ขอต้อนรับสู่ สโมสรไทยโปโลฯ ดินแดนแห่งการบังคับม้า - Forbes Thailand

ขอต้อนรับสู่ สโมสรไทยโปโลฯ ดินแดนแห่งการบังคับม้า

สโมสรไทยโปโลฯ เชิญสื่อมวลชนเดินทางสู่ ไทยโปโล แอนด์ อีเควสเทรี่ยน คลับ (Thai Polo & Equestrian Club) ดินแดนของผู้หลงไหลม้าและกีฬาการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับม้าในอาณาบริเวณ 2,000 ไร่ แห่งอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมโอกาสสัมผัส โรงแรม Movenpick นาจอมเทียน และเปิดประสบการณ์เดินทางโดยเรือยอชต์บนเส้นทางเดินเรือในอ่าวไทย

ช่วงปี 2533 กีฬาโปโลเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง โดย ฮาราลด์ ลิงค์ ผู้คลั่งไคล้ในม้าและกีฬาขี่ม้าที่ต้องการฟื้นฟูและผลักดันกีฬาโปโลในประเทศไทยให้มีชื่อเสียงในวงกว้าง จนกระทั่งปี 2546 เขาจึงก่อตั้งสโมสรไทยโปโลและสนามขี่ม้ามาตรฐานระดับโลกขึ้นที่พัทยาห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 100 กิโลเมตร ในช่วงแรกสโมสรไทยโปโลแห่งนี้ให้บริการเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาม้าโปโลเท่านั้นและเมื่อสโมสรมีความพร้อมมากขึ้นจึงเสริมบริการขี่ม้าหรืออีเควสเทรี่ยนในภายหลัง เพื่อให้การบริการครบวงจรภายในอาณาเขต 2,000 ไร่ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นคอกม้า โรงพยาบาลสำหรับม้า สนามแข่งขันซึ่งเป็นที่ยอมรับและได้รับเลือกในการแข่งขันระดับนานาชาติ  และการให้บริการกับบุคคลทั่วไปที่สนใจ เมื่อย้อนประวัติศาสตร์กีฬาขี่ม้าโปโลในประเทศไทย ต้องย้อนกลับไปช่วงรัชกาลที่ 7 ซึ่งได้มีการก่อตั้ง “สโมสรขี่ม้าตีคลี” หรือ “สโมสรกีฬาโปโล” เป็นครั้งแรกบนสยามประเทศ ในสมัยนั้นความนิยมในกีฬาขี่ม้าโปโลเป็นที่นิยมในกลุ่มชนชั้นสูงและชาวต่างชาติ ก่อนที่ความนิยมของกีฬาม้าโปโลค่อยๆ คลายมนต์ความนิยมลงโดยกินระยะเวลายาวนานราว 3 ทศวรรษ

อาณาจักรไทยโปโลฯ

กลับมาที่สโมสรไทยโปโลฯ ในปัจจุบัน คณะสื่อมวลชนเดินทางไปถึงคลับเฮ้าส์ โดยมี นารา เกตุสิงห์ เลขาธิการสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์สนามไทยโปโล แอนด์ อีเควสเทรียน คลับ รอให้การต้อนรับ ความพิเศษของคลับเฮ้าส์คือการตกแต่งภายในเรือนรับรองแห่งนี้ ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกีฬาขี่ม้าโปโลจากทั่วโลก เครื่องกีฬาเก่าแก่ที่กลายเป็นของสะสม ถ้วยรางวัลต่างๆ รวมถึงโล่ห์การแข่งขัน ที่ประดับประดาทั่วภายใน คลับเฮ้าส์ นำการบริการจาก ชักก้าบาร์ (CHUKKA BAR) บาร์เลื่องชื่อจาก Langham Hotel ประเทศอังกฤษ มาให้บริการ พร้อมด้วยสระว่ายน้ำกลางแจ้ง โดยที่เบื้องหน้าคลับเฮ้าส์แห่งนี้ คือ 1 ใน 3 สนามแข่งขันของสโมสรไทยโปโลฯ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่จัดการแข่งขันระดับโลกอาทิ การแข่งขันรอบคัดเลือกเพื่อเข้าแข่งขันในระดับโอลิมปิคในปี 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ภาพประวัติศาสตร์และการตกแต่งภายใน Club House
อาณาเขตพื้นที่ 2,000 ไร่ ของสโมสรไทยโปโลฯ รอบล้อมด้วยเนินเขาและป่าไม้ ทำให้มีสนามในการแข่งและฝึกซ้อมหลายประเภท ประกอบด้วย สนามโปโลขนาดมาตรฐาน 3 สนาม สนามฝึกซ้อม 2 สนาม สนามสำหรับแข่งขัน Cross Country สำหรับใช้แข่งขันขี่ม้ามาราธอน หรือ Endurance ระยะทาง 80 กิโลเมตร สนามแข่งขันศิลปะการบังคับม้า หรือ Dressage ทั้งในร่มและกลางแจ้ง และสนามสำหรับการแข่งขันขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง (Jumping) สหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติ ได้เลือกสโมสรไทยโปโลฯ แห่งนี้ในการแข่งขันระดับโลก ได้แก่ การเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันซีเกมส์ 2007 และ FEI Asia Eventing Championship ปี 2013 และ 2017 ซึ่งนอกจากรายการใหญ่แล้ว สนามสโมสรไทยโปโลฯ แห่งนี้ยังจัดรายการแข่งขันตลอดทั้งปี อาทิ Princess’s Cup Thai Polo Open รายการ Queen’s Cup Pink Polo ที่เพิ่งจัดแข่งขันเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และใช้เป็นสนามในการแข่งขันโปโลลีกในระดับภูมิภาคซึ่งประกอบไปด้วยสโมสรต่างๆ ของประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ที่หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน นอกจากการแข่งขันแล้วนั้น สโมสรไทยโปโลฯ ยังให้บริการสำหรับสมาชิกและบุคคลทั่วไปใน 6 ประเภทกีฬา ขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวาง (Jumping), ศิลปะการบังคับม้า (Dressage), อีเว้นติ้ง (Eventing) หรือการขี่ม้าแบบผสมผสานระหว่าง ศิลปะการบังคับม้า การขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง และการขี่ม้าผ่านภูมิประเทศ ซึ่งสนามของสโมสรไทยโปโลฯ มีคอร์สยาว 4.5 กิโลเมตร  ที่สร้างโดย Wayne Copping นักออกแบบสนามอีเว้นติ้งชื่อดังและใช้ในการแข่งขันอาเซียนเกมส์ ปี 2550 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพใช้แข่งในรายการ การขี่ม้ามาราธอน (Endurance) การขี่ม้าสไตล์คาวบอย (Reining) และ การขี่ม้าอ้อมถัง (Cowboy Barrel Racing) ความสามารถในการจัดการแข่งขันสโมสรไทยโปโลฯ แห่งนี้ยังให้บริการครบวงจรกับคนรักม้าผ่านการให้บริการ คอกม้า โรงพยาบาลม้า และ คนเลี้ยงม้า คอกม้าของสโมสรสามารถรองรับม้าได้ถึง 300 คอก เพียงพอสำหรับม้าที่ฝากเลี้ยงประจำและม้าแข่งขันด้วยสัดส่วน 1 คอก ต่อ 1 ตัว พื้นที่แปลงปล่อยม้าของที่นี่มีพื้นที่กว้างขวางทำให้ม้ามีอิสระและผ่อนคลาย สำหรับโรงพยาบาลมีสัตวแพทย์และพยาบาลประจำสามารถวินิจฉัยโรคและผ่าตัดขนาดใหญ่ได้ หากเกิดอุบัติเหตุกับม้า โดยที่สโมสรไทยโปโลฯ ยังได้นำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาผนวกใช้ร่วม อาทิ เครื่องนวดกล้ามและคลายเส้นเอ็นของม้า
แปลงปล่อยบางส่วนเพื่อความผ่อนคลายของม้า

คนเลี้ยงม้าแห่ง สโมสรไทยโปโลฯ

หากสุขภาพที่ดีกับม้าเกิดขึ้นได้จากอนามัยของคอกม้าและการรักษาจากสัตวแพทย์แล้วนั้น แต่ยังมีบุคคลสำคัญที่ต้องกล่าวถึง บุคคลที่เคียงข้างนักขี่และดึงศักยภาพม้าให้พร้อมในการแข่งขันคือ คนเลี้ยงม้า หรือ Groom นั่นเอง อาชีพ คนเลี้ยงม้า เป็นอาชีพที่เริ่มต้นด้วยความรักไม่ว่าที่ใดบนโลก ในต่างประเทศอาชีพนี้มีความสำคัญอย่างมาก ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญ ม้าทุกตัวไม่จำเป็นต้องมีคนเลี้ยงม้าหากนักกีฬามีเวลามากพอในการดูแลพวกเขา นักกีฬาในต่างประเทศส่วนใหญ่มีความสามารถในการเลี้ยงดูและทำความเข้าใจอาการที่ม้าแสดงออกในเบื้องต้นได้อยู่แล้ว เป็นการถ่ายทอดกันต่อมาๆ จากรุ่นสู่รุ่น สำหรับประเทศไทยในอดีตคนม้าไม่มีศักดิ์ศรีอะไร แต่ปัจจุบันเมื่อเวลาเปลี่ยนความคิด เป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน เขาคือบุคคลสำคัญที่ปรากฎกายข้างนักกีฬาและม้า ในการแข่งขันอย่างโอลิมปิคเกมส์หรือการแข่งขันสำคัญ คนเลี้ยงม้า คือคนเพียงคนเดียวที่อยู่เคียงข้างม้าและนักกีฬา เพื่ออบอุ่นร่างกายม้า จัดเตรียมอุปกรณ์การแข่งบนม้า และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ที่มีต่อคนเลี้ยงม้า พระองค์ฯ ท่านทรงจัดให้มีการสนับสนุนและยกระดับวิชาชีพนี้ด้วยจัดการแข่งขัน สุดยอดผู้ดูแลม้า (Best Groom) เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา มีสโมสรราว 12 แห่งเข้าร่วมการแข่งขัน ในการเลี้ยงดูม้า อย่างด้านความสวยงาม อาทิ การดูแลขนม้า การแข่งถักเปียม้า สำหรับคนเลี้ยงม้าของสโมสรไทยโปโลฯ มีคนเลี้ยงม้า ราว 60 คน แบ่งเป็นคนเลี้ยงม้าที่ใช้ในกีฬาม้าโปโลกว่า 50 คน และคนเลี้ยงม้าแข่งขัน หรือ Equestrian ราว 15 คน ความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงม้าทั้งสองแบบคือ สัดส่วนการเลี้ยง ม้าสำหรับกีฬาโปโล สัดส่วนอยู่ที่ 4 ต่อ 1 เพราะม้าสำหรับกีฬาประเภทนี้ถูกฝึกและเลี้ยงให้อยู่ด้วยกัน สามารถจูงวิ่งได้พร้อมๆ กัน สำหรับม้าที่ใช้ในประเภทกีฬา Equestrian ต้องฝึกแยกเดี่ยวเพราะม้าเหล่านั้นต้องใช้สมาธิร่วมกับนักกีฬา

กิจวัตรคนเลี้ยงม้า 8 ชั่วโมงไม่เพียงพอ

เหตุใด 8 ชั่วโมงถึงไม่พอในการดูแลม้าเพราะม้าเองเหมือนคนมีความชอบและการแสดงออกที่ต่างกัน ความชอบในอาหารก็ต่างกัน ส่วนผสมของอาหารไม่เหมือนกัน บางตัวต้องแต่งกลิ่นอาหารให้เฉพาะตัว แต่สิ่งที่ชอบเหมือนกันคือความสะอาด ทุกเช้าของวัน คนเลี้ยงม้า นำม้าทุกตัวไป “ปล่อยแปลง” ซึ่งแปลงปล่อยของสโมสรไทยโปโลฯ มีพื้นที่เพียงพอให้ม้าได้ผ่อนคลายอริยาบทและเมื่อคอกว่างลง ถึงเวลาทำความสะอาดคอกราวครึ่งชั่วโมง โดยตักหญ้าแห้งชั้นบนที่สกปรกออก กรุยหญ้าชั้นล่างให้อากาศลงไปถ่ายเท และเติมหญ้าใหม่ลงไปอีกรอบ หลังจากนั้นนำม้าจากแปลงปล่อยไปอาบน้ำรอให้ตัวแห้ง แปรงขนให้สะอาด ซึ่งการแปรงขนนี้ผลัดขนเก่าและทำให้ขนเป็นเงา สวยงาม หากลูบสัมผัสด้วยมือแล้วจะลื่นเสมอกัน ก่อนนำม้าเข้าคอกเกือบซึ่งเป็นช่วงเวลาอาหารพอดี พอตกบ่ายคนเลี้ยงม้าจะทำซ้ำกับเวลาช่วงเช้าแต่จะเพิ่มเติมในการนำออกไปขี่ ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยม้าที่ใช้ในกีฬาโปโลอายุราว 6-15 ปี และจากการสถิติในปี 2560 ม้าในประเทศไทยที่ลงทะเบียนไว้อยู่ที่ราว 2,500 ตัว หากนับรวมในทั่วประเทศมีการคาดการณ์จำนวนม้าอยู่ที่หลักแสน ช่วงบ่ายคณะสื่อมวลชนได้มีโอกาสเรียนวิธีการเล่นกีฬาม้าโปโลในเบื้องต้น จากทีมฝึกสอนชาวต่างชาติ โดยเน้นท่าทาง การเข้าตีลูก และข้อควรระวังเบื้องต้นที่ต้องจดจำ อาทิ การบังคับม้าให้เดิน-หยุด บังคับซ้าย-ขวา การถ่ายน้ำหนักบนอานม้าและการตีลูก หลังจบการสาธิตเบื้องต้นเราได้ชมการแข่งขันสั้นๆ ก่อนเดินทางเพื่อเข้าพักที่ Movenpick Siam Hotel Na Jomtien Pattaya

เปิดประสบการณ์ Catamaran

Mövenpick Siam Hotel Na Jomtien Pattaya เชนระดับ 5 ดาวจากสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้การดูแลของเครือ สยามกลการ ตั้งอยู่ห่างออกไปจากพัทยาใต้ และใกล้กับท่าเรือ โอเชี่ยน มาริน่า ยอร์ช คลับ เดิมที่ชื่อแรกของโรมแรมคือ Mövenpick Siam Hotel Pattaya ทีมผู้บริหารเปิดเผยว่าภายหลังการให้บริการหนึ่งปี มีสัดส่วนกลุ่มครอบครัวเข้ามาใช้บริการจึงเพิ่มเอาคำว่า “Na Jomtien” มาแทรก ผนวกกับตั้งอยู่ที่ นา-จอมเทียน จะยิ่งทำให้โรงแรมเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
เมนูเรียกน้ำย่อย Charred Bone Marrow จาก ห้องอาหาร T55 New York Grill Room
สำหรับห้องอาหารขึ้นต้องยกให้กับห้อง T55 New York Grill Room ถือว่าเป็นสวรรค์ของคนทานเนื้อวัว เพราะใช้เนื้อวัวนำเข้าระบบพรีเมี่ยม มีห้องแช่แข็ง Bucher Room ตั้งตระหง่านที่ทางเข้า สำหรับเมนูหลักของคนทานเนื้อวัวขอแนะนำ ตั้งเมนูเรียกน้ำย่อย Charred Bone Marrow ที่ทางร้าน เสริฟ์ด้วย ไขกระดูกวัวและเกลือบริสุทธิ์ทานคู่เพื่อลดอาการเลี่ยน และเมนูจานหลัก Tomahawk Steak ที่ทานคู่กับซอสฟรัวกราส์ และมาพร้อมกับมัสตาร์ด 8 ชนิด ซึ่งก่อนทานพนักงานได้นำชุดมีดหั่นเนื้อสุดพิเศษใช้เลือกใช้ตามน้ำหนักและสีสันที่ชอบ หากไม่รับประทานประเภทเนื้อวัว เมนูอย่าง Rotisserie Baby Chicken on Hay ที่นำลูกไก่ทั้งตัวอบด้วยฟางเป็นเมนูหลักอีกจานที่รสชาติดีนุ่มลิ้นเนื้อแน่นกำลังดี จากห้องพักของ Mövenpick ฝั่งทะเลมองออกไปไม่ไกลมองเห็นท่าจอดเรือยอชต์อยู่ไม่ไกล พนักงานต้อนรับแจ้งกับทีมสื่อมวลชนว่า จากทางเดินหน้าชายหาดทรายสามารถเดินเชื่อมไปยังท่าจอดยอชต์ Ocean marina yacht club ซึ่งจะเป็นจุดหมายของทริปการเดินทางในครั้งนี้ Ocean marina yacht club เมื่อคณะสื่อมวลชนเดินทางถึงท่าจอดเรือ ดร.ธุวานันท์ ธนภาคย์พิสิศ ซีอีโอ บริษัท เซลลิ่งยอชท์ ไทยแลนด์ จำกัด รอต้อนรับเพื่อพาคณะเดินทางโดยยอชต์แบบ Catamaran เดินทางสู่เกาะไฝ่และเกาะลิงไม่ไกลจากอ่าวไทย จุดเด่นของเรือ Catamaran คือการมีท้องเรือสองท้องทำให้ระหว่างการเดินทางเรือมีความนิ่งเรียบ ด้วยขนาดเรือ  3 ฟุต สามารถรองรับแขกได้ราว 30 คน ซึ่งภายในเรือยังมีห้องนอนและห้องน้ำในบริการ ดร.ธุวานันท์ กล่าวต้อนรับระหว่างเรือเดินทางสู่ที่หมายอย่างเป็นกันเองและเปิดเผยว่า Sailing Yacht ให้เปิดให้บริการเรือยอชต์ที่จังหวัดภูเก็ตและเมืองพัทยาซึ่งทั้งสองแห่งมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยที่ภูเก็ตลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ สำหรับพัทยาหลังเป็นกลุ่มลูกค้าชาวเอเชียและคนไทยเป็นหลัก ช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา กลุ่มตลาดคนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เดินทางมาเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท และกลุ่มที่เดินทางถ่ายทำพรีเวดดิ้ง รวมถึงฉลองครบรอบการแต่งงาน นอกจากนี้ Sailing Yacht  ยังให้บริการที่เรียกว่า จอยทริป เป็นเดินทางร่วมกับผู้เดินทางท่านอื่นๆ ที่จองการเดินทางเข้ามา ดร.ธุวานันท์ เผยอีกว่าปัจจุบันรายได้ของบริษัทมาจากพัทยาราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงมากนัก รวมทั้งท้องทะเลอ่าวไทยยังมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงามของปาการังน้ำตื่น เหมาะในการดำแบบผิวน้ำเพื่อชื่นชมความสวยงาม ก่อนหัวเรือได้หันกลับสู่ท่าเรือ Ocean marina yacht club อีกครั้ง ก่อนจบทริปการเดินทางครั้งนี้ ขอบคุณภาพ: สโมสรไทยโปโล แอนด์ อีเควสเทรี่ยน คลับ, เซลลิ่งยอชท์ ไทยแลนด์