Passion ใหม่ของ ธีรนันท์ ศรีหงส์ ‘ช่วยองค์กรแปลงร่าง’ - Forbes Thailand

Passion ใหม่ของ ธีรนันท์ ศรีหงส์ ‘ช่วยองค์กรแปลงร่าง’

อดีตนายธนาคารผู้ช่ำชองด้านเทคโนโลยี กำลังสนุกกับอาชีพใหม่ของเขาในการเป็นผู้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจไทย รวมถึงตำแหน่งล่าสุดในการเป็นประธานสมาคมการจัดการแห่งประเทศไทย (TMA) และในบทบาทใหม่ของการเป็นนักลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

หลังจากที่อยู่ในแวดวงธนาคารมา 3 ทศวรรษ ธีรนันท์สร้างความแปลกใจให้ใครหลายคนเมื่อทราบข่าวการลาออกจากตำแหน่งใหญ่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG) ของเขาเมื่อเดือนเมษายน 2560  หลังจากนั้นไม่นาน ธีรนันท์ได้เผยให้สาธารณชนทราบถึงการก่อตั้งบริษัท เซลาร์ คอนซัลติ้ง เพื่อให้คำปรึกษาวางกลยุทธ์แก่องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อปรับตัวสู้กับคลื่นของ “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น” เขาเชื่อว่าอัตราเร่งของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีซึ่งเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ “The forth industrial revolution” ซึ่งจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจจะยิ่งมีเพิ่มขึ้น จนยากที่จะมีใครในวันนี้ที่จะสามารถทำนายอนาคตของโลกธุรกิจได้เกิน 3 ปี
ธีรนันท์มองว่า The forth industrial revolution นั้นเพิ่งจะเริ่มขึ้น และยากที่ใครจะทำนายสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจล่วงหน้าได้มากกว่า 3 ปี
แม้ว่าปัจจุบันหลายๆ องค์กรจะเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ธีรนันท์มองว่าการขับเคลื่อนไปทิศทางนี้ยังมีขัอจำกัดอยู่มาก เนื่องจากภาควิชาการไทยยังขาดขีดความสามารถและความพร้อมในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งหากต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างได้ผล ควรนำเอาโมเดลการร่วมมือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ หรือที่เรียกว่า “triple helix” มาใช้เพื่อผลักดันสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสี่เท่าจาก 0.6-0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นอย่างน้อย 2-2.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร ควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะภาคเกษตรและอาหารถือเป็น “core competencies” ของประเทศ จุดอ่อนสำคัญประการที่ 2 ขององค์กรไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีคือการขาดความหลากหลาย หรือ diversity ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ความหลากหลายของกำลังคน แต่หมายรวมถึงความสามารถในการบริหารความคิดเห็นที่แตกต่าง นำมาหาข้อสรุป นอกจากนี้จากประสบการณ์ในการเข้าไปให้คำปรึกษาองค์กร ธีรนันท์พบว่าการขับเคลื่อนกลยุทธ์ให้มีผลในทางปฏิบัติมักจะมีปัญหาติดขัด เนื่องจากองค์กรไทยมักมีลักษณะการบริหารงานแบบสั่งการจากส่วนบนลงมาล่าง (top-down) และมีความเป็น “bureaucratic” ค่อนข้างสูง  ทั้งยังมีปัญหาความเป็น “ไซโล” หรือการทำงานแบบแยกส่วนใครส่วนมัน แต่ขาดแคลนคนที่มีความสามารถในการอินทิเกรตภาพรวม ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงแบบ “end-to-end” การทรานส์ฟอร์ม หรือ turnaround งานใหญ่ๆ ทำได้ค่อนข้างยาก ขณะที่โลกยุคปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการบูรณาการองค์ความรู้หรือความสามารถในหลายๆ ด้านเพื่อขับเคลื่อนงานใหญ่ให้เกิดผลสำเร็จ  

เทคโนโลยี: โอกาสของไทยในการก้าวกระโดด

ในขณะที่ Industry 4.0 ได้สร้างความกังวลใจให้กับภาคธุรกิจไทยซึ่งจะต้องแก้จุดอ่อนในด้านที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ซึ่งสะท้อนจากการเติบโตที่ผ่านมาที่อาศัยเงินทุน หรือปัจจัยอื่นมากกว่าการเพิ่มผลผลิต และกำลังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้แรงงานขาดแคลนมากขึ้นไปอีก  ธีรนันท์มองว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีจะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสในการก้าวกระโดดข้ามจุดอ่อนนี้ไปได้ “ในช่วงที่ผ่านมาเรามี labor growth ซึ่งทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การว่างงานเราต่ำ แต่ productivity แย่ เราควรทำให้การว่างงานต่ำแบบนี้แหละ แต่ productivity เพิ่มขึ้นๆ”
(PHOTO CREDIT: Post Today)
ประธาน TMA มองว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอาจต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจนกว่าจะเข้าถึงจุดที่มีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีไหนนั้น แต่ละองค์กรคงไม่เหมือนกัน ขึ้นกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ทำอยู่ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลส่วนมากแล้วจะเกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามองค์กรก็ไม่ควรละเลยเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์และชีวภาพ นอกจากนี้ ธีระนันท์เชื่อว่า Sharing Economy” เป็นหนึ่งในเทรนด์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนชีวิตและแนวคิดของคน เช่นเดียวกับ autonomous vehicle หรือเทคโนโลยีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองก็มีศักยภาพที่จะ “เปลี่ยนโลก” ตลอดจนเทคโนโลยี “manufacturing 4.0” ที่กำลังจะพลิกโฉมหน้าโลกของการผลิต  

ปรับบทบาทภาครัฐ “ชี้นำ” และลงขันสร้างเทคโนโลยี

ประธาน TMA แสดงความเป็นห่วงว่าภาค SMEs ไทยจะมีปัญหามากกว่าคนอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่ที่ผ่านมามีการลงทุนด้านเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย ซึ่งเรื่องนี้คงต้องอาศัยภาครัฐที่ควรจะสร้างระบบสนับสนุนทางด้านนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เช่น การทำ basic research ให้มากขึ้น ตั้งศูนย์ facility หรือห้องแล็บกลางเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาร่วมของ SMEs “ประเทศไทยมี paradigm ความคิดหนึ่งที่อาจต้องเปลี่ยน คือว่าโลกของอินโนเวชั่นที่จะมีเยอะในวันข้างหน้า ภาครัฐจะต้องมีบทบาทค่อนข้างเยอะ ทั้งในแง่ของการชี้นำให้ไดเรกชั่น และการร่วมลงทุน” ธีรนันท์กล่าว  “การร่วมลงทุนนั้น บางครั้งมันต้องเป็นการร่วมลงทุนกับใครคนหนึ่ง หรือกลุ่มเล็กๆซึ่ง จีน เกาหลี เก่ง และแม้กระทั่งอเมริกาก็ใช้โมเดลพวกนี้ Elon Musk ได้เงินทำ SpaceX เยอะมาก ทั้งที่เป็นบริษัทใหญ่แล้ว ถ้าเมืองไทยก็โดนด่าว่าเรื่องนี้เป็นการเอาเงินให้คนรวยใช้รึเปล่า”  

ธนาคารยังไม่ตายแต่ต้อง “กลายร่าง”

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการธนาคารมา 3 ทศวรรษ ธีรนันท์ไม่คิดว่าธนาคารจะล้มหายตายจากโลกธุรกิจ หากแต่ธนาคารจะต้องปรับตัวเองให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่ออกนอกกรอบความคิดเดิมๆ ได้
(PHOTO CREDIT: Bangkok Post)
“แบงก์กำลังถูกดิสรัปจากคนนอกอุตสาหกรรมการเงิน แต่ผมยังไม่เห็นแบงก์...ยกเว้นบางแบงก์ในจีน กระโดดออกไปดิสรัปคนอื่นที่อยู่นอกอุตสาหกรรมตัวเองเลย...” ธนาคารควรแยกส่วนงานด้านนวัตกรรมออกไปให้มีความคล่องตัวในการทำงาน มีระบบการวัดผลการปฏิบัติงาน และโครงสร้างการทำงานที่แตกต่างจากส่วนงานเดิมของธนาคารซึ่งยังคงเป็นตัวสร้างรายได้หลัก “ผมว่าแบงก์คงไม่ตาย แต่คงต้องกลายร่าง ผมคิดว่ากิจกรรมเดิม (การรับเงินฝากมาปล่อยกู้)...เชื่อว่ากิจกรรมนั้นยังคงมีอยู่ กิจกรรมนั้นยังอาจจะต้องอาศัยแบงก์แต่ไม่ใช่กิจกรรมหลักอีกต่อไป”  

บทบาทใหม่ในฐานะนักลงทุน

นอกจาก เซลาร์ คอนซัลติ้ง ธีรนันท์ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ (techoriented) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะด้านดิจิทัล อาทิ ธุรกิจด้าน medical technology ที่เขากำลังจัดตั้งบริษัทร่วมกับเพื่อนๆ และ digital marketing solutions ส่วนฟินเทคก็มีบ้างแต่ไม่มากเพราะยังไม่เจอตัวที่ใช่ “รวมๆ ก็ 4-5 บริษัท มีต่างประเทศบ้าง เช่น cyber security ที่ยังรอผ่าน hurdle อะไรบางอย่างก่อนเราจะลงทุน” ถามถึงเป้าหมายต่อไปในเส้นทางอาชีพการงาน ธีรนันท์ย้ำว่าเขาเป็นคนไม่มีเป้าหมายที่ตายตัวในชีวิต ขอแค่สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ และได้สนองตอบต่อ passion ของตัวเองก็พอ เช่น งานในเชิงที่ปรึกษาที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็พอใจ เพราะถือว่าได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีช่วยให้แนวคิดแก่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ “บางเรื่องที่มีโอกาสทางธุรกิจ อาจมีกำไรมโหฬาร แต่ถ้าไม่รู้สึกเป็นการช่วยคน ก็ไม่ชอบ...ก็ไม่ได้รวยอยู่ในปัจจุบันนะ แต่มีความรู้สึกว่าเราสร้างแวลูก่อน ปล่อยให้เงินที่เราได้กลายเป็นผลพลอยได้ดีกว่า” ธีรนันท์สรุปพร้อมด้วยรอยยิ้มก่อนจบการสนทนากับ Forbes Thailand   ภาพประกอบ: มังกร สรพล