จีระศักดิ์ มานะตระกูล MPJ ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร - Forbes Thailand

จีระศักดิ์ มานะตระกูล MPJ ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร

​วิศวกรหนุ่มผู้ได้รับมรดกเป็นธุรกิจครอบครัวพร้อมหนี้สินก้อนใหญ่ เขาใช้เวลา 10 ปีในการปลดหนี้และปรับโครงสร้างต่างๆ ภายในองค์กร จนเติบโตเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้รวมกว่า 400 ล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2567


    หลังเรียนจบปริญญาตรี จีระศักดิ์ มานะตระกูล ตั้งใจว่าจะขอมารดาเรียนต่อต่างประเทศ เป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พี่ๆ ซึ่งกำลังเรียนในต่างประเทศถูกเรียกตัวกลับ ประจวบกับบิดาเสียชีวิต เขาจึงเริ่มต้นชีวิตทำงานตั้งแต่ปีนั้น 

    ครอบครัวมานะตระกูลทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งโรงพยาบาล บ้านเช่า/หอพัก รถบรรทุกขนส่งปูนซีเมนต์และน้ำตาล โดยเขาดูแลธุรกิจหลังและประเมินว่า หากทำแบบเดิมไม่มีอนาคต เพราะการขนส่งปูนซีเมนต์อิงกับงานก่อสร้าง ขณะที่การขนส่งน้ำตาลมีงานให้ทำเพียงไม่กี่เดือน ตามฤดูกาล เขาจึงมองหาธุรกิจใหม่ คราวที่ไปแหลมฉบังเห็นตู้คอนเทนเนอร์วางอยู่จึงคิดว่าธุรกิจนำเข้า/ส่งออกมีงานตลอดทั้งปี น่าจะให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และเอาหางพ่วงออก ปรับปรุงรถเพื่อใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แทน  

    “โครงสร้างบริษัทตอนแรกที่มาทำมีหนี้ 400 ล้าน...พอเริ่มทำก็มองว่าถ้าอยู่อย่างเก่า (รถ) วิ่ง 6 เดือนจอด 6 เดือน อยู่ไม่ได้แน่...ก็หาลูกค้า เริ่มจากไม่มีอะไรเลย เราเห็นรถจอดที่ไหนก็ไปที่นั่น รถจอดอยู่ก็ไปถามว่าพี่รับตู้ที่ไหน ติดต่อเจ้าของตู้ยังไง เราก็ตามไปที่รับตู้ ไปของาน วิ่งไปเรื่อยๆ ผมเป็นเซลส์คนเดียวของบริษัท 15 ปี เพิ่งมาจัดโครงสร้างบริษัทตอนจะ IPO” จีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ เล่าถึงที่มาของการเริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 16 ปีก่อน


4 กลุ่มธุรกิจ

    MPJ ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีธุรกิจ 4 กลุ่มโดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยในกลุ่มประกอบด้วย 1. บริการขนส่งทางบก ต่อเนื่องกับทางเรือ ด้วยรถบรรทุกหัวลากและหางพ่วง 230 คัน ซึ่งเป็นฟลีทรถบรรทุกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 2. บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 3. บริการคลังสินค้าให้เช่าในย่านแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีและระยอง 4. บริหารจัดการลานตู้คอนเทนเนอร์ บริหารดูแลและซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์ของผู้ให้บริการสายเรือครบวงจร ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีลานของบริษัท 2 แห่ง ส่วนแห่งที่ 3 เป็นการร่วมทุนกับ บจ. โอโอซีแอล โลจิสติคส์ (ฮ่องกง) และ บจ. โอโอซีแอล โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการสายเรือ OOCL ซึ่งเป็นสายเรือระดับโลก “เขาเห็นว่ามีประสบการณ์ด้านนี้จึงชวนเราทำ เราบริหารให้ เขาดึงลูกค้าและ volume เป็นลานที่แหลมฉบัง ถือหุ้น 51:49”

    บจ. เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยกลุ่มครอบครัวมานะตระกูลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ประกอบธุรกิจให้บริการรถหัวลากและหางลากสำหรับการขนส่งทางบกภายในประเทศ และในปีเดียวกันได้ตั้ง บจ. เอ็ม พี เจ ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ ให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์แบบครบวงจร รวมถึงการรับซ่อมแซมทำความสะอาดตู้ เพื่อพร้อมนำไปใช้งานตามมาตรฐานที่สายการเดินเรือกำหนด ส่วน บจ.แหลมฉบัง โลจิสติคส์ จำกัด ประกอบธุรกิจบริการการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (freight forwarder) และให้เช่าที่ดินบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 

    ผู้บริหารหนุ่มเล่าว่า คราวที่มารดาแบ่งธุรกิจให้ลูกๆ ทั้ง 3 คน เขาคิดว่าจะไม่รับ ทว่า มารดาบอกว่า ได้สัญญากับบิดาไว้ว่าจะดูแลธุรกิจให้ดี ไม่อยากให้ล้มหายในรุ่นของตน ขอให้ทำเพื่อบิดาเขาก็เลยรับมา “คนอื่นได้ asset ผมได้หนี้เยอะสุด…เอามาเป็นหนี้ 400 ล้าน...ตอนแรกออกมายังไม่มีงานจะทำ เริ่มจากศูนย์ ติดลบ ทำแบบล้มลุกคลุกคลาน แต่ทำแล้วโชคดี รถก็ผ่อนหมด”



    จีระศักดิ์ใช้เวลาเป็นปีเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้าง ทั้งปรับพอร์ตลูกค้า พอร์ตรายจ่ายและโครงสร้างรายได้ ซึ่งเขาบอกว่า ที่ผ่านมาบริหารด้วยโมเดลที่ผิดพลาด เพราะนำสินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) มาซื้อรถทำให้ขาดสภาพคล่อง ขณะที่ดอกเบี้ยก็ต้องจ่าย และธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์ทำให้มีเงินสดเข้ามา จากเดิมทำเฉพาะการขนส่งตู้ฯ แม้จะมีรายได้แน่นอนแต่ต้องให้เครดิตลูกค้าซึ่งมี 2 กลุ่มคือ ธุรกิจนำเข้า/ส่งออกเครดิต 30-60 วัน ส่วนสายเรือ 90-120 วัน ขณะที่บริษัทต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงพนักงาน ค่าน้ำมันเป็นเงินสด

    แนวคิดที่จะสร้างลานตู้คอนเทนเนอร์มาจากการที่ไปรับตู้คอนเทนเนอร์ให้ลูกค้าแล้วเห็นว่าต้องจ่ายค่าบริการทันที จึงถามลูกค้าว่า หากเขาเปิดลานเองขอให้มาใช้บริการได้หรือไม่ซึ่งลูกค้าก็ให้โอกาส จีระศักดิ์จึงทำทั้งสองธุรกิจควบคู่กัน โดยนำรายได้จากธุรกิจลานตู้ฯ มาหมุนเวียนในธุรกิจขนส่ง   

    “ลานตู้ฯ ช่วยชีวิตผมมาก ผมสร้างลานตู้พื้นที่ 60 ไร่ ใช้เวลา 3-4 ปี นานนะ ขณะที่เปิดลานแห่งที่ 2 ใช้เวลา 2 เดือน แห่งแรกที่นานเพราะผมไม่มีเงินเทปูน ผมเก็บเงินเทปูน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นดิน ฝนตกก็ลำบาก พอเก็บเงินได้ 500,000 บาทก็เทปูนอีกไร่ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ” 

    ในช่วงแรกเนื่องจากพื้นที่ลานส่วนใหญ่เป็นดิน เมื่อรถที่เข้ามาใช้บริการเข้ามาในลานหรือขับออกไป ล้อรถเปรอะเปื้อนดิน “เรามีข้อจำกัด คนอื่นมีลานปูนแต่เราไม่มี เราก็ต้องบริหารของเราให้เร็ว เพราะเวลารถวิ่งเข้าไปล้อเลอะ เราแก้ปัญหาด้วยการทำบ่อล้างล้อให้ พอรถมาเราล้างล้อลงบ่อ รถไปต่อ เหมือนที่โรงโม่ทำ เราปรับปรุงข้อจำกัดของเรา ไม่สามารถทำให้ perfect เหมือนชาวบ้าน แต่ต้องหาวิธีในข้อจำกัดที่เรามี... ผมไม่ท้อ สนุกกับมัน ได้เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกเดือน เมื่อก่อนเป็นทุ่งนา ตอนนี้เป็นลานกองตู้ฯ มีออฟฟิศ มันพัฒนาไปเรื่อยๆ”

    จีระศักดิ์บอกว่า นับจากเริ่มทำธุรกิจต้องบุกเบิกด้วยตนเองทั้งหมด แต่เขาไม่เคยย่อท้อ ทำทุกวิธีเพื่อให้มีรายได้เข้าบริษัท หากไม่มีเงินก็ตั้งวงแชร์กับเพื่อนเพื่อหมุนเงิน ช่วง 4-5 ปีแรก เขาออกจากลานตู้คอนเทนเนอร์เป็นคนสุดท้ายเวลาเที่ยงคืนของทุกวัน และรถ BMW พาหนะคู่ใจ เข็มไมล์แตะหลักแสนกิโลเมตรภายในเวลาเพียง 2 ปี 

    “ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำ 10 ปีที่แล้วกับวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือสร้างองค์กร อย่างที่เขาบอกว่า คนเดียววิ่งเร็ว คนเยอะวิ่งไกล ถ้าอยากไปไกลต้องมีทีม ถ้าต้องการรักษาตำแหน่งต้องมีทีม support ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเริ่มสร้างทีม”


    รายได้หลักของบริษัทมาจากการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งบริษัทมีลูกค้าไม่เกิน 10 ราย และเป็นกลุ่มเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท แต่ความยากคือ การบริหารจัดการให้มีงานทั้ง 7 วัน “สมมติผมวิ่งพี่รายเดียวอยู่ไม่ได้ เพราะใน 7 วัน เรืออาจจะเข้า 3 วัน เวลาเข้ามาเป็นตู้ import ตู้ออกเป็น export ธุรกิจที่ผมทำคือ ทำไงก็ได้ให้มีงานครบ loop ทั้ง 7 วัน เอาตู้มาจับแมตซ์ ต้องมีการผสมถึงจะทำให้รถหมุนได้ทั้งอาทิตย์ และสายเรือก็รู้ว่าเขาต้องการอย่างนี้ ถ้าเรารับได้เขาก็ให้เรา ทำไมต้องมีหลายๆ สาย เพราะเรือไม่ได้ออกทุกวันแต่รถผ่อนทุกวัน 2. คือเซอร์วิสที่เราให้ รถมีกล่องดำมา 10 กว่าปีแล้ว ลูกค้าดูได้ทันทีว่ารถเราอยู่ที่ไหน คนขับใส่เสื้อสีอะไร เราพัฒนาตลอดเวลา เราทำลานตู้และ freight คือเราเป็น vender และคู่ค้า freight มาขาย เอาตู้มาฝากไว้ที่เรา” 


ขยายธุรกิจตามดีมานด์ลูกค้า

    บริษัทขยายการบริการตามความต้องการของลูกค้า จากเดิมเป็นธุรกิจขนส่งทางบกและลานตู้คอนเทนเนอร์ก็เพิ่มบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและคลังสินค้า ลูกค้าถามว่า คุณมีขาย freight ไหม ตอนหลังลูกค้าก็หาโกดังเพิ่ม เราก็ทำ…รถ 10 ปีที่แล้วราคา 3 ล้านตอนนี้มูลค่าเหลือ 600,000 บาท แต่กลับกันลานตู้วันนั้นซื้อ (ที่ดิน) 2 ล้าน ผ่านไป 10 ปีขึ้นเป็น 6 ล้าน ผมมองหาธุรกิจที่มี capital gain ในการเติบโต และอยู่ในสายเดียวกับโลจิสติกส์ ทำลานตู้แล้วอีกส่วนคือโกดัง มองว่าสร้างวันนี้อีก 10 ปีราคาที่ดินก็ขึ้น และที่ผ่านมา 15 ปีเราเหนื่อย มีลูกน้อง 600 คน เรามองว่าโกดังเหนื่อยช่วงแรก แต่พอปล่อยเช่าได้ เราใช้พนักงานแค่ 2 คนคือ คนทำบัญชีและช่าง เราอยากโตแบบไม่เพิ่มคน เลยมาทำโกดังๆ ไม่ต้องบริหารเยอะ 

    “ช่วงหนึ่งผมขาดคนขับรถ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์อยู่  1 ปี หาอยู่ตั้งนาน คิดไม่ออก ตอนหลังไปนั่งคุยกับน้า คุยกับคนขับก็เห็นภาพ ใครมาทำงานด้วยผมแจกตังค์ก่อนเลย ให้ค่าครองชีพ ต้องมองว่าคนที่จะมาขับรถกับเรา ถ้าเขาย้ายถิ่น บางคนมาไม่มีอะไรติดตัว 1. เราต้อง provide และ advance เงิน หาที่พักให้ 2. หากเขาต้องการอยู่กับเรายาว ย้ายครอบครัวมาก็ต้องการโรงเรียนให้ลูก เราเข้าไปจัดการให้...คนขับเดี๋ยวนี้เล่นสื่อโซเชียล LINE, Facebook ไม่ได้รู้อะไรน้อยกว่าเรา สิ่งที่เราจะให้เขา ต้องคิดว่าถ้าเป็นเขาเราจะดูแลยังไง”

    เพื่อขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคตจีระศักดิ์จึงนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO)  หุ้นละ 6 บาท โดยเทรดครั้งแรกวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 2567 เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปซื้อรถหัวลากหางพ่วงทดแทน ขยายธุรกิจลานตู้ ปรับปรุงลานตู้ และลงทุนอุปกรณ์ในลานตู้ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจลานตู้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการลงทุนต่างๆ ในอนาคต พัฒนา ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP) และชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน


    “เราเดินสายโลจิสติกส์ ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้แตะ เช่น cold chain logistics, cold storage...เราจะเปิดลานที่ลาดกระบังเพิ่ม ธุรกิจขนส่งมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้คือราคาน้ำมัน คิดว่าจะผันรถบางส่วนเป็นรถไฟฟ้า ส่วนโกดังมีแผนจะขยายโกดังเพิ่ม ตอนนี้ทั้ง 2 หลังมีคนเช่าเต็ม 100% ทั้งที่แหลมฉบัง ระยอง กำลังคุยว่าจะก่อสร้างเฟส 2 ที่ระยองและแหลมฉบัง ซื้อที่ดินไว้แล้วกำลังจะขึ้น คิดว่าจะโฟกัสตัวลานและโกดัง ส่วน freight ที่ผ่านมาเราจับเฉพาะลูกค้าเอเชียซึ่ง revenue น้อย กำลังขยับมาทำยุโรปและอเมริกา เพราะตู้หนึ่งๆ ไปจีน (รายได้) 300 เหรียญสหรัฐฯ หากไปอเมริกา 3,000 เหรียญ”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ MPJ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิกรม กรมดิษฐ์ 'All Win' ชนะไปด้วยกัน ยั่งยืน ไร้รอยต่อ Hero of Philanthropy

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine