือ เป็นผู้บริหาร บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เนื่องจากช่วงโควิดระบาดต้องปิดสาขาหลายแห่ง ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารในบริษัท บางจังหวะจึงไม่มีคนดูแลธุรกิจนี้

    “พันธุ์ไทยเป็นเคสที่ยากมาก เป้าหมายชัดเจนว่าต้องกำไร ไม่ขาดทุน ต้องขยายสาขา ปีนี้ขยาย 400 ปีหน้า 800 สาขา ที่นี่ถูกสอนว่าเป้าหมายมีไว้พุ่งชน พอบรรลุเป้าหมายดีใจแป๊บเดียว แล้วขยับเป้าอีก”


กาแฟพรีเมียมแบบไทยๆ

    บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด (PUN) เป็นบริษัทย่อยของ PTG โดยดูแลร้านกาแฟที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” ซึ่งสาขาแรกเกิดขึ้นปลายปี 2555 ที่บางปะหัน จุดเริ่มมาจากการขยายสถานีบริการน้ำมัน และพิทักษ์มีความคิดว่าน่าจะมีกาแฟให้ผู้ใช้บริการดื่ม เป็นกาแฟพรีเมียมที่ราคาจับต้องได้ และเชิญ “วิชา พรหมยงค์” ผู้ก่อตั้งกาแฟดอยช้างเป็นที่ปรึกษา

    จุดเด่นของแบรนด์คือ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่มีคุุณภาพเป็นเมล็็ดกาแฟอาราบิก้า 100% จากแหล่งเพาะปลูกในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นสเปเชียล เบลนด์) ปีหนึ่งๆ ใช้ประมาณ 300 ตัน และปี 2567 คาดว่าจะเป็น 600 ตัน

    รวมทั้งมีเครื่องดื่มร้อน-เย็นจากวัตถุดิบที่หารับประทานได้ยากในประเทศ อาทิ นำส้มมะปี๊ดจากจันทบุุรีมาเป็นวัตถุดิบในเมนูจันท์จี๊ด นำสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ 80 ที่ปลูกในพื้นที่ดอยสูงจากโครงการพัฒนาพื้นที่่ลุ่มน้ำแม่งอน จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นวัตถุดิบในเมนูสตรอว์เบอร์เร่อ สนับสนุนธุรกิจชุมชนโดยนำสินค้ากลุ่มขนมและเบเกอรี่ที่เป็นสินค้า OTOP ในพื้นที่่ต่างๆ มาจัดจำหน่ายภายในร้าน


    เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบบริษัทร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) อบต.ปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชน SAZOMOO ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรแบบเดิมมาปลูกกาแฟ

    “เราไม่ได้มองว่ากาแฟเป็นแค่ธุรกิจ แต่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ปลูกกาแฟในพื้นที่เขาหัวโล้น 7,000 ไร่ เดิมปลูกข้าวโพด มีเกษตรกรคนหนุ่มสาวตั้งเป็นวิสาหกิจอยากปลูกกาแฟ ให้ลูกหลานชาวดอยกลับมาช่วยพ่อแม่ เราก็เลยไป match ปีนี้สร้างบ่อน้ำ สร้างฝาย เริ่มจาก 24 ครัวเรือน ทำได้ 2,000 ไร่ ประมาณ 80,000 ต้น ...ตอนนี้กาแฟเป็นที่ต้องการของไทยมาก เราผลิตได้ 25% ของที่ใช้”


กลยุทธ์เพิ่มยอดขาย

    10 ปีที่ผ่านมาร้านส่วนใหญ่อยู่ในปั๊มน้ำมัน มีการจัดระบบใหม่ในปี 2563-2564 ปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร หลังการระบาดของโควิด-19 ขยายมาให้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้น เพิ่มการขยายสาขานอกปั๊ม เช่น บริเวณใจกลางเมืองในย่านธุรกิจที่มีกำลังซื้อสููงทั้งกรุุงเทพฯ และปริมณฑล เมืองท่องเที่ยว หัวเมืองจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บริการครอบคลุมและลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น และเริ่มขายแฟรนไชส์แก่ผู้สนใจตั้งแต่ปี 2565


    เป้าหมายของบริษัทในช่วง 5 ปีนี้คือ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2569 ขยายสาขาเป็น 5,000 แห่งในปี 2570 และมีรายได้ประมาณ 4.7 พันล้านบาท ระยะ 1-2 ปีนี้จึงมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มไลน์สินค้ากาแฟในบ้าน เพิ่มความถี่และยอดซื้อเครื่องดื่มกาแฟ จากบัตรสมาชิก PT Max Card Plus

    ปี 2566 เปิดสาขาใหม่ 410 แห่ง ภายในสิ้นปี 2566 มีจำนวนทั้งหมด 920 แห่ง แบ่งเป็น สาขาที่บริษัทบริหารเอง 600 แห่ง แฟรนไชส์ 320 แห่ง และตั้งเป้าว่า ปี 2567 มีร้านกาแฟพันธุ์ไทยใน 878 อำเภอทั่วประเทศ จากจำนวนกว่า 500 อำเภอที่มีอยู่ในปัจจุบัน


    นับตั้งแต่เปิดบริษัทในปี 2556 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เพิ่งมีกำไรครั้งแรกในปี 2565 ส่วนปี 2566 มีอัตราการเติบโตเกือบเท่าตัว โดยปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 ผู้บริหารประกาศผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีว่า มีรายได้กว่า 1.2 พันล้านบาท เติบโต 80% จากปีที่ผ่านมา โตกว่าภาพรวมตลาดกาแฟประเทศไทยที่มีอัตราเฉลี่ย 9.5% และคาดว่าสิ้นปี 2566 มียอดขายรวมกว่า 1.7 พันล้านบาท กำไร 200 กว่าล้านบาท จาก 78 ล้านบาทในปี 2565



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กิตติวรรณ อนุเวชสกุล เปิดสูตรลับปรับสปีด McDonald's

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine