EV ขับเคลื่อนอนาคตห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ - Forbes Thailand

EV ขับเคลื่อนอนาคตห่วงโซ่อุปทานยานยนต์

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Nov 2022 | 08:00 PM
READ 6491

ความร้อนแรงของรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้อยู่ที่สมรรถนะในการขับขี่เท่านั้น แต่รวมถึงกระแสตอบรับจากตลาดที่ดุเดือดไม่แพ้กัน ด้วยตัวเลขจาก EVAT ชี้ให้เห็นว่า แค่ครึ่งแรกของปี 2565 มียอดรถไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ไปแล้วถึง 7,325 คัน แซงหน้าปี 2564 ทั้งปีที่ 5,781 คัน 


    ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้บริโภคเข้าใจผลิตภัณฑ์มากขึ้น ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ช่วยให้ราคาน่าจับต้อง และมาตรการอื่นๆ จะขยายไปถึงการปรับลดภาษีประจำปีในเร็ววันนี้

    สำหรับความต้องการในมิติต่างๆ ของผู้บริโภคไทยเทียบกับผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากรายงานของ Deloitte 2022 Global Automotive Consumer Study - Southeast Asia Perspectives ซึ่งสำรวจมุมมองของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย จำนวน 6,000 คน เพื่อเปรียบเทียบความต้องการและความคาดหวังที่มีต่อรถไฟฟ้าในมิติต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเทียบให้เห็นภาพรวมแนวโน้มยอดขายของประเทศไทยในอนาคตทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยี ด้านการตัดสินใจซื้อ ด้านระยะทางการขับที่คาดหวัง ด้านความกังวลการใช้งาน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการชาร์จ EV

    ในด้านเทคโนโลยีพบว่า ผู้บริโภคไทยเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าสูงมาก โดยเฉลี่ยผู้บริโภคไทยร้อยละ 87 ยอมจ่ายเงินเพื่อเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และร้อยละ 86 ยอมจ่ายเงินให้กับเทคโนโลยีทางด้านเครื่องยนต์ทางเลือกใหม่ๆ แต่ภาพรวมถือว่าน้อยกว่าเพื่อนบ้านเล็กน้อย

    ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อการเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าใช้แล้วต้องช่วยให้ประหยัด ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายด้านน้ำมันสูงที่สุดที่ร้อยละ 63 รองลงมาคือ เรื่องสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ร้อยละ 49 และประสบการณ์ในการขับขี่ที่ดีขึ้นเป็นอันดับสุดท้ายที่ร้อยละ 44 ตามลำดับ

    ขณะที่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่คาดหวังระยะการขับต่อการชาร์จ 1 ครั้งมากกว่าเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ 560 กิโลเมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ อยู่ที่ 491 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งเท่านั้น รวมถึงผู้บริโภคไทยยังมีความกังวลเรื่องการใช้รถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่มากกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งในเรื่องสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอและระยะทางที่ขับได้ แต่ภาพรวมอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำอยู่ที่ร้อยละ 33 และ 15 ตามลำดับ

    นอกจากนั้น ผู้บริโภคไทยยังเชื่อว่ารถไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในสูงถึงร้อยละ 77 ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ทำการสำรวจ โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคไทยยังต้องการชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านมากที่สุดถึงร้อยละ 69 รองลงมาก็ไปชาร์จนอกบ้านที่ร้อยละ 25 และที่ทำงานแค่ร้อยละ 6

    สำหรับประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ พบว่า ผู้บริโภคไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่มากกว่าครึ่งมีความตั้งใจจะครอบครอง EV มากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันแม้ว่าราคารถจะเท่ากัน ซึ่งสูงกว่าลูกค้าในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

    ขณะเดียวกันจากรายงาน Deloitte Insights From Deloitte’s 2021 Automotive Supplier Study - The Road Ahead: Auto Suppliers Navigate New Terrain ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินจากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกเกือบ 300 บริษัทเพื่อคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างปี 2563-2568 หากมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปภายในมาเป็นรถไฟฟ้า โดยแบ่งกลุ่มของผู้ผลิตออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่จะมีการเติบโต (growth) กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ (stagnant) และกลุ่มที่จะหดตัว (declining)

    ในกลุ่มที่มีการเติบโตหากส่วนแบ่งทางการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมากขึ้น ผู้ผลิตในกลุ่มที่จะมีการเติบโต ได้แก่ ผู้ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อน (electric drivetrains) สูงขึ้นถึง 4.75 เท่าตัว ผู้ผลิต batteries and fuel cells ซึ่งใช้ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแทนถังน้ำมันหรือถังแก๊สที่เราคุ้นเคยกันอยู่ มีโอกาสจะเติบโตขึ้นถึง 4.75 เท่าตัวเช่นกัน

    และผู้ผลิตในกลุ่ม Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) รวมถึงระบบเซนเซอร์ต่างๆ ถึงร้อยละ 150 เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ที่รู้จักกันในนาม Vehicle-to-Everything หรือ V2X

    ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตตัวถัง (body) ซึ่งเป็นส่วนที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเมินว่าจะเติบโตขึ้นร้อยละ 10 กลุ่มผู้ผลิตเบาะนั่ง (seats) ร้อยละ 10 เช่นกัน นอกจากนั้น กลุ่มผู้ผลิตเพลาขับ (axles) ระบบข้อมูลและการสื่อสาร (info and communication) โครงรถ (frame) ระบบกันสะเทือน (suspension) และระบบบังคับเลี้ยว (steering) ก็มีการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9

    ด้านกลุ่มที่จะหดตัวซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในทางลบอย่างสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดยกลุ่มที่มีมูลค่าทางการตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากตัวถังอาจจะลดลงร้อยละ 15 กลุ่มผู้ผลิตระบบจ่ายน้ำมันและระบบท่อต่างๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน (fuel system and exhaust system) ก็จะลดลงร้อยละ 15 เช่นกัน 

    กลุ่มผู้ผลิตระบบส่งกำลัง (transmission) หดตัวลงร้อยละ 10 เพราะรถไฟฟ้าใช้ระบบขับเคลื่อนแบบตรงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบส่งกำลังหรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “เกียร์” เหมือนเครื่องยนต์สันดาป และผู้ผลิตระบบเบรก (brakes) ก็จะลดลงร้อยละ 5 เพราะรถไฟฟ้ามีระบบ regenerative braking ที่จะเปลี่ยนแรงเฉื่อยรถยนต์ที่วิ่งอยู่มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้เบรกทำงานจริงๆ น้อยลง

    ดังนั้น จากการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับโจทย์และความต้องการใหม่อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจจะมีผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามาเดินเกมรุกในการลงทุนกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอาจจะผลักดันให้เกิดการสร้างพันธมิตร การเชื่อมพันธมิตรเก่า หรือการขยายตัวในแนวดิ่งเพื่อปิดจุดอ่อน และหลีกเลี่ยงการพึ่งพาผู้ผลิตที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งซ้ำร้ายกว่านั้นอาจจะเป็นการพึ่งพาคู่แข่ง

    อย่างไรก็ตามการทำนายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องยาก โดยภาคธุรกิจยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดและเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะติดตามผลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหวังว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่สดใสสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตต่อไป


โชดก ปัญญาวรานันท์

ผู้จัดการ Clients and Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย


อ่านเพิ่มเติม:

>> 10 อันดับ "นักกีฬาค่าตัวแพงที่สุดในโลก" ประจำปี 2022

>> Tom Linebarger ซีอีโอ Cummins ผู้ผลิตเครื่องยนต์ใหญ่ใส่ใจโลก


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine