อภิชาติ ชโยภาส “ราชา” เฟอร์รี่แห่งน่านน้ำไทย - Forbes Thailand

อภิชาติ ชโยภาส “ราชา” เฟอร์รี่แห่งน่านน้ำไทย

พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: เอกพงศ์ ตันติผลประเสริฐ ความล้มเหลวแปรเปลี่ยนเป็นบทเรียนอันมีค่าของราชาเฟอร์รี่ที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าฟันมรสุมเติบโตสู่เจ้าของกองเรือเฟอร์รี่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดตลอดกาลในเส้นทางเดินเรือไปยังสมุยและพะงัน ในแต่ละวันท่าเรือเดินทางระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุยและพะงันไม่เคยว่างเว้นจากเรือเฟอร์รี่ที่พร้อมให้บริการผู้โดยสาร โดยเฉพาะท่าเรือของราชาเฟอร์รี่ ผู้ให้บริการเรือเฟอร์รี่เส้นทางดอนสัก-สมุยที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดกว่า 70% รองรับผู้โดยสารกว่า 4,000 คน/วัน ด้วยจำนวน 40-42 เที่ยว/วัน และเส้นทางดอนสัก-พะงัน รองรับผู้โดยสารได้ 1,000-1,500 คน/วัน จำนวน 12 เที่ยว/วัน รวมทั้ง เส้นทางสมุย-พะงันที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปีที่ผ่านมา กว่าจะผงาดสู่การเป็น “ราชา” เฟอร์รี่ในน่านน้ำอ่าวไทยนั้นไม่ง่าย นับตั้งแต่ปี 2537 ที่ครอบครัวชโยภาสซื้อกิจการเฟอร์รี่เก่าแก่ (จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524) จากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมของบริษัทและเพิ่มทุนชำระแล้วเป็น 100 ล้านบาท เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนและสม่ำเสมอ สองพ่อลูกพร้อมลุยธุรกิจใหม่ หากแต่ธุรกิจเดินเรือเฟอร์รี่และท่าเรือกลับท้าทายเกินคาด อีกทั้งยังแตกต่างจากทุกธุรกิจที่ครอบครัวชโยภาสเคยบุกเบิก อภิชาติ ชโยภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) บุตรชายคนโตยังคงจำได้ดีถึงช่วงเวลาแห่งการฟันฝ่ามรสุมธุรกิจร่วมกับบิดา หลังเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีนับตั้งแต่ซื้อกิจการ ในปี 2540 อภิชาติมุ่งมั่นพลิกฟื้นธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤต ด้วยการลงพื้นที่จริงเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหา และอุดรอยรั่วของราชาเฟอร์รี่ได้อย่างตรงจุดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาน้ำมัน โดยเป็นผู้นำในการใช้น้ำมันไบโอดีเซลเป็นรายแรกในปี 2545 ถึงปัจจุบัน และความพยายามแก้ไขปัญหาการซ่อม ด้วยการนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมเครื่องจักรจากธุรกิจอื่นในกลุ่มชโยภาสเข้าช่วยงาน “ช่วง 2-3 ปีแรกเราขาดทุน เพราะไม่เข้าใจธุรกิจนี้ตอนที่ซื้อมา จนกระทั่งปี 2540 ซึ่งเป็น 3 ปีก่อนคุณพ่อเสีย ผมลงไปดูว่าจะฟื้นธุรกิจนี้อย่างไร ผมมองเห็น 3 ปัญหาในธุรกิจนี้ ได้แก่ ปัญหาเรื่องต้นทุนน้ำมัน และกระบวนการซ่อมเรือ รวมทั้งเรื่องคน ซึ่งเราเห็นความจำเป็นในการลงทุนสร้างโรงเรียน เพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว แม้ปัจจุบันโรงเรียนจะปิดลงแล้ว แต่เรายังมีฐานลูกศิษย์จำนวนมากกว่า 5,000 คน” จากเรือเฟอร์รี่จำนวน 6 ลำในช่วงเริ่มต้น อภิชาติสามารถขยายฐานอาณาจักรสมศักดิ์ศรีราชาแห่งน่านน้ำอ่าวไทย เจ้าของเรือเฟอร์รี่มากที่สุดในประเทศจำนวน 12 ลำ พร้อมเพิ่มจำนวนเรืออีก 2 ลำภายในเดือนเมษายนปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งยังเล็งเพิ่มจำนวนเที่ยวเดินเรือแต่ละเส้นทาง และวางแผนปรับปรุงท่าเรือสมุย ซึ่งเปิดให้บริการราว 30 ปี และสร้างท่าเทียบเรือที่ดอนสักเพิ่มอีก 2 ท่ารวม 5 ท่า “พอร์ตรายได้ธุรกิจของเราแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวและรถยนต์ข้ามเกาะจำนวน 30-40% และส่วนใหญ่จำนวน 60-70% มาจากโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอาหารและน้ำดื่มที่ขนส่งไปยังเกาะ เสมือนเงินเย็นที่เป็นรายได้สม่ำเสมอจากผู้ประกอบการน้อยราย อย่างไรก็ตาม การควบคุมราคาทำให้เราจำเป็นต้องหารายได้อื่นๆ เพิ่มเติม” ท่ามกลางการขับเคี่ยวของผู้ให้บริการเรือเฟอร์รี่ที่มีอีก 3 รายใหญ่ร่วมครองน่านน้ำ ราชาเฟอร์รี่เป็นผู้ให้บริการรายแรกที่สั่งสมประสบการณ์นานกว่า 30 ปี พร้อมผลการดำเนินงานเติบโตสูงสุด ด้วยรายได้จากการขายและบริการปี 2557 จำนวน 665.24 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 85.33 ล้านบาท ขณะที่คู่แข่งอันดับรองลงมาสามารถสร้างรายได้ปี 2557 จำนวน 559.36 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 68.77 ล้านบาท “คีย์หลักของการแข่งขันอยู่ที่การนำเสนอลูกค้าไม่ใช่เรื่องราคาอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยการสร้างความพึงพอใจ ความสะดวกสบายและความปลอดภัย ลูกค้าสามารถเลือกขึ้นเรือใครก็ได้ แต่สุดท้ายเขาประทับใจแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกัน เรามีข้อได้เปรียบที่การสั่งสมชื่อเสียงยาวนานที่สุด และทำเลที่สามารถเดินทางได้ในระยะเวลารวดเร็วกว่า ระหว่างดอนสัก-สมุยระยะทาง 14 ไมล์ทะเล เปรียบเทียบกับดอนสัก-หน้าทอนประมาณ 20 ไมล์ทะเล รวมทั้ง เรามีทีมสนับสนุนบุคลากรผู้ชำนาญการมากกว่า”
คลิ๊กอ่าน "อภิชาติ ชโยภาส “ราชา” เฟอร์รี่แห่งน่านน้ำไทย" ฉบับเต็ม Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ในรูปแบบ E-Magazine