ศรินทร พันธุ์โสภา Perfect Paper เสกกระดาษให้เป็นเงิน - Forbes Thailand

ศรินทร พันธุ์โสภา Perfect Paper เสกกระดาษให้เป็นเงิน

จากการเก็บเศษกระดาษไม่ใช้แล้วส่งขายให้กับพ่อค้ารายย่อยเมื่อ 50 กว่าปีก่อน และขยายกิจการมาเรื่อยๆ กระทั่งก่อตั้งเป็น บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด ในปี 2541 มีโรงงาน 3 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และสร้างรายได้ถึงพันล้านบาทในปัจจุบัน


    เมื่อกิจการเติบโตเกินกว่าที่จะบริหารงานเพียงลำพัง ปี 2548 “ปราโมทย์ พันธุ์โสภา” จึงชักชวนบุตรสาวคนโต ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ลาออกจากงานประจำเพื่อมาช่วยกิจการของทางบ้าน “ทำราชการ 6 ปี คุณพ่อบอกโรงงานขยายใหญ่ขึ้นแล้ว เราต้องตั้งบริษัท ไม่มีคนมาช่วยงานได้ไหมจะให้เงินเดือน 2 เท่าของราชการ ดึงตัวเห็นๆ ตั้งแต่กลับมาช่วย 10 กว่าปีเงินเดือนไม่เคยขึ้นเลย” ศรินทร พันธุ์โสภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด เล่าด้วยน้ำเสียงที่สดใสพร้อมหัวเราะน้อยๆ



รีไซเคิลเศษกระดาษ

    บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ทำธุรกิจรับซื้อและจัดหาเศษกระดาษหลายประเภท โดยนํามาคัดแยกตามประเภทด้วยแรงงานคนนำเข้าเครื่องจักรบีบอัดเป็นก้อน และจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นกระดาษประเภทต่าง เช่น กระดาษเอกสารขนาด A4 กระดาษชำระ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยรับซื้อจากคู่ค้ารายเล็กๆ เช่น บุคคล รถซาเล้ง และซัพพลายเออร์รวมทั้งมีบริการรับทำลายเอกสารทั้งในและนอกสถานที่

    “หน่วยงานต่างๆ ที่มีเอกสารเป็นชั้นความลับต้องการบริษัทที่มีมาตรฐานจัดการ เรามีรถไปรับเพื่อนำมาทำลาย เช่น ข้อมูลลูกค้า/บริษัท เมื่อมาถึงโรงงานเราจะคัดแยก ทำลาย อัดเป็นก้อน และส่งโรงงานหลอมโดยตรง หากต้องการให้ออกหนังสือรับรอง เรามีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตัวนี้...รับรองลูกค้าที่เป็นหน่วยงาน องค์กร มีหนังสือหลายฉบับที่ over issue ไม่ต้องการให้ออกสู่ตลาดมือสอง ตลาดอื่นๆ เขาก็จัดส่งให้เราทำลาย”

    สินค้าของบริษัทประกอบด้วย 1. กระดาษกล่องน้ำตาล 2. กล่องกระดาษน้ำตาลคัดพิเศษ 3. กระดาษปอนด์ขาวดำ เศษกระดาษปอนด์สีขาวที่มีหมึกพิมพ์หรือไม่มี กระดาษแบบตัดย่อยขนาดเล็ก กระดาษปอนด์ตัดสันกาว 4. กระดาษปอนด์ขาว เศษกระดาษปอนด์สีขาวแบบแผ่น หรือขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการพิมพ์ เคลือบ และไม่มีหมึกเจือปนปี 2567 บริษัทมียอดซื้อขายเศษกระดาษประมาณ 300,000 ตัน ซึ่งธุรกิจนี้ช่วยสังคมกำจัดเศษกระดาษ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดประการสำคัญคือ ลดการตัดต้นไม้จำนวนมหาศาล

    ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า คนไทยใช้กระดาษปีละ 3.9 ล้านตัน หรือ 60 กิโลกรัม/ปี ในกระบวนการผลิตกระดาษ 1 ตัน ใช้ต้นไม้ 17 ต้น และประเทศไทยตัดต้นไม้เพื่อผลิตกระดาษปีละมากกว่า 55 ล้านต้น เมื่อมองย้อนกลับไปผู้บริหารสาวบอกว่า เธอไม่คิดว่าจะเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว เพราะเป็นลูกสาวและมีน้องชาย 1 คน จึงคิดว่าเขาจะเป็นผู้สืบทอดธุรกิจ แต่น้องชายเรียนเก่งมาก เรียนจบปริญญาเอกด้านชีววิทยาจากต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในสายนี้

    “ส่วนลูกอีกคนที่อยู่บ้าน แม้ทำงานข้างนอก แต่ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์คัดแยกกระดาษ...ถูกปลูกฝังอย่างไม่รู้ตัว ตั้งแต่เล็กเห็นเศษกระดาษก็เก็บไปวางในกองกระดาษ ทำโดยอัตโนมัติ”


ต่อยอดพัฒนาระบบในองค์กร

    การเข้ามาในธุรกิจนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยปีแรกที่เข้ามาเธอบอกว่า ไม่ได้ทำงานนั่งโต๊ะเลย ต้องเรียนรู้และทำงานเหมือนพนักงานทั่วไป ตั้งแต่กวาดพื้น ส่งของหัดควบคุมเครื่องอัดกระดาษ เป็นต้น

    “ตอนเข้ามาเริ่มงานอายุ 27-28 ปี ประสบการณ์น้อยกว่าพี่ๆ ที่ทำงานมานาน แต่เขาเห็นว่าเราลงมือทำงานพร้อมกับเขา ยกของเราก็ยก มีเถียงกันบ้าง ก็พูดคุยกับเขาด้วยเหตุผล เช่น ทำแบบนี้แล้วดีกับเราอย่างไรทีละเล็กทีละน้อย จนพนักงานเริ่มยอมรับ ส่วนการท้าทายจากภายในไม่ค่อยมี
แต่มีซัพพลายเออร์บางเจ้าที่ไม่อยากคุยกับเรา ขอคุยกับคุณพ่อ เราก็ขออยู่ข้างๆ ร่วมฟังด้วย เพื่อให้ลูกค้าเห็นความตั้งใจของเรา”

    ภายใต้การนำของทายาทสาวเธอได้นำระบบการจัดการสมัยใหม่มาใช้จัดเก็บข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ นำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนองค์กร มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดและผลผลิต ค้นหาแนวทางใหม่ของระบบการทำงานเพื่อพัฒนาองค์กร เช่น เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน การส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าตรงตามความต้องการและทันเวลา วิเคราะห์และวางแผนแนวทางของตลาดในแต่ละไตรมาส สร้างความสัมพันธ์ต่อลูกค้า เพื่อนคู่ค้า ในธุรกิจที่ต้องใช้กระดาษเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทุกประเภท เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย/ขับเคลื่อนรายได้ต่อปีให้เป็นไปตามเป้าหมาย

    “เราตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุดด้วย passion ที่คุณพ่อถ่ายทอดมา ท่านยังคลุกคลีกับกระดาษ เราเห็นท่านเป็นตัวอย่าง ชอบฟังสิ่งที่ท่านเล่า ถ้าจะยึดแต่ระบบไม่ได้ประสบการณ์จากผู้ใหญ่ก็ไม่ช่วยอะไร เวลาถอดเรื่องเดิมๆ แต่ได้ประเด็นไม่เหมือนเดิม คุณพ่อเล่าว่าทำอะไร อย่างไร พอเริ่มพิสูจน์ให้เขา
เห็นคุณพ่อก็เริ่มปล่อยมาทีละอย่าง ตอนแรกดูแลการขายและพนักงาน

    “ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเรา maintain การซื้อขาย ริเริ่มใช้ digital transformation ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning หรือการบริหารทรัพยากรขององค์กร) วางแผนพัฒนาบุคลากร ปีนี้วางแผนพัฒนาบริษัทให้มีมาตรฐานระดับโลกโดย apply ISO 9001”


ตลาดเปลี่ยนแผนธุรกิจต้องปรับ

    แม้ปัจจุบันความนิยมในนิตยสารและสิ่งพิมพ์ลดลงทำให้ปริมาณการใช้กระดาษลดลงตาม แต่บางธุรกิจต้องใช้เพิ่ม เนื่องจากพฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใช้แพ็กเกจจิ้งเพิ่มเยอะมาก เนื่องจากทุกวันนี้เราซื้อขายออนไลน์มากขึ้น การจัดส่งสินค้าถึงบ้านต้องใช้กล่องแพ็กเกจจิ้ง มีกล่องข้างนอก กล่องข้างใน และตัวกันกระแทก ทั้งหมดต้องใช้กระดาษ

    แผนธุรกิจปรับตัวตามสังคมที่ใช้ ผู้บริโภคใช้อะไรก็เก็บสิ่งเหล่านั้น จัดหาวัตถุดิบนั้นมากขึ้น ป้อนให้กับโรงงานใช้วัตถุดิบ โรงงานที่เป็นลูกค้าเคยใช้วัตถุดิบจากสิ่งพิมพ์และใช้น้อยลง โรงงานก็ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตสูตรการใช้วัตถุดิบ เช่น ทิชชูเริ่มมีสีน้ำตาล กระดาษเช็ดปากเป็นสีต่างๆ เพราะกระดาษขาวไม่เพียงพอ

    “เราเหมือนเป็นหนึ่งใน supply chain ของธุรกิจ recycle เศษกระดาษ เราปรับเปลี่ยนล้อตามความเปลี่ยนแปลงของโลก...วิสัยทัศน์เรามุ่งเติบโตให้บริษัทเป็นมาตรฐานระดับโลก เรื่องการจัดการขยะนำมาใช้ใหม่ world waste management เคียงคู่ไปกับสังคม เพื่อนคู่ค้า พนักงาน อย่างเป็นมิตร ยั่งยืน ตราบใดที่ทุกคนยังใช้กระดาษ ธุรกิจเรายังคงอยู่ และเราพยายามให้ดีที่สุด เพื่อให้การจัดการด้านขยะโดยเฉพาะกระดาษ ถูกนำมาใช้ในการ recycle ได้มากสุด”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, Perfect Paper



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จีระศักดิ์ มานะตระกูล MPJ ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine