“พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา” CEO ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจด้านเทคโนโลยี เผยถึงโอกาสและความท้าทายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หลังจาก LINE ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่วาระครบรอบ 12 ปี ในปีนี้ นอกเหนือจากเป้าหมายระยะสั้นในการดัน Line OA ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ SME และองค์กรรัฐ เขายังตั้งเป้าระยะไกลโดยคาดหวังให้ LINE เป็นแอปพลิเคชันอันดับ 1 ในใจคนไทยทุกคน
นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ได้ก้าวเข้ามาทำงานในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ ต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ที่ได้เลื่อนขั้นขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจแอปพลิเคชั่นสื่อสารให้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันและยังครบรอบ 12 ปี ในปี 2566 นี้
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ซีอีโอหนุ่มเลือกใส่ชุดสูทโทนสีกากีทับเสื้อยืดสีขาวสะอาดตาที่สวมอยู่ด้านใน ด้วยลุคที่ดู Smart Casual แบบผู้บริหารอย่างเป็นทางการแต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงความสบายๆ เป็นกันเองและไม่รู้สึกเคร่งเครียดจนเกินไประหว่างที่ให้สัมภาษณ์พูดคุยกับทีมงาน Forbes ภายในออฟฟิศที่มีดีไซน์ทันสมัยตั้งอยู่ที่ตึกเกษรซึ่งถือเป็นทำเลทองย่านใจกลางกรุง
First Name in Mind เป้าหมายต้องไปให้ถึง
LINE ประเทศไทย ได้วางแนวทางธุรกิจไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น โดยคอนเซ็ปต์ “Closing the distance” คือนโยบายในการเชื่อมต่อผู้คนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันต่อเนื่องไปถึงการลดช่องว่างเรื่องระยะทางลงสำหรับการติดต่อทำธุรรรมและการให้บริการด้านต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม สำหรับเป้าหมายธุรกิจของปีนี้เนื่องในวาระครอบรอบ 12 ปี ดร.พิเชษฐ กล่าวเสริมด้วยว่า “ยังอยากให้ธุรกิจเติบโตไปได้มากกว่าเดิม แม้มันจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”
ปัจจุบันตัวเลข user ของผู้ใช้งานผ่าน LINE ในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสื้นราวๆ 54 ล้านราย ซึ่งแผน Short Term ระยะสั้นภายใน 2-3 ปีนี้ มีอยู่ 2 ส่วน คือ
1. การนำ Line Shopping เข้ามาช่วยตอบโจทย์ธุรกิจแก่เหล่าผู้ประกอบการ SME ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในปี 2019 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME มีการเปิดใช้บัญชี LINE Official Account หรือ LINE OA ในการดำเนินธุรกิจเพียง 2 ล้านราย แต่ ณ ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวได้ขยับขึ้นมาเป็น 6 ล้านราย ดังนั้น LINE จึงมีแผนที่จะสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อรองรับการซื้อ-ขายให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เชื่อมโยงนำพาให้เหล่าบรรดาผู้ซื้อและผู้ขายที่ใช้แอป Line จำนวน 54 ล้านรายมาเจอกันผ่านแพลตฟอร์ม Line Shopping นั่นเอง
2. การนำ Line Official Account หรือ Line OA เข้ามาช่วยตอบโจทย์หน่วยงานองค์กรภาครัฐสำหรับการให้บริการด้านต่างๆ แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเสียเงินงบประมาณไปแบบสูญเปล่ากับการดีไซน์ออกแบบสร้างแอปพลิเคชันใหม่ซึ่งประชาชนไม่นิยมใช้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ขององค์กรภาครัฐที่มีการนำ Line OA อย่าง หมอพร้อมไปใช้รองรับแก้ไขในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้วได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ต่อเนื่องไปถึงช่วงของการเลือกตั้ง ก็ยังมีการเปิดรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จากประชาชนผ่าน Line OA
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการไฟฟ้านครหลวง และ M-Flow ก็ยังมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ โดยสามารถช่วยตอบโจทย์กลุ่มประชาชนผู้ใช้งานให้สามารถจ่ายชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวได้อย่างง่ายได้และยังช่วยลดปัญหาเรื่องของการเสียค่าปรับหากชำระเงินเกินเวลาแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกในระบบของ M-Flow
สำหรับแผนระยะยาว ซีอีโอ LINE ประเทศไทย กล่าวเน้นย้ำอย่างจริงจังว่า “ในส่วนของ Long Term Plan เราต้องการเป็น First Name in Mind นั่นก็คือ เป็นที่ 1 ในใจของผู้ใช้บริการบนโลกอินเตอร์เน็ตในไทยทุกคน คือ "ไม่ว่าใครจะไปที่ไหนหรือทำอะไรก็ขอให้นึกถึง LINE ก่อน อยากจะยืมเงิน อ่านข่าว เช็คราคาหุ้นต่างประเทศ รวมถึง แก้บน ทำบุญ เรามีพร้อมให้บริการทั้งหมดแล้วสำหรับสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้”
ซีอีโอ LINE กับความท้าทายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
ปี 2562 คือ ช่วงเวลาที่ ดร.พิเชษฐ ในฐานะซีอีโอคนใหม่ได้รับไม้ต่อในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนธุรกิจซึ่งถือเป็นโจทย์ยากและท้าทายมากๆ เพราะ อริยะ พนมยงค์ ซีอีโอคนเก่าบริหารงานเดิมไว้ได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น เขาจึงต้องคอยบอกกับตัวเองอยู่เสมอในช่วงแรกๆ รวมถึงบอกกับทีมงานที่ได้รับการโปรโมทในช่วงเวลาเดียวกันว่า “อะไรที่ทำแล้วดีก็ให้เก็บไว้ อะไรที่ควรทำให้ดียิ่งขึ้นก็ค่อยๆ ทยอยปรับกันไป เราไม่เหมือนกับองค์กรรัฐที่พอทีมใครมาใหม่ก็ต้องเร่งเปลี่ยนนโยบายใหม่ทั้งหมด
นอกจากนี้ เดิมทีเราเป็นคนชอบพูดแล้วติดอธิบายเพิ่มเติมเยอะก็ต้องปรับตัวให้ลดน้อยลง แล้วพยายามหันมาฟังคนอื่นๆ ให้เยอะๆ แทน” ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็ถือว่าทำมาได้อย่างถูกทาง อีกทั้งบุคลากรที่เป็นคนเก่งๆ ก็มีอยู่ในองค์กรเป็นจำนวนมาก พอผู้บริหารระดับสูงอย่าง ดร.พิเชษฐ เปิดใจฟังลูกน้องหรือทีมงานมากยิ่งขึ้นประกอบกับการวางบทบาทของตนเองให้เป็น “Moderator” ผู้มีหน้าที่คอยดูแลสร้างบรรยากาศในการทำงานให้แต่ละคนดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้ดีที่สุด การดำเนินงานในแต่ละส่วนก็เป็นไปด้วยความราบรื่นส่งผลให้องค์กรแข็งแกร่งเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย
แม้ช่วงเวลานั้นจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม อีกทั้งภาพรวมธุรกิจก็แลดูเหมือนจะถึงจุดอิ่มตัวในช่วงปลาย s-curve ซึ่งมีจำนวน user ผู้ใช้งานทั้งหมดอยู่ราวๆ 44 ล้านราย แต่ ณ ปัจจุบัน แนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ยังกระตุ้นให้มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเป็น 54 ล้านราย
ทั้งนี้ ดร.พิเชษฐ ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 ปีให้หลังที่ผ่านมา เขาทำงานแบบหาตัวแทนที่สามารถเข้ามาดูแลในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองได้อยู่ตลอด เพราะหากอนาคตวันหนึ่งข้างหน้าเขาต้องการหาโจทย์ความท้าทายด้านการทำงานใหม่ๆ LINE ประเทศไทยก็ยังสามารถมีคนก้าวขึ้นมาดูแลภาพรวมของบริษัทแทนเขาได้โดยที่องค์กรจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
“Self Driven” แก้ปัญหาเป็น เข้ากับคนอื่นได้
ด้วยวัย 52 ปี ซีอีโอผู้ต้องขับเคลื่อนองค์กรด้านเทคโนโลยีที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในวัย 30 เป็นหลักบอกกับ Forbes ว่า อายุหรือความแตกต่างระหว่างคน 2 Gen ไม่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารงานแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันด้วยการไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ ของตัวเองเป็นหลัก และยังจะต้องเปิดใจให้กว้างในการรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาให้มากขึ้น
“น้องๆ แต่ละคนในบริษัทของผมต้องเตรียมงานกันมาหนักมาก เวลาเขาจะเสนอความคิดเห็นอะไรเราก็ต้องฟังเขาให้มากๆ ถ้าเราไปตัดบทเลยแบบนั้นมันไม่โอเค ดังนั้นเราควรจะใช้คำถามที่เป็นประโยชน์ให้เขาได้พูดได้อธิบายถึงเหตุผลในด้านต่างๆ เพื่อให้เขาแสดงศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่ดีกว่า หลังจากนั้นจึงค่อยๆ หาแนวทางต่างๆ ที่เป็นทางออกร่วมกัน”
หันกลับมาดูในเรื่องของ Turnover การลาออกของพนักงานคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากันบ้าง ดร.พิเชษฐ ยอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า พนักงานทุกคนในองค์กรล้วนแล้วแต่เป็นคนเก่งที่มีศักยภาพหลายบริษัทดังจึงพยายามที่จะดึงคนของเราไปร่วมงานด้วยอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ พนักงานที่เคยตัดสินใจลาออกไปแล้วก็มีการถอยหลังหวนคืนกลับมาเป็นจำนวนเยอะด้วยเช่นกัน โดยเรื่องของ Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรของ LINE นั้นน่าจะแตกต่างจากองค์กรอื่นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริหารของ LINE ทุกคนไม่เคยใช้ระบบ Top down approach ในการตัดสินใจเด็ดขาดจากผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นการที่พนักงานทุกคนในทีมจะต้องมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ ดังนั้นหากผู้บริหารมีไอเดียโปรเจคต์อะไรใหม่ๆ แต่หากพนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวโปรเจคต์นั้นก็จะต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ ในส่วนของตัวพนักงานเองนั้น แต่ละคนที่ได้รับเลือกเข้ามาทำงานที่นี่มักจะมีเอกลักษณ์อย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือการมี Self Driven ในการบริหารจัดการหน้าที่รับผิดชอบของตนเองได้อย่างชัดเจนโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยสั่งการหรือควบคุม รวมถึงการเป็นคนชอบคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ และยังทำงานแบบ teamwork ร่วมกับเพื่อนในองค์กรได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจย่อมเจอวิกฤตหรืออุปสรรคในทุกๆ ที่ ดร.พิเชษฐ เล่าว่า เมื่อไรที่ต้องเจอกับอุปสรรค เขามักจะตั้งสติถอยหลังคิดให้รอบคอบก่อนสักนิดแล้วจึงพยายามทำความเข้าใจปัญหากับเพื่อนร่วมงานให้ได้ หลังจากนั้นจึงสลัดความคิดความเชื่อของตนเองออกก่อน แล้วถึงพยายามชั่งน้ำหนักจากข้อมูล Data ที่มีอยุ่ในหลายๆ ด้าน ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งคติประจำใจหรือแนวทางที่เขายึดมั่นในการทำงานมาโดยตลอดคือ “อย่าใช้โอกาสเปลือง ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งต้องพลาดให้น้อยที่สุด และจะคอยบอกย้ำกับตัวเองตลอดว่าจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด”
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : RiFF Studio “ความฝันเหนือชีวิต” กับภารกิจพาแอนิเมชันไทยประกาศศักดาบนเวทีโลก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine