2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังจะเห็นได้จากรายงานจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2563 ว่า พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ 46,602 หน่วย ลดลงจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ -29.6 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี โดยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่มีมูลค่า 191,226 ล้านบาท
การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีจำนวน 265,493 หน่วย (ลดลงจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ -21.6) ต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยแนวราบลดลงร้อยละ -25.7 ส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ปี 2564 มีจำนวน 802,720 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ -13.5 โดยแนวราบลดลงร้อยละ -11 และอาคารชุดลดลงร้อยละ -18.5 ทว่าในสัดส่วนที่ลดลงนี้ “บริทาเนีย” ภายใต้การบริหารของ ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี จากรายได้ 512.9 ล้านบาทในปี 2561 ปีถัดมาเพิ่มเป็น 1,556.8 ล้านบาท ล่าสุดปี 2564 มีรายได้รวม 3,807.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 72 ล้าน และ 602 ล้านบาท ตามลำดับ
เก็บเกี่ยวประสบการณ์
หลังไล่เลียงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI บอกว่า “วิถีชีวิตจะกลายเป็นเจ้าแม่ set up ไปแล้ว”
ศุภลักษณ์เรียนจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานตามสิ่งที่เรียนมา 2-3 ปี หลังจากนั้นชีวิตเธอก็วนเวียนอยู่ในธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดรับบทเป็นแม่ทัพหญิง “บริทาเนีย” บุกตลาดบ้านแนวราบ
ด้วยบุคลิกที่กล้าลุยและชอบความท้าทาย เธอจึงได้รับมอบหมายให้บุกเบิกโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อยู่เสมอ
เข้าสู่วงการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เริ่มจากเป็นสถาปนิกของ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ลงภาคสนามเคียงคู่กับวิศวกร รวมทั้งรับผิดชอบโครงการก่อสร้างอาคารสำคัญๆ หลายแห่งทั้งโรงงาน อาคารราชการและโปรเจ็กต์ต่างประเทศ ก่อนออกจากซิโน-ไทย เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ดูแลโครงการต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมัลดีฟส์มีโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่
เริ่มชีวิตการทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งขณะนั้นกำลังทำเทคโนโลยีระบบผนังคอนกรีตสำเร็จรูป precast สำหรับอาคารบ้านจัดสรร ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบแบรนด์พฤกษาวิลเลจ หลังจากนั้นย้ายมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทรับเหมาก่อสร้างในเครือ บมจ. เอพี (ไทยแลนด์)
“เข้าใจตลาดของคนเมืองมากขึ้น AP เน้นการตลาด รูปแบบการดีไซน์...ถือว่าเป็นโชคดีเริ่มจากพฤกษาฯ เปิดเทคโนโลยีใหม่ AP ตั้ง BU ใหม่ ได้เรื่องการจัดการ การตลาดสำหรับ urban ต่างๆ ของการใช้ชีวิตคนเมือง และโชคดีอีกได้อยู่กับอนันดา (บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์) ซึ่งเน้นเรื่อง living technology ค่อนข้างมากและมีชื่อเสียงด้านนี้ ทำให้เรามาทันยุคทันสมัยพอดีกลายเป็นจังหวะชีวิต ได้ foundation ที่ดีจากซิโน-ไทย และต่อยอดมาเรื่อยๆ”
“ตอนอยู่ซิโน-ไทย set up หน่วยงานที่ต่างประเทศ อยู่พฤกษาฯ ก็ set up ระบบงานก่อสร้าง...AP ก็ได้ทำ BU ใหม่ แบรนด์ใหม่เอาเทคโนโลยี precast มาใช้ ส่วนที่อนันดาก็เหมือนไปจัดระบบให้เขา ทำให้เราก้าวทันกับโลกการเปลี่ยนแปลง ก้าวทันยุคที่ผู้บริโภคเอาดิจิทัลเข้ามา”
ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ เจ้าแม่เซ็ตอัพ
ความท้าทายครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2561 ด้วยการรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เธอบอกว่า พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทาบทามหลายครั้งแล้ว
“บริทาเนียเป็น New S-Curve ของออริจิ้นๆ ไม่เคยทำแนวราบเลย วิถีชีวิตจะกลายเป็นเจ้าแม่ set up แล้ว...โจทย์ที่ได้รับคือ ให้ set up บริษัทที่ดูแลบ้านแนวราบโดยเฉพาะ มาถึงตอนนี้ให้ทำอาชีพอื่นก็ทำไม่ได้แล้ว ทำได้แต่อสังหาฯ (หัวเราะน้อยๆ) เป็นอาชีพที่เราถนัดและมีความท้าทาย มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเจอเรื่อง pandemic มองว่ามาถึง chapter ที่อยากทำในสิ่งที่เริ่มต้นใหม่ทั้งหมดได้เอง ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสดี เริ่มต้นจากศูนย์เลย”
โครงการแรกคือ บริทาเนีย ศรีนครินทร์ ในปี 2560 ซึ่งมีทั้งบ้านแฝดและบ้านเดี่ยว 2 ชั้น รวม 149 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 4.65 ล้านบาท ไม่ถึง 2 ปีก็ถูกจับจองหมด ปีถัดมาจึงเปิดตัวอีก 2 โครงการ
“เรา apply ความเป็นออริจิ้นออกมาในตัวบ้านจัดสรร ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ มีการตอบรับดี...ทำให้มั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว”
บุกตลาดบ้านแนวราบ
บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI จดทะเบียนก่อตั้งปี 2559 ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบในประเทศไทย ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีศักยภาพในภาคตะวันออก โดยแบ่งเป็น 4 แบรนด์หลัก ตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและรูปแบบของโครงการ
1. ไบรตัน (Brighton) โครงการตั้งอยู่ตามตะเข็บเมืองใกล้แหล่งงาน กลุ่มลูกค้า คือ คนรุ่นใหม่อายุ 25-35 ปี หรือวัยเริ่มทำงาน รายได้ต่อเดือน 30,000-50,000 บาท
2. บริทาเนีย (Britania) กลุ่มครอบครัวเริ่มต้นอายุ 25-40 ปี กลุ่มวัยทำงาน และเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก รายได้เดือนละ 50,000-130,000 บาท
3. แกรนด์ บริทาเนีย (Grand Britania) ครอบครัวขนาดกลาง อายุ 35-50 ปี พนักงานบริษัทระดับบริหาร หรือเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีรายได้ต่อเดือน 130,000-500,000 บาท
4. เบลกราเวีย (Belgravia) บ้านเดี่ยวยูนิตละ 25-40 ล้าน มีพูลวิลล่าทุกหลัง ลูกค้าเป็นกลุ่ม high income ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ อายุ 35-50 ปี รายได้เดือนละ 500,000 บาทขึ้นไป
BRI เริ่มต้นโครงการจากแบรนด์บริทาเนียปีต่อๆ มาจึงทำแบรนด์ใหม่ๆ ภายใน 4 ปี ก็ทำแบรนด์ครบทุกเซกเมนต์ โดยปี 2564 รายได้หลักมาจากแบรนด์บริทาเนีย คิดเป็น ร้อยละ 50 รองลงมาคือ แกรนด์ บริทาเนียร้อยละ 30 ส่วนไบรตันและเบลกราเวียมีสัดส่วนเท่ากันคือร้อยละ 10
“แบรนด์ไบรตันราคาต่ำกว่า 3 ล้านอยู่ใกล้แหล่งงานมีในเมืองที่เดียวคือ ไบรตัน คูคต สเตชั่น นอกจากนั้นอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี...เป็นตลาด blue ocean ยังไม่มีเจ้าใหญ่ๆ ทำโครงการ เราสร้างความฮือฮามากตั้งแต่คลับเฮ้าส์ เราไม่ได้ขายราคาเท่า local มี premium ร้อยละ 10-15 แต่ผู้บริโภคยอมรับ เพราะ value ที่ได้ชัดเจน บริทาเนียเติบโตมาได้ทำเลที่ตั้งยังเป็นกลยุทธ์สำคัญ เราเลือกโลเกชั่นติดถนนใหญ่ ใกล้รถไฟฟ้า ใกล้ถนนวงแหวน เชื่อมต่อขึ้นลงทางด่วนได้ง่าย อยู่ใกล้แหล่งน้ำและนิคมฯ ต่างๆ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งทำงานด้วย”
“ไบรตันเป็นทาวน์โฮม คนเพิ่งเริ่มต้นทำงานต้องการเทคโนโลยี ความทันสมัยทุกห้องในบ้านเราออกแบบให้มี socket สำหรับเสียบ USB ได้แม้แต่ในห้องน้ำ การใช้พื้นที่เป็น multipurpose มาก สมมติสามีไม่ได้ work at home แต่ภรรยาทำก็สลับพื้นที่กันได้ หรือจะทำ studio cooking ไลฟ์สดขายสินค้าก็ได้”
แม้เป็นโครงการที่ราคายูนิตต่ำกว่า 3 ล้าน แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในไม่น้อยกว่าแบรนด์อื่นๆ อาทิ clubhouse, private lobby, fitness, สระว่ายน้ำระบบเกลือ, สวนสาธารณะ, พื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง, สนามเด็กเล่น, กล้อง CCTV, ระบบรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง
การระบาดของไวรัสโคโรนาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยต้องทำงานที่บ้าน บ้านจึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงที่พักอาศัย แต่เป็นสำนักงาน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กๆ ด้วย ดังที่เธอบอกว่า “คนได้บทเรียนจาก pandemic การตัดสินใจของผู้บริโภค การเลือกลงทุนสินทรัพย์ให้ความมั่นคงกับชีวิต...บ้านเป็นทุกอย่าง everything at home”
6 ปี 23 โครงการ
จุดเด่นของบริษัทคือ การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลแทรกไว้ในโครงการและบริการต่างๆ ทำให้เข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้น เกิดความไว้วางใจและมั่นใจในบริษัท แต่ละแบรนด์เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง
Human centric เป็นคำที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า เป็นหลักคิดในการออกแบบบ้านเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยทุกช่วงอายุ ทุกเพศ ทุกวัย โดยศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการพื้นฐาน ปัญหาต่างๆ ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตมีพื้นที่ comfort zone ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกัน รวมถึงการจัดเตรียมบริการต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการเป็น long live service
“สมัยก่อนเรามี co-working space ทุกคนใช้พื้นที่ร่วมกันทำงาน พอเราเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ บ้านต้องตอบโจทย์ทุกอย่างเป็นสถานที่ใช้ชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงอย่างมีความสุข เมื่อก่อนออกแบบเป็นพื้นที่ day zone, night zone แต่ตอนนี้ใช้พื้นที่อยู่ร่วมกัน คุณพ่อนั่งทำงานเห็นคุณแม่ (ทำกับข้าว) อยู่ในครัว คุณแม่ทำงานเห็นลูกนั่งอยู่ คือมีพื้นที่เพียงพอ สามารถเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลา ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไม่เครียด...”
“เราชัดเจนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแนวราบอย่างเดียว ไม่ได้เป็น combination...ทุกครั้งเวลาเปิดโครงการได้รับการตอบรับดี ทั้งเรื่องแบรนด์และตัวสินค้าพอลูกค้ามาดู เห็นแล้วว่ามีความคุ้มค่าตั้งแต่ทำเลที่ตั้งตัวบ้าน ฟังก์ชันโปรโมชั่นที่จัดให้...ออริจิ้นโตมาทางคอนโดฯ 10 ปีแล้วไม่เคยทำบ้านแนวราบ แต่ตลาดผู้บริโภคก็มีแนวราบด้วย พอเราทำตรงกับช่วง pandemic ซึ่งเป็นตัวเร่ง ทำให้เห็นว่าเป็นโอกาสของแนวราบและกลุ่มออริจิ้นตัดสินใจถูกจังหวะ ถูกเวลา”
ทั้งนี้ผู้บริหาร BRI เพิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 21 ธันวาคม ปี 2564
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้โต แต่แนวราบโตขึ้น ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจว่า เมื่อเราพร้อมทั้งยอดรับรู้รายได้การเติบโต กระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานยื่น filing ก็ผ่าน เราจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเดือนกรกฎาคม ปี 2564 และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์...โควิดเป็นโอกาสจริงๆ การปรับตัวของบริทาเนียให้สอดคล้องวิถีชีวิตใหม่ การปรับผลิตภัณฑ์ทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด”
จากโครงการแรกในปี 2560 เพิ่มเป็น 23 โครงการภายในปี 2564 โดยเลือกทำเลกรุงเทพฯ และปริมณฑลชั้นนอกที่มีอัตราเติบโตของประชากรสูง อยู่ใกล้ทางด่วน ถนนสายหลัก หรือระบบขนส่งมวลชนต่างๆ และภาคตะวันออกโดยเฉพาะบนทำเลโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยโครงการละ 1.5 ปี
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา BRI ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจปี 2565 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Growth Together” การขยายตลาดสู่ทำเลใหม่ๆ โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ การร่วมทุนกับพันธมิตร รวมทั้งปรับตัวสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 2565 บริษัทมีบ้านแนวราบที่อยู่ระหว่างการขาย 20 โครงการ มูลค่ารวม 22,250 ล้านบาท โดยในปี 2565 วางแผนเปิดตัวที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มเป็น 12 โครงการมูลค่ารวม 13,400 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล 6 โครงการ ต่างจังหวัด 6 โครงการ และวางเป้าหมายยอดขายปีนี้ไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากปี 2564 ที่มียอดขาย 8.3 พันล้านบาท และวางเป้าหมายยอดรับรู้รายได้ 7,250 ล้านบาท โดยมียอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ ณ สิ้นปี 2564 แล้ว 1,204 ล้านบาท
เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ BRI
อ่านเพิ่มเติม:- ปอกเปลือกโครงการพันธบัตรใน CALIFORNIA
- ‘Jay Bowen’ คนเหล็กแห่งกองทุนบำนาญใน Tempa
- Paige Mycoskie แห่ง Aviator Nation ผู้มั่งคั่งจากกางเกงวอร์ม 160 เหรียญ
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine