นันทินี แทนเนอร์ ฉันไม่ใช่ "Professional Time Killer" - Forbes Thailand

นันทินี แทนเนอร์ ฉันไม่ใช่ "Professional Time Killer"

หากเกิดมาโชคดีครอบครัวมีมรดกตกทอดให้ใช้จ่ายได้อย่างสบาย ชีวิตนี้ก็คงไม่คิดจะทำงาน แต่ใครจะรู้ว่าคนที่มีพร้อมทุกอย่างกลับกลายมาเป็นคนที่ทำงานไม่หยุด 7 วันต่อสัปดาห์ กระทั่งได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าแม่อีเวนต์ขี่ม้าโปโล

ชีวิตนี้ไม่เคยคิดเลยว่าจะทำงาน!” นันทินี แทนเนอร์ (สกุลเดิม สุทธิรักษ์) ศิลปินไฮโซอดีตนักกีฬาโปโลหญิงคนแรกของประเทศไทย และมาดามเคี่ยนหงวนเจ้าของที่ดินกว่า 10 ไร่หัวมุมถนนวิทยุ-สารสิน ยืนยันหนักแน่น

แม้ปัจจุบันนันทินีนั่งบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอลบีจี จำกัด ในเครือ บี.กริม (Link & B.Grimm Limited: LBG) ทำธุรกิจนำเข้าน้ำหอมและเครื่องสำอางแบรนด์ดังจากฝรั่งเศสมานานกว่า 49 ปี เช่น ล็อกซิทาน (L'Occitane) ในช่วงแรกๆ, เกอร์แลง (Guerlain), บูเชอรง (Boucheron), นีน่า ริชชี่ (Nina Ricci), วาลมองท์ (Valmont), เจ.เอฟ. ลาซาร์ทีก (J.F. Lazartigue), และทาลโก้ (Thalgo)

ชีวิตพี่มักจะมีอะไรที่บังเอิญให้มาเกี่ยวข้องและทำให้ต้องคลุกคลีต่อเนื่องมาเรื่อย

 

เหตุเพราะความบังเอิญ

นันทินีเล่าว่า จุดเริ่มต้นในธุรกิจนำเข้าไม่ได้เป็นเพราะอยากทำงาน แต่เป็นความบังเอิญที่ขณะนั้นเพื่อนซึ่งก็คือ Harald Link ประธานกลุ่มบริษัทบี.กริมในปัจจุบัน ได้สิทธินำผลิตภัณฑ์เกอร์แลงจากฝรั่งเศสเข้ามาจำหน่ายในไทย จึงมาขอให้นันทินีช่วยเรื่องการออกแบบเพราะเธอจบมาด้านศิลปะ

นันทินีรับหน้าที่นี้เพราะคิดว่าจะช่วยเพื่อนโดยอาศัยความรู้ด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมา เธอจึงได้ออกแบบร้านเกอร์แลงในไทย จากนั้นก็ช่วยดูแลร้านไปด้วย (ช่วยฟรีไม่คิดค่าจ้าง)

 
View this post on Instagram
 

A post shared by Forbes Thailand Magazine (@forbesthailand) on

...waiting for Gist...

พี่คลุกคลีกับร้านเกอร์แลงของคุณ Link ทั้งออกแบบทั้งคอยดูแลจัดการ โฉบไปโฉบมาจากไม่กี่ชั่วโมงก็ชักจะเป็นครึ่งวัน บางทีก็เต็มวันและกลายเป็นหลายวันนันทินีเล่าถึงการมีส่วนร่วมในช่วงแรก

ทีแรกไม่ได้คิดเลยว่าเป็นงานก็แค่ช่วยเพื่อนออกแบบ นี่ถ้ารู้ว่าเป็นงานแต่แรกก็คงไม่กล้าทำนันทินีย้ำพร้อมระเบิดเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ธุรกิจนำเข้าน้ำหอมและเครื่องสำอางจากฝรั่งเศสเดินทางมายาวนานกว่า 40 ปี โดยนันทินีถือหุ้นในแอลบีจี 22% เป็นผู้บริหารเต็มตัว และเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเพราะแบรนด์เครื่องสำอางที่นำเข้าล้วนเป็นที่ยอมรับแพร่หลายในไทย และเธอยังได้ต่อยอดเปิดธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจร้านปารีสสปา ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากฝรั่งเศสมาให้บริการลูกค้า โดยเป็นสปาที่เก่าแก่ที่สุดในไทย

 

ปั้นธุรกิจจากกีฬาโปรด

ในอีกด้านของชีวิตเธอนั้น นันทินีชอบออกแดด ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง ซึ่งกีฬาที่โปรดปรานที่สุดคือขี่ม้าและยังเล่นเทนนิสเป็นกิจวัตรประจำวันด้วย

เธอนำความชอบมาเป็นงานอดิเรกและในที่สุดมันได้กลายมาเป็นงานหลักยิ่งกว่าธุรกิจนำเข้าน้ำหอมเสียอีก นั่นคือการจัดกิจกรรมขี่ม้าโปโลจนเธอได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าแม่อีเวนต์ขี่ม้าโปโล

นันทินี-แทนเนอร์-โปโล-1
นันทินีกับม้าที่คุ้นเคย

เธอสามารถทำมันจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศและนานาชาติ โดยกิจกรรมแข่งขันโปโลรายการใหญ่ที่จัดต่อเนื่องมาทุกปี เช่น Thai Polo Open, Beach Polo Championship และ Queen's Cup Pink Polo ซึ่งมาระยะหลังงาน Queen's Cup Pink Polo ทำรายได้แซงรายการอื่นไปแล้ว

นันทินีขี่ม้าจริงจังมาตั้งแต่เด็ก หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยไม่นานก็ได้รู้จักกับ Harald Link และ วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของคิงเพาเวอร์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้ชวนให้เธอไปเรียนขี่ม้าโปโล และได้เป็นนักกีฬาขี่ม้าโปโลหญิงคนแรกของไทยในวัยเกือบจะ 50 ปี จากนั้นเธอได้เดินสายไปแข่งในยุโรป

จากกิจกรรมที่ชอบนำมาสู่การลงทุนสนามขี่ม้า โดยนันทินีได้ร่วมทุนกับ Harald Link สร้างสนามขี่ม้า ไทยโปโล แอนด์ อีเควสเทรียน คลับ (Thai Polo & Equestrian Club) ที่พัทยาเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ขึ้น เป็นสนามแข่งม้าที่ได้มาตรฐานสากล และยังนั่งตำแหน่งอุปนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทยด้วย

นันทินี-แทนเนอร์
ร่วมกิจกรรม Queen's Cup Pink Polo

มาถึงวันนี้ไทยโปโลฯ มีคอกม้าอยู่ 200 คอก เป็นธุรกิจที่ดีทีเดียวเพราะเมื่อคนมาเล่นโปโลก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเล่น (Green Fee) คนมาแข่งก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าร่วมแข่งขัน (Tournament Fee) “มันก็เป็นธุรกิจนะ และเป็นธุรกิจที่เราชอบด้วยนันทินีย้ำ

ล่าสุด สหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติ หรือ FEI (Federation Equestrian International) จากเมือง Lausanne สวิตเซอร์แลนด์ ตัดสินใจมาใช้ไทยโปโลคลับฯ เป็นสนามคัดเลือก (Qualify) นักกีฬาขี่ม้าเพื่อไปแข่งโอลิมปิก ซึ่งหมายความว่านักกีฬาขี่ม้าจากทุกประเทศทั่วโลกต้องมาใช้สนามไทยโปโลฯ เป็นที่คัดตัว จากแต่ก่อนสนามคัดตัวจะอยู่ในแถบยุโรปเท่านั้น

การแข่งขันโปโลไม่ใช่แค่กีฬาแต่มันเป็นธุรกิจมีผู้สนับสนุนมากมายและใช้เม็ดเงินไม่น้อยในแต่ละทัวร์นาเมนต์นันทินีกล่าวอยากภาคภูมิ

นันทินีกับการขี่ม้าเป็นกิจวัตรที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนประจำที่อังกฤษ เธอเลือกกิจกรรมขี่ม้าเป็นการใช้ชิวิตในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ของนักเรียนประจำ ทำให้คุ้นเคยและชื่นชอบการขี่ม้า

นันทินี-แทนเนอร์-ธุรกิจ

จนกระทั่งเรียนจบและแต่งงานตอนอายุ 24 ปี ก็ไม่นึกว่าจะต้องทำงานเพราะสามี (Ronald E. Tanner) ดูแลดีทุกอย่าง เธอจึงใช้ชีวิตแบบที่ชอบด้วยกิจวัตรประจำวันคือตื่นตี 5 ไปขี่ม้าที่โปโลคลับราชประสงค์ กว่าจะอาบน้ำม้าทำอะไรเสร็จก็ 9 โมงเช้า เสร็จแล้วก็กลับบ้านพอบ่ายสามก็ไปเล่นเทนนิส ตกเย็นก็ไปกินมื้อเย็นกับแขกต่างประเทศ

แถมช่วงนั้นยังมีเวลาไปเรียนขับเครื่องบินผาดโผนด้วย โดยไปสมัครเรียนพร้อมกับสามี

ตอนนั้นหลายคนมองว่าพี่เป็น professional time killer เราก็บอกว่าไม่ใช่นะฉันทำอะไรหลายอย่างเพราะความชอบไม่ใช่เพื่อฆ่าเวลา และวันนี้มันพิสูจน์ได้ว่าทุกอย่างที่ทำรวมถึงการขี่ม้า เราได้สร้างมันจากความชอบจนกลายมาเป็นธุรกิจเป็นอีเวนต์ระดับอินเตอร์ได้

 

สนับสนุนศิลปะ-ดนตรี

เธอยังมีกิจกรรมที่คาบเกี่ยวเป็นอีกธุรกิจนั่นคือการทำร้าน “The Met Store” (The Metropolitan Museum of Art Store) ที่แอลบีจีเข้าเทกโอเวอร์กิจการ

The Met Store ในประเทศไทย นำเสนองานศิลปะจาก New York ซี่งมีชิ้นงานที่ผลิตตามงานต้นแบบจากพิพิธภัณฑ์ฯ กว่า 2 พันชิ้น มีทั้งสำหรับชีวิตประจำวันและของแต่งบ้าน ทั้งอัญมณี ผ้าพันคอ รูปแกะสลัก และประติมากรรม

นอกจากนี้ นันทินียังเป็นคณะกรรมการบริหารมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำงานตามพระประสงค์ท่านหญิงที่ต้องการพัฒนาวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพให้รุดหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ

อีกความบังเอิญที่เกิดขึ้นกับนันทินี เธอเล่าว่าได้รู้จัก เดช บุลสุข (อดีตผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านแมคโดนัลด์ในไทย) เขาเป็นคนเล่นเปียโน และมีเพื่อนรักจะเปิดพิพิธภัณฑ์เปียโนเพราะเก็บสะสมเปียเก่าไว้มากกว่า 100 หลัง แต่โชคร้ายเดชเสียชีวิตไปก่อน

ส่วนหนึ่งของเปียโนอายุมากกว่า 100 ปีที่นันทินีรับซื้อมาสะสม

คุยไปคุยมาพี่เลยรับซื้อเปียโนเก่าทั้งหมด 113 หลัง ยังเล่นได้ทุกหลังนันทินียืนยัน โดยเปียโนบางหลังเก่าถึง 170 ปี และจะนำมาทำพิพิธภัณฑ์ในอาคารเคี่ยนหงวน 5 ที่กำลังสร้างใหม่บนที่ตั้งอาคารเคี่ยนหงวน 1 ที่รื้อไปเพราะเป็นอาคารเก่าสร้างมาตั้งแต่ปี 2515

โดยอาคารเคี่ยนหงวนที่สร้างใหม่จะใช้ชื่อว่า “140 ถนนวิทยุตามเลขที่ตั้งบริเวณถนนวิทยุตัดถนนสารสิน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกงานที่เธอกำลังทำในปัจจุบัน อาคาร “140 ถนนวิทยุจะเป็นอาคารสำนักงานทันสมัยที่แบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็น “The Met Store” ชั้น 2 จะเป็น “Steinway Piano Museum” โดยอาคารจะก่อสร้างเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

 

เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และบริษัท แอลบีจี จำกัด


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “นันทินี แทนเนอร์ ฉันไม่ใช่ "Professional Time Killer” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine