พัชรินทร์ เหมอังกูร จัดทัพ “Gourmet One” บุกรีเทล ปั้นร้านอาหาร-เชฟ - Forbes Thailand

พัชรินทร์ เหมอังกูร จัดทัพ “Gourmet One” บุกรีเทล ปั้นร้านอาหาร-เชฟ

ฟู้ดเซอร์วิสเป็นธุรกิจที่รายได้ดีเพราะส่วนใหญ่เป็นการขายแบบค้าส่งโดยเฉพาะสินค้าอาหารนำเข้าเกรดพรีเมียมที่ราคาค่อนข้างสูง ขายยกล็อตได้ราคาดี แต่การจะยืนหยัดและเติบโตในธุรกิจนี้ได้อย่างต่อเนื่อง คุณภาพสินค้าและบริการต้องได้มาตรฐานสากล


    ซอยเอกมัยฝั่งใกล้ถนนสุขุมวิทมีคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่เพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2566 คือ Earth Ekamai ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Fine Dining Place แหล่งรวมร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “La Brace Ekamai” Grill House & Wine Bar เสิร์ฟอาหารเมดิเตอร์เรเนียนโดยเชฟชาวอิตาลี บริการอาหาร เครื่องดื่ม ในร้านที่สวยงามกว้างขวาง ตอบโจทย์เหล่าผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารเลิศรสและดื่มด่ำกับบรรยากาศผ่อนคลาย แถมร้านนี้ยังมีที่มาน่าสนใจเพราะเป็นร้านอาหารที่ต่อยอดมาจากผู้ให้บริการฟู้ดเซอร์วิสชื่อดังที่จัดหาวัตถุดิบอาหารเกรดพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศอันดับต้นๆ ของตลาด

    “ร้านอาหารเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ compensate ในการจัด activity ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะจัดงาน ทำ workshop จัดเชฟสาธิตการทำอาหาร และอื่นๆ” พัชรินทร์ เหมอังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่และเจ้าของ บริษัท กูร์เมท์ วัน ฟู้ดส์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) หรือ Gourmet One เริ่มต้นบอกเล่าที่มาของร้าน La Brace Ekamai ให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้รับทราบโดยเธอย้ำว่า

    “ที่จริงไม่ได้อยากทำร้านอาหาร เพราะยุ่งยากและรายได้เทียบกันไม่ได้กับธุรกิจ food service แต่ที่ทำเพื่อสร้างแบรนด์ให้ครบวงจร” เนื่องจากการทำร้านอาหารต้องลงทุนสูง นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ยังต้องลงทุนเรื่องสถานที่ การก่อสร้าง ออกแบบ พนักงาน และการบริหารจัดการ ซึ่งมีความยุ่งยากและเป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอซึ่งถนัดฟู้ดเซอร์วิสมากกว่า เพราะทำ Gourmet One ตั้งแต่เริ่มต้นต่อเนื่องมานานถึง 17 ปี


แบรนด์นำเข้าสร้างชื่อ

    พัชรินทร์เล่าว่า ก่อนหน้าจะทำ Gourmet One เธอเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสจากการมีผู้แนะนำให้จัดหาวัตถุดิบอาหารส่งให้เรือสำราญ Star Cruise ที่เข้ามาจอดเทียบท่าแหลมฉบังในขณะนั้นราว 20 ปีก่อน เป็นเรือท่องเที่ยว-กาสิโนขนาดใหญ่ ผู้โดยสารบนเรือกว่า 1,800 คน ต้องการคนซัพพลายวัตถุดิบอาหารเกรดคุณภาพจากไทย ซึ่งขณะนั้นพัชรินทร์อายุเพียง 22-23 ปี และมีธุรกิจที่ทำอยู่ก่อนหน้าคือ บริษัท ลอสท์ แอนด์ ฟาวด์ ติดตามของหายซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในสนามบินดอนเมือง

    การเข้ามาทำฟู้ดเซอร์วิสครั้งแรกของพัชรินทร์คือ ส่งวัตถุดิบอาหารให้เรือ Star Cruise ยอดขายสัปดาห์ละ 1 ล้านบาทโดยประมาณ เธอทำต่อเนื่องได้ประมาณ 5 ปี จากนั้นไทยเปลี่ยนกฎระเบียบไม่ให้เรือสำราญเข้ามาเทียบท่า เธอจึงต้องหยุดการส่งวัตถุดิบอาหารไปโดยปริยาย

    แต่ในช่วงนั้นพัชรินทร์ได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อน Johnny Kang (ปัจจุบันคือสามี) ชาวสิงคโปร์ซึ่งทำธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสระดับสากลอยู่แล้วชักชวนให้ทำบริษัทนำเข้าอาหารเกรดพรีเมียมให้บริการฟู้ดเซอร์วิสกับโรงแรมหรู ร้านอาหารชั้นนำ และสายการบิน จึงได้ก่อตั้ง บริษัท กูร์เมท์ วัน ขึ้นเมื่อปี 2550

    พัชรินทร์จึงเข้าสู่วงการฟู้ดเซอร์วิสเต็มตัวตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สร้างการยอมรับด้วยคุณภาพสินค้า มาตรฐานการจัดส่งและบริการที่ทำให้อาหารเหล่านั้นยังคงคุณภาพดีที่สุดจนถึงมือลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวและร้านอาหารระดับไฮเอนด์ที่เลือกใช้แต่วัตถุดิบชั้นดี นอกจากนี้ ยังรวมถึงสายการบินด้วย จุดเด่นในบริการของ Gourmet One คือ คุณภาพสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานสากล


พัฒนาค้าปลีกช่วงโควิด

    เส้นทางการเติบโตของ Gourmet One ดำเนินต่อเนื่องในหลายช่วงของการขยายธุรกิจ โดยหลังก่อตั้งกิจการมาได้ 9 ปี ในปี 2559 Gourmet One ได้ขยายธุรกิจสู่วงการค้าปลีกอาหารด้วยการก่อตั้ง Gourmet & Beverage One (Thailand) หรือ GB1 เพื่อรองรับลูกค้าในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต และประสบความสำเร็จในการเปิดตัวแบรนด์ “Sooooo Goood” บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

    ต่อมาในปี 2561 GB1 ได้เพิ่มแผนกผลิตไส้กรอกพร้อมห้องรมควัน รวมถึงขยายเครือข่ายจัดหาผลผลิตสดใหม่ไปยังตลาดค้าส่งในกรุงเทพฯ โดยเข้าซื้อกิจการของ “Be Good Marketing” บริษัทนำเข้าผลไม้เข้ามาอยู่ในพอร์ต

    จากนั้นในปี 2562 Gourmet One ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่พัชรินทร์มองเห็นโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้อาศัยความได้เปรียบด้านการเข้าถึงวัตถุดิบอาหารชั้นนำจากต่างประเทศและแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลที่แข็งแกร่งของ Gourmet One ได้ขยายธุรกิจด้วยบริการจัดส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

    “เราปรับตัวหลังจากเริ่มทำตลาด retail ไม่นานก็เกิดโควิด ผู้คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ทำให้เรามียอดขายที่ดี และการปรับตัวทำให้ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงานเลยแม้แต่คนเดียว” พัชรินทร์ย้ำว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้เธอได้มีเวลามาดูธุรกิจค้าปลีกที่เพิ่งขยายเข้ามาทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งสินค้าที่ขายออนไลน์และขายผ่านโมเดิร์นเทรดชดเชยตลาดโรงแรมและร้านอาหารที่หดหายไป ทำให้ได้เรียนรู้การทำตลาด
ค้าปลีกมากขึ้น



สร้างแบรนด์ร้านอาหาร

    เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายในปี 2564 พัชรินทร์ได้เริ่มขยายมาสู่ธุรกิจร้านอาหารด้วยการเปิดร้าน “Sooooo Goood Gourmet” ร้านอาหารสเปน-เมดิเตอร์เรเนียนในคอนเซ็ปต์ Casual Fine Dining อยู่ในซอยราชวินิตบางแก้ว ถนนบางนา-ตราด กม. 7 (ขาเข้า) ทำเลชานเมืองของกรุงเทพฯ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และร้านนี้ได้รับความนิยมประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ

    “ความตั้งใจเดิมร้านนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกลุ่มคุณแม่ของเด็กๆ ในโรงเรียนนานาชาติ Concordian ซึ่งติดใจเนื้อนำเข้าบ่ม 40 วันของบริษัท และได้สั่งซื้อจำนวนมาก” ทำให้พัชรินทร์มีแนวคิดเปิดร้านเพื่อขายเนื้อให้กับผู้ปกครองกลุ่มนี้ และคิดจะทำโรงเรียนสอนทำอาหาร เพื่อให้บรรดาผู้ปกครองมารวมกลุ่มกันเรียนคอร์สทำอาหารระหว่างรอรับลูกๆ เลิกเรียน แต่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โรงเรียนสอนทำอาหารยังไม่เปิดเนื่องจากร้านอาหารติดตลาดเร็วเกินคาด

    ด้วยเหตุผลว่าทำเลนี้ไม่มีร้านอาหารแนว Casual Fine Dining ให้คนได้มารับประทานอาหารและนั่งชิลในบรรยากาศสบายๆ เธอจึงเปิดเป็นร้านอาหารชื่อเดียวกับแบรนด์ที่ทำตลาดค้าปลีก “Sooooo Goood Gourmet” ได้การตอบรับดีมาก ลูกค้าเข้ามาทุกวันตั้งแต่ยังไม่เปิดบริการ เพราะร้านสไตล์นี้มีเพียงแห่งเดียวในทำเล ที่บริการด้วยวัตถุดิบนำเข้าคุณภาพสูง ปรุงโดยเชฟมืออาชีพจากสเปน

    กิจการร้านอาหารแรกของ Gourmet One จึงเกิดขึ้นและไปได้ดีภายในเวลาอันรวดเร็ว ตอบโจทย์ทั้งการขายเนื้อนำเข้าพรีเมียมที่ผ่านการบ่ม 30-60 วัน สำหรับผู้ปกครองที่สนใจซื้อไปปรุงให้เด็กๆ และกิจการร้านอาหารกึ่งไฟน์ไดนิ่ง


เตรียมแผนเข้าตลาดฯ

    สิ่งที่พัชรินทร์ทำในปัจจุบันเสมือนการต่อวงจรธุรกิจ จากฟู้ดเซอร์วิสไปสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจร้านอาหาร นอกจากนี้ เธอยังทำเรื่องการสนับสนุนเชฟและร่วมพัฒนาเชฟมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารแบรนด์ดังจากทั่วโลก ซึ่งแต่ละแบรนด์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเชฟระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชฟมิชลิน สตาร์ หรือเชฟอื่นๆ

    เธอใช้ความเป็นคู่ค้าในการดึงเชฟระดับโลกเหล่านี้เข้ามาจัดกิจกรรมพัฒนาเชฟไทย และยังมีแนวคิดจัดส่งเชฟไทยไปประกวดระดับนานาชาติเพื่อสร้างโอกาสและสร้างชื่อ

    ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้นพัชรินทร์เผยอีกเป้าหมายที่เธอคิดคือ แผนนำธุรกิจของ Gourmet One เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเป็นช่องทางระดมทุนขยายกิจการ โดยวางแผนเบื้องต้นไว้ประมาณ 4 ปีนับจากนี้ไปที่เธอจะสร้างการเติบโตให้ Gourmet One ในอีกหลายมิติ ต่อวงจรธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ธุรกิจค้าปลีกอาหารนำเข้าเกรดพรีเมียม ร้านอาหารภายใต้แบรนด์ตัวเองที่เน้นใช้วัตถุดิบนำเข้าเกรดพรีเมียม และเชฟชื่อดังที่มีคอนเนคชั่นที่ดีกับแบรนด์สินค้าที่นำเข้า


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กนกกมล เลาหบูรณะกิจ ถอดแบบทรานส์ฟอร์ม Fujitsu

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine