ธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร เพิ่มแสงสว่างให้ TMI ด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ - Forbes Thailand

ธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร เพิ่มแสงสว่างให้ TMI ด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ

การเข้ามาของหลอดไฟ LED ในประเทศไทยปี 2557 ทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าแสงสว่างในไทยได้รับผลสะเทือนไม่น้อย โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างบัลลาสต์ซึ่งตลาดส่วนใหญ่เป็นของผู้ผลิตในประเทศ ทำให้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต้องมองหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป กระทั่งมาลงตัวที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ


     เมื่อ 45 ปีก่อน ประวิทย์ ประสิทธิ์รัตนพร ได้ริเริ่มธุรกิจผลิตบัลลาสต์สำหรับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์และบัลลาสต์สำหรับใช้กับแบตเตอรี่ของรถบัส เรือ และรถเข็น ในนาม “ธีรพลการไฟฟ้า” ต่อมาได้ขยายประเภทสินค้าเพิ่มเติม อาทิ บัลลาสต์สำหรับไฟถนน เพื่อทดแทนการนำเข้าเนื่องจากช่วงนั้นบัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หม้อแปลงสำหรับหลอดฮาโลเจน สตาร์ทเตอร์สาหรับไฟถนน เป็นต้น 

    ปี 2543 ย้ายการผลิตไปที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและตั้ง บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด อีก 6 ปีต่อมาจึงสร้างโรงงานแห่งที่ 2 เพื่อรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2553 และช่วงกลางปี 2561 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปในส่วนของธุรกิจพลังงานโดยลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวภาพ หลังจากใช้เวลาศึกษาเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจในโรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าวมากว่า 2 ปี เนื่องจากกิจการที่ทำอยู่ถูกตีตลาดจากการนำเข้าหลอดไฟ LED ของประเทศจีน 

    ก่อนจะลงทุนทำโรงไฟฟ้าเขาเข้าไปศึกษาดูงานกิจการหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้า การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถไฟฟ้าขนาดเล็ก และอีกหลายธุรกิจ “ช่วงหนึ่งผมทำงานด้วยความรู้สึกว่าทำไมเหนื่อยขนาดนี้ ผมเป็นคนมองโลกแง่ดีตลอด ลูกค้ามีปัญหา โดนโกง หรือประมูลโครงการรัฐ (คิดว่า) ได้เรียนรู้มีวิชาจน 4 ปีนี้ positive ไม่ออก เทคโนโลยีโดน disrupt ทำให้ไม่มั่นใจ” เขากล่าว 


จุดแข็งอยู่ที่งานโครงการ

    ธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI ทายาทคนโตของประวิทย์ เล่าถึงสถานการณ์ในขณะนั้นที่ทำให้เขาต้องปรับกลยุทธ์ทุกอย่างเพื่อให้บริษัทอยู่รอด “ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ที่รับ เรารับเร็วมาก ผมโดน disrupt เลย ผลประกอบการเริ่มติดลบ ปีต่อมาก็แก้ได้โดย downsize ตัวโรงงานลง แต่ไม่แน่ใจว่าธุรกิจเดินต่อไปตัวไลท์ติ้งยังอยู่หรือจะโดน disrupt ทั้งหมด ตอนที่ยังไม่แน่ใจเราก็ไปขยายธุรกิจอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง สุดท้ายธุรกิจไลท์ติ้งกลับมายืนในส่วน LED ได้สำเร็จ” 

    ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไฟฟ้าแข่งขันสูง และปีนี้ได้รับผลกระทบเยอะมากจากนักลงทุนจีนรายย่อยที่เข้ามาเต็มไปหมด “สมอ. ต้อง take action แล้วว่าสินค้าที่นักลงทุนจากจีนนำเข้ามาเองทางรถบรรทุกต้องได้มาตรฐาน...เราทำรางปลั๊กไฟขายตามมาตรฐานใหม่ต้นทุน 150 บาท แต่เขาขายส่งได้ทันที 60 บาท...แต่ในวงการนี้ไม่เหลือแล้ว ถามว่าเราอยู่ได้ไหม อยู่ได้ เพราะเราทำการบ้านเยอะมาก” 



    ข้อมูลจากรายงานประจำปีของบริษัทระบุว่า ปี2565 ประเทศไทยมีการส่งออกหลอดฟลูออเรสเซนต์ไปต่างประเทศ 8.10 ล้านหลอด คิดเป็นมูลค่า 165.82 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จากยอดส่งออกหลอดฟลูออเรสเซนต์จานวน 10.47 ล้านหลอด มีมูลค่าเท่ากับ 211.26 ล้านบาท การลดลงดังกล่าวเป็นผลจากคู่แข่งขันจากประเทศจีนสามารถผลิตสินค้าได้ราคาถูกกว่า และเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นหลอดไฟ LED ซึ่งจีนเป็นผู้นำตลาดของโลก ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดตัวลง 

    ปี 2565 หลอดไฟ LED มีจำนวนลดลง จาก 183.63 ล้านชิ้น ในปี 2564 เป็น 113.01 ล้านชิ้นในปี 2565 แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นจาก 3,372.80 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 6,464.38 ล้านบาทในปี 2565 พิจารณาเฉพาะประเทศพบว่า การนำเข้าหลอดไฟฟ้า LED ทุกประเภทรวมกันมาจากจีนกว่า 85.15% ของมูลค่าการนำเข้าในผลิตภัณฑ์หลอดไฟฟ้า LED ทุกประเภท เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางด้านหลอดไฟฟ้า LED มากเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศจีน ทำให้อัตราภาษีนำเข้าจากจีนเหลือ 0% ทำให้มีผู้จดทะเบียนนำเข้าผลิตภัณฑ์หลอดไฟฟ้ากว่า 500 รายการ 


    ท่ามกลางการแข่งขันที่เชี่ยวกราก แต่หลังปรับกลยุทธ์มาหลายรอบกระทั่งดาวน์ไซซ์โรงงานจนเหลือแค่ 30% ในปัจจุบัน เขายืนยันว่าธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ส่องสว่างยังคงอยู่ได้ และทำกำไรได้ระดับหนึ่ง แต่จะไม่เติบโตมากกว่านี้

    ทั้งนี้ ระหว่างปี 2563-2565 บริษัทมีรายได้รวม 449.49 ล้านบาท 486.56 ล้านบาท และ 568.88 ล้านบาทตามลำดับ โดยรายได้หลักมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโคมไฟฟ้าคิดเป็น 49.29%,  52.71% และ 45.82% ของรายได้รวม ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ธีระชัยคาดว่าจะมีรายได้ในปี 2566 ประมาณ 140 ล้าน และมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีก 60 ล้าน 


มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว

    บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจ 2 ประเภท ประเภทแรก ออกแบบ ผลิตและจัดจำหน่าย อุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง ประกอบด้วยหลอดไฟฟ้า/หลอด LED และโคมไฟฟ้า/อุปกรณ์ โดยกลุ่มลูกค้าหลักแบ่งเป็นลูกค้าประเภทร้านค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า ตลาดค้าส่งทั่วไป และกลุ่มลูกค้าโครงการ มีสินค้าหลัก 3 กลุ่มประกอบด้วยหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบ, โคมไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ซึ่งบริษัทผลิตและจัดจาหน่ายภายใต้แบรนด์ GATA และ CROSS ซึ่งเป็นของบริษัท 

    GATA เป็นแบรนด์สำหรับผลิตภัณฑ์หลอดไฟ โคมไฟ บัลลาสต์ไฟฟ้า สตาร์ทเตอร์ อิกไนเตอร์คาปาซิเตอร์ (หรือคอนเดนเซอร์) และสวิตช์แสงแดด แบรนด์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในตลาดว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก อีกแบรนด์คือ CROSS ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทเพื่อการส่งออก ในประเทศจะใช้กับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตให้กับกลุ่มลูกค้าที่สนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีราคาที่ต่ำกว่าและมีคุณภาพระดับรองลงมา

    “การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” จากพลังงานทดแทนทุกประเภทเป็นธุรกิจประเภทที่ 2 ของ TMI แต่ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าสาหรับโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพเท่านั้น โดยนำน้ำเสียจากการกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรมาหมักให้เกิดก๊าซ และนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปปรับปรุงคุณภาพก่อนนำเข้าเครื่องยนต์สำหรับผลิตไฟฟ้า


    ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 3 แห่ง 2 แห่งแรกเป็นการซื้อต่อจากเจ้าของเดิม ส่วนแห่งที่ 3 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี บริษัทดำเนินการตั้งแต่ขั้นแรก ประกอบด้วย 

1. โรงไฟฟ้าที่ท่าแซะ จังหวัดชุมพร (ในนาม บจ.กรีน เซฟวิ่ง เอนเนอร์ยี่ ไทยแลนด์) กำลังการผลิต 1.4 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบน้ำเสียจากโรงปาล์มในพื้นที่ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2558 มีระยะเวลารับซื้อ 20 ปี โดยรับซื้อที่ราคา 3.76 บาทต่อหน่วย และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาจากพลังงานหมุนเวียนในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 8 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นโครงการ ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 19 เมษายน ปี 2578

2. โรงไฟฟ้าที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร (ในนาม บจ.กรีน เซฟวิ่ง เอนเนอร์ยี่ ไทยแลนด์) กำลังการผลิต 0.99 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปลายปี 2557 

3. โรงไฟฟ้าที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี (ในนาม บจ. กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี) กำลังการผลิต 2.97 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลเข้าสู่ระบบก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยมีอายุสัญญา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาและต่อเนื่องครั้งละ 5 ปีโดยอัตโนมัติ 

    โดยโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแห่งนี้ได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล โดยใช้อุปกรณ์แบรนด์ Siemens มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งระบบ และสามารถผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


    TMI เริ่มเข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2561 โดยใช้เงินลงทุน 85 บาทซื้อโรงงานไฟฟ้าชีวภาพที่ชุมพร หลังบริหารจัดการได้ 3 ปี มีความมั่นใจว่าทำได้ จึงซื้อไลเซนส์อีก 1 โครงการที่ราชบุรีและได้โรงงานที่บ้านแพ้วติดมาด้วย แต่มีปัญหาบางประการทำให้ไม่สามารถตั้งโรงงานที่ราชบุรีจึงย้ายมาตั้งที่สุพรรณบุรีแทน ที่นี่ TMI ดำเนินการก่อสร้างใหม่ทั้งหมดใช้เวลาเซ็ตอัพ 2 ปี และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เดือนธันวาคม ปี 2565

    ผู้บริหารหนุ่มยอมรับว่าตอนแรกที่คิดจะทำโรงไฟฟ้าเขารู้สึกกังวลไม่น้อยเพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่เป็นจังหวะที่คนรู้จักต้องการเลิกกิจการ เมื่อเขาศึกษาแล้วเห็นว่าการบริหารจัดการใกล้เคียงกับลักษณะงานโรงงาน “ช่วงนั้นการแข่งขันโซลาร์สูงมาก ระยะคืนทุน 12 ปี แต่ biomass ใช้เวลา 5 ปี คนไม่ค่อยประมูลโรงไฟฟ้าชีวภาพเพราะทำยาก”  

    ตอนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 เขาวางแผนจะทำคาร์บอนเครดิตด้วยเนื่องจากมีหุ้นส่วนซึ่งเป็นคนไทย และมีโรงงานไฟฟ้าที่สเปนและยุโรป โรงไฟฟ้าแห่งนี้ทำตามมาตรฐานสากล ระบบบริหารจัดการทั้งหมดเชื่อมกับยุโรป ซึ่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลตามมาตรฐาน Gold Standard ว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 92,000 ตัน/ปี

    ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดยุทธศาสตร์แผนธุรกิจให้คาร์บอนเครดิตเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EU) มีมาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2050 โดยบรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) กำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (carbon tax) ที่นำเข้ามาในกลุ่มประเทศ EU เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 2566 ซึ่งทำให้ TMI ได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงดังกล่าว

    ที่ผ่านมา TMI ได้เปิดรับการเจรจากับกองทุนต่างประเทศ ทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และยุโรป และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อขายคาร์บอนเครดิตที่บริษัทได้จากการทำโรงงานไฟฟ้าที่สุพรรณบุรีจำนวน  92,000 ตันต่อปี  หากขายคาร์บอนเครดิตได้ทั้งหมด จะทำให้ผลการดำเนินงานของในปี 2566 เติบโตอย่างก้าวกระโดด

    ธีระชัยยกตัวอย่าง Carbon Tax ที่สิงคโปร์ว่า มีราคาซื้อขายอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ/หน่วย หากขายได้ที่ราคานี้ก็จะมีรายได้เกือบ 200 ล้าน ส่วนในยุโรปราคาประมาณ 30-50 ยูโร/หน่วย เดิมเขาคาดว่าจะขายคาร์บอนเครดิตในปี 2566 แต่สะดุดลงเนื่องจากมีประกาศจากหน่วยงานภาครัฐว่า ห้ามขายในนามเอกชน ต้องขายผ่านรัฐต่อรัฐเท่านั้น

    ในปี 2567 บริษัทจะยังขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยจะผลักดันให้โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัทอีก 2 แห่งคือที่จังหวัดชุมพรและอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้  และเตรียมแผนขยายโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 3-5 เมกะวัตต์ เพื่อการเติบโตในอนาคต ธีระชัยมีเป้าหมายว่า เมื่อรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าเติบโตถึงระดับหนึ่ง เขาจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไปตั้งโรงงานไฟฟ้าในยุโรป 



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ :ดร.มัลลิกา แก่กล้า เสริมแกร่งเทคขั้นสูง DEXON

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine