ฤทธี กิจพิพิธ ซีอีโอ “Hybrid” จับไมค์ร้องเพลงเล่าชีวิต - Forbes Thailand

ฤทธี กิจพิพิธ ซีอีโอ “Hybrid” จับไมค์ร้องเพลงเล่าชีวิต

ย้ำว่าเป็นผู้บริหาร "ไฮบริด" ทายาท SCN ผู้โตจากสังคมหลากวัฒนธรรม แต่ละวันเขาไม่เพียงวุ่นวายกับการขับเคลื่อนบริษัทระดับพันล้าน แต่อีกด้านของชีวิตก็เต็มที่ไม่แพ้กัน ล่าสุดสวมบทบาทนักร้องเล่าชีวิตผ่านเสียงเพลงแบบมืออาชีพ เผยแพร่ผ่าน Youtube และ Spotify พร้อมเผยมุมสะสมนาฬิกาด้วยมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และป้ายทะเบียนรถยนต์สวยหายาก

พวกเรา Forbes Thailand ตอบรับการเชื้อเชิญเข้าสัมภาษณ์ ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (SCN) อย่างทันทีทันใดเมื่อปลายสายบอกเราว่า “ดร.แชมป์ (ชื่อเล่นฤทธี) จับไมค์ร้องเพลง” ใช่พวกเราฟังไม่ผิด ฤทธีทายาท SCN บริษัทที่มีรายได้ระดับพันล้านบาทคว้าไมค์ร้องเพลงเข้าห้องอัดแบบนักร้องอาชีพ แล้วโปรโมตเพลงผ่านแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์เหมือนกับศิลปินอื่นๆ ที่ทำ ฤทธี วัย 39 ปี เข้านั่งตำแหน่งซีอีโอของบริษัทที่มีอายุ 33 ปีราว 6 ปีที่แล้ว ทุกๆ วันเขามีภารกิจมากมาย แต่เขาก็สามารถสร้าง “สมดุล” ให้กับชีวิตได้ จะว่าไปการมาเยือนของโควิด-19 ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เฉกเช่นฤทธีที่มองโลกในแง่ดี และค้นหาหนทางปรับระบบชีวิตใหม่จนลงตัว ไม่ว่าจะในบทบาทสามี คุณพ่อลูกสาม หรือหน้าที่การงาน จนมีเวลาเหลือให้กับชีวิตส่วนตัว และการร้องเพลงก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์จากการจัดสรรเวลาของชีวิตใหม่นั้น

- ตัวตนในโลกธุรกิจ -

ฤทธีเป็นคนมุ่งมั่นและทุ่มเท พร้อมที่จะปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ “เปลี่ยนแปลง” อยู่เสมอ พลันที่เกิดโรคโควิดระบาดจนเกิดการล็อกดาวน์ เขาไม่รอช้าที่จะเปลี่ยนบ้านให้เป็นออฟฟิศ โดยเริ่มการทำงานแต่เช้าด้วยการประชุมผ่านออนไลน์กับทีม SCN และช่วงบ่ายก็เป็นเวลาของการเซ็นบรรดาเอกสาร ช่วงเย็นอาจจะมีออกไปพบปะผู้คนบ้าง และแน่นอนว่านอกเหนือจากเรื่องสังสรรค์แล้ว บ่อยครั้งยังเป็นเรื่องของการหา “โอกาสใหม่ๆ” ทางธุรกิจและหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อที่จะนำพา SCN ให้เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจหลากหลายในอนาคต ไม่พึ่งพากับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง “(อนาคต) อยากให้สแกน อินเตอร์เป็นบริษัท holding company ที่แข็งแรงมากๆ มีการ diversify ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคตเรื่อยๆ มีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง และมีพาร์ตเนอร์ที่สำคัญ” เขากล่าว ปัจจุบัน SCN มีจุดยืนคือ เป็น “บริษัทพลังงานสะอาด” ในปี 2564 SCN มีการเติบโตภายใต้กลยุทธ์ 3+1 ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจขนส่งและอื่นๆ โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของการเติบโตรวมไปด้วยกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่ม iCNG และ iLNG เพิ่มเติมด้วยการร่วมทุนกับบริษัทพลังงานใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Shizuoka Gas Company Limited (SZG) และกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายเดินหน้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ เมือง Minbu ประเทศเมียนมา กำลังการผลิตรวมทั้งโครงการ 220 เมกะวัตต์ และพัฒนางานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะส่งเสริมให้ผลประกอบการในปี 2565 เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ปี 2564 SCN มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,749.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 68.23 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสแรกของปีนี้มีรายได้ 671.95 ล้านบาท กำไรสุทธิ 269.01 ล้านบาท โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากบันทึกรายได้พิเศษมูลค่า 313 ล้านบาทหลังการขายหุ้นบริษัทย่อย บริษัทเครือข่าย ก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น จำกัด ให้กับ SZG ในสัดส่วน 49% บมจ. สแกน อินเตอร์ (SCN) “สำหรับอนาคตโต 10-20% ต่อปีก็พอแล้ว และสามารถรักษา conservative ไปเรื่อยๆ ซึ่งโตมาจากธุรกิจเดิมที่เรามี แต่ถ้ามีธุรกิจใหม่ๆ จะมีการก้าวกระโดดไปบ้าง” เขากล่าว แนวทางการบริหารงานของฤทธี เขาเน้นที่ “ระบบ” มาก เพราะเชื่อว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ต้องมี “ระบบ” ที่ดี ไม่ใช่เกิดจากศักยภาพของคนใดคนหนึ่ง ระบบที่ดีจะช่วยลดภาระผู้บริหาร เพราะพนักงานสามารถทำงานลื่นไหลจนถึงเป้าหมายปลายทางได้ด้วยตนเองโดยปราศจากการกำกับใดๆ ขณะที่อีกด้านตัวตนของการเป็นมนุษย์ “ไฮบริด” ของฤทธียังได้ช่วยเติมเต็มในวิสัยทัศน์การทำธุรกิจและเข้าใจถึงความต้องการของมนุษย์ “ไม่ใช่แค่เห็น แต่ “สัมผัส” กับคนเยอะ เพื่อนผมมีตั้งแต่มีบ้านพักตากอากาศ Beverly Hill ใน L.A. แถบคนรวย เป็นคนไทยรวยมาก มีเครื่องบินส่วนตัว จนถึงเป็นลูกตำรวจอยู่ในแฟลตตำรวจก็มี บางทีมันทำให้หล่อหลอมอะไรบางอย่าง ทำให้ผมเข้าใจคน พอคุยแล้วประเมินได้ว่าต้องการอะไร เขามาจากที่ไหน เขามีความคิดอย่างไร” เขากล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มว่าอย่างล่าสุดบริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การปลูกกัญชงในระบบปิดเพื่อสร้างผลผลิตระดับพรีเมียม ฤทธียอมรับว่าเขาเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัญชงและกัญชา แต่เขารู้จัก “การใช้คน” และมองคนเป็นที่จะดึงมาร่วมงานด้วย  

- ตัวตนผ่านเสียงเพลง -

ตัวตนผ่านเสียงเพลงนอกเหนือจากการงานแล้ว เขายังสนุกกับชีวิตอีกด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ “ดนตรี” เขาหลงรักดนตรีตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หลงใหลการร้องเพลงทุกแนว แต่ที่ชอบมากที่สุดคือ แนวร็อก เขาบอกพร้อมรอยยิ้มว่า เขาเป็นคนร้องเพลงเพราะคนหนึ่ง ชอบร้องเพลงตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี โท และเอก หลังกลับจากเมืองนอกหากมีโอกาสได้ไปรับประทานอาหารหรือสนุกกับเพื่อนๆ ก็จะได้ขึ้นไปร้องทั้งเพลงไทยและสากลอยู่เสมอ ความสามารถพิเศษทางการร้องเพลงมาประจวบเหมาะพอดีเมื่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขาที่ชื่อ ฌอน-ศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์อดีตนักร้องและปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนได้หวนกลับมาตามแพสชั่นด้านดนตรีของตนอีกครั้ง ด้วยการเปิดบริษัทเพลงชื่อ 4289 Entertainment ซึ่งวางตัวเองเป็น music agency ไม่ใช่ค่ายเพลง โดยคอนเซ็ปต์อยากจะให้นักธุรกิจที่ชอบร้องเพลง มีใจรักด้านดนตรีแบบเดียวกัน ระหว่างนี้เองศุภศิษฏ์กำลังหานักร้องเข้าร่วมสังกัดและได้ชักชวนฤทธีเข้าร่วม โดยโน้มน้าวให้เขาร้องสักเพลงหนึ่ง ร้องแบบดีๆ และมีโปรดิวเซอร์มืออาชีพเข้าดูแล ท้ายสุดฤทธีก็ตอบตกลงและได้กลายเป็นศิลปินเพลงคนที่ 2 ของบริษัทตามหลังศุภศิษฏ์
บรรยากาศ ณ ห้องอัดเสียง ฤทธีใช้เวลาทั้งหมดร่วม 16 ชั่วโมงเพื่ออัดเสียงเพลงแรกในแบบมืออาชีพของชีวิตที่ชื่อ Champion
เพลงที่ฤทธีร้องเป็นเพลงไทยมีชื่อคล้ายกับชื่อเล่นของเขาว่า Champion เป็นแนว R&B กลิ่นอายในยุค 80-90 ซึ่งเป็นแนวเพลงที่เขาชอบ โดยเนื้อหาของเพลงนั้นเกี่ยวกับชีวิตของเขาในมุมที่ว่า “กว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านอะไรมาบ้าง”  

- มุมนักสะสม -

อีกงานอดิเรกของฤทธีที่เขาโปรดปรานมากคือ การสะสมนาฬิกา เหตุที่หลงรักนาฬิกาฤทธีให้เหตุผลว่า ตัวนาฬิกาเองมันมีเสน่ห์ด้วยเรื่องของ craftsmanship ไม่ใช่ว่ายิ่งแพงยิ่งดี แต่ว่า craftsmanship ที่ถูกต้องที่เหมาะสมกับสิ่งที่มันเกิดเป็นอะไร อย่างใส่ดำน้ำก็มี craftsmanship อีกแบบ นาฬิกาไว้ใส่หรูหราฟังก์ชันก็อีกแบบ หรือสิ่งที่อยู่ข้างในฟังก์ชันนั้นเป็นอย่างไร อีกมุมที่รักของเขาก็คือ การสะสมป้ายทะเบียนรถยนต์หายาก เขาบอกว่า ตอนเด็กๆ ชอบกีฬาแข่งรถ แต่เมื่อโตขึ้นและเป็นพ่อของลูก รถแข่งก็ไม่ตอบโจทย์กับชีวิตเพราะมันอันตราย เลยมองเป็นเรื่องความสวยงามของรถมากกว่า บางคนมองที่ตัวรถเป็นหลัก แต่ต่างจากเขาที่ชอบเรื่องของทะเบียนรถ เนื่องจากรถป้ายแดงเมื่อออกจากโชว์รูมราคาก็หายไปเกือบครึ่งแล้ว แต่ทะเบียนรถเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ทำให้รถสวยขึ้น “ถ้ามีรถรุ่นเดียวกัน สีเดียวกันมา 2 คัน ถ้ามีทะเบียน 9999 อีกคันมั่วๆ มันจะสวยมากขึ้น” แต่กระนั้นทุกอย่างก็มีต้นทุนเช่นกัน โดยต้นทุนของทะเบียนรถจะสอดคล้องกับความสวยงามที่เกิดขึ้น แต่ข้อดีของทะเบียนรถคือ ราคาไม่ลงและมีแต่ขึ้นอย่างเดียว โดยส่วนตัวเขาชอบเลข 4 เมื่อก่อนใช้ 4444 ทั้งหมด จากนั้นกรมขนส่งก็เปิดประมูล 9ก XXXX ออกมา เขาเห็นโอกาส 1 ครั้งในอีก 10 กว่าปีที่จะเจอเลข 9 พร้อมกัน 5 ตัว ก็ได้มาทั้งหมด 4 ใบ เพราะในการประมูลทะเบียนรถ หมวด 1ก XXXX จนถึง 9ก XXXX จะใช้เวลาถึง 12 ปี ตอนนี้มันถึงจุด 9 จะขึ้นเป็น 1ข พอ 10 กว่าปีก็จะมี 9 อีกครั้ง ซึ่งเลข 9 จำนวน 5 ตัว หลังการประมูลเสร็จมันจะมีแค่ 35 ใบทั้งประเทศไทย
ฤทธีกับป้ายทะเบียน 9กณ 9999 ในราคากว่า 8 ล้านบาท
เขาชอบเลข 4 อาจเป็นเพราะ “ดวงสมพงศ์มากกว่า” คนจีนแท้ๆ มองว่า เป็นเรือสำเภาที่ออกไปหาเงิน อย่างไรก็ตามเลข 4444 เป็นราคาไม่แพงมากหากเทียบกับเลข 9999, 8888 หรือ 1111 สำหรับเลข 9 มัน universal อยู่แล้ว เขามองเลข 9 ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนด้วย และเป็นความชอบส่วนตัวที่เอามาใช้ได้ด้วย ฤทธีบอกว่า ทุกวันนี้ชีวิตเขาลงตัวมาก มีความสุขมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ครอบครัวหรือใช้ชีวิตส่วนตัว ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะเขามีภรรยาที่ดีที่เข้าใจเขาในทุกๆ บทบาทที่ทำขณะที่หน้าที่การงาน เขาก็ขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสและเชื่อมั่นในตัวเขา และเชื่อว่า SCN ยังมีหนทางการเติบโตอีกยาวไกล และชีวิตของเขาในวันนี้มัน “เพิ่งจะเริ่มต้น”   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ SCN อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine