“วิเชฐ ตันติวานิช” ผสานชุดความรู้ใหม่-เก่าสืบทอดธุรกิจ - Forbes Thailand

“วิเชฐ ตันติวานิช” ผสานชุดความรู้ใหม่-เก่าสืบทอดธุรกิจ

8 มิถุนายน 2563 อยู่ในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ทำงานอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก หลังการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต้นปี การนัดสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน “วิเชฐ ตันติวานิช” นักบริหารมืออาชีพผู้คร่ำหวอดในฐานะซีอีโอ และที่ปรึกษาบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง

วิเชฐ ตันติวานิช รับนัดทีมงาน Forbes Thailand ที่บ้านพักของเขาในย่านถนนรัชดาภิเษก เป็นความสะดวกในการทำงานวิถีใหม่ที่ผู้บริหารท่านนี้ใช้มากขึ้นนับตั้งแต่มีมาตรการล็อกดาวน์เมื่อหลายเดือนก่อน และยังคงใช้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน “มันทำให้มีเวลามากขึ้น การประชุมผ่านวิดีโอคอลทำให้เราใช้เวลาได้คุ้มค่า ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องไปติดอยู่บนถนน ไม่ต้องเสียเวลาทักทายดื่มกาแฟก่อนประชุม และไม่ต้องแต่งตัวเยอะเพราะอยู่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเหล่านี้เลย” วิเชฐ ตันติวานิช นักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 59 สรุปภาพคร่าวๆ ของการทำงานที่ปรับตัวจากมาตรการล็อกดาวน์ ดูเหมือนว่าเขาจะชื่นชอบไม่น้อย เพราะมันทำให้มีเวลามากขึ้นสำหรับภารกิจผู้บริหารใน 7 บริษัทของเขา ซึ่งประกอบด้วยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 4 แห่ง บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 แห่ง และยังมีงานอาจารย์พิเศษ รวมทั้งอีกหลายกิจกรรมที่เจ้าตัวบอกว่า ทำเพราะความชอบ  

-อบรมส่งต่อธุรกิจครอบครัว-

ความเป็นคนชอบสังคมของวิเชฐ สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่การงานที่ผ่านมา ซึ่งเขานั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงมาหลายแห่ง เป็นอดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นประธานกรรมการและที่ปรึกษาอีกหลายบริษัท แต่งานถนัดที่สร้างการยอมรับและเป็นกิจกรรมที่ดำเนินต่อเนื่องในปัจจุบันคือ การพัฒนาหลักสูตรการส่งต่อธุรกิจครอบครัว โดยทำให้กับธนาคารกรุงเทพในชื่อโครงการ “Bualuang SMART Family Enterprise เพื่อนคู่คิดวิสาหกิจครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาแล้ว 8 ปี รวมจำนวนธุรกิจครอบครัวที่เข้ารับการอบรมกว่า 400 ครอบครัว “แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย ความยากง่ายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้นการออกแบบแนวทางเพื่อส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นจึงไม่สามารถใช้สูตรเดียวกันได้ ต้องออกแบบเฉพาะของแต่ละคน” วิเชฐ อธิบายอย่างรวบรัดถึงหลักคิดในการอบรมเพื่อการส่งต่อธุรกิจที่เขาทำอย่างจริงจังมาตลอด 8 ปี ซึ่งเป็นโครงการอบรมที่มีคิวจองเต็มตลอดเวลา สำหรับโปรแกรมอบรม 4 รุ่นต่อปี รุ่นละ 12 ครอบครัว หรือราว 48 ครอบครัวต่อปี “ผมบอกไม่ได้หรอกว่าครอบครัวไหนบ้าง แต่อบรมมาแล้ว 400 ครอบครัว ถือว่าเยอะ และแน่นอนแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน” วิเชฐย้ำว่า บทเรียนของหลายครอบครัวแม้จะต่างกัน แต่ก็มีส่วนที่คล้ายกันในหลายๆ เรื่อง 8 ปีของการอบรม B SMART (ชื่อย่อ ของโครงการอบรมฯ) ทำให้วิเชฐมีแนวคิดว่า ต้องการทำหลักสูตรการอบรมที่ลึกซึ้งมากขึ้น เขาเริ่มต้นด้วยการทำหนังสือรวบรวมเนื้อหาที่ได้จากการอบรมมาตลอด 8 ปี กลั่นกรองเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจในชื่อหนังสือ “ครอบครัวมั่งคั่ง กิจการยั่งยืน” ซึ่งกำหนดจะวางแผงในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ (2563) “หลังวิกฤตโควิด-19 ผมว่าทุกอย่างจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน จากนี้ไปเราน่าจะเปิดรับ face the fact อย่าไปปฏิเสธ หรือ presumed เอาเองว่า จะเกิดแบบนู้นแบบนี้ ทุกอย่างกำลังทดลองยังไม่รู้จริงว่าจะเป็นอย่างไร” ดังนั้นการจะส่งต่อธุรกิจจึงเป็นโจทย์ยากขึ้นไปอีกระดับ “ชั่วโมงนี้ต้องคุยเรื่องนี้เยอะมาก” วิเชฐย้ำก่อนจะเผยว่า ขณะนี้เขากำลังเตรียมทำหลักสูตรครอบครัวมั่งคั่ง กิจการยั่งยืน โดยจะออกหนังสือก่อนแล้วค่อยเปิดหลักสูตรตามมาเปิดกว้างสำหรับคนทั่วไป สามารถมาได้ทั้งครอบครัว เป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการอบรมการส่งต่อธุรกิจครอบครัวที่วิเชฐเคยทำให้ธนาคารกรุงเทพ โดยครั้งนี้จะทำในนามบริษัท เฟิร์ม จำกัด  

-เริ่มต้นด้วย “กฎของบ้าน”-

บริษัท เฟิร์ม จำกัด ไม่ใช่กิจการใหม่ ก่อตั้งมาแล้ว 10 ปี ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและให้บริการความรู้เกี่ยวกับการส่งต่อธุรกิจครอบครัว สอนธุรกิจครอบครัวเน้นการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นใหญ่ไปรุ่นเล็กอย่างราบรื่น “เขาเรียกว่า handover business from generation G1 to G2 smoothly โดยครอบครัวที่มาอบรบส่วนหนึ่งจะให้เรา consult ต่อเรื่องธรรมนูญครอบครัว” เป็นบริการที่บริษัท เฟิร์ม ทำต่อเนื่องให้กับผู้เข้าอบรม วิเชฐบอกว่า การมีธรรมนูญครอบครัวคือ หัวใจสำคัญประการแรกเลยที่จะทำให้การส่งมอบธุรกิจจากรุ่นใหญ่ไปรุ่นเล็กได้ราบรื่น ซึ่งเขาอธิบายวิธีการเพียงสั้นๆ ว่า เริ่มด้วยการพูดคุยเชิงลึกใน 8 ขั้นตอนกับ 12 หัวข้อใหญ่ เพื่อกำหนดธรรมนูญครอบครัว หรือ “กฎของ บ้าน” ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานก่อน การนั่งตำแหน่งผู้บริหารระดับซีอีโอในหลายบริษัท และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง เป็นการเสริมความรู้และประสบการณ์ให้วิเชฐ ทำให้เขามีข้อมูลและชุดความรู้ที่หลากหลาย มีโอกาสสัมผัสงานบริหารทั้งยุคเก่ารุ่นพ่อแม่ และยุคใหม่รุ่นลูกหลาน ได้เห็นความแตกต่าง และจุดอ่อน-จุดแข็งแต่ละกลุ่มชัดเจน “ธุรกิจครอบครัวไล่ลูกออกไม่ได้ หากลูกไม่เชื่อฟังก็ตัดออกไม่ได้ ส่วนลูกก็น้อยใจว่าพ่อแม่ไม่คิดว่าตัวเองเก่ง และมองว่าพ่อแม่โบราณ ขณะที่พ่อแม่ก็หวงตำราเก่าไม่ยอมให้ลูกทดลองมาก ปัญหาจึงเกิดขึ้นหลายครอบครัว” เป็นที่มาของปัญหาที่วิเชฐมองเห็น เมื่อนำมาผนวกเข้ากับข้อมูลความรู้ที่เขามีอยู่เชื่อว่าช่วยแก้ปัญหาได้ ก่อนจบการพูดคุยวิเชฐฝากถึงคนที่กำลังจะส่งต่อธุรกิจว่า “คนที่คิดว่าจะ retire เมื่อถึงเวลาควรถอยออกมาเป็นโค้ชได้แล้ว คุณใช้ได้แค่ประสบการณ์ใช้ความรู้ไม่ได้ เพราะยุคนี้เป็นชุดความรู้ใหม่ ต้องให้คนรุ่นใหม่มาปรับใช้ แต่ retired แล้วอย่าเพิ่งหยุด ต้องเป็นโค้ช ยืนนอกสนามเฝ้าดูและเป็นโค้ช ส่วนลูกๆ ก็ให้เห็นพ่อแม่เป็นเหมือนโค้ช อย่าคิดว่าพ่อแม่ไม่สามารถสอนได้” อ่านเพิ่มเติม: พงศ์รัตน์ อรุณวัฒนาพร พาแจ๊กเจียฝ่าวิกฤต Tigerplast เสริมเกราะคำรามข้ามแดน
คลิกอ่านฉบับเต็ม “วิเชฐ ตันติวานิช” ผสานชุดความรู้ใหม่-เก่าสืบทอดธุรกิจ" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine