ความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ติดเงื่อนไขว่าต้องกลับมาใช้ทุนการศึกษาทำให้บัณฑิตหนุ่มต้องปรับแผนใหม่ โดยใช้เวลาครึ่งแรกเป็นอาจารย์ในรั้วสถาบัน อีกครึ่งหลังของชีวิตเติมเต็มความฝัน ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ
ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย ที่ห้องประชุมชั้น 2 ของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี แม้จะเป็นห้องที่เงียบมากที่สุดแล้วก็ยังมีเสียงเครื่องจักรดังลอดมาเป็นระยะ เพราะที่นี่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และโรงงานออกแบบสร้างแม่พิมพ์โลหะและอุปกรณ์จับยึด
ผู้ก่อตั้ง TAT ย้อนถึงความหลังในครั้งนั้นว่า “ตอนจบมาเป็นวิศวกรก็อยากทำธุรกิจ แต่ไปเป็นครูก่อนเพราะได้ทุนจากมหาวิทยาลัย...คิดว่าเป็นสักระยะหนึ่งใช้ทุนเสร็จจะออกมาทำธุรกิจ แต่อาจเป็นความชอบด้วยจึงเป็นครูเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2528-2547”
ทุกวันนี้หลายคนยังติดปากเรียกเขาว่า “อาจารย์” แม้จะเปลี่ยนบทบาทเป็นนักธุรกิจแล้วก็ตาม และคำถามที่มักถูกถามอยู่เสมอคือ การปรับตัวจากนักวิชาการมาเป็นนักธุรกิจบางครั้งยังถูกปรามาสว่าจะบริหารธุรกิจได้จริงหรือ พยุงอธิบายด้วยใบหน้าที่เกลื่อนด้วยรอยยิ้มว่า อาจารย์ต่างจากนักธุรกิจ เพราะเป็นผู้ให้ สอนผู้ไม่รู้ให้เป็นผู้รู้ ส่วนการทำธุรกิจต้องมีกำไร
“เราทำธุรกิจกับญี่ปุ่นไม่ต้องปรับตัวมาก นโยบายคือ ทำงานให้มีคุณภาพในราคาเหมาะสม ส่งมอบตรงเวลา เราเข้าใจแล้วว่าไม่ต้องอ้อนวอนใคร ตอนนี้ฝ่ายการตลาดไม่ต้องหาลูกค้า คนญี่ปุ่นพอลงเครื่องบินปุ๊บ เสิร์ชหาข้อมูลบอกต้องมาไทย ออโต ทูลส์ เราสร้างแบรนด์ เรามีชื่อเสียง ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก ญี่ปุ่นชอบพูดปากต่อปาก”
- เลือกทำงานยากเพราะคู่แข่งน้อย -
กลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย ประกอบธุรกิจออกแบบสร้างแม่พิมพ์โลหะอุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพสูง คู่ค้าคือ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถกระบะ อาทิ ฮอนด้า, โตโยต้า, มิตซูบิชิ, อีซูซุ ฯลฯ
จุดแข็งของบริษัทคือ มีโรงงานออกแบบและสร้างแม่พิมพ์โลหะ (die) เช่น แม่พิมพ์ขึ้นรูปรถยนต์ อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจสอบชิ้นส่วนรถยนต์ทำให้คู่ค้าไว้วางใจ
“การที่เขาจะให้บริษัทไหนรับงาน ดูโรงงานผลิตเครื่องมือเป็นอันดับแรก ถ้าไม่มีโรงผลิตเครื่องมือก็ไม่ให้ทำ การผลิตชิ้นส่วนไม่ยากแค่มีไลน์การผลิตก็ทำได้แล้ว แต่การออกแบบแม่พิมพ์ทำยากและงานที่ญี่ปุ่นก็เต็มแล้ว...คนจ่ายงานจะมองว่าราคาถูก คุณภาพได้ ไม่มีปัญหา แต่ถ้า facility ไม่พร้อม เขาก็ไม่จ่ายงานให้”
ลักษณะงานที่ทำคือออกแบบแม่พิมพ์โลหะถ้าลูกค้าตรวจแล้วผ่านก็ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไอเท็มนั้น ซึ่งรถยนต์แต่ละรุ่นจะใช้ชิ้นส่วนไอเท็มนั้นๆ 4-5 ปี ถ้าเป็นรถกระบะ 8-10 ปี โดยบริษัทหนึ่งเคยให้ออร์เดอร์ผลิตไอเท็มบางรายการเป็นเวลา 8 ปีๆ ละ 5 ล้านชิ้น
TAT มีบริษัทในกลุ่มอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย บจ. ไทย ออโต ทูลส์ (ปทุมธานี) (TATP)ผลิตแม่พิมพ์และอุปกรณ์จับยึด, บจ. ไทย ออโต ทูลส์ (ชลบุรี) (TATC) ผลิตฝาหม้อลมเบรกรถยนต์ และ บจ.ไทย ออโต ทูลส์ (อีสเทิร์น) (TATE) เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมาก โรงงานทั้ง 3 แห่งเริ่มเปิดดำเนินการระหว่างปี 2556-2558 เพื่อรองรับออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น
ปี 2561-2562 มียอดขาย 2.5 และ 2.6 พันล้านบาท ลดลงเหลือ 2 พันล้านในปี 2563 จากสถานการณ์โควิด-19 และเพิ่มเป็น 2.7 พันล้านในปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2565 คาดว่า จะมีรายได้รวม 2.9 พันล้าน รายได้เติบโตตามจำนวนการผลิตรถยนต์และรถกระบะ รวมทั้งบริษัทได้เพิ่มไลน์การผลิตไอเท็มต่างๆ เฉลี่ยปีละ 20% จากเดิมที่ผลิตชิ้นส่วนประมาณ 800 ไอเท็ม เพิ่มเป็น 1,200 ไอเท็ม
โปรดักต์แชมเปียนของกลุ่มบริษัทคือ แม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึด อุปกรณ์ตรวจสอบประกอบในสายการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนหลักในการผลิตรถยนต์ ซึ่งก่อนปี 2550 ยังไม่ค่อยมีการผลิตแม่พิมพ์โลหะในประเทศ ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน แต่พยุงเคยเข้ารับการเทรนนิ่งหลักสูตรช่างเทคนิคชั้นสูงที่เยอรมนี และเห็นเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ จึงเกิดไอเดียว่า หากไม่สามารถผลิตแม่พิมพ์ได้เองก็จะทำเป็น mass production ไม่ได้
ถามว่า เริ่มต้นจากงานยาก? คำตอบคือ “ใช่” เหตุผลคือ มีคู่แข่งน้อยราย แต่การจะทำของยากให้เป็นของง่ายเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน เบื้องต้นต้องเทรนพนักงาน เทรนได้แล้วยังต้องผูกใจให้อยู่กับบริษัทนานๆ เพราะก่อนหน้าที่อดีตอาจารย์วิศวะจะเข้ามาบริหารกิจการเต็มตัว พบว่ามีปัญหาสมองไหล จึงเริ่มจากการแก้ปัญหาด้านบุคลากรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจประเภทนี้
“ปี 2536 มีเด็กช่างมา 10 กว่าคน ปี 2541 ออกไปทำเองหมด ปี 2541 เด็กมาทำงานด้วย 10 กว่าคน ปี 2547 ออกไปเกินครึ่งปี 2548-2552 เราพัฒนาบุคลากร 5 ปี แก้ตรงนี้ก่อน เพราะไปญี่ปุ่นเห็นว่าเจ้าของบริษัทกับพนักงานทำงานกัน 30-40 ปีไม่ไปไหนเลย เขาถึงเชี่ยวชาญไง เรา 1 คนยังสู้เขาไม่ได้ เราทำ 10 ชั่วโมง เขาใช้เวลา 3 ชั่วโมง ทางเดียวที่จะให้พนักงานเชี่ยวชาญก็บอกว่าต้องขยัน ทำให้เหมือนเป็นเจ้าของ ต่อมาได้ยินพนักงานพูดว่าอาจารย์พยุงเป็นเจ้าของแต่พวกเราไม่ใช่...กลับมาคิดทบทวนและบอกหุ้นส่วนว่า ถ้าเราไม่ให้หุ้นกับพนักงานบ้าง อีก 5-10 ปีทีมงานก็ไม่อยู่อีก การจะให้มียอดขายพันล้านตามความคิดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะงานแบบนี้ขับเคลื่อนด้วยคนที่มีความเชี่ยวชาญและคุณภาพ”
พยุงเสนอความเห็นให้ตัดหุ้น 15% จัดสรรให้กับทีมงานกลุ่มเป้าหมาย มีเงื่อนไขว่าหากทำงานถึงปี 2553 จะแบ่งหุ้นให้ ตอนแรกผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่เห็นด้วย เขาจึงบอกว่า จะทำให้หุ้นที่เหลือ 85% มียอดขายถึงพันล้านภายใน 5 ปีคนอื่นๆ จึงตอบตกลง โดยตอนที่เริ่มโครงการ Training for the Trainer ปี 2548 บริษัทมีรายได้ 500 ล้าน และภายใน 5 ปีเขาก็ทำยอดได้ถึง 1 พันล้าน
“งานด้านนี้ต้องใช้คนที่มีทักษะสูง ลักษณะการทำของผมคือ learning by doing และส่งคนไปอยู่ต่างประเทศกับญี่ปุ่น 7 เดือน แต่กว่าจะส่งไปได้ต้องคุยกับเจ้าของว่าถ้าไม่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้มันแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ หากถ่ายทอดผมจะได้ทำงานเร็วขึ้นและ support บริษัทคุณได้”
- น้ำท่วมปี 2554 สร้างโอกาส -
น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นหายนะสำหรับบริษัทอื่น แต่เป็น “โอกาส” และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ TAT เนื่องจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เสียหาย ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งโรงงานในเครือ TAT มีแค่โรงงานที่ปทุมธานีแห่งเดียวที่รอด
“ก่อนหน้านี้เราผลิตงานให้แต่ไม่มาก บริษัทลูกที่ผลิตส่งให้ Toyota ส่งงานไม่ได้ แต่มีงานบางส่วนที่ต้องส่งออก ผมผลิตและขนใส่เรือนำไปถ่ายใส่รถสิบล้อด้านนอก...หลังน้ำท่วมกลุ่ม Honda และอีกหลายบริษัทซึ่งประสบปัญหาจากน้ำท่วมให้ช่วยกู้แม่พิมพ์ อุปกรณ์จับยึด อุปกรณ์ตรวจสอบ ให้ช่วยดูและปรับแต่ง เพราะเขาต้องตั้ง (เครื่อง) ให้เสร็จภายใน 3 เดือน ทางญี่ปุ่นระดมส่งพนักงานมา เราก็ไปช่วยตอนนั้นไม่ได้คุยเรื่องค่าใช้จ่าย คิดไม่ทัน แต่ญี่ปุ่นใจดีบางรายการบวกเพิ่มมา 20-30% จากรายได้ 500 กว่าล้าน กลายเป็น 1.5 พันล้านในปี 2555”
เนื่องจากเครื่องจักรของคู่ค้าเสียหายจากน้ำท่วม แต่ออร์เดอร์ยังค้างอยู่ทั้งยังต้องปรับแต่งติดตั้งเครื่องใหม่ซึ่งใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจ้าง TAT ผลิตแทน หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือและได้รับการจ้างงานมากขึ้น รายได้จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด “เดิมเขาไม่จ้างเยอะขนาดนี้ เขาไม่ไว้ใจบริษัทคนไทยเท่าไร (เน้นเสียง) การผลิตรถยนต์คุณภาพและ safety ต้องมาก่อน”
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์เจอมรสุมใหญ่ๆ 2 ครั้ง จากการปฏิวัติในปี 2557 ทำให้ยอดจำหน่ายปี 2558-2559 ลดลง เริ่มฟื้นตัวในปี 2561-2562 แต่ก็มาเจอโควิด-19 ระบาดในปี 2563-2564 สถานการณ์เพิ่งดีขึ้นในปีนี้
“อุตสาหกรรมรถยนต์ผู้แข็งแรงจึงจะอยู่ได้ ต้องมีความพร้อมด้านการเงิน เทคโนโลยีสูง แต่ทั้งหมดต้อง support ด้วยคนที่มีคุณภาพ ทุกบริษัทคิดเหมือนกัน แต่ operate ไม่ได้ เราทำได้เพราะพัฒนาจาก 1 เป็น 10 จาก 10 เป็น 100 เวลามีคนมาดูงานบอกว่าเหมือนโรงงานญี่ปุ่น ไม่ใช่ ที่นี่เป็นบริษัทคนไทย เจ้าของชื่อพยุง...ผมบอกว่าจะพัฒนาไทย ออโต ทูลส์ แข่งกับญี่ปุ่น ไม่ได้พัฒนาแข่งคนไทย” ประธานกรรมการบริหาร TAT ในวัย 60 ปีกล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ
ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
อ่านเพิ่มเติม:
>> แดน เหตระกูล ปั๊มชีวิต “IRCP” สู่อนาคตใหม่
>> Perth Tolle กับการลงทุนแบบไม่เอาเผด็จการ