กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รับไม้ต่อยอด ซีไอเอ็มบี ไทย - Forbes Thailand

กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รับไม้ต่อยอด ซีไอเอ็มบี ไทย

ยามบ่ายของเดือนเมษายน ณ ร้านกาแฟชื่อดังในซอยหลังสวน เป็นช่วงเวลาที่ Forbes Thailand ได้พูดคุยกับ กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่เพิ่งรับไม้ต่อเริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2559 เขาพร้อมถ่ายทอดถึงภาพรวมของธนาคารและพิมพ์เขียวที่วางไว้เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธนาคารขนาดกลางของไทยตามที่หลายคนวาดฝันไว้

ผู้นำใหม่ถอดด้ามเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่เขามารับงานต่อจากสุภัค ศิวะรักษ์ ซึ่งเป็นซีอีโอมากว่า 7 ปี และได้ใช้เวลาหลอมรวมหลายสถาบันการเงินให้เป็นหนึ่งเดียวในนามของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กระทั่งตอนนี้ธนาคารกำลังก้าวไปสู่อีกระดับ แม้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับเปลี่ยนในหลายแง่มุมเพื่อสร้างเสริมจุดแข็งของธนาคารไปไม่น้อยแล้ว โดยเฉพาะด้านการบริหารเงิน แต่เส้นทางต่อจากนี้เขายังคงต้องใช้พลังอีกพอสมควร อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มงานได้ในช่วงสามเดือนแรกก็พบว่า ผู้บริหารระดับสายงานต่างมีจุดหมายที่ต้องการจะยกระดับธนาคารไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันเพื่อให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น มั่นคงขึ้นและมั่งคั่งขึ้น “เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีการจัดประชุมนอกสถานที่ของผู้บริหารเพื่อคุยกันว่าต้องการให้ธนาคารมุ่งหน้าไปทางใด ซึ่งเมื่อผมแชร์ข้อมูลให้ผู้บริหารฟังแล้วได้รับความเห็นกลับมา พบว่าส่วนใหญ่คิดตรงกันเรื่องแนวทางการวางแผน 5 ปีของธนาคาร”

สู่แบงก์ขนาดกลางใน 5 ปี

สำหรับเป้าหมายของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย นั้น คือการก้าวสู่การเป็นธนาคารขนาดกลางของประเทศไทยภายใน 5 ปี ด้วยกลทธ์การปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation Roadmap) เพื่อให้ธนาคารแข็งแกร่งมากพอจะไปสู่จุดหมายที่วางไว้ได้โดยตัวเลขสำคัญที่จะสะท้อนความสำเร็จของการเป็นธนาคารขนาดกลาง คือ การเติบโตของกำไรก่อนหักภาษีต้องเพิ่มขึ้น 5 เท่า หรืออยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาทแทนการเลือกวัดจากสินทรัพย์ เพราะมองว่ากำไรก่อนหักภาษีบ่งบอกถึงคุณภาพของธนาคารได้ดีกว่าตัวเลขสินทรัพย์ “ผมใช้คำว่า ‘เราฝัน’ ที่จะเป็นธนาคารขนาดกลางใน 5 ปี เพราะปัจจุบันธนาคารขนาดกลางที่เล็กที่สุดยังใหญ่กว่าเรา 3.5 เท่า ดังนั้นหากเราจะเป็นธนาคารขนาดกลางใน 5 ปีก็ต้องทำอะไรเยอะมากเพราะอย่าลืมว่าคนอื่นก็ไม่ได้อยู่กับที่” ทั้งนี้ Transformation Roadmap แบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างปี 2560 ถึง 2566 เพื่อสร้างการเติบโตทั้งทางด้านผลกำไร องค์ความรู้มุ่งสู่การเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีผลประกอบการดีเยี่ยมในท้ายที่สุด “8 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าทุกคนในแบงก์ต่างช่วยกันยกระดับแบรนด์ของเราให้เป็นที่รู้จักจากแรกเริ่ม ซึ่งมีคนไทยคุ้นเคยกับชื่อ ซีไอเอ็มบี ไทย จำนวนน้อยมาก แต่ในวันนี้ มุมของลูกค้าขนาดใหญ่เริ่มรับรู้ว่าเราเป็น regional bank ที่พาลูกค้าไปสู่ตลาดในภูมิภาคได้ เช่นเดียวกับลูกค้า wealth ที่รู้ว่าเรามีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายซึ่งเป้าหมายหลักของเราคือ การนำเอกลักษณ์ของธนาคารไปสู่ลูกค้าทุกกลุ่ม”

วางผังธุรกิจปีนี้

เนื่องด้วยผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2559 ธนาคารมีผลขาดทุนถึง 629.53 ล้านบาทจากปัญหาเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งธนาคารเองก็พยายามแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นฉุดรั้งตัวเลขผลการดำเนินงานในอนาคต โดยในช่วง 2 เดือนแรกที่เข้ามารับหน้าที่ผู้นำคนใหม่จึงให้น้ำหนักกับเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเตรียมยกเลิกธุรกิจบัตรเครดิตซึ่งมีผลขาดทุน มุ่งเน้นการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล และการสร้างพันธมิตรสำหรับธุรกิจรายย่อย รวมถึงใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างคุ้มค่าโดยการปรับเปลี่ยนงานด้านเอกสารไม่เพียงเท่านั้น พร้อมปรับโฟกัสมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารได้เปรียบในการแข่งขัน อาทิ domestic cash management (การบริหารเงินสด) trade finance (สินเชื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ)

ก่อนเป็นซีอีโอ

กิตติพันธ์ เล่าย้อนถึงเส้นทางก่อนได้รับเลือกให้เป็นผู้นำแห่งธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับการทาบทามจาก head hunter ให้ลงท้าชิงตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของธนาคารสัญชาติมาเลเซียแห่งหนึ่งที่ผู้นำคนเดิมใกล้จะหมดวาระลง ขณะนั้น กิตติพันธ์ ใช้เวลาอยู่ราว 1 สัปดาห์ เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนตัดสินใจรับคำชวน ในมุมมองของกิตติพันธ์มองว่า ปัจจัยที่สามารถดึงดูดคนในองค์กรให้พร้อมขับเคลื่อนธนาคารไปไกลดังเป้าหมายนั้นอยู่ที่แผนงานอันท้าทาย และคณะผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ “การออกแบบ CV template ของเขาช่วยให้ผมได้คิดทบทวนถึงชีวิตการทำงานว่าเราได้ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้างเช่น การตอบคำถามทั้งจุดที่สำเร็จและล้มเหลวในผลงานที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วก็ช่วยให้ผมรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นพอควรเมื่อเราได้ทบทวนตัวเองว่าผ่านจุดสูงสุดและต่ำาสุดอะไรบ้าง” กิตติพันธ์เล่าถึงเส้นทางชีวิตการงานตั้งแต่ต้นว่า ก้าวแรกที่เริ่มเข้าสู่เส้นทางธุรกิจการเงินคือเป็น Management Trainee ที่ Bank of America สาขากรุงเทพฯ เมื่อปี 2536 และสิ้นสุดการทำงานที่สถาบันแห่งนี้ในฐานะ Vice President ในส่วน Corporate Banking Department เมื่อปี 2542 “ผมว่าที่นี่มีสภาพแวดล้อมการทำงานดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา” ก่อนตัดสินใจรับตำแหน่ง Vice President - Team Leader, Corporate Banking Department ที่ HSBC สาขากรุงเทพฯ ในปี 2542 และหันเหสู่การเป็น General Manager ที่ JPMorgan Chase Bank สาขากรุงเทพฯ เมื่อปี 2543 และไต่ระดับขึ้นเป็นคนไทยรายแรกที่ได้เลือกให้รับตำแหน่ง Country Credit Officer ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ในเวลาต่อมา จากการแนะนำและผลักดันของ กรณ์ จาติกวณิชผู้เป็น Country Head ในขณะนั้น จากนั้น ปี 2552 เขาย้ายรับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส Head of Corporate Banking, Wholesale Banking Group ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อถามว่าอะไรคือโจทย์ที่ยากสุดของการเป็นซีอีโอของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยหลังจากเริ่มรับตำแหน่งมาระยะหนึ่ง กิตติพันธ์เปิดเผยว่า “การสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานเป็นสิ่งที่ยากมากที่สุด เพราะการที่จะทำให้คนเชื่อมั่นในตัวเราเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา” พร้อมย้ำว่าการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดจะเป็นหนทางสำคัญที่กระตุ้นพลังขับเคลื่อนสุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญอยู่ที่การสร้างให้คนของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองไปยังจุดหมายเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ถึงแม้เราไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่ไปถึงดวงดาวก็ยังดี”
คลิกอ่าน "กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รับไม้ต่อยอด ซีไอเอ็มบี ไทย" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine