ทายาทธุรกิจก่อสร้างมั่นใจวางเดิมพันกิจการของครอบครัวเบนเข็มสู่เส้นทางการสร้างชื่อ “วีรันดา” ชูดีไซน์คิดต่างตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกรายละเอียด ด้วยความมุ่งมั่นขยายพอร์ตโรงแรม พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมแสดงฝีมือขับเคลื่อนอาณาจักรฝ่ามรสุมโชว์ผลงานเทิร์นอะราวด์ต่อเนื่อง
มนตร์เสน่ห์ความเป็นไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกปักหมุดแดนสยามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมได้สร้างการเติบโตให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและบริการที่สามารถครองใจชาวต่างชาติให้กลับมาเยือนซ้ำ ส่งผลให้ทายาทธุรกิจก่อสร้างเบื้องหลังโปรเจกต์สำคัญของประเทศอย่างสนามราชมังคลากีฬาสถานตัดสินใจพลิกกระดานกิจการของครอบครัวเดินเกมรุกก่อตั้งโรงแรมสัญชาติไทยในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมุ่งเน้นการออกแบบและการบริการมีเอกลักษณ์ พร้อมสร้างประสบการณ์ความแตกต่างและความทรงจำอันประทับใจ
“การเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมเราคิดจากทักษะที่มีทั้งด้านก่อสร้าง ประสบการณ์เปิดโรงแรม และงานการตลาดจาก Major Cineplex ก่อนจะพิจารณาหาธุรกิจที่เหมาะกับประเทศไทยด้วยการอ่านบทวิเคราะห์วิจัยต่างๆ ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มดอกบี้ยต่ำในระยะยาวทำให้การลงทุนสินทรัพย์น่าจะดี และเมืองไทยเรายังเด่นเรื่องการบริการ การท่องเที่ยว แม้ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าวันนี้ แต่ในวันนั้นอาหารเราก็ดี วัฒนธรรม soft power และการเที่ยวประเทศไทยค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ รวมถึงแรงงานบริการในอนาคตก็ไม่ขาดเพราะคนไทยเรียนปริญญาตรีจำนวนมากทำให้เชื่อว่าธุรกิจนี้จะสามารถเติบโตพร้อมกับประเทศได้ในระยะยาว”
ภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA กล่าวถึงมุมมองวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ด้วยความพร้อมจากประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายหลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี บริหารธุรกิจ (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MBA จาก Boston University สหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นทำงานส่วนวาณิชธนกิจ (investment banking) หรือมนุษย์ทองคำนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ
หลังจากนั้นภวัฒก์ได้รับมอบหมายให้ช่วยงานเปิดโรงแรมธารินของบิดาที่เชียงใหม่ ทำให้ได้เรียนรู้พื้นฐานการบริหารโรงแรมและกลับมาฝึกงานรับเหมาก่อสร้างในธุรกิจของครอบครัวช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียปี 2540 ซึ่งบิดาและมารดาเสียชีวิตในปีถัดมา ทำให้ต้องเข้ามารับช่วงต่อกิจการเต็มตัวพร้อมทั้งภาระหนี้สินท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและโครงการก่อสร้างซบเซา
“ครอบครัวทำธุรกิจก่อสร้างแต่เราเลือกเรียนบริหารธุรกิจ เพราะคิดว่าการก่อสร้างเรียนหน้างานได้ หลังจากจบ MBA เราก็ทำงาน investment banking ไม่ถึง 2 ปี คุณพ่อมีที่ดินตั้งแต่ก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่ ท่านพัฒนาเป็นโรงแรม 3 ดาว เราให้เพื่อนมาช่วย 1 คน และคัดเลือกพนักงาน ทีมการตลาด เซลส์ วัสดุต่างๆ เพิ่มห้องจัดเลี้ยงให้ขายได้ โดยอยู่ประมาณปีกว่าจนตัวเลขเป็นบวกก็กลับมาทำงานกับคุณพ่อเพราะท่านเริ่มไม่สบาย เราฝึกทำรับเหมาก่อสร้างปี 2540 พอปี 2541 คุณพ่อคุณแม่เสียปีเดียวกัน ตอนนั้นเรามีหนี้สินจำนวนมาก ทุกวันต้องพยายามทำให้ดีที่สุด จนกระทั่งได้ลงทุนกับคุณวิชา พูลวรลักษณ์ ทำ Major Cineplex รัชโยธิน และช่วยนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เริ่มมีเงินและปลดหนี้ได้”
ภวัฒก์กล่าวถึงการตัดสินใจนำเงินลงทุนก้อนแรกเริ่มต้นทำธุรกิจโรงแรมจากการศึกษาแนวโน้มดอกเบี้ยและเทรนด์การท่องเที่ยวที่มีโอกาสการเติบโตในอนาคต โดยเปิดให้บริการโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท หัวหิน ในเดือนกรกฎาคม ปี 2547 ซึ่งให้บริการทั้งรูปแบบห้องพักทั่วไปและพูลวิลล่า ด้วยจุดเด่นด้านดีไซน์ที่แตกต่างและเข้าใจเชิงลึกถึงความต้องการของลูกค้า (customer insight) ทำให้ได้รับความนิยมตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวและสร้างความมั่นใจเดินหน้าขยายโรงแรมวีรันดา ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่ในปี 2551 รวมถึงโครงการวีรันดา ไฮ เรสซิเดนซ์ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาคารชุดพักอาศัย low rise ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
“เราเป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมด 8 คน คุณพ่อแบ่งหุ้นในกงสีให้ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องการทำอะไรเป็นหลักขึ้นมา โดยล้างไพ่ใหม่และขอถือหุ้นครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือให้ครอบครัวร่วมกัน แต่เราขออำนาจตัดสินใจทั้งหมดซึ่งพี่ๆ ก็ไว้วางใจ ยิ่งเปิดที่แรกได้ดีเราก็ขยายต่อมา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ พัทยา สมุย ภูเก็ต โดยเราสร้างโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท หัวหิน ให้มีความแตกต่าง จากการ research เดินทางดูงานในต่างประเทศและคู่แข่งเราจึงทำ pool villa to beachfront และ pool villa 2 ห้องนอน 2 ชั้นเป็นครั้งแรก ขณะที่เชียงใหม่สมัยนั้นยังไม่มีโรงแรมบนภูเขาสวยๆ เราหาที่ดินเชิงเขาไม่ไกลจากเมืองเดินทางประมาณ 20 นาทีสร้างวีรันดา เชียงใหม่ เป็นสระน้ำท่ามกลางขุนเขา ซึ่งเรามองว่าจุดเด่นของเราคือ ดีไซน์ ความคิดต่าง ทำให้ลูกค้าเกิดภาพจำจากประสบการณ์ที่ดี และสามารถถ่ายรูปเก็บความทรงจำสวยๆ ได้”
นอกจากนั้น ภวัฒก์ยังเล็งเห็นความสำคัญของการใช้แบรนด์ระดับโลก (global brand) ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทำเลที่ตั้ง ภาพลักษณ์ และตำแหน่งทางการตลาดของโรงแรม (market positioning) ด้วยการเลือกแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศส “SO” สำหรับโรงแรมโซ แบงคอก ซึ่งเปิดให้บริการปี 2555 โดยเน้นการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ในการนำเสนอแง่มุมของหลากหลายของวิถีชีวิต ความสมดุลของธาตุทั้ง 5 และสีสันของคนเมืองเป็นพื้นฐานการออกแบบ พร้อมให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าตลอดเวลา
ขณะเดียวกันบริษัทได้ขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมยังพื้นที่พัทยาซึ่งเป็นทำเลศักยภาพสำหรับการสร้างอาคารชุดพักอาศัยประเภท high rise สูง 35 ชั้น ทั้งรูปแบบห้องชุดทั่วไปและพูลวิลล่าชื่อ วีรันดา เรสซิเดนซ์ พัทยา และเปิดโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท พัทยา รวมถึงจัดตั้ง บริษัท วีรันดา คูซีน จำกัด ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเปิดให้บริการร้านอาหารประเภทอาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่มแห่งแรกชื่อ Skoop Beach Cafe สาขาพัทยา ในปี 2558 รวมถึงซื้อกิจการโรงแรมร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเปิดตัวโรงแรม VERSO Hua Hin - a Veranda Collection ริมชายหาดเขาตะเกียบ หัวหินในปี 2563
“การเปิดแบรนด์วีรันดา 2 แห่งที่หัวหินและเขียงใหม่ทำให้เราได้เรียนรู้ส่วนหนึ่ง แต่เรายังต้องการรู้ว่าการบริหารของเชนเป็นอย่างไร และประโยชน์จากการใช้ network ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งของเราที่สามารถเรียนรู้จากแบรนด์มืออาชีพและการมีแบรนด์ของเราเอง รวมถึงการอยู่ในเครือ Accor ทำให้มีโอกาสทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ ขณะที่เรายังขยายส่วนของเรสซิเดนซ์เพิ่มหลังจากลองผิดลองถูกที่เชียงใหม่ก็สร้างที่พัทยามากกว่า 300 ยูนิต และ takeover แบรนด์ร็อคกี้ รีสอร์ท ที่สมุย ส่วนการขยายธุรกิจอาหารเกิดขึ้นในช่วงที่เราเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากพัฒนาอสังหาฯ สำเร็จก็อยากลองทำร้านอาหาร แต่สุดท้ายเราก็กลับมาเน้นโรงแรมที่เป็นความถนัดของเรา ซึ่งวันนี้เรามีร้าน Skoop 2 สาขา และร้าน KOF 3 สาขา”
คว้าโอกาสเทรนด์ท่องเที่ยว
หลังจากภวัฒก์สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในปี 2562 เพียงไม่กี่ปีกลับต้องเผชิญมรสุมธุรกิจครั้งใหญ่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทิ้งร่องรอยบาดแผลให้ทุกภาคอุตสาหกรรมเป็นเวลากว่า 3 ปี ด้วยความพยายามฟันฝ่าวิกฤตทุกวิถีทางจนสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมโอกาสการเติบโตต่อเนื่องตอบรับเทรนด์นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันภาครัฐยังให้การสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย IGNITE Thailand 8 ด้าน ซึ่งมี IGNITE Thailand’s Tourism เป็น 1 ใน 8 นโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดันประเทศไทยสู่ตลาดโลกและก้าวสู่ผู้นำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทยในด้านทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ภูมิอากาศ โครงสร้าง และศักยภาพของคนไทย พร้อมประกาศเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.4 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.5% ในปี 2568 และคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคนเดินทางภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้ง
“การแก้ปัญหาช่วงโควิด-19 เราใช้กลยุทธ์ที่วางไว้นานแล้ว โดยเข้มข้นเรื่องการประหยัดต้นทุนแบบถึงลูกถึงคน ซึ่งโครงการเราเที่ยวด้วยกันก็ช่วยให้เราเติบโตที่หัวหินและพัทยา โดยลูกค้าคนไทยช่วยให้เราเจ็บตัวน้อยที่สุดช่วงโควิด-19 และการกระจายพอร์ตโฟลิโอเรสซิเดนซ์ที่ยอดโอนช่วยเราได้มาก ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 เราเริ่มกำไรเชิง operation แต่ยังตัดขาดทุนร้านอาหารไม่หมด จนกระทั่งไตรมาสแรกปี 2567 เริ่มดีและกำไรเพิ่มขึ้นไตรมาส 3 โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากนี้รายได้ที่ภูเก็ตและสมุย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมาก”
ซีอีโอวัย 53 ปี กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่สามารถขยายตัวอย่างแข็งแกร่งด้วยรายได้รวม 1.56 พันล้านบาท หรือเติบโต 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ปีต่อปี) และมี EBITDA อยู่ที่ 278 ล้านบาท เติบโต 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์รายได้ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทเติบโตประมาณ 10% ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเติบโตกว่า 200% ในปี 2567 เนื่องจากการเติบโตตลาดท่องเที่ยวของไทย โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเกือบครบทุกประเทศ ทั้งชาวอาหรับ เอเชียตะวันออก และยุโรป
นอกจากนั้น สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ ได้แก่ ภูเก็ต สมุย พัทยา และกรุงเทพฯ ส่งผลให้วีรันดา รีสอร์ท ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมโซ แบงคอก, โรงแรมวีรันดา คอลเลกชัน สมุย - ร็อคกี้ รีสอร์ท, โรงแรมวีรันดา รีสอร์ท พัทยา นาจอมเทียน - เอ็มแกลเลอรี ซึ่งมีอัตราการเข้าพักปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์โครงการบ้านพักตากอากาศ “วีรันดา วิลล่า แอนด์ สวีท ภูเก็ต” ในจังหวัดภูเก็ต ติดหาดพันวา-อ่าวยน มูลค่าโครงการประมาณ 860 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567
ในขณะเดียวกันบริษัทยังเปิดตัวโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท ภูเก็ต -ออโต้กราฟ คอลเลกชัน (Veranda Resort Phuket, Autograph Collection) มูลค่าโครงการกว่า 1.3 พันล้านบาท โดยอยู่ภายใต้การบริหารงานของวีรันดาและเลือกเชนโรงแรมระดับพรีเมียมในเครือแมริออท อินเตอร์เนชันแนล (Marriott International) แบรนด์ ออโต้กราฟ คอลเลกชัน (Autograph Collection) ซึ่งสามารถช่วยขยายฐานลูกค้ายุโรป อเมริกา และเอเชีย
“โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่บนพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ แบ่งเป็นโรงแรม 10 ไร่ด้านหน้าติดทะเล ส่วนด้านหลังอีก 10 ไร่เป็นเนินเขาสร้างคอนโดมิเนียม 11 ยูนิต และวิลล่า 6 หลัง โดยดีไซน์โรงแรมภูเก็ตจะมีคาแร็กเตอร์ของเมืองใส่เข้ามา เช่น สีสันของเมือง สถาปัตยกรรม สีเขียว สีเหลือง ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นพอสมควร โดยเลือกเแบรนด์ Autograph เป็นแห่งแรกในภูเก็ต เพราะเราเชื่อมั่นในระบบ Loyalty Program ของ Marriott Bonvoy และต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการเข้าเชน Marriott ที่มีความเข้มข้นมาก ซึ่งโรงแรมในภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเข้าพักหนาแน่นและการเติบโตของนักท่องเที่ยวสูงจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องหักทั้งหมดของโรงแรมในเครือวีรันดี (RevPAR) สูงขึ้นต่อเนื่องและรายได้น่าจะดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้”
ภวัฒก์กล่าวถึงเชนการบริหาร ออโต้กราฟ คอลเลกชัน ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นตัวของตัวเองและมองหาประสบการณ์ที่แตกต่าง โดยให้ความสำคัญกับดีไซน์และศิลปะ ซึ่งสอดคล้องกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือวีรันดาที่ถูกดีไซน์ให้มีลูกเล่นที่แตกต่างและดึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ โดยเป็นโรงแรมที่บริหารโดยออโต้กราฟ คอลเลกชัน แห่งแรกในภูเก็ต
ขณะที่ยังเดินหน้าเปิดโครงการส่วนต่อขยายโรงแรมวีรันดา คอลเลกชัน สมุย - ร็อคกี้ รีสอร์ท (Veranda Collection Samui - Rocky's Resort) อีก 20 ห้อง บนโลเกชันที่ดีที่สุดของเกาะสมุย ซึ่งจะทำให้โรงแรมที่เกาะสมุยมีห้องพักให้บริการรวมเป็น 70 ห้อง เพื่อรองรับการเติบโตจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเกาะสมุยเพิ่มขึ้น โดยรวมจำนวนห้องพักของกลุ่มวีรันดา รีสอร์ท เพิ่มขึ้นเป็น 856 ห้อง
“การปรับตัวของเราเน้นต่างชาติมากขึ้น ด้วยการเพิ่มเซลส์ทำตลาดต่างชาติ การรีโนเวตห้องที่สมุยให้โมเดิร์นขึ้น โดยที่ผ่านมาการร่วมกับ Accor ทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือการเทคโรงแรมร็อคกี้ก็มีลูกค้ากลับมาพักจากการบริการ ส่วนภูเก็ตเราต้องการ worldwide มากขึ้น เราจึงไปกับ Marriott ซึ่งการเป็นเจ้าของสินทรัพย์เอง แม้จำนวนห้องอาจจะไม่ได้มากเท่ากับคนอื่น แต่ในจังหวะที่ตลาดเติบโตเราได้มากกว่าการรับบริหารจัดการ”
นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการรีโนเวตและซ่อมบำรุงโรงแรมอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการสำรองงบประมาณสำหรับซ่อมแซมบำรุงรักษาประมาณ 2% ของรายได้จากกิจการโรงแรมแต่ละปี พร้อมนโยบายการปรับปรุงหรือซ่อมแซมครั้งใหญ่ทุก 10-15 ปี เช่น โรงแรมโซ แบงคอก ซึ่งบริหารงานโดยเครือ Accor ได้ร่วมกับ Ennismore ผู้เชี่ยวชาญโรงแรมไลฟ์สไตล์มาช่วยดีไซน์ล็อบบี้และบาร์โฉมใหม่ที่ชั้น 9 พร้อมวิวสวนลุมฯ ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
“เราเปิดรับการแข่งขันเพราะทำให้ปรับตัวอยู่เสมอ โดยบางพื้นที่ที่มีจุดอ่อนเราก็ไปกับทีมงานออกแบบดีไซน์เพื่อเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง ซึ่งเป็น DNA ของเราที่สามารถทำได้ชัดในแต่ละที่ เช่น โรงแรมพัทยามีอาคารข้างๆ บังวิว เราก็ทำห้องให้มีสระน้ำที่ระเบียง เวลาเล่นน้ำอาจจะปิดม่านเพราะต้องการความเป็นส่วนตัว และใส่ bunk bed เด็กก็ชอบ ขณะที่เรายังใส่ใจเรื่องความคุ้มค่า เราเชื่อว่าถ้าในทำเลใกล้เคียงกัน บริการเท่ากัน เราคุ้มค่ากว่าคนอื่น ทำให้ลูกค้าติดแบรนด์และกลับมาพักซ้ำ”
ภวัฒก์ย้ำความมั่นใจในกลยุทธ์การขยายตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ซึ่งสอดคล้องกับแรงหนุนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยเฉพาะทำเลกรุงเทพฯ พัทยา สมุย ซึ่งมีสัญญาณการจองห้องพักของนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE (Meetings, Incentives, Conventions, Exhibitions) และ Leisure จำนวนมาก รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ และมอบบริการที่ลูกค้าประทับใจอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอโปรโมชั่นและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันกุญแจสำคัญทางธุรกิจยังอยู่ที่การให้บริการและทีมงานซึ่งร่วมขับเคลื่อนบริษัทให้เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจโรงแรม ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยมุ่งเน้นการเป็นจุดหมายปลายทางของลูกค้าและสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้นึกถึงกลุ่มบริษัทเป็นลำดับต้นๆ
“นอกจาก service mind เราต้องการให้ทีมงานของเราคิดแบบเจ้าของ ซึ่งเต็มที่กับลูกค้า บริษัทก็เต็มที่กับผู้ถือหุ้นหรือ stakeholder ด้วย โดยบริษัทเรามีคาแร็กเตอร์ที่เน้นการดูแลอย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่ สิ่งไหนที่ลูกค้าใส่ใจเราจะลงทุนตรงนั้นเป็นพิเศษ ซึ่งความเป็นวีรันดาคงไม่ใช่สัญลักษณ์เฉพาะจุด เพราะเราต้องการสร้างประสบการณ์ที่เป็นความทรงจำหรือการถ่ายภาพมุมต่างๆ แต่ละโรงแรมจะไม่ใช้สไตล์เดียวกัน เมื่อวีรันดาเปิดใหม่ที่ไหนก็สนใจไปลองเพราะดีไซน์ใหม่ทั้งหมดไม่ซ้ำกับที่ไหน”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ 41 ปี Motor Expo 1 ล้านล้าน