Masayasu Hosumi เมื่อ JETRO ชวนทุนไทยไปญี่ปุ่น - Forbes Thailand

Masayasu Hosumi เมื่อ JETRO ชวนทุนไทยไปญี่ปุ่น

Forbes Thailand เรากลับมาเยือน Yamazato ร้านอาหารญี่ปุ่นของโรงแรม Okura บนถนนเพลินจิตอีกครั้ง หลังจากที่บอสของ Dine with the Boss ฉบับนี้ ได้เลือกเป็นสถานที่พบกับเราสำหรับมื้ออาหารกลางวัน เพื่อคุยกันถึงบทบาทของ JETRO หรือ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization) ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น

สำนักงาน JETRO กรุงเทพฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2502 ถือเป็นสาขาหลักสาขาหนึ่งอีกทั้งสำนักงาน JETRO กรุงเทพฯ  ยังเป็นศูนย์กลางประสานงานของสำนักงานในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย คณะเราไปถึงห้องอาหารหลังเวลานัด 10 นาที เนื่องจากการจราจรที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่ Masayasu Hosumi ประธาน JETRO กรุงเทพฯ ยืนรอเราอยู่แล้ว บทสนทนาเริ่มขึ้นเพื่อฆ่าเวลาระหว่างรออาหาร ย้อนถามกันตั้งแต่ประวัติการทำงานของเขา ซึ่งคำตอบที่ได้รับน่าสนใจไม่น้อย Hosumi san ถือว่าเป็นข้าราชการอาชีพที่ผ่านงานมาหลากหลายตำแหน่ง ซึ่งแต่ละสายแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน Hosumi รับตำแหน่ง ประธาน JETRO กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว พร้อมด้วยประสบการณ์ในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 30 ปี รับผิดชอบและมีประสบการณ์ในสายงานที่หลากหลาย เขาบอกว่าสำนักงาน JETRO กรุงเทพฯ เป็นสำนักงานที่มีแขกมาเยี่ยมเยอะที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดา 80 สำนักงานทั่วโลก แต่ละปีต้องต้อนรับให้ข้อมูลผู้มาเยือนถึงเกือบ 10,000 คน Hosumi เสริมว่า ชุมชนญี่ปุ่นในไทยมีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จำนวนนักธุรกิจและสมาชิกครอบครัวที่รายงานตัวไว้กับสถานทูตญี่ปุ่นในไทยมีราว 60,000 คน แต่ถ้ารวมบรรดาชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ทั่วประเทศและไม่ได้รายงานตัวกับสถานทูตญี่ปุ่นแล้ว อาจสูงถึง 100,000 คน การมารับตำแหน่งของ Hosumi ในกรุงเทพฯ มาพร้อมกับการปรับนโยบายการดำเนินงานของ JETRO ที่ตอบสนองต่อนโยบายของนายรัฐมนตรี Shinzo Abe ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเปิดประเทศ ชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2013 ภายใต้โครงการ Invest Japan “เราหวังว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะมีบทบาทเป็นตัวเร่งปฏิกริยาในการทำให้ญี่ปุ่นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเห็นเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปัจจุบัน เป็น 35 ล้านล้านเยนภายในปี 2020” Hosumi กล่าว หลังผละจากจานอาหาร เพื่อค้นดูเอกสารข้อมูลตัวเลข ท่ามกลางเสียงฝนฤดูร้อนที่กระหน่ำในเมืองหลวง ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของไทย เป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสาร 2 ฉบับ หนึ่งในนั้น คือ บันทึกความร่วมมือ  (Memorandum of Cooperation: MOC) เกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจไทยในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในไทย และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันในประเทศที่สาม ระหว่าง JETRO กับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน หรือ Joint Standing Committee on Commerce, Industry & Banking -- JSCCIB จาก MOC ดังกล่าว JETRO และ JSCCIB จะร่วมมือกันจัดงานสัมมนาใหญ่ในกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคมนี้ “MOC กับภาคเอกชนไทยเพื่อส่งเสริมการลงทุนในญี่ปุ่นเป็นกรณีแรกในอาเซียน JETRO หวังว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต” Hosumi บอกว่า จากการสอบถามสมาชิก JSCCIB พบว่ามี 3 ธุรกิจที่นักธุรกิจไทยสนใจไปลงทุนในญี่ปุ่น ได้แก่ ธุรกิจด้านสุขภาพ (wellness) ด้านพลังงานทดแทน และด้านบรรจุภัณฑ์ (packaging) “ผมไม่ทราบมาก่อนว่าคนไทยจะสนใจธุรกิจบรรจุภัณฑ์เยอะมาก แต่ได้รับคำอธิบายว่า อุตสาหกรรมหลายชนิดของไทยที่เข้มแข็ง เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ล้วนแต่สนใจในเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในญี่ปุ่น” เขาอธิบายด้วยภาษาอังกฤษที่ชัดเจน ในทางกลับกัน นักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยคือฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นหลายประเภท มีเครือข่ายอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่งหนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จำนวนบริษัทญี่ปุ่นในไทยเยอะมาก จนทำให้หอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยมีสมาชิกมากเป็นเป็นอันดับสองของโลก รองจากที่ Shanghai   เรื่อง: นพพร วงศ์อนันต์ ภาพประกอบ: สมเกียรติ ศิริวงศ์ศิลป์
อ่านฉบับเต็ม "Masayasu Hosumi เมื่อ JETRO ชวนทุนไทยไปญี่ปุ่น" ได้ที่ FORBES THAILAND ฉบับ MAY 2015