กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจนับเป็นวิกฤตครั้งสำคัญต่อทั้งวงการ แต่ “ยูนิค อุตสาหกรรมพลาสติก” ภายใต้การนำของ “นิทัศน์ นวชาตโฆษิต” ผู้พลิกโรงงานถุงแบบ SMEs ของรุ่นบุกเบิกสู่บริษัทพันล้าน ได้เตรียมการรับมือไว้ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว
นิทัศน์ นวชาตโฆษิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด วัย 48 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของครอบครัวของบริษัท โรงงานพื้นที่ 32,000 ตารางเมตร แห่งนี้ตั้งอยู่บน ถ.แพรกษา จ.สมุทรปราการ เป็นแหล่งผลิตถุงพลาสติก
โดยยูนิคฯ มีการผลิตตั้งแต่ถุงพลาสติกสำหรับอุปโภคบริโภค ได้แก่ ถุงร้อนและถุงหูหิ้ว จนถึงถุงพลาสติกอุตสาหกรรมสำหรับลูกค้าแบบ B2B เช่น ถุงขนาดใหญ่สำหรับใส่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออะไหล่ยานยนต์ ฟิล์ม LLDPE เพื่อใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบซองตั้ง ถุงกระสอบสำหรับบรรจุเม็ดพลาสติก ปุ๋ย หรืออาหารสัตว์ เป็นต้น
ด้วยธุรกิจของบริษัททั้งหมดมาจากสินค้าพลาสติก ยูนิค ย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญจากกระแสรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อภาครัฐกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง 7 ประเภท ภายในปี 2568 เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจของยูนิคฯ โดยเฉพาะในกลุ่มถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่นิทัศน์กล่าวว่าเขากำลังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
หยอดน้ำมันให้ “ตรากุญแจ”
จุดเริ่มต้นของยูนิคฯ เกิดจาก พิสิฐ และ สุจินต์ นวชาตโฆษิต คุณพ่อและคุณแม่ของนิทัศน์ที่ร่วมบุกเบิกด้วยกันเมื่อปี 2520 โดยสุจินต์นั้นทำงานอยู่ในบริษัทนำเข้าเม็ดพลาสติกของพี่สาว ทำให้เห็นโอกาสในยุคที่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีถุงพลาสติกใช้งาน เธอและสามีจึงริเริ่มนำเข้าเครื่องจักรจากญี่ปุ่นเข้ามาผลิตและให้พิสิฐซึ่งเดิมเปิดร้านขายยา มารับหน้าที่เซลส์แมนเสนอขายถุงร้อน “ตรากุญแจ” อันเป็นผลิตภัณฑ์แรกของบริษัท
จากนั้นถุงร้อนตรากุญแจก็ออกสินค้าถุงหูหิ้วมาเสริม ตามด้วยการผลิตถุงพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม ในช่วงนี้เอง นิทัศน์ซึ่งเพิ่งเรียนจบปริญญาโทด้าน Engineering Management จาก Drexel University สหรัฐอเมริกา ก็กลับมาถึงประเทศไทย โดยไม่ได้ตั้งใจจะมารับช่วงต่อในบริษัท
“จริงๆ คุณแม่ถามว่าเอาไหม เราบอกไม่เอา แต่ว่าพอกลับมาแล้ว มาดูในโรงงานก็พบว่ามันมีอะไรท้าทาย”
นิทัศน์พบว่ากระแสตลาดกำลังมีความต้องการบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (flexible packaging) สำหรับใส่สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ขนม อาหาร น้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ โดยถุงลักษณะนี้จะใช้การลามิเนต (ประกบติด) ฟิล์มพลาสติก 2 ชนิดเข้าด้วยกัน เขาจึงเห็นโอกาสการผลิตวัตถุดิบต้นทางคือม้วนฟิล์ม LLDPE เพื่อใช้ทำบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว และเลือกนำเข้าเครื่องจักรจากเยอรมนีมาผลิตเมื่อ 18 ปีก่อน
“พอเราทำตัวนี้ก็เติบโตเลย จากผลิตอยู่ 60-80 ตันต่อเดือน ขึ้นมาเป็น 200 ตันต่อเดือน และขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วง 10 ปีหลังเติบโตเร็วมาก ตอนนี้เรามีการผลิตที่ 3,600 ตันต่อเดือน รวมทุกผลิตภัณฑ์” นิทัศน์กล่าว
ส่งออก “เมียนมา” ทดแทน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จอันหอมหวานในอดีตกำลังถูกท้าทาย โดยสัดส่วนรายได้ของยูนิคฯ มาจากสินค้า B2B ราว 60% และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป 40% ซึ่งต่างถูกกระทบด้วยปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ซบเซา การย้ายฐานออกนอกประเทศของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และปัจจัยลบระยะยาวเรื่องเทรนด์รักษาสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง ทำให้ยูนิคฯ ต้องมีแผนรับมือ
เริ่มจากกลุ่มถุงพลาสติกสำหรับอุปโภคบริโภคทั่วไป แม้ว่ายอดขายในประเทศจะเติบโตเล็กน้อยราว 3-5% ต่อปี แต่เมื่อมีปัจจัยลบรออยู่ ทำให้นิทัศน์เลือกตั้งโรงงานแห่งใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 โดยได้ย้ายฐานการผลิตถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว กำลังผลิต 600 ตันต่อเดือนไปไว้ที่โรงงานใหม่ทั้งหมด เพื่อมุ่งกระจายสินค้าจำหน่ายในประเทศเมียนมา
ปัจจุบันยูนิคฯ มียอดขายถุงหูหิ้วในต่างประเทศคิดเป็น 30% ของการขายถุงหูหิ้วทั้งหมด มีตลาดใหญ่คือเมียนมา รองลงมาคือกัมพูชากับสปป.ลาว ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มการส่งออกกลุ่มสินค้าถุงหูหิ้วนี้เป็น 60% และเชื่อว่ามีโอกาสมากด้วยมุมมองผู้บริโภคเมียนมามั่นใจในสินค้าไทยมากกว่าจีน รวมถึงยูนิคฯ มีพาร์ทเนอร์ผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่เชื่อถือได้
นวัตกรรมรักษ์โลก
อีกมุมหนึ่งของการรับมือกระแสความต้องการในตลาด นิทัศน์กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มพลาสติกที่รีไซเคิลได้ 100% และ กลุ่มพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบภายใน 180 วัน (biodegradable)
ต่อประเด็นนี้ สมพร นวชาตโฆษิต รองประธานบริษัทสายงานบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ ของยูนิคฯ และภรรยาของนิทัศน์ อธิบายว่า หากมองกระแสจากฝั่งตะวันตก ลูกค้าจะมีความต้องการสินค้าแบบ PCR (Post Consumer Recycle) คือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100% เนื่องจากบริษัทตะวันตกมองว่าการใช้พลาสติกย่อยสลายได้เร็วก็ยังต้องการที่ดินสำหรับฝังกลบซึ่งจะมีปัญหาตามมา
ทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้า FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) เช่น Unilever, P&G, Pepsi co., Nestle ต่างดำเนินนโยบายเดียวกันคือมุ่งไปสู่การใช้บรรจุภัณฑ์ PCR 100% ทั้งหมดทั่วโลก แปลว่าบรรจุภัณฑ์นั้นต้องผลิตจากวัสดุประเภทเดียว (Single Material) จึงจะรีไซเคิลได้
โจทย์นี้เป็นความท้าทายของยูนิคฯ เพราะฟิล์ม LLDPE ของบริษัทจะถูกนำไปใช้ประกบเป็นถุงด้านในของบรรจุภัณฑ์ซองตั้ง ด้านนอกประกบด้วยวัสดุอื่น เช่น ไนลอน ซึ่งทำให้ซองตั้งนี้ไม่สามารถรีไซเคิลได้
อย่างไรก็ตาม ยูนิคฯ ได้หาทางรับมือด้วยการนำเข้า เครื่องจักรผลิตฟิล์ม MDO (Machine Direction Orientation) จากเยอรมนีตั้งแต่ 6 ปีก่อน เครื่องจักรดังกล่าวสามารถดึงยืดฟิล์ม LLDPE ให้มีความคงตัวมากขึ้น ซองตั้งทั้งซองจึงผลิตจากวัสดุเดียวคือ LLDPE และรีไซเคิล 100% ได้ตามโจทย์ของลูกค้า
โดยปัจจุบันยูนิคฯ ยังเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในไทยที่มีเครื่องจักร MDO และมี knowhow เรื่องสูตรวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
“...ตอนนี้อยู่ในขั้นตอน end-users ทดสอบบรรจุภัณฑ์ของเรา” นิทัศน์กล่าวและเสริมว่า ปัญหาที่ยังเหลืออยู่ของผลิตภัณฑ์นี้คือช่วงเวลาการรักษาสภาพสินค้า (shelf-life) ยังสั้นกว่าบรรจุภัณฑ์แบบเดิม และราคายังสูงกว่าเดิม 5-8%
สำหรับอีกกลุ่มสินค้าคือพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (biodegradable) หรือ “ถุงไบโอฯ” นั้น นิทัศน์กล่าวว่าบริษัทมีการวิจัยพัฒนาสูตรคอมพาวด์ใช้สำหรับผลิตถุงหูหิ้วโดยร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยูนิคฯ คาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายถุงไบโอฯ ดังกล่าวได้ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 30% กล่าวคือ อยู่ที่ 140-150 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับตลาดปัจจุบันที่ขายถุงไบโอฯ ในราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม ถุงไบโอฯ ยังคงราคาสูงกว่าถุงพลาสติกปกติที่ขายอยู่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัมเป็นเท่าตัว แต่บริษัทจะพัฒนาต่อไปให้ถุงไบโอฯ อยู่ในระดับราคาที่สูงกว่าถุงปกติไม่เกิน 30% ซึ่งจะทำให้ขายในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม B2B ได้
“ชีวิตที่ไม่มีพลาสติกเลย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบได้ ถุงพลาสติกนี่จริงๆ มีคุณอนันต์เลยนะ เรายินดีถ้าเกิดโลกจะไม่ใช้ถุงพลาสติกปกติแต่หันมาใช้ถุงไบโอฯ เราก็จะไปทางนี้”
ธุรกิจจากความรัก
ภายในพื้นที่โรงงานยูนิคฯ ยังมีรายละเอียดที่สะท้อนตัวตนของตระกูลนวชาตโฆษิตอีกประการคือการตั้งชื่ออาคารโรงงานตามชื่อนักบุญในศาสนาคริสต์ เช่น St.Anne, St.Paul, St.Martin เนื่องจากนิทัศน์เป็นผู้มีศรัทธาในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
“ธุรกิจมันคือการสะท้อนตัวตนของคุณ ธุรกิจที่เริ่มต้นจากความรักจะไปได้ดีเสมอ จะยั่งยืน ธุรกิจที่เริ่มต้นจากความอยากมี อยากรวย ไม่ค่อยยั่งยืนเท่าไหร่ เพราะนั่นคือความโลภ” นิทัศน์กล่าว เขายังสร้างปรัชญาจากคำสอนทางศาสนาผสมกับประสบการณ์ที่ตนมี ให้กับพนักงานบริษัทใช้เป็นแนวทางการทำงานคือหลัก “HARMONY” ที่ทำให้การทำงานเกิดความผสมกลมกลืนและธุรกิจประสบความสำเร็จ
ภาพ: ประกฤษณ์ จันทะวงษ์
คลิกอ่านฉบับเต็ม “โอกาสในวิกฤตของ "ยูนิค" โล้คลื่น "ถุงพลาสติก" รักษ์โลก” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine