พงศ์รัตน์ อรุณวัฒนาพร พาแจ๊กเจียฝ่าวิกฤต เตรียมแผนการขยับปรับตัวครั้งใหญ่ของแบรนด์ธุรกิจอายุมากกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยความมุ่งมั่นก้าวข้ามวิกฤตโรคระบาดสู่โอกาสการพัฒนานวัตกรรมเสริมความแข็งแกร่งทัพเวชภัณฑ์ในระยะยาว พร้อมต่อยอดเป็นใบเบิกทางความเชื่อมั่นสร้างชื่อไทเกอร์พล๊าสทั่วโลก
“
คุณตา ของ พงศ์รัตน์ อรุณวัฒนาพร หรือ
"มิสเตอร์ แจ๊ก เจีย" ท่านเป็นคนซัวเถาที่จบปริญญาตรีทางด้านเคมี จาก Shanghai เพราะคุณทวดมีธุรกิจ Hudson’s Jujubes ที่ฮ่องกง แต่คุณตาไม่อยากหยุดแค่ตรงนั้นจึงเดินทางมาเมืองไทย และเริ่มต้นนำ license ของ Hudson’s Jujubes มาบุกเบิกที่เมืองไทย
พงศ์รัตน์ อรุณวัฒนาพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ
JCT ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าถึงการก่อตั้งบริษัท โฮ้วป่าบราเดอร์ส (ไทย) จำกัด ในปี 2509 และการซื้อกิจการโฮ้วป่าบราเดอร์ส (ไทย) เมื่อปี 2516 พร้อมทั้งปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์
ขณะที่หนึ่งในพัฒนาการสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มแจ๊กเจียได้ร่วมทุนกับบริษัท สมิธแอนด์เนฟฟิว จำกัด ประเทศอังกฤษ จัดตั้งบริษัท ฟาร์มาแคร์ จำกัด ในปี 2530 โดยมีพลาสเตอร์ปิดแผลเทนโซพล๊าส (Tensoplast) เป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อหลัก ก่อนบริษัทจะซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่มสมิธแอนด์เนฟฟิว
และถือหุ้น 100% ในบริษัท ฟาร์มาแคร์ จำกัด ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท BSN medical GmbH ประเทศเยอรมนีให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพลาสเตอร์ปิดแผลภายใต้เครื่องหมายการค้า Tensoplast, Tensoplastic และ Tensotape รวมถึง Tigerplast
“ผมได้เข้ามาร่วมงานกับแจ๊กเจียเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะคิดว่าเราพร้อมและสามารถ share value ให้องค์กรได้ แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เราต้องปรับเยอะมาก รวมถึงเราต้องพยายามสร้างการยอมรับด้วยการลงไปลุยกับทีม พร้อมพิสูจน์และทำให้เห็นช่วงที่เป็นรอง GM ก็เป็น product manager สร้างแบรนด์และพัฒนาช่องทางการขาย OMRON, Jason’s Jujubes และ Tigerplast เรารีแบรนด์ให้มีตัวตนชัดเจนขึ้น และทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น” พงศ์รัตน์ในวัย 38 ปีกล่าวถึงการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ครอบคลุม 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย
กลุ่มเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทำแผล ได้แก่ ไทเกอร์พล๊าส (Tigerplast) เทนโซพล๊าส (Tenso-plast)
รวมทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ เช่น สเปรย์ยูคาลิปตัสจิงโจ้ แผ่นประคบร้อนเทอร์มา พลาสท์ (Therma Plast) ลูกอมเจสัน จูจุ๊บ (Jason’s Jujubes) น้ำมันอเนกประสงค์ รอนสัน (Ronsonol) แป้งหอมตาบู (TABU) เทปพันไก่ชนสิงห์ทอง
นอกจากนั้น บริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า เช่น เครื่องวัดความดันออมรอน (OMRON) หน้ากากผ้าจีคิว (GQ) ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ด็อกเตอร์ คลีน (Dr.Klean) รวมทั้งการส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะวัสดุป้องกันและรักษาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา (sport medical bandages) และพลาสเตอร์ปิดแผลไทเกอร์พล๊าส
“เราเน้นเรื่องคุณภาพมาเป็นอันดับ 1 เราจะไม่ยอมลดคุณภาพลงเพื่อให้ได้กำไรหรือยอดขายระยะสั้น และเรื่องการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการสร้างแบรนด์ ซึ่งเราจับมือกับ OMRON เป็นตัวแทนนำเข้าตั้งแต่ยุคแรกๆ ร่วม 20 ปี ตั้งแต่คนยังไม่รู้จักเครื่องวัดความดัน เราพัฒนาจากตลาดที่ไม่มีอะไรเลยขึ้นมาเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกบ้านต้องใช้ และอนาคตจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตขึ้น”
พงศ์รัตน์ย้ำในคีย์ความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขรายได้รวมใน ปี 2562 จำนวน 884.97 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.67% และกำไรสุทธิจำนวน 90.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.15% ซึ่งรายได้หลักมาจากการขายในประเทศเพิ่มขึ้น 12.34% เป็น 607.42 ล้านบาท
นำโดยผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชภัณฑ์คิดเป็นสัดส่วน 83.98% ของกลุ่มสินค้าทั้งหมด ได้แก่ พลาสเตอร์ปิดแผล เครื่องวัดความดันโลหิต วัดอุณหภูมิร่างกาย และวัดระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือด รวมทั้งแผ่นประคบร้อน ซึ่งผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น แป้งหอม ลูกอม หรือน้ำมันไฟแช็คอเนกประสงค์ มียอดขายเพิ่มขึ้น 4.56% จากปีก่อน
แม้บริษัทจะสามารถขยายอาณาจักรทางธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่กับธุรกิจเวชภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ทำให้พงศ์รัตน์ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการพลิกวิกฤตจากยอดขายที่ลดลงกว่า 40% พร้อมเดินหน้าปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่รับยุค new normal
สายเลือดนักสู้ทางธุรกิจทำให้พงศ์รัตน์มั่นใจในทางเลือกการเดินหน้าสู้วิกฤตเศรษฐกิจด้วยความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค พร้อมเป็นอาวุธเปิดน่านน้ำธุรกิจใหม่ที่ยังไร้คู่แข่งขันทางธุรกิจทั้งในประเทศและส่งออก แจ้งเกิดแบรนด์ไทเกอร์พล๊าสทั่วโลก
“ในช่วงสเปรย์แอลกอฮอล์ขาดตลาดเราได้มีการผลิตสเปรย์แอลกอฮอล์วางจำหน่ายในราคาย่อมเยา และบริจาคเงินส่วนหนึ่งให้กับมูลนิธิเทใจ ซึ่งช่วงนั้นเราก็ได้เจอกับบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาฯ ชื่อ แนบโซลูท โดยเป็นนักวิจัยของคณะเภสัชจุฬาฯ เป็นเจ้าของมาร่วมมือกัน เราใช้เวลา 2 สัปดาห์ตั้งแต่เริ่มคุยจนผลิตเป็นสินค้าทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเร็ว เพราะเวลาไม่รอเรา”
ดังนั้น กลุ่มแจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จึงร่วมมือกับแนบโซลูท ผลิตและจัดจำหน่าย Shield+ Technology: Protecting Spray ในแบรนด์ Tigerplast MaskShield+ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคในอากาศได้ดีขึ้น 142% และกรองฝุ่นได้ดีขึ้น 83% รวมถึงสะท้อนฝุ่นและไวรัสได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้เส้นใยของหน้าผ้าเชื่อมกันมากขึ้น และสามารถหายใจได้เป็นปกติ ทั้งยังปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
สำหรับกลยุทธ์และแผนการทำตลาด
Tigerplast MaskShield+ ในช่วงแรกเน้นจำหน่ายในประเทศมากกว่า 90% นับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และมุ่งพัฒนาช่องทางการจำหน่ายอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วควบคู่กับช่องทางการจำหน่ายปกติ เช่น ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรดซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
นอกจากนี้
พงศ์รัตน์ยังเล็งเห็นโอกาสการส่งออกนวัตกรรมไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบยุโรป ซึ่งบริษัทได้มีการเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย พร้อมเดินหน้าเชิงรุกในการขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปกป้องดูแลสุขภาพคนทั่วโลก
“เราคุยกับจุฬาฯ ว่า นวัตกรรมที่ดีต้องสามารถออกไปถึงผู้คนให้มากที่สุด เร็วที่สุด และทันท่วงทีที่สุด แม้ในประเทศไทยจะดีขึ้นมากแล้ว แต่ต่างประเทศยังวิกฤตอยู่
นอกจาก AEC เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เรายังสนใจอินเดียและยุโรป ซึ่งอินเดียมีความน่าสนใจเพราะเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก และมีเคสโควิดเพิ่มขึ้นมหาศาล รวมถึงนวัตกรรมนี้ออกแบบมาเพื่อใช้กับหน้ากากผ้าเท่านั้น จึงเหมาะกับประเทศที่ใช้หน้ากากผ้า หรือมีปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย”
ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิตให้สามารถรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากเดิมที่สามารถผลิตได้ราว 10,000 ขวดต่อวัน ให้สามารถเพิ่มได้อย่างรวดเร็วเป็นเท่าตัวภายในเวลา 1 สัปดาห์ โดยปัจจุบันบริษัทใช้ฐานการผลิต Tigerplast Mask-Shield+ ที่โรงงานของแจ๊กเจีย ซึ่งผลิตแป้งหอมอยู่ที่ประมาณ 6,000 โหลต่อสัปดาห์ และลูกอม 2,000 โหลต่อสัปดาห์ โดยยังมีโรงงานของฟาร์มาแคร์ ซึ่งผลิตม้วนผ้าเคลือบกาว 10.5 ล้านม้วนต่อปี และพลาสเตอร์ปิดแผล 866 ล้านชิ้นต่อปี
นอกจากนั้น พงศ์รัตน์ยังให้ความสำคัญกับการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงเดินหน้าพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้นด้านออนไลน์และดิจิทัลเกือบทั้งหมด ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงรับ new normal
“ผมเชื่อว่า Tigerplast ยังเป็นแบรนด์อันดับ 1 แต่เรายังต้องพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ตลอด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งมากขึ้น การที่เราไม่ได้อยู่แค่พลาสเตอร์ยา แต่มีกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน จะทำให้แบรนด์แข็งแกร่งและคนรู้จักมากขึ้นส่วนแบรนด์อื่นๆ เช่น Jason’s Jujubes และ TABU เป็นแบรนด์ที่อยู่มานานก็ต้องมีการปรับ เพราะเราไม่ต้องการให้เป็นแค่แบรนด์ในความทรงจำ เพียงแต่ตอนนี้เรากำลังโฟกัสที่ Tigerplast MaskShield+ รวมถึงการพัฒนาช่องทางออนไลน์ตามเทรนด์ผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงถาวรไม่ใช่ระยะสั้น เราต้องสร้างศักยภาพทางด้านนี้ ไม่ใช่แค่รองรับ แต่ต้องเป็นผู้นำทางด้านนี้ให้ได้”
ในความเพียรพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาสต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่สามารถเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้ในระยะยาว พงศ์รัตน์ยังค้นพบตัวตนและแรงขับเคลื่อนสำคัญที่มาจากความสนุกในการคิดค้นสิ่งใหม่อย่างไม่สิ้นสุด พร้อมทั้งค้นพบหลักการบริหารจากการเผชิญบททดสอบอันท้าทายสู่เป้าหมายรายได้เฉพาะแจ๊กเจีย (ไม่รวมบริษัทฟาร์มาแคร์) 1.5 พันล้านบาทภายใน 5 ปี
คลิกอ่านฉบับเต็ม “แจ๊กเจียฝ่าวิกฤต Tigerplast เสริมเกราะคำรามข้ามแดน” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine