KMP ชูบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ผงาดพลาสติกฟรีแห่งอาเซียน - Forbes Thailand

KMP ชูบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ผงาดพลาสติกฟรีแห่งอาเซียน

เส้นทางธุรกิจสีเขียวของผู้นำบรรจุภัณฑ์กระดาษที่สามารถทลายกรอบการใช้ถ้วยเคลือบเทียน ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง สู่การสร้างสรรค์กระดาษย่อยสลายได้รายแรกในอาเซียน พร้อมใช้เป็นอาวุธรุกขยายฐานต่างประเทศพิชิตยอดขายมากกว่าพันล้านบาท

KMP คือ โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับใส่อาหารรายแรกที่ผลิตถ้วยกระดาษเคลือบ PE(Polyethylene) สามารถป้องกันการซึมและเหมาะสำหรับใส่อาหารหรือเครื่องดื่มแทนถ้วยเคลือบเทียนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค “โรงพิมพ์ของคุณปู่เป็นโรงพิมพ์ยุคแรกในไทยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ก่อนที่คุณพ่อจะแยกตัวออกมาทำโรงงานบรรจุภัณฑ์เน้นอาหารและของเหลวเป็นรายแรก เพราะคุณพ่อต้องการทำอะไรที่แตกต่าง” “ท่านเชื่อว่าน่าจะมีเทคโนโลยีบางอย่างที่สามารถใช้แทนถ้วยเคลือบเทียน เราจึงศึกษาค้นคว้าและนำนวัตกรรมถ้วยเคลือบ PE จากตะวันตกซึ่งใช้กับความร้อนได้ดีกว่าและปลอดภัยกว่า เราเป็นผู้เปลี่ยนกระแสทำให้ถ้วยเคลือบเทียนหายไป” พัสกร กมลสุวรรณ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติงาน บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด หนึ่งในทายาทผู้ร่วมสานต่อธุรกิจของครอบครัวเล่าถึงช่วงเวลาสร้างความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยของบิดา
พัสกร กมลสุวรรณ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติงาน บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด
จากวิกฤตค่าเงินในปี 2540 ทำให้พัสกรได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านการเงินที่สั่งสมร่วมกอบกู้สถานการณ์ของบริษัท บริหารจัดการต้นทุนและปรับปรุงไลน์การผลิตในลักษณะ Total Productive Maintenance หรือ TPM โดยพยายามเพิ่มคุณภาพ ลดของเสียและลดชั่วโมงการหยุดเดินเครื่องของเครื่องจักร โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี กว่าที่จะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับมาตรฐานทั้ง ISO 9001, 14000, 22000, GMP, FSSC, HACCP, FSC จากโรงงานย่านบางนาพื้นที่ 4 ไร่ ซึ่งมีเครื่องพิมพ์เพียง 2 เครื่องและเครื่องขึ้นรูป 5 เครื่อง สู่เครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่หลายรูปแบบจำนวน 3 เครื่องและเครื่องขึ้นรูปจำนวนมากกว่า 80 เครื่อง บนพื้นที่ 16 ไร่ของบางเสาธง
โรงงานย่านบางเสาธงบนพื้นที่ 16 ไร่ ได้รับการควบคุมดูแลคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบปลอดการปนเปื้อนและทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต
ทำให้บริษัทสามารถก้าวเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์จากกระดาษสำหรับอาหารให้กับบริษัทชั้นนำ ทั้งของไทยและของทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย  เช่น Unilever, Nestlé, Minor, Yum Restaurants, KFC, Pizza Hut, CP ALL, Major, S&P, Amazon, After You ครอบคลุมบรรจุภัณฑ์หลากหลายกว่า 80 ชนิดและรูปแบบให้เลือกกว่า 1,000 รูปแบบ โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวันหรือ 1 พันล้านชิ้นต่อปี และครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 40% ในอาเซียน

คว้าโอกาสนวัตกรรมต่าง

“…ถ้ามีเขา เราพัฒนา ถ้าแข่งด้วยราคา ผมไม่สู้ โดยในท้ายสุดผมเชื่อว่า ลูกค้าจะกลับมาหาเราเพราะคุณภาพที่แตกต่าง มาร์จิ้นของเราไม่สูง ผมเป็นบริษัทคนไทยที่ผลิตเพื่อคนไทย ผมไม่ได้ต้องการกำไรล้นฟ้า แต่ต้องการ serve ตลาดไทยให้อยู่อย่างยั่งยืน นั่นเป็นหนึ่งในปรัชญาจากคุณแม่ของผม”
บรรจุภัณฑ์คุณภาพที่มีความทนทานและรับความร้อนได้ดี
  พัสกรย้ำในความต่างของบริษัท ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพนับตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบที่ต้องผ่านการรับรอง FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) และกระดาษนำเข้าจากต่างประเทศต้องเป็นกระดาษ VIRGIN PULP จากไม้ป่าปลูกเพื่ออุตสาหกรรมจากอเมริกาหรือฟินแลนด์เป็นหลัก เพื่อให้ได้เยื่อกระดาษเหนียวคุณภาพดีจากประเทศที่ปลูกไม้เมืองหนาวโดยเฉพาะ และไม่ทำลายธรรมชาติ สำหรับบรรจุภัณฑ์นวัตกรรมที่บริษัทมุ่งเน้นต่อยอดสร้างการเติบโตในอนาคต ได้แก่ Microwave Board หรือบรรจุภัณฑ์กระดาษที่สามารถเข้าไมโครเวฟเพื่ออุ่นอาหารได้ทันที โดยปราศจากสารปนเปื้อนไปกับอาหาร และ Green Good หรือบรรจุภัณฑ์กระดาษย่อยสลายได้ด้วยตัวเองภายใน 180 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Bio PBS และ Plastic Free “KMP ให้ความสำคัญกับเรื่อง green มานานและลงทุนกับระบบจำนวนมาก เราพยายามยกระดับตัวเองไม่ใช่แค่กระดาษธรรมดาที่มีพลาสติกผสม แต่เป็นกระดาษที่ย่อยสลายได้ ...เราเชื่อว่ากลุ่ม Green Good จะเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 40-50% ไม่เกิน 4-5 ปีนี้”
นวัตกรรมกระดาษย่อยสลายได้ภายใต้แบรนด์ของบริษัท และสามารถรับจ้างผลิตได้หลากหลายรูปแบบ
  ด้าน Bio PBS เป็นพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene succinate จากน้ำตาล โดยพลาสติกชนิดนี้สามารถนำไปขึ้นรูปได้ใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไป ระยะเวลาการย่อยสลายประมาณ 12 สัปดาห์ ส่วน Plastic Free เป็นนวัตกรรมสารเคลือบกระดาษปราศจากส่วนผสมของพลาสติก ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ KMP เพียงรายเดียวในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีและศรีลังกาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งสามารถย่อยสลายในดินใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน พัสกรเชื่อมั่นในโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจ สอดคล้องกับเทรนด์การรณรงค์ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมหรือ Eco Product โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือ Green DNA และธุรกิจ quick service restaurant รวมถึงธุรกิจบริการส่งอาหารซึ่งกำลังได้รับความนิยม ด้วยมูลค่าการตลาดสูงกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท “…วันนี้เรามีกำลังการผลิตเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และส่งสินค้าขายเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ แล้ว แต่แผนของเราต้องการเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย”

เล็งตลาดทุนหนุนติดปีก

KMP เตรียมระดมทุนเสริมทัพความแข็งแกร่งให้กับฐานการผลิตและการรุกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยความมั่นใจ ปรับโครงสร้างเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 เพื่อขยายกำลังการผลิตจำนวนมากกว่า 1.5-1.6 พันล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ พัสกรยังเชื่อมั่นในนวัตกรรมกระดาษย่อยสลายได้และกระดาษเข้าเวฟได้เป็นอาวุธสำคัญในการรุกขยายฐานตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชาสปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งมุ่งเน้นการมองหาดีลเลอร์ที่ไว้วางใจจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหรือการควบรวมและซื้อกิจการในบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตหรือเป็นฐานในต่างประเทศให้ได้ ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้จากจำนวน 851.08 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเป็น 1.1 พันล้านบาทปีนี้ และ 1.5 พันล้านบาทในช่วงเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2563 โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 15%
บรรจุภัณฑ์กระดาษสามารถเข้าไมโครเวฟได้ หนึ่งในอาวุธสำคัญที่จะใช้บุกตลาดต่างประเทศ
บริษัทยังมุ่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรให้สามารถทำงานร่วมกับทีมงานจำนวนประมาณ 470 คนได้เป็นอย่างดี โดยอยู่ระหว่างการปรับให้เป็นระบบเครื่องจักรทำงานโดยสมบูรณ์ เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต “เราให้ความสำคัญกับกระดาษ เราพยายามปลูกป่าในประเทศและไม่ทำลายป่าไม้ ทุกผลิตภัณฑ์ของเราต้องมั่นใจว่าไม่ยุ่งกับป่าธรรมชาติ พร้อมมุ่งมั่นใน green factory ไม่ใช่แค่โรงงาน แต่ต้องกระจายไปยังสังคม ซึ่งความคาดหวังในระยะยาว สิ่งที่ยังต้องใช้พลาสติกก็ควรใช้ แต่สิ่งที่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้พลาสติก เราหวังให้ green เกิดขึ้นจริงทุกแห่ง”   ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่าน "KMP ชูบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ผงาดพลาสติกฟรีแห่งอาเซียน" ฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand เดือนสิงหาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine