Perth Tolle กับการลงทุนแบบไม่เอาเผด็จการ - Forbes Thailand

Perth Tolle กับการลงทุนแบบไม่เอาเผด็จการ

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Nov 2022 | 08:00 PM
READ 5233

ในขณะที่กองทุนตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ร่วงระนาวหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน แต่กองทุน Freedom Index Fund ของสตรีผู้ยึดเสรีภาพเป็นสรณะอย่าง Perth Tolle กลับไม่สะทกสะเทือน เพราะหุ้นของประเทศที่ถูกกุมบังเหียนโดยรัฐบาลเผด็จการไม่มีทางหลุดเข้ามาอยู่ในพอร์ตของเธอได้อย่างแน่นอน


    บทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนเราไม่ได้อยู่ในห้องเรียน หลังจากที่ Perth Tolle เรียนจบสาขาการเงินจาก Trinity University ใน San Antonio ในปี 2003 เธอกลับไปอยู่กับพ่อของเธอที่ฮ่องกง 1 ปี ในช่วงนั้นเธอแวะไปเที่ยว Shanghai และได้รู้จักเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Maggie ตอนนั้นทั้งสองคนมีอายุ 23 ปีเท่ากัน แต่ภูมิหลังที่รันทดของเพื่อนใหม่คนนี้ทำให้ Tolle ต้องตกใจ 

    เพราะในขณะที่เธอเติบโตมาอย่างมีความสุขในย่านชานเมือง Plano รัฐ Texas แต่ Maggie กลับเติบโตมาในเงามืด เธอเกิดมาโดยไม่มีแม้แต่สูติบัตร สำหรับรัฐบาลจีน Maggie เป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนเลยด้วยซ้ำ เธอเป็นคนหนึ่งในจำนวนนับสิบล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำหนดให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว

    Tolle ปัจจุบันมีอายุ 42 ปี เกิดใน Beijing แต่ย้ายไปอยู่สหรัฐฯ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ “ฉันได้เรียนรู้ว่าเสรีภาพคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ทั้งในชีวิตฉันเองและในตลาดด้วย”

    หุ้นจีนถือเป็นการลงทุนหลักของกองทุนในประเทศเกิดใหม่เกือบทุกกอง โดยคิดเป็น 30% ของดัชนี MSCI Emerging Markets Index แต่ถ้าคุณลองเข้าไปดูพอร์ตหุ้นในกองทุน Freedom 100 Emerging Markets ETF ของ Tolle คุณจะไม่เจอหุ้นจีนเลยสักตัวเดียว ถึงแม้ว่ากองทุนนี้ที่เธอบริหารร่วมกับ Alpha Architect ซึ่งเป็นผู้ออกกองทุน ETF ที่มีฐานธุรกิจอยู่ที่ Havertown รัฐ Pennsylvania จะยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่มันเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จากเพียง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2021 เป็น 200 ล้านเหรียญในวันนี้ 

    ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ลงทุนในหุ้นจีนแล้ว กองทุนนี้ยังไม่ได้ลงทุนในหุ้นรัสเซียเลยด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่ดัชนี MSCI Emerging Markets Index ปรับตัวลงมาแล้ว 17% ตั้งแต่ต้นปีนี้ ดัชนีกองทุน Freedom ของ Tolle ปรับลงมาเพียงแค่ 7.5% เท่านั้น Freedom ETF อาจจะพอเทียบเคียงได้กับกองทุนที่เป็นที่นิยม

    ความเสี่ยงเหล่านั้นตกผลึกให้เราเห็นอย่างชัดเจนในปีที่แล้ว เมื่อรัฐบาลจีนใช้อำนาจเผด็จการปรับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการปรับ Alibaba 2.8 พันล้านเหรียญด้วย นอกจากนี้ Tencent และ Alibaba ยังถูกบีบให้ต้องยอมใส่เงินกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญเข้ามาในโครงการ “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ซึ่งเป็นการสมยอมแบบที่ Tolle เรียกว่าเป็น “การขโมยจากผู้ถือหุ้น” และทำให้หุ้นตกหนัก 

    นอกจากนี้ จีนยังบังคับให้บริษัทติวเตอร์ออนไลน์ที่กำลังเติบโตเปลี่ยนมาเป็นกิจการที่ไม่แสวงกำไร ส่งผลให้ธุรกิจขนาดหลายพันล้านเหรียญละลายหายวับไปภายในเพียงชั่วข้ามคืน โดย Larry Chen ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Gaotu Techedu สูญเงินไปถึง 1 หมื่นล้านเหรียญในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัญหาของจีนฉุดให้ดัชนี MSCI Emerging Markets Index ลดลง 2.5% ในปี 2021 ในขณะที่กองทุนของ Tolle เพิ่มขึ้น 6.9%


​Perth Tolle เจ้าของกองทุน Freedom Index Fund


- ถ้าอย่างนั้นกองทุน Freedom ETF ถือหุ้นอะไรบ้างล่ะ? -

    ปัจจุบัน 21% ของพอร์ตกองทุนอยู่ในหุ้นของประเทศชิลีอย่าง Sociedad Química y Minera ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ของโลก (เป็นที่ต้องการสำหรับใช้ผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า) และเป็นผู้ผลิตไอโอดีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของรังสี X-rays นอกจากนี้ หุ้นของไต้หวัน เกาหลีใต้ และโปแลนด์ก็จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของพอร์ตกองทุนด้วยเช่นกัน

    “ตลาดที่เสรีมากกว่าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่าหุ้นในตลาดประเภทนี้จะฟื้นตัวได้ดีกว่า ในขณะที่การใช้เงินลงทุนและแรงงานก็มีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย” Tolle กล่าวและว่า “ฉันหวังอยู่เสมอว่าหุ้นในตลาดประเภทนี้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ฉันนึกไม่ถึงเลยว่ามันจะมาเร็วขนาดนี้”

    เดิมที Tolle ตั้งใจจะไปเรียนต่อทางด้านนิติศาสตร์ แต่หลังจากที่เธอไปอยู่ที่ฮ่องกงมา 1 ปี เธอได้เริ่มงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ Fidelity โดยในตอนแรกเธอเริ่มทำที่ Los Angeles ก่อน จากนั้นก็ย้ายไปที่ Houston ซึ่งลูกค้าของเธอมีทั้งชาวรัสเซีย อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย พวกเขาบอกกับเธอว่า ไม่อยากลงทุนในประเทศของตัวเอง เพราะมันเหมือนกับการใส่เงินทุนให้กับขบวนการก่อการร้าย และนั่นก็เป็นความรู้สึกแบบ เดียวกันเปี๊ยบกับที่เธอรู้สึกกับประเทศจีน

    พอถึงปี 2014 เธอลาออกจาก Fidelity เพื่อมาเลี้ยงลูกสาว แต่เธอยังคงเข้าร่วมงานสัมมนาในแวดวงการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เธอกำลังตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับกองทุนเสรีภาพ (freedom fund) และเมื่อถึงปี 2016 เธอได้รับเชิญให้ร่วมงานชุมนุมผู้จัดการลงทุน เทรดเดอร์ และนักเศรษฐศาสตร์ที่ Camp Kotok ในป่าทางตอนเหนือของรัฐ Maine ซึ่งจัดขึ้นแบบพิเศษเฉพาะโดย Cumberland Advisors 

    โดยระหว่างที่เดินทางไปที่นั่นเธอได้นั่งเครื่องบินลำเดียวกับ Rob Arnott ประธานและผู้ก่อตั้ง Newport Beach ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่มีฐานธุรกิจอยู่ที่ California โดยเขาเป็นคนที่สนับสนุนกลยุทธ์การจัดทำดัชนีโดยไม่อิงกับการถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์อยู่แล้ว

    หลังจากที่พวกเขาใช้เวลา 3 วันที่แคมป์ไปกับการตกปลาและดื่มไวน์ Arnott ก็ตกลงที่จะสนับสนุน Tolle และต่อมาก็ได้กลายมาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทของเธอ ซึ่งใช้ชื่อว่า Life & Liberty Indexes จากนั้น Tolle ได้สร้างดัชนีของตัวเองขึ้นมา แล้วพยายามจะเอาไปขายให้กับ BlackRock และ State Street แต่ไม่สำเร็จ 

    จากนั้นในปี 2018 เธอได้ทำข้อตกลงกับ Alpha Architect และออกกองทุน ETF ของตัวเองมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 โดยใช้ชื่อว่า กองทุน Freedom 100 Emerging Markets ETF โดยกองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียม 0.49% ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่เข้ากระเป๋าของ Tolle

    ถึงตอนนี้ Tolle สามารถนั่งทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเองใน Houston เธอจะปรับน้ำหนักดัชนีปีละครั้งโดยใช้คะแนนจากดัชนี Human Freedom Index ซึ่งคำนวณจากข้อมูลของ 165 ประเทศโดย Cato Institute และ Fraser Institute ดัชนีตัวนี้จะประเมินค่าเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นคะแนนที่เรียงลำดับจาก 0-10 โดยใช้ตัวแปร 82 ตัว ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การจับนักข่าวขังคุกไปจนถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ

    จากดัชนีข้างต้นพบว่า ประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุดและตลาดหุ้นมีสภาพคล่องสูงในปี 2021 ได้แก่ ไต้หวัน (อันดับที่ 19) ชิลี (อันดับที่ 28) และเกาหลีใต้ (อันดับที่ 31) ในขณะที่สหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 15 ทั้งนี้ Tolle ได้คัดตลาดเกิดใหม่มา 10-11 ตลาด แล้วทำการถ่วงน้ำหนักโดยอิงตามคะแนนของเสรีภาพแต่ละประเทศ จากนั้นเธอจะทำการตรวจสอบหุ้นที่มีขนดใหญ่ที่สุด 10 ตัวที่ไม่ได้เป็นของรัฐในแต่ละประเทศ แล้วถ่วงน้ำหนักโดยอิงจากมูลค่าตลาดตามน้ำหนักของประเทศ

    เมื่อประเมินตามแนวทางนี้ รัสเซียและจีนอยู่ที่อันดับ 126 และ 150 ตามลำดับ ส่วนอันดับของอินเดียร่วงจากอันดับที่ 94 ในปี 2019 มาอยู่ที่อันดับ 119 ในปี 2021 หลังจากที่รัฐบาลอินเดียสั่งปิดเว็บไซต์เพื่อสลายการชุมนุมประท้วงของเกษตรกร 

    ทั้งนี้กองทุน ETF ของ Tolle ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG อย่างเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นต์มากนัก ถึงแม้ว่าผลตอบแทนของกองทุนจะลดลงในปี 2022 แต่สินทรัพย์ของกองทุนกลับเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจากสิ้นปี 2021 เพราะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนมากเป็นประวัติการณ์หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน

    “สิ่งที่รัสเซียทำลงไปทำให้นักลงทุนตาสว่างขึ้นมาเกี่ยวกับความเสี่ยงของประเทศจีน” Tolle กล่าวและเสริมว่า “การถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาดในตลาดเกิดใหม่ใช้ไม่ได้ผล เพราะมันจะสร้างสัตว์ร้ายที่ได้เงินทุนจากเผด็จการขึ้นมา และนั่นเป็นสิ่งที่พวกเราทางนี้กำลังพยายามแก้ไขกันอยู่”


เรื่อง: Hank Tucker เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา ภาพ: Jamel Toppin

อ่านเพิ่มเติม:

>> Tom Linebarger ซีอีโอ Cummins ผู้ผลิตเครื่องยนต์ใหญ่ใส่ใจโลก

>> EV ขับเคลื่อนอนาคตห่วงโซ่อุปทานยานยนต์


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine