จากประสบการณ์ชีวิตที่เคยตกต่ำถึงขีดสุด ในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจของ "นรบดี ผดุงเจริญ” จนถึงขั้นหมดตัว ต้องขับแท็กซี่ และแบกหนี้อีกสิบล้าน ผ่านร้อนผ่านหนาวในเส้นทางนักบริหารมืออาชีพในสายธุรกิจธนาคารอีกเกือบ 20 ปี
วันนี้ของ “นรบดี ผดุงเจริญ” ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท คิวเปอร์ จำกัด นำการตกผลึกทางความคิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่น “QPER” โมเดลธุรกิจของคิวเปอร์ ไม่ใช่สตาร์ทอัพ แต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ต้องการช่วยให้ “คนหางาน ได้หาเงิน” ผ่านแอปพลิเคชั่น “QPER” โดยเฉพาะในภาวะที่หลายคนอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ตกงาน หรือมีรายได้ลดลง ด้วยแนวคิด “Reverse Domino Effect” เมื่อแต่ละคนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ได้ด้วยตัวเอง จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น-ย้อนประสบการณ์ชีวิตคนหนุ่มไฟแรง-
นรบดี เริ่มทำธุรกิจแรกตั้งแต่ยังเรียนที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยธุรกิจแรกคือการนำเข้า “ทามาก็อตจิ” ของเล่นที่ฮิตมากเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขาถือเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 80 โดยสินค้าทามาก็อตจิที่วางขายทั้งที่คลองถม สะพานเหล็กเป็นของเขาเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำเข้าวิดีโอ เทปคาสเซ็ท เข้ามาจำหน่ายด้วย ทำให้ในวัยเพียง 21-22 ปี นรบดีมีธุรกิจที่สร้างรายได้หลักสิบล้านบาท
หลังจากนั้นเขาได้โดดเข้าสู่ธุรกิจวิทยุ เช่าเวลาจัดรายการวิทยุของอสมท ทำรายการเกี่ยวกับรถยนต์ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบรถยนต์ ความเร็ว ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อ (ไพบูลย์ ผดุงเจริญ) ได้ทำสนามแข่งรถแห่งแรกในประเทศไทย ที่พัทยา มีชื่อว่า “สนามเอเชียน่า เรซซิ่ง เซอร์กิต” แต่ด้วยความที่กระโดดเข้าไปในธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน รายได้ทั้งหมดของเขาสูญไปกับธรกิจวิทยุ และมีหนี้นับสิบล้านบาท
“สมัยนั้นการทำธุรกิจวิทยุ เป็นเรื่องสัมปทาน เช่าเวลาต่อกันเป็นทอดๆ เราก็อยากทำรายการวิทยุเรื่องรถยนต์ เพราะชอบเรื่องความเร็ว ทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่ผลิตคอนเทนต์ เป็นดีเจ สุดท้ายไปไม่รอด ถูกยึด แถมเป็นหนี้หลักสิบล้านบาท ต้องเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อทีวีจอใหญ่สุดในขณะนั้น นำไปเข้าโรงรับจำนำ เพื่อนำเงินมาจ่ายเงินเดือนลูกน้อง หมดเนื้อหมดตัวตอนอายุ 26 ปี” นรบดี เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตครั้งแรกของการทำธุรกิจ ที่กลายเป็นเบ้าหลอมตัวตนของเขามาจนถึงทุกวันนี้
จากวิกฤตครั้งนั้น ทำให้เขาต้องหารายได้ด้วยการขับรถแท็กซี่ คิดวนเวียนกับชีวิตที่ผ่านมา จนมีโอกาสได้เจอกับผู้บริหารหญิงคนหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา เป็นลูกค้ารถแท็กซี่ที่รับจากดอนเมือง เธอเข้ามาเพื่อทำธุรกิจในประเทศไทย ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) หลังจากนั้นได้ขยายสู่ผู้ให้บริการเว็บไซต์ และเธอได้ชักชวนให้เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ ก่อนเข้าสู่วงการโฆษณา และธุรกิจธนาคารในระยะต่อมา นรบดี ได้เข้าสู่วงการธนาคารในปี 2547 ด้วยการเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ไทยพาณิชย์ธนพัฒน์ และได้รับโอกาสในการเรียนรู้ และบริหารความคิดสร้างสรรค์ จากการพูดคุยกับ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ขณะนั้น ในเวลา 06.00 น. ของทุกวัน เป็นเวลาถึง 9 ปี “ถือเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้เรียนรู้ และทำงานร่วมกับแม่ทัพหญิงของธนาคารไทยพาณิชย์ คุณกรรณิกา ผู้ซึ่งมีประสบการณ์มากมายในแวดวงการตลาด สินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งขณะนั้นธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนารีเทล แบงกิ้ง การคิดหาบริการใหม่ๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้า คุณกรรณิกาจะให้โจทย์ผมมาคิด มีหลายบริการที่ผมช่วยคิดและจุดประกาย เช่น บริการ SMS Alert บริการ ATM NO Slip การใช้ Color Marketing” นรบดีกล่าว หลังจากนั้นก็ได้ทุนจากธนาคารไปเรียนปริญญาโทที่ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียน MBA ที่ Kellogg NorthWestern Chicaco เรียนจบกลับมาได้ย้ายค่ายไปอยู่กับธนาคารธนชาต ในตำแหน่งผู้อำนวยการสายงานสื่อสารการตลาด ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) อยู่กับธนชาต 9 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาด และสื่อสารการตลาด ธนาคารธนชาต ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัวอีกครั้ง-หาธุรกิจที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่-
ช่วงที่ทำงานธนาคาร นรบดี เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และเศรษฐกิจที่เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคน รวมทั้งเทคโนโลยีได้สร้างให้เกิดผู้บริโภคพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า เจเนอเรชั่น ซี หรือ Connect ที่มีพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย การใช้ชีวิตที่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีความต้องการที่ก้าวข้ามขั้นตอนตามทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ซึ่งมี 5 ขั้นตอน เริ่มจากความต้องการด้านร่างกาย ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง และความต้องการตระหนักในตนเอง
“ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนมีความต้องการก้าวกระโดดไปสู่ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ โดยที่ยังไม่มีอะไรตอบสนองความต้องการด้านร่างกาย และความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ก้าวไปสู่ความต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียง ทำให้โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจของเราไม่แข็งแรง และเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นรบดีสะท้อนปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาของสังคมไทยยิ่งชัดเจนขึ้น เขาจึงมีแนวคิดว่าหากสามารถสร้าง Reverse Domino Effect ด้วยการทำให้ประชาชนคนไทยแข็งแรง มีรายได้จับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจกิจเกิดการหมุนเวียน เป็นปฏิกิริยาย้อนกลับช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรง “นี่คือแรงบันดาลใจของผม” นรบดีกล่าวและเป็นที่มาในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น QPER แอปพลิเคชัน QPER จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ทำให้ผู้ให้บริการ หรือ provider และผู้รับบริการ หรือ user ได้มาเจอกันด้วยระบบ “เรดาห์” ที่ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบ Consumer to Consumer หรือ C2C ให้ได้มากที่สุด รวบรวม และเปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกภูมิภาคของประเทศได้นำความรู้ ความสามารถ หรือสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญและเวลาว่าง มาสร้างรายได้ตลอด 24 ชั่วโมงใกล้บ้าน อาทิ แม่บ้าน คนขับรถ แม่ครัว ช่างไฟ ช่างแอร์ ช่างซ่อมรถ ติวเตอร์ เทรนเนอร์ หมอดู หมอนวดแผนไทย ช่างเสริมสวย ไกด์นำเที่ยว นักการตลาด นักบัญชี ฯลฯ เป็นต้น ตลอดจนยังสามารถสร้างสรรค์อาชีพใหม่ๆ ได้ตามความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ตลาด อาทิ รับจ้างต่อคิว ช่วยยกของ พาไปรับประทานอาหาร ไกด์หาร้านอร่อยย่านฝั่งธน พาไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด เป็นต้น โดยสามารถเลือกเปิดร้าน รับงานในช่วงวัน เวลา ใดก็ได้ และกำหนดอัตราค่าใช้บริการได้ด้วยตัวเอง นรบดี กล่าวว่า ระบบเรดาห์ที่พัฒนาขึ้นนี้ ได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เป็นระบบที่ทำให้ผู้ให้บริการและผู้รับบริการหากันเจอในระยะใกล้ ขณะที่ผู้ให้บริการก็พร้อมบริการทันที และเพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการและรับบริการกันทั้ง 2 ฝ่าย แอปพลิเคชั่นนี้ ยังมีจุดเด่นที่ระบบแชท ที่สามารถพูดคุย การตกลงราคาค่าบริการกันเองตามความพึงพอใจ รวมถึงการสร้างใบเสนอราคา ตกลงจุดนัดหมาย รวมทั้งระบบจ่ายเงินที่สามารถจ่ายได้ทันทีในแชท โดยไม่ต้องออกจากแอปพลิเคชั่นเพื่อไปโอนเงินผ่านระบบต่างๆ ของธนาคารให้ยุ่งยาก “ที่ผ่านมาเราพึ่งพาและใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นของต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Youtube ฯลฯ เงินเหล่านี้จะไหลออกต่างประเทศทั้งหมด แต่สำหรับ QPER เราเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพสัญชาติไทย คิดค้นและพัฒนาด้วยทุนส่วนตัวทั้งหมด เพื่อให้คนไทยมีโอกาสใช้แอปพลิเคชันของคนไทย สำหรับช่วยหางานและเพิ่มช่องทางในการหารายได้เป็นกระเป๋าเงินใบที่ 2 และใบที่ 3 ที่สำคัญ QPER ยังเป็นแพลตฟอร์มแรกที่เงินทุกบาทที่ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศไทยทั้ง 100%” นรบดีกล่าว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ เพื่อช่วยเหลือคนไทยอย่างจริงจัง บริษัทจึงได้จัดแคมเปญ “ไทยช่วยกัน” เพื่อช่วยให้ “คนที่หางาน ได้หาเงิน” โดยยกเว้นค่าบริการเปิดร้านวันละ 1 บาท จนกว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณกลางปี 2564 เพื่อช่วยคนไทยทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ทุกอายุ ในทุกภาคของประเทศที่กำลังมองหารายได้หลัก หรือเสริมได้มีโอกาสสร้างรายได้และฝ่าฟันวิกฤตโควิดไปให้ได้ นรบดี ยังมีแรงบันดาลใจในการคิดค้นบริการใหม่ๆ ในตระกูล Q ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น QPID QPIN ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชั่นที่ช่วยทำให้คนไทยมีชีวิตที่ง่ายขึ้น ตอบโจทย์พื้นฐานความต้องการของคนไทยตามหลักของมาสโลว์ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจ สังคมไทยแข็งแกร่ง และหลักการที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมความกตัญญู “หลักการที่สำคัญที่สุด และผมยึดมั่นมาตลอด คือความกตัญญู กตัญญูต่อพ่อ แม่ ต่อผู้มีพระคุณ ที่เอื้อมมือมาช่วย มาตบไหล่ในวันที่เรายากลำบากให้เดินหน้าต่อไป และต้องมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ให้ก่อนที่จะได้รับ สะท้อนเป็นปรัชญาขององค์กร ถ้าเราช่วยพวกเขาให้รอดได้ ธุรกิจก็สามารถไปต่อได้ เศรษฐกิจก็เดินไปข้างหน้า ชีวิตของคนไทยก็จะดีขึ้น” นรบดีกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: 18 สุดยอดบริษัทไทย จากการจัดอันดับ 200 Best Under a Billions ประจำปี 2020ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine