กนกกมล เลาหบูรณะกิจ ถอดแบบทรานส์ฟอร์ม Fujitsu - Forbes Thailand

กนกกมล เลาหบูรณะกิจ ถอดแบบทรานส์ฟอร์ม Fujitsu

เอ็มดีหญิงคนไทยคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบริการดิจิทัลในญี่ปุ่นที่สามารถสร้างการเติบโตในประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 33 ปี ด้วยภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ความยั่งยืนภายใต้กรอบ FUJITRA


    ผลงานความสำเร็จที่มีส่วนร่วมสร้างชื่อและการเติบโตให้บริษัทสามารถขยายขอบเขตการให้บริการกลุ่มลูกค้าโรงงานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานธุรกิจเดิมของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง โดยสร้างทีมงานบุกเบิกตลาดผู้ใช้บริการไทยและต่างประเทศในหลากหลายธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง ค้าปลีก รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขารองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าไว้วางใจในแบรนด์ฟูจิตสึ (Fujitsu) และการให้บริการที่มีมาตรฐานระดับโลก

    “ในปี 2523 อุตสาหกรรมญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียนค่อนข้างมาก ทำให้คนยุคนั้นนิยมเรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเราก็เลือกเรียนเอกภาษาญี่ปุ่น โทภาษาอังกฤษ และมีโอกาสได้เรียนแลกเปลี่ยนที่ Hiroshima University จากทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเราเข้ามาทำงานกับ Fujitsu ดูแลลูกค้าญี่ปุ่นปี 2540 เพราะพูดภาษาญี่ปุ่นได้”

    กนกกมล เลาหบูรณะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นนับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในโครงการของมหาวิทยาลัย Hiroshima ประเทศญี่ปุ่น และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถปรับใช้ทักษะและความรู้ที่สั่งสมในการทำงานติดต่อสื่อสารทางธุรกิจกับบริษัทญี่ปุ่นในธุรกิจส่งออกอาหารแช่แข็งและธุรกิจจำหน่ายล้ออลูมิเนียมนำเข้าพร้อมทั้งยังศึกษาเพิ่มเติมด้านการบริหารระดับปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


    ขณะที่กนกกมลเข้าร่วมงานกับ บริษัท ฟูจิตสึ ซิสเต็ม บิสซิเนส (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเริ่มต้นจากพนักงานขายและสั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์การขายอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ด้วยความทุ่มเททำงานและความสามารถพิสูจน์ความพร้อมรับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มฝ่ายขาย และก้าวสู่การเป็นกรรมการผู้จัดการผู้หญิงคนไทยคนแรกของบริษัทที่รับผิดชอบธุรกิจในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนกลยุทธ์ความเป็นมาตรฐานสากลและดูแลกลุ่มลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมประสิทธิภาพขององค์กรในการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต


ยกระดับการขับเคลื่อน FUJITRA

    แม้ภารกิจหลักของกนกกมลจะมุ่งเน้นที่การทรานส์ฟอร์มองค์กรให้เติบโตสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจในอนาคต แต่ตลอดเส้นทางการดำเนินงานของบริษัทได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงและสามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายใต้ฟูจิตสึลิมิเต็ด ด้วยการครองส่วนแบ่งทางการตลาดด้านการบริการดิจิทัลสูงสุดในญี่ปุ่น และลูกค้ามากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก พร้อมพนักงานจำนวนกว่า 124,000 คน และรายได้รวม 3.7 ล้านล้านเยน หรือ 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ปี 2566

    “ประวัติธุรกิจที่ผ่านมาของเรามีการทรานส์ฟอร์มตัวเองมาเรื่อยๆ ตามบริษัทแม่ ซึ่งสามารถแบ่งความเปลี่ยนแปลงออกเป็น 3 ยุค เริ่มตั้งแต่ปี 2478 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เราทำ TELCO หรือ Telecommunication ต่อมาเป็นยุคคอมพิวเตอร์และ server จนถึงขณะนี้ยุคที่ 3 เรียกว่า Digital Transformation หรือ DX Partner โดยเริ่มที่ญี่ปุ่นในปี 2556 ตามหนังสือ FT&SV Fujitsu Technology and Service Vision

    กนกกมลกล่าวถึงพัฒนาการของบริษัทในปัจจุบันที่มีความพร้อมเป็นพันธมิตรธุรกิจในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล ด้วยบริการและโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลัก 5 ด้าน ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครือข่าย ปัญญาประดิษฐ์ ระบบข้อมูล และความปลอดภัย รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มฟูจิตสึในการขับเคลื่อนโลกให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น

    ขณะที่ฟูจิตสึ ประเทศไทยได้รับการก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2533 เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์โซลูชันและการให้บริการทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชันด้านดิจิทัล บริการด้านความปลอดภัย คลาวด์โซลูชัน ซอฟต์แวร์ ERP การบริหารจัดการโครงสร้างทางด้านไอที การจัดวางระบบ ที่ปรึกษาทางด้านไอที คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ และสแกนเนอร์ เป็นต้น

    “แม้ Fujitsu จะเรียกตัวเองว่าเป็น system integrator แต่เราผนวกส่วนที่เป็น consulting เข้าไปด้วย โดยเริ่มจากสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือช่วยลูกค้าแก้ปัญหาก่อน บางงานอาจจะต้องทำ workshop กับลูกค้าเพื่อตกผลึกโจทย์หรือความต้องการจริงๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีทั้งหมด 100% แต่เสริมการให้คำปรึกษาหรือแก้ด้วยการเปลี่ยน workflow”

    ดังนั้น ภารกิจหลักของกนกกมลจึงมุ่งเน้นที่การเป็น Digital Transformation Partner หรือ DX Partner ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าให้สามารถเปลี่ยนแปลงยกระดับด้านดิจิทัลได้สำเร็จ และมุ่งเน้นการนำความสามารถทั้งหมดของฟูจิตสึระดับโลก (global
capabilities) ให้บริการช่วยลูกค้าด้านเทคโนโลยีในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ลูกค้าสามารถก้าวทันการแข่งขันระดับโลกและส่งเสริมการทรานส์ฟอร์มที่สร้างความยั่งยืนต่อธุรกิจของลูกค้า อุตสาหกรรม สังคม และประเทศไทย พร้อมใช้นวัตกรรมช่วยลดปัญหาสังคมด้านต่างๆ ในอนาคต


Trust เปิดทาง DX ระดับโลก

    ภายใต้พันธกิจการเป็นผู้นำระดับโลกด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสู่การวางกลยุทธ์ด้านการตลาด เทคโนโลยี และการเข้าซื้อกิจการ หรือจับมือกับพันธมิตรผสานความแข็งแกร่งทั่วโลก โดยให้ความสำคัญในการสร้างการเติบโตขยายฐานธุรกิจให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในกลุ่มยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต การเงิน ค้าปลีก และธุรกิจอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย ด้วยการพัฒนาโซลูชันและการนำเสนอการให้บริการจากความเข้าใจในความต้องการ รวมถึงความเชี่ยวชาญของบริษัทที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานระดับโลกเป็นเวลายาวนาน

    “กลยุทธ์ด้านการตลาดเรายังมอง 4-5 อุตสาหกรรมที่เรามีความเชี่ยวชาญ เช่น ถ้าพูดถึงยานยนต์ เราเข้าใจในบริบทของธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ Fujitsu ที่เราต้องพัฒนาให้ดีขึ้น โดยถ้าย้อนไป 7-8 ปีที่แล้วช่วงเริ่มต้นขยายไปบริษัทลูกค้าที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น เราต้องใช้ความพยายามในการนำเสนอความเป็น global ติดอันดับ Gartner, Inc. รวมถึงจุดแข็งในการให้บริการลูกค้าประเทศอื่นๆ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นหรือ trust เปิดทางความไว้วางใจลูกค้าใช้บริการเรา”

    ขณะเดียวกันการเดินหน้ากลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีได้รับการเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้นจากกลยุทธ์การควบรวมและเข้าซื้อธุรกิจ หรือ M&A โดย บริษัท ฟูจิตสึ ลิมิเต็ด เข้าซื้อกิจการของ บริษัท อินโนเวชั่น คอน-ซัลท์ติ้ง เซอร์วิส จำกัด (ICS) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านระบบ SAP ในประเทศไทย ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถของฟูจิตสึในการให้คำปรึกษา และบริหารการจัดการระบบ SAP ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการธุรกิจของฟูจิตสึ โดยเฉพาะด้านแอปพลิเคชันทางธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 หัวใจหลักสำคัญ (KFAs) ภายใต้ Fujitsu Uvance

    นอกจากนั้น การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการนำประสบการณ์ที่ยาวนาน ความชำนาญ และประวัติความสำเร็จของฟูจิตสึและ ICS ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ SAP ในประเทศไทย สิงคโปร์ และประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพของ Global Delivery Centres (GDC) ของฟูจิตสึในตลาดเอเชียและเสริมความแข็งแกร่งด้านธุรกิจที่ใช้ระบบ SAP ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมส่งมอบข้อเสนอด้านระบบ SAP ได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็วสำหรับลูกค้าใหม่


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิเชียร งามสุขเกษมศรี MELFT ปักธงมุ่งสู่ Circular Digital-Engineering

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine