"การศึกษา+สาธารณสุข" สมการบุญ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ - Forbes Thailand

"การศึกษา+สาธารณสุข" สมการบุญ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ

นอกจากติดอันดับทำเนียบมหาเศรษฐีของไทยในลำดับที่ 13 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 7.98 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ตามการจัดอันดับของ Forbes แล้ว (ในปีนี้ขึ้นมาอยู่อันดับ 10) ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และดาวนภา เพชรอำไพ ผู้ก่อตั้งบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ยังติดอันดับเศรษฐีใจบุญของไทย ด้วยยอดเงินบริจาคด้านสาธารณสุขและการศึกษา ตั้งแต่ปี 2558-2562 รวมเป็นเงิน 305 ล้านบาท

เส้นทางที่เดินไปอย่างคู่ขนานของธุรกิจสินเชื่อ และการบริจาคของสองผู้บริหาร MTC ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ เหมือนจะตอกย้ำว่า สิ่งที่มหาเศรษฐีใจบุญคู่นี้ทำไม่ได้มุ่งหวังแค่ผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ แต่ยังคำนึงถึงการตอบแทนให้กับสังคมการแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษาของประเทศ

บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล ดำเนินธุรกิจประเภทสินเชื่อตั้งแต่ปี 2535 เน้นการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ โดยครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นก็มีสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อรถเพื่อการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อโฉนดที่ดิน โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ข้าราชการ และมนุษย์เงินเดือน

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ

ชูชาติและดาวนภาเป็นคนจังหวัดสุโขทัย ฝ่ายชายจบจากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ครอบครัวทำธุรกิจค้าไม้ ส่วนฝ่ายหญิงจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครอบครัวทำธุรกิจโรงสี

ก่อนจะมาเป็นเจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน ทั้งคู่เป็นพนักงานธนาคารกสิกรไทยสาขาอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ชูชาติเริ่มชีวิตเป็นหนุ่มแบงก์ในปี 2519 ด้วยเงินเดือน 1,750 บาท ต่อมาเขาและภรรยาได้ทำธุรกิจเสริม หนึ่งในนั้นคือการรับซื้อบัญชีลูกหนี้จากการผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งส่วนใหญ่ติดค้างชำระงวด ทั้งคู่สามารถสร้างธุรกิจได้อย่างมั่นคง และลาออกจากธนาคารเพื่อบริหารธุรกิจของตนเองเต็มตัว

 

ให้ด้วยใจ

ชูชาติและดาวนภา เริ่มบริจาคเงินก้อนใหญ่ภายหลังจากที่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปี 2558 บริจาคเงินสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน จิตเมตตา มูลค่า 40 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด หลังจากนั้นได้บริจาคให้กับสถานพยาบาล หรือสถาบันการศึกษาต่อเนื่องมาทุกปี ทั้งหมดทำในนามส่วนตัว

ชูชาติ เล่าถึงความคิดในการทำโครงการเพื่อการกุศลนี้ว่า เขาและภรรยาทำธุรกิจมา 30 ปีแล้ว เห็นว่าบริษัทมีพื้นฐานที่มั่นคงกิจการขยายใหญ่โต เมื่อบริษัทมีกำไรก็แบ่งเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น เขาและภรรยาในฐานะผู้ถือหุ้นก็ได้รับปันผลเช่นกัน

“ผมกับภรรยาไม่ได้ใช้เงินมากมาย ลูก 2 คนเป็นฝั่งเป็นฝาหมดแล้ว คนโตเรียนจบปริญญาเอก เป็นข้าราชการ สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 2 เรียนจบปริญญาโท มีครอบครัวแล้วและมาทำงานบริหารที่บริษัท ลูกๆ มีอาชีพการงาน มีบ้านมีรถ มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานหมดแล้ว ไม่ต้องห่วงเงินส่วนที่เราบริจาค ไม่กระเทือนต่อลูกหรือครอบครัว เราสองคนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คิดเป็น 67% ได้ปันผลหลัก 100 ล้านบาทต่อปี บริจาค 50 ล้าน ไม่ทำให้เราลำบากนัก ก็คิดอย่างนั้นเพราะส่วนตัวมีรายได้จากเงินเดือนและโบนัสซึ่งเพียงพอสำหรับการดำรงชีพ”

“ลูกค้าเราคือชาวบ้าน เกษตรกร คนทำงานก่อสร้าง สาวโรงงาน ซึ่งมีส่วนเกื้อหนุนกันเรามีรายได้ มีกำไรก็ควรตอบแทน ซึ่งทำได้หลายวิธี ตอนไปโรงพยาบาลรัฐ เห็นว่ามีคนเจ็บป่วย ญาตินอนรอในโรงพยาบาลเต็มไปหมด คิดว่าน่าจะเริ่มต้นตอบแทนที่นี่ก่อน”

ภาพจำลองอาคารผู้ป่วยนอก รพ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ที่เขาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างแห่งนี้ 50 ล้านบาท

พอตกลงใจว่าจะทำบุญกับโรงพยาบาลจึงกลับไปทำที่แผ่นดินพ่อขุน คือโรงพยาบาลสุโขทัย พอบริจาคให้แห่งแรก สถานพยาบาลอื่นๆ ก็ติดต่อมาซึ่งเขาไม่ขัดข้อง เพียงแต่คิดว่าควรทำให้เป็นระบบ มีการจัดการตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้จำเป็นมากที่สุดก่อน จึงขอให้สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยช่วยจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งต่อไปพวกเขาสนับสนุนสถานพยาบาลในจังหวัดโดยใช้เกณฑ์นี้

 

การศึกษาสร้างชีวิต

งานอีกด้านที่ชูชาติให้การสนับสนุนคือการศึกษา และอีกเช่นกัน ขอเน้นสถาบันที่ทั้งสองเคยร่ำเรียนมา ในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยโรงเรียนอุดมดรุณี โรงเรียนศรีคีรีมาศวิทยา และโรงเรียนศรีนคร ทั้งหมดอยู่ในเมืองสุโขทัย รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท

รูปแบบคือการมอบทุนการศึกษา ทั้งแบบต่อเนื่องและแบบปีต่อปี ให้กับนักเรียนโรงเรียนศรีนคร อำเภอศรีนคร และนักเรียนโรงเรียนอุดมดรุณี อำเภอเมือง ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 5 รวมทั้งผู้กำลังศึกษาต่อมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา

นอกจากนั้นยังได้บริจาคเงินสร้างและต่อเติมห้องสมุดโรงเรียนศรีคีรีมาศวิทยา อำเภอคีรีมาศ และต่อเติมอาคารศิษย์เก่าโรงเรียนอุดมดรุณี ก่อสร้างโดมสำหรับให้นักเรียนทำกิจกรรมที่โรงเรียนศรีนคร

ปี 2559 อดีต “ลูกช้าง” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่งประสบความสำเร็จในการบริจาคเงินให้กับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเขาเคยศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยคณะได้เสนอโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศเศรษฐศาสตร์ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ซึ่งเป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วย ห้องเรียนห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องประชุมห้องวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศในการจัดการเรียน การสอนและวิจัย อีกทั้งเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทันสมัย

 

คน MTC ร่วมใจแบ่งปัน

นอกจากโครงการกุศลซึ่งเขาและภรรยา ทำโดยส่วนตัวแล้ว ในส่วนของบริษัทเองก็มีการทำโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่องทุกปีเน้น 3 เรื่อง คือ การบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย โครงการบ้านใหม่ของหนู และทอดกฐินประจำปี

โดยปี 2562 มีพนักงานจากสาขาทั่วประเทศร่วมบริจาคโลหิต จำนวน 6,235 คน (คนละ 300 ซี.ซี.) รวมเป็น 1,897,500 ซี.ซี. ส่วนโครงการบ้านใหม่ของหนู ซึ่งเป็นการมอบอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ขาดแคลนเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็ก ทำมาตั้งแต่ปี 2555 ได้ส่งมอบบ้านไปแล้ว 16 หลัง เฉลี่ยหลังละ 1.1-1.2 ล้านบาท

โครงการหนึ่งที่บริษัททำมากว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนจะเป็นบริษัทจดทะเบียนคือ การทอดกฐินประจำปี โดยรวบรวมปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาไปทอดกฐินให้กับวัดต่างๆ เงินบางส่วนมอบเป็นทุนการศึกษาหรือซื้ออุปกรณ์การเรียนให้กับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยปี 2562 สามารถรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาได้ 5,557,346 บาท และทอดกฐินให้กับวัด 4 แห่ง 4 ภาค

น่าสังเกตว่างานบุญเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ผู้ได้รับประโยชน์เป็นคนเล็กคนน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของบริษัท นายใหญ่ของ MTC ตอบว่า ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น ขอใช้คำว่าเป็นคนใกล้ตัวคือเกษตรกร ก่อสร้าง สาวโรงงาน และคนค้าขายรายย่อย

“วิธีคิดเราไม่ได้มาจากว่าทำงานและได้เงินมาตรงนี้ก็กลับคืนไป ผมคิดว่าโลกจะพัฒนาได้ต้องมีการรับและให้ เรารับจากสังคมมาก็ตอบแทนคนอื่น ส่วนตัวไม่ได้สะสมอะไรมากมาย ครอบครัวเราสมถะ ไม่สะสมที่ดิน ทรัพย์สินเงินทอง ภรรยายิ่งสมถะมากบอกว่าเป็นภาระ สิ่งที่เราทำทุกวันนี้เพื่อความสบายใจ อยากทำอะไรเราก็ทำ”

  อ่านเพิ่มเติม   เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์  ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ บมจ. เมืองไทยแคปปิตอล
คลิกอ่านฉบับเต็ม "การศึกษา+สาธารณสุข" สมการบุญ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา