ดิษทัต ปันยารชุน ซีอีโอลูกหม้อ ปตท. เสริมแกร่งบริหารต้นทุน “OR” - Forbes Thailand

ดิษทัต ปันยารชุน ซีอีโอลูกหม้อ ปตท. เสริมแกร่งบริหารต้นทุน “OR”

อดีตรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ปตท. คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจน้ำมันและการค้าระหว่างประเทศมายาวนาน ทำให้ ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีจุดแข็งที่โดดเด่นในการบริหารต้นทุน การวิเคราะห์ข้อมูล และบริหารความเสี่ยงเรื่องต้นทุนและราคา เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ OR แน่นอนการบริหารต้นทุนจะยิ่งทำให้กำไรของ OR เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง


    “Trading ถูก disrupt ทุกวัน ต้องเคลื่อนไหวเร็วอยู่บนการซื้อขาย เป็นธุรกิจที่ไม่มี asset ชัดเจน asset เดียวที่มีคือสมองและความสามารถในการบริหารต้นทุน” ดิษทัตเริ่มต้นบอกเล่าประสบการณ์ทำงานของเขาให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้รับทราบ และทำให้รู้ว่าจุดแข็งที่สำคัญของเขาคือ เรื่องการค้าที่ฉับไวและมุมมองในเรื่องของการบริหารต้นทุน เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวราคาแบบรายวัน หาก ปตท. ไม่สามารถวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงราคา อาจทำให้ขาดทุนได้โดยง่าย


ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล

    เมื่อดิษทัตเข้านั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR สิ่งแรกที่เขามองคือ การบริหารต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนที่มาจากต้นน้ำซึ่งยังมีช่องว่างที่ควรปรับปรุง ในขณะที่ปลายน้ำของ OR ดีอยู่แล้ว ด้วยจำนวนร้านสาขา ทั้งสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,000 สาขา ร้าน Cafe Amazon ที่มีกว่า 4,000 สาขาทำยอดขายที่ดี รวมทั้งธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันผ่าน PTT Station, FIT Auto, PTT Lubricants, ก๊าซหุงต้ม ปตท. และ LPG Station

    ธุรกิจน้ำมันเชิงพาณิชย์ เชื้อเพลิงอากาศยาน, เชื้อเพลิงเรือขนส่ง, เชื้อเพลิงภาคอุตสาหกรรม, เชื้อเพลิงเพื่อการขนส่ง และผลิตภัณฑ์พิเศษ ธุรกิจค้าปลีก Cafe Amazon, Jiffy, Texas Chicken, Panamera Coffee Roaster, Pearly Tea ทำรายได้ OR อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 4-5 แสนล้านบาทต่อปี


    ก่อนหน้านี้ดิษทัตดูแลต้นทุนราคาน้ำมันเป็นหลัก เมื่อก้าวมาสู่ธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมเขาจึงมองเรื่องต้นทุนและการบริหารความเสี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเครื่องมือที่เขาใช้คือดาต้าหรือตัวเลขในการซื้อขายที่มีในระบบซึ่งเดิม OR มีการเก็บตัวเลขอยู่แล้ว แต่ยังขาดรายละเอียดแบบ executive data เขาเสริมส่วนนี้เข้าไป นำตัวเลขมาประเมินและวิเคราะห์ ทำให้มองภาพรวมธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น

    “ดูจากตัวเลขสถิติผมสามารถประเมินได้เลยว่าเดือนนี้กำไรเท่าไร บอกได้เลยกี่ร้อยล้านโดยไม่ต้องดูผลประกอบการ ยิ่งเห็นตัวเลขทุกเดือนคาดการณ์ได้ใกล้เคียงบวกลบไม่เกิน 20%” ซีอีโอ OR ย้ำและว่า เครื่องมือที่เขาใช้ประเมินนี้คือ การนำตัวเลขดาต้าที่มีอยู่มาทำแดชบอร์ด หรือการนำข้อมูลต่างๆ ที่อาจเป็นข้อมูลในรายงานอยู่แล้วหรือข้อมูลใหม่มาสรุปให้สามารถเห็นภาพได้ในหน้าเดียว และเป็นข้อมูลที่อัปเดตสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นความถนัดของเขาที่ใช้มาตลอดกับการเทรดดิ้งน้ำมันให้กับ ปตท.


เชื่อมทุกยูนิตไร้ข้อจำกัด

    “บริษัทเราใหญ่ ผมมาจาก trading คนซื้อคนขายคนเดียวกัน แต่ OR ไม่ใช่ คนซื้อคนขายคนละคนกัน ถ้าการเชื่อมต่อไม่ดีข้อมูลไม่ซิงค์กันเกิดวิกฤตได้ง่าย” เขามองว่าเป็นจุดที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ตัวเลขสอดคล้องกันระหว่างการซื้อและการขาย เพราะการซื้อต้องมีการสำรองมากถึง 12 ชิปเมนต์ และตลาดเคลื่อนไหวเร็ว ถ้าไม่ได้ทำการบริหารความเสี่ยง (risk management) ไว้มีโอกาสขาดทุน ดังนั้น ทีมซื้อและขายต้องทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ

    เขายังบอกด้วยว่าธุรกิจ mobility เช่น สถานีบริการน้ำมันเปิดมากไม่ได้เพราะจะแน่นเกินไป ทุกครั้งที่ OR เปิดจะมีการวิเคราะห์เสมอว่าทำเลนี้เหมาะสมหรือไม่ จะส่งผลกระทบกับสถานีที่มีอยู่เดิมเพียงใด และยอมรับว่าทุกวันนี้สถานีบริการน้ำมันถูกดิสรัปต์ด้วย EV เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


    แม้เขาจะมองว่าต่อไปอีก 15 ปีข้างหน้า รถใช้น้ำมันก็ยังคงอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า EV จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น สถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ต้องปรับตัว และมองว่า EV เป็นอีกหนึ่งโปรดักต์ที่ต้องมีในระบบนิเวศ

    “คิดง่ายๆ เราก็เพิ่ม EV ไปอีก 1 โปรดักต์ สร้างความทันสมัยให้ OR ดู smart และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในรีเทลอื่นๆ ในปั๊มด้วย” เนื่องจากการเติมพลังงานไฟฟ้าของรถ EV ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที ส่วนมาก 30 นาที เวลาพอเหมาะ PTT กว่า 2,000 แห่งใส่ EV ไปแล้วกว่า 500 แห่ง “เรามีเป้าหมายหัวชาร์จไฟฟ้า 7,000 หัวภายในปี 2573 ตอนนี้มี 1,000 ไม่ว่าพลังงานจะเปลี่ยนอย่างไร OR จะเป็นผู้นำทั้งหมด” ดิษทัตยืนยัน

    ปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 2,000 แห่ง เมื่อเทียบกับพื้นที่ถนนแล้วยังสามารถขยายสถานีตามถนนสายรองได้แต่ไม่มากนัก ดังนั้น จึงมองเรื่องการขยายไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาซึ่งมีภูมิประเทศแบบเดียวกับไทย มีกำลังซื้อและมีถนนรองรับมากมาย



พุ่งเป้าตลาด “กัมพูชา”

     “เราขยายไปประเทศเพื่อนบ้านไม่ไกล ต้องโฟกัสใกล้ๆ ไปไกลเดี๋ยวฟุ้งซ่าน กัมพูชาดีที่สุดแล้ว ทำให้ดี ประเทศเขากว้างขวาง ทำอย่างไรให้โตไปได้เหมือนไทยอีกหนึ่งประเทศ ผลักดันยอดขายได้เยอะ” ดิษทัตเผยว่า OR กำลังวางกลยุทธ์เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานทำให้กัมพูชาเป็น second home base ใส่สรรพกำลังเข้าไป ปัจจุบันในกัมพูชามี 170 สถานี โดย PTT Cambodia เชื่อว่าจะโตได้อีกถึง 700 สถานี และมีหลายผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้ใส่ลงไป

    ทั้งหมดนี้คือมุมมองและเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ แต่ดิษทัตยังมีอีกเรื่องที่อยากสื่อสารคือความยั่งยืน เขาบอกว่า ปตท. ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรกับชุมชนที่เข้าไปตั้งกิจการทุกแห่ง โดยพยายามดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และออกแบบสถานีให้เป็นกรีนด้วยการใช้พลังงานสะอาด

    “ผมอยากให้ OR เป็น green company อยากให้คนมองเห็นความ green ของ OR ซึ่งเราช่วยเหลือเยอะแต่ไม่ค่อยเห็นภาพว่าเราดูแลสังคมทั้งที่เราทำมาตลอด” เป็นกรีน 100% เอาผลิตภัณฑ์มารียูส มีโมเดลจ้างงานคนพิการ หูหนวก ที่ร้าน Amazon โต๊ะอุปกรณ์รีไซเคิลหมด เสื้อผ้ารียูสถักทอจากพลาสติก และมีแผนลดการปล่อยคาร์บอนชัดเจนไปถึงปี 2573 มีการปลูกป่า และล่าสุดกำลังร่วมกับเกษตรกรปลูกกาแฟเพื่อใช้เอง


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร เพิ่มแสงสว่างให้ TMI ด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine